MI BRIDGE กลุ่มธุรกิจดำเนินงานด้านสื่อสารการตลาด และ MI Learn Lab หน่วยงานที่นำเสนอข้อมูลเชิง Marketing Insights ในเครือ Media Intelligence Group (MI GROUP) ได้นำเสนอวิจัยล่าสุดเจาะลึกข้อมูลกลุ่มแรงงานชาวเมียนมา ในหัวข้อ “ผ่าขุมทรัพย์แรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทย” ซึ่งเป็นแรงงานต่างชาติกลุ่มใหญ่ในไทย โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างแรงงานชาวเมียนมาผ่านทางออนไลน์ทั่วประเทศ 212 คน และสัมภาษณ์เชิงลึกในกรุงเทพฯ 50 คน ระหว่างมีนาคม – เมษายน 2023
เพื่อศึกษาข้อมูลของกลุ่มแรงงานเมียนมาในประเทศไทยอาจถูกมองข้ามและยังไม่ได้รับการสำรวจในตลาด พร้อมทั้งทำความเข้าใจวัตถุประสงค์และแรงขับเคลื่อนในการย้ายถิ่นฐานเข้ามาเป็นแรงงานที่ประเทศไทย รวมถึงศึกษาพฤติกรรมการบริโภค และการใช้เวลาว่างของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นโอกาสของภาคธุรกิจในการพัฒนาสินค้า-บริการที่สอดรับกับความต้องการและพฤติกรรมการจับจ่ายของกลุ่มแรงงานชาวเมียนมา ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สูงถึง 828,000 ล้านบาท – 1,242,000 ล้านบาทต่อปี
คาดแรงงานชาวเมียนมาในไทย 6.8 ล้านคน – มุ่งหารายได้เป็นหลัก เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น
คาดการณ์ปัจจุบันมีแรงงานต่างชาติในประเทศไทยทั้งหมดกว่า 10.2 ล้านคน (รวมแรงงานผิดกฎหมาย) ซึ่งมีจำนวนที่ใกล้เคียงกับ Gen Z ของประชากรไทยที่มี 13.2 ล้านคน จากประชากรไทยทั้งหมด 66.1 ล้านคน
ในจำนวนแรงงานต่างชาติที่ลงทะเบียนในประเทศไทย พบว่าแรงงานสัญชาติเมียนมามีจำนวนสูงถึง 6.8 ล้านคนของแรงงานต่างชาติที่ลงทะเบียนทั้งหมด
ส่วนสาเหตุหลักที่แรงงานชาวเมียนมาเดินทางเข้ามาประเทศไทย มุ่งหารายได้เป็นหลัก
– 88% ของกลุ่มตัวอย่างมุ่งที่การหารายได้เป็นสำคัญ เพราะปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากเงินที่หาได้ขณะอยู่ในประเทศเมียนมานั้น ไม่เพียงพอ เพราะต้องดูแลทั้งครอบครัวใหญ่ และรู้สึกว่าการหาเงินในประเทศเมียนมา เพื่อให้ชีวิตสุขสบายเป็นเรื่องที่ยาก
– รายได้ของแรงงานชาวเมียนมาขณะอาศัยอยู่ในประเทศเมียนมา รายได้เฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างอยู่ที่ 1,000 – 5,000 บาทต่อเดือน ขณะที่อีก 12% ของกลุ่มตัวอย่างไม่มีรายได้ขณะอยู่ที่เมียนมา
เพราะฉะนั้นจึงเลือกเดินทางมาทำงานที่ประเทศไทย เนื่องจากเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ให้ค่าแรงสูง
วิถีชีวิตแรงงานเมียนมาในไทย: รายได้ 10,000-15,000 บาท/เดือน – ทำงาน 10 ชั่วโมง/วัน และ 6 วันต่อสัปดาห์
เมื่อชาวเมียนมาเข้ามาทำงานแรงงานในไทย จากผลสำรวจพบว่า
– ขณะอยู่ในประเทศไทย รายได้เฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างอยู่ที่ 10,000 – 15,000 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 3 – 5 เท่าของเงินเดือนขณะที่อยู่ในประเทศเมียนมา
– คาดการณ์ว่าตลาดแรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทย มีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สูงถึง 828,000 ล้านบาท – 1,242,000 ล้านบาทต่อปี
– กลุ่มแรงงานเมียนที่วางเป้าหมายในการหารายได้ชัดเจน ส่วนมากกำหนดระยะเวลาทำงานในประเทศไทย 3 – 5 ปี เพื่อนำเงินกลับไปตั้งตัว และกลับไปใช้ชีวิตที่ประเทศเมียนมา ในขณะที่กว่าครึ่งของกลุ่มสำรวจไม่ได้กำหนดระยะเวลา แต่มองที่เป้าหมายจำนวนเงินที่ต้องการเก็บให้ครบเป็นสำคัญ
– ด้วยแรงผลักดันที่ต้องการเก็บเงินให้ได้มากที่สุด แรงงานชาวเมียนมาในไทยจึงต้องทำงานล่วงเวลามากกว่ากว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน และอย่างน้อย 6 วันต่อสัปดาห์
– กิจวัตรประจำวันของแรงงานชาวเมียนมา จากผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างพบว่า ในวันธรรมดาใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านเฉลี่ย 14 ชั่วโมงต่อวัน และส่วนใหญ่นิยมรับประทานอาหารเช้า – กลางวัน และเย็นในละแวกที่ทำงาน
ส่วนเวลาว่างของแรงงานชาวเมียนมา จะมีเพียง 2 – 3 ชั่วโมงต่อวันในช่วงเวลาก่อนนอนเท่านั้น โดยจะใช้เวลาว่างไปกับการใช้ Social Media ต่างๆ เพื่อติดต่อครอบครัวและเพื่อความบันเทิง
– สำหรับในวันหยุด เนื่องจากต้องทำงานเกือบทั้งวันและเกือบตลอดทั้งสัปดาห์ ทำให้แรงงานชาวเมียนมามีเวลาว่างน้อย และต้องการพักผ่อน รวมถึงต้องการเก็บเงิน ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ค่อยอออไปทำกิจกรรมใดๆ นอกจากไปซื้อของอุปโภคบริโภคเท่านั้น ทำให้กิจกรรมในวันหยุด ส่วนใหญ่จึงมี 2 กิจกรรมหลักคือ “จับจ่ายซื้อของใกล้ที่พัก” และ “เล่นอินเทอร์เน็ต”
พฤติกรรมใช้จ่าย: ใช้จ่าย 56% และเก็บเงิน 44% ของรายรับ
สำหรับพฤติกรรมการใช้จ่ายของแรงงานชาวเมียนมาในไทย พบว่า
– รายจ่ายของกลุ่มตัวอย่างอยู่ที่ 56% ของรายได้โดยเฉลี่ยต่อเดือนเท่านั้น แบ่งเป็น
- ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 37% เช่น ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค
- ค่าที่อยู่อาศัย 16%
- ค่าโทรศัพท์ 3% โดยพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เสียค่าโทรศัพท์เฉลี่ยเดือนละ 200 บาท เน้นการใช้อินเทอร์เน็ต ไม่เน้นโทรเข้า-โทรออก
– ขณะเดียวกันเพื่อเก็บเงินให้ได้ตามเป้าหมาย แรงงานชาวเมียนมาในไทยเก็บเงินได้ถึง 44$ หรือเกือบครึ่งของรายรับ โดยภายใต้สัดส่วนการออมเงินดังกล่าวนั้น วัตถุประสงค์หลักคือ
- ส่งเงินกลับบ้าน (28%) เพื่อให้ครอบครัวที่เมียนมามีเงินใช้และมีเงินออม ซึ่งปัจจุบันนิยมให้นายหน้าผู้ดำเนินการโอนเงินให้
- เหลือเงินเก็บที่ตัวเองเพียง (16%)
พฤติกรรมการบริโภคสื่อ: เน้นใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ
เมื่อเชื่อมโยงกับ “มิติการบริโภคสื่อ” ของแรงงานชาวเมียนมา พบว่าเน้นการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ เพื่อติดตามทั้งความบันเทิง ข่าวสาร และช้อปปิ้งออนไลน์
– 97% ของกลุ่มตัวอย่างดูละคร ภาพยนตร์ และรายการต่างๆ ทางออนไลน์
– 87% ของกลุ่มตัวอย่างดูข่าวและอ่านข่าวสารบ้านเมืองทางออนไลน์
– 48% ของกลุ่มตัวอย่างฟังวิทยุและฟังเพลงทางออนไลน์
– 74% ของกลุ่มตัวอย่างนี้ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการซื้อของ โดย Lazada เป็นช่องทางอันดับหนึ่ง รองลงมาตามลำดับ คือ Facebook, Shopee และ TikTok
ขณะที่พฤติกรรมการใช้ Social Media ของแรงงานชาวเมียนมาในไทย พบว่า
– 98% ใช้ facebook
– 54% ใช้ YouTube
– 40% ใช้ TikTok
– 36% ใช้ facebook messenger
– 26% ใช้ LINE
– 21% ใช้ Telegram
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมีความสามารถในการเข้าถึง “Mobile Banking” ชี้ให้เห็นโอกาสทางภาคธุรกิจการเงินที่สามารถพัฒนาหรือต่อยอดการบริการเพื่อรองรับกลุ่มที่มีโอกาสเป็นลูกค้านี้ได้
กลยุทธ์การใช้ Media Touchpoint เข้าไปอยู่ใน 3 ช่วงชีวิตแรงงานชาวเมียนมาในไทย “ตั้งหลัก – ตั้งตัว – ตั้งใจ”
ทั้งนี้ในการมาทำงานที่ไทยของแรงงานชาวเมียนมา สามารถแบ่งช่วงชีวิตออกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ภายใต้กรอบการวิจัย ได้แก่ช่วงตั้งหลัก – ตั้งตัว – ตั้งใจ ซึ่งแต่ละช่วงชีวิต แรงงานชาวเมียนมาในไทยความต้องการใช้สินค้าและบริการที่แตกต่างกัน ให้ความสนใจกับประเภทคอนเทนต์ที่ไม่เหมือนกัน รวมถึงมีรายละเอียดของ Media Touchpoint ที่แบรนด์ต้องเลือกใช้อย่างเหมาะสม
ช่วงตั้งหลัก เป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตในประเทศไทย
- เมื่อเดินทางถึงไทย: ต้องการซิมการ์ด
Media Touchpoint: Billboard, Roadside Media
- ช่วงเริ่มต้นชีวิตในไทย: ต้องการที่อยู่, เครื่องแต่งกาย, ของใช้ส่วนตัว, เครื่องสำอาง และงาน
Media Touchpoint: Facebook สำหรับหาข้อมูล, Transit Media เช่น รถตู้ รถสองแถว, Direct Selling หรือนายหน้า
ช่วงตั้งตัว เป็นช่วงที่ทำงานและใช้ชีวิตได้ระยะหนึ่งแล้ว
- ทำงาน: ต้องการใบอนุญาตทำงาน, บัญชีเงินฝาก
Media Touchpoint: Facebook, YouTube, TikTok (หาข้อมูล) Messenger, LINE (ติดต่อกับนายจ้าง), Direct selling (นายหน้า/โรงงาน), Word of mouth
- ใช้ชีวิต: ต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น หม้อหุงข้าว พัดลม, โทรศัพท์มือถือ (ราคา 4,000 – 13,000 บาท), เสื้อผ้าแฟชั่น, สกินแคร์, สินค้าอุปโภคบริโภค, ซื้อทอง (ราคา 16,000 – 80,000 บาท)
Media Touchpoint: Facebook, YouTube, TikTok (ความบันเทิง), Lazada, Facebook, Shopee, TikTok (ซื้อสินค้า), Super market (point of sale marketing, demo station booth), Billboard, Roadside media (LED, lollypop, magnum), Transit media (taxi, bus, BTS)
ช่วงตั้งใจ เน้นการติดต่อครอบครัว และเตรียมตัวกลับประเทศเมียนมา
- ติดต่อครอบครัวที่บ้าน: ต้องการติดต่อครอบครัว, การส่งเงิน การโอนเงินข้ามประเทศ
Media Touchpoint: Facebook, Messenger, Telegram, Direct selling (นายหน้า/โรงงาน)
- กลับบ้าน: ต้องการซื้อยา, อาหารเสริม, รังนก, เครื่องแต่งกาย (เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า) ของอุปโภค (สบู่ ผงซักฟอก) เครื่องใช้ไฟฟ้า (ทีวีหม้อหุงข้าว พัดลม) และทอง (16,000-80,000 บาท) นำกลับบ้านไปด้วย
Media Touchpoint: LAZADA, Shopee, Facebook, TikTok (ซื้อสินค้า), Super market (point of sale marketing, demo station booth), Billboard, Roadside media (LED, lollypop, magnum), Transit media (taxi, bus, BTS)
กลยุทธ์แบรนด์ไทย ชนะใจชาวเมียนมาในไทย
แบรนด์ที่จะทำตลาดกับแรงงานชาวเมียนมาในไทย ต้องทำความรู้จักและเข้าใจในความยากลำบากที่พวกเขาต้องเจอ โดยแบรนด์ ต้องสร้างความไว้วางใจ เชื่อถือได้ Tและความสะดวกให้กับผู้บริโภคกลุ่มนี้ รวมทั้งสินค้าและบริการ ต้องตอบโจทย์เรื่องหลักๆ ดังนี้
– คุณภาพ
– ราคายุติธรรม
– มีความโปร่งใส ตรงไปตรงมา
– มีความปลอดภัย
– เข้าถึงได้ง่าย และสะดวก
– ง่ายต่อการทำความเข้าใจ
– สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนชาวแรงงานเมียนมาในไทย
– มีบริการ Customer Support
ดังนั้นกลยุทธ์สำคัญในการเข้าถึงและชนะใจแรงงานชาวเมียนมาในไทย ประกอบด้วย
– จับต้องได้ (Affordable)
– เข้าถึงได้ (Accessible)
– เข้าใจได้ (Understandable)
– เชื่อถือได้ (Trustable)
“MI GROUP มุ่งมั่นที่จะเคียงข้างแบรนด์ลูกค้าให้ประสบความสำเร็จ พร้อมสนับสนุนลูกค้าให้เติบโตในระดับสากล เรามองหากลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ และโอกาสธุรกิจต่างๆ ที่เป็นไปได้อยู่เสมอ เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเติบโตและบรรลุเป้าหมาย
MI BRIDGE และ MI Learn Lab จึงได้นำเสนอข้อมูลของกลุ่มแรงงานชาวเมียนมาที่มีจำนวนมากและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ซึ่งสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่สินค้าอุปโภคบริโภคและการบริการด้านการเงิน
โดยข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้สามารถนำไปปรับใช้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การตลาด หรือการพัฒนาสินค้า-การให้บริการเพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว เพื่อสร้างการเติบโตให้กับแบรนด์ได้มากยิ่งขึ้น” คุณภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI GROUP กล่าวทิ้งท้าย