พี-Are! 16 สิ่ง…ที่คนทำงานสาย PR เท่านั้นที่รู้

  • 2
  •  
  •  
  •  
  •  

492442875

“เราเป็นพีอาร์!”

จำได้ว่าแฟนสาวในอดีตคนหนึ่งเคยทำให้หัวใจของผมสั่นไหว ดึ๋งดั๋ง ด้วยประโยคสั้นๆข้างต้นนี้ “เราเป็นพีอาร์!” เพราะตั้งแต่วัยเยาว์ยันระดับอุดมศึกษา ถูกปลูกฝังและมีความเชื่อมาตลอดว่าคนทำงานตำแหน่งนี้มักจะเป็นคนที่มีบุคลิกภาพดี สง่า หน้าตาสละสลวย พูดจาฉะฉาน และมักจะแต่งตัวดี

นั่นอาจเป็นเพียงแค่ความเชื่อเบื้องต้นส่วนตัวของผมเท่านั้น ทว่า, คำทำงานสาย PR นี้ ยังมีอีกหลายสิ่งที่คนทำงานเป็นครีเอทีฟอย่างผม หรือตำแหน่งอื่นอย่างเราๆไม่มีวันล่วงรู้และเข้าใจเป็นแน่ และนี่คือ 16 สิ่ง ที่คนทำงานสายพีอาร์เท่านั้นที่รู้และเข้าใจครับ

 

Press(ure) Release

แน่นอนว่าการเขียน Press Release หรือการเขียนข้อมูลสำหรับเตรียมทำข่าว อาจดูเป็นหน้าที่หลักๆของคนเป็นพีอาร์ แต่ในคราวเดียวกัน, ก็ทำให้คนเป็นพีอาร์เกิดอาการเครียด รู้สึกกดกัน และวิตกกังวลได้ เพราะสิ่งที่เขียนนั้นต้องจูงใจคนอ่าน และโน้มน้าวพวกเขาให้คล้อยตามข่าวที่เราต้องการจะโปรโมทหรือนำเสนอได้ มิเช่นนั้นแล้วจะมีตำแหน่ง PR ไว้ทำไมล่ะครับ

Fail-low up…ติดตามผล ‘เหลว’

แน่นอนว่าการส่งข่าวพีอาร์ไปให้สื่อแต่ละสื่อช่วยนำข่าวลงให้นั้น ต้องมีการติดตามผลชนิดที่ว่าเป็นคู่รักมัดจีกับพี่ๆสื่อพี่ๆนักข่าวเลยเชียวล่ะ ยิ่งสนิทซี้ปึ๊ก…ยิ่งคุยง่าย เพราะข่าวพีอาร์แต่ละอันที่เราส่งไปนั้นต้องขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของสื่อด้วย หากข่าวไหนไม่น่าสนใจเขาก็จะไม่เอาลงให้เรา ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่เรียกได้ว่าค่อนข้างหินสุดๆสำหรับเหล่าพีอาร์เลยล่ะครับ

ผิดที่…ผิด ‘ไทม์’

บ่อยครั้งที่พี่อาร์ติดต่อไปยังสื่อเพื่อขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์ แต่แล้วก็ต้องสะบัดหูขวับแทบไม่ทัน เพราะได้รับการตอบกลับมาว่า “คงนำเสนอข่าวของคุณในช่วงเบรคนี้ไม่ได้แล้วค่ะ เพราะเราได้ข่าวของคนอื่นลงในเบรคนี้เรียบร้อยแล้ว”

ผิดที่…ผิด ‘เธอ’

และก็อีกบ่อยครั้งที่เราต้องสะดุ้งโหยง เพราะได้ยินการตอบกลับมาว่า “ขอโทษค่ะ เบอร์นี้เป็นแผนกการเงินค่ะ”

คาดหวัง หรือ คาดคิด ?

หลายต่อหลายครั้งที่เราต้องทำการพีอาร์ให้กับผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์ต่างๆของลูกค้า แน่นอนว่าลูกค้าบางรายก็ฝากฝังคาดหวังไว้กับเราสูง จนอาจทำให้พีอาร์หลายคนถึงกับต้องเอามือกุมขมับพร้อมนวดคลึงเบาๆบริเวณท้ายทอย เช่น งานอีเว้นท์เปิดตัวสินค้าชนิดหนึ่งที่ลูกค้าตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมีแขกคนสำคัญและสื่อรายใหญ่ๆให้ความสนใจมาร่วมงานกันอย่างล้นหลาม และแขกในงานก็ต้องได้รับความประทับใจอย่างเต็มที่เมื่องานสิ้นสุดลง

มีของแต่รอการ ‘สนอง’

เราทุกคนต่างดีอกดีใจเมื่องานแถลงข่าวหรืองานอีเว้นท์ของเราได้รับการป่าวประกาศประชาสัมพันธ์ผ่านทางทีวีหรือวิทยุ และเราก็แอบหวังว่างานของเราจะถูกตีแผ่ผ่านตัวอักษรบนโลกออนไลน์ในช่วงเย็นวันนั้น แต่อย่าลืมว่ากองบรรณาธิการหรือนักเขียนหลายคน อาจไม่สามารถสนองให้เราได้อย่างที่เราต้องการ

ของพร้อมแต่ ‘คน’ ไม่พร้อม

งานจัดดี สื่อให้ความสนใจกันเป็นเกรียว เสียงตอบรับก็ดีอย่างท่วมท้น มิหนำซ้ำ, มีรูปถ่ายให้เสร็จสรรพแล้วด้วย แต่ก็อย่าลืมว่า…กองบรรณาธิการ หรือนักเขียนหลายคนอาจยังไม่พร้อมที่จะจัดให้เรา

ไม่มั่ว แต่…ต้องทั่วถึง

แน่นอนว่าคนทำตำแหน่งนี้ต้องมีความสามารถหลายด้าน และต้องมีความพร้อมอยู่เสมอ จัดงานทั้งทีไหนจะต้องคอยเช็คความเรียบร้อยเรื่องอาหารว่าง ของทานเล่น เครื่องดื่ม ผู้ดำเนินรายการ แขกร่วมงาน สื่อทั้งหลาย ป้ายและฉากต่างๆ บริการรถรับส่งแขก สไลด์พรีเซ้นท์ สคริปต่างๆภายในงาน ของชำร่วย ฯลฯ…ทั้งหมดทั้งมวลนี้ พีอาร์จะละเลยไม่ได้เลยเชียว

‘รสนิยม’ จากการทำงาน

บ่อยครั้งที่พีอาร์จะต้องแต่วตัวตามธีมให้เข้ากับงาน หรือสวมเครื่องแบบของ Staff ผู้จัดงาน แม้บางงานอาจจะไม่ใช่เสื้อผ้าที่เราชื่นชอบใส่มากนัก แต่เพื่องาน เราจึงต้องมีรสนิยมที่ดูกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของงานไปด้วย แน่นอนว่าลูกค้าบางรายอาจไม่ค่อยอยากเสียค่าใช้จ่ายไปกับการจ้าง Staff ข้างนอกมากนัก

ออก ‘งง’ ออกงาน

ตื่นแต่เช้ามืดเพื่อมาตระเตรียมงาน คอยเช็คความเรียบร้อยต่างๆก่อนงานเริ่ม และต้องมายืนหล่อยืนสวยในงานอีกตั้งหลายชั่วโมง แน่นอนว่าถ่ายรูปออกมาทีและยังต้องมายืนข้างดารานายแบบนางแบบอีก อาจทำให้พีอาร์หล่อสวยอย่างเราๆดูเฉาไปโดยปริยาย

ปาร์ตี้สุดเหวี่ยง…แต่ห้าม ‘เหวี่ยง’ สุด

Women friends doing shots together at a bar

แน่นอนว่าเป็นพีอาร์ ต้องได้ออกงานสังคมอยู่บ่อยครั้ง การดื่มหรือการเอ็นเตอร์เทนแขกและลูกค้า จึงเป็นวิชาที่พีอาร์ทุกคนต้องมีติดตัวไว้ ความสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ความสนุกสุดเหวี่ยงที่เรามี หากแต่อยู่ที่ความเป็นมืออาชีพและสติสัมปชัญญะที่เราต้องธำรงไว้ให้ได้ตลอดทั้งคืนนั่นเอง เกิดวันดีคืนดีตอนตีหนึ่งขณะกำลังสนุกอยู่ในงาน ลูกค้าเดินมาถามเราเกี่ยวกับแผนพีอาร์ในอีกหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้า…คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนวิชาของใครของมันแล้วล่ะ

ใจใหญ่…กระเป๋า(ต้อง)ใหญ่ด้วย

บางครั้งพีอาร์อาจต้องเป็นคนออกค่าใช้จ่ายต่างๆให้กับลูกค้า แขก หรือสื่อผู้มาร่วมงาน เราจึงต้องทำการ Make Sure ว่าเงินในกระเป๋ามีเพียงพอซื้อลมหายใจให้เรารอดพ้นงานนั้นไปได้หรือเปล่า หรือไม่ก็ต้องเช็คว่าบริษัทโอนค่าใช้จ่ายที่เบิกมาใช้เพื่องานเรียบร้อยแล้วหรือยัง หากยังก็ต้องจดไว้ด้วยว่าใช้ค่านั่นค่านี่ไปเท่าไหร่ มิเช่นนั้น, กลับไปเบิกออฟฟิศที ฝ่ายบัญชีจะไล่ตะเพิดเอานะครับ

เผลอไผลจากใจ

หากเราจัดงานเปิดตัวให้กับเบียร์ยี่ห้อหนึ่งซึ่งเป็นแบรนด์ของลูกค้า ก็ไม่สามารถแสดงความจริงอิงความสัตย์ได้อย่างเต็มที่ เพราะหากเราไปเที่ยวประกาศปาวๆในงานว่า “ชั้นชอบเบียร์ยี่ห้ออื่นที่ชั้นดื่มอยู่เป็นประจำมากกว่า” ลูกค้าได้ยินเข้า งานหน้าก็เตรียมใจไว้ได้เลยว่าเราอาจไม่ได้จัดงานให้แบรนด์นี้อีก

ลูกค้าไมเกรน

“พวกเราอยากให้งานเปิดตัวมีการแสดงที่อลังการ มีแบรนด์แอมบาสเดอร์ห้อยตัวลงมาจากข้างบนเวที และต้องใช้ดาราเซเลบฯที่กำลังมีชื่อเสียงโด่งดังมากในขณะนี้ และงานนี้ต้องลงข่าวหน้าหนึ่งเกือบทุกฉบับ ส่วนเรื่องงบประมาณอาจต้องคุมหน่อย เพราะทางเรามีงบให้ในส่วนนี้ไม่ค่อยมากนัก”

ลูกค้าในฝัน

“ทำให้ดีที่สุด และทำเท่าที่ทำได้ พวกเราวางใจคุณ ขาดเหลืออะไรก็ขอให้บอก”

ของดียังฟรีในโลก

แน่นอนว่าเป็นพีอาร์ มักจะได้ของแถม ของฟรี ของที่ระลึก จากภายในงานหรือจากลูกค้า ติดไม้ติดมือกลับมาแทบทุกครั้ง ซึ่งนั่นก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งในข้อดีของอาชีพนี้เลยทีเดียว หลายคนอาจจะคุ้นหูกันดีกับประโยคคำถามที่เพื่อนๆเรามักจะชอบถามอยู่เสมอ “เอ้ยแก! กระเป๋าผ้าของแบรนด์นี้สวยจัง ไปได้มาจากไหนอ่ะ?” และเหล่าพีอาร์ก็มักจะตอบอย่างสั้นๆด้วยความภาคภูมิใจว่า “อ๋อ ของลูกค้า…ลูกค้าให้มา”

 

อนึ่ง, เคล็ดลับความสำเร็จของแต่ละคนลอกเลียนแบบไม่ได้ เราต้องตัดรองเท้าให้เหมาะกับเท้าของเราเอง…ไม่ว่าจะเป็นอะไร จงภูมิใจและเป็นให้ดีที่สุด ครับ

แหล่งที่มา


  • 2
  •  
  •  
  •  
  •