รถจีนชิงตลาด EV ไทย! ตามดูเส้นทาง “BYD” จากผู้ผลิตแบตเตอรี่ สู่ยักษ์รถยนต์ไฟฟ้าระดับโลก – รุกไทย ตั้งเป้า Top 5

  • 119
  •  
  •  
  •  
  •  

BYD-EV
Photo Credit: www.en.byd.com

เวลานี้อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก กำลังเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาป สู่ “ยุครถยนต์ไฟฟ้า” (Electric Vehicles: xEV) โดยยอดขาย xEV (รถยนต์ไฟฟ้า 100% และ Plug-in Hybrid) ในปี 2021 สร้างสถิติใหม่ ทำได้ 6.6 ล้านคันทั่วโลก ในจำนวนนี้ยอดขาย 3.3 ล้านคันมาจาก “ประเทศจีน” คิดเป็นสัดส่วน 50% ของตลาดรถยนต์ไฟฟ้ารวม และถ้านับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่วิ่งอยู่บนท้องถนนทั่วโลกถึงปัจจุบันอยู่ที่ 16.5 ล้านคันทั่วโลก

ตอกย้ำให้เห็นว่าจากนโยบาย “รัฐบาลจีน” ต้องการปักธงผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ให้การสนับสนุนทั้งภาคการผลิต และผู้บริโภค ผลักดันให้ “จีน” กลายเป็นยักษ์ใหญ่ในตลาดยานยนต์โลกที่รุกทำตลาดในหลายประเทศ

หนึ่งในนั้นคือ “ประเทศไทย” ที่ปัจจุบันแบรนด์รถยนต์จีนทยอยเข้ามาทำตลาดในไทย ไม่ว่าจะเป็น “MG”(เอ็มจี)​ใช้โมเดลการร่วมทุนระหว่าง “SAIC” กลุ่มบริษัทรถยนต์รายใหญ่ในจีน กับ “เครือซีพี” ตั้งบริษัท SAIC Motro – CP เพื่อผลิตรถยนต์ และจำหน่ายรถยนนต์ MG ในไทย รวมทั้งส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ ในอาเซียน, “Great Wall Motor” (GWM: เกรท วอลล์ มอเตอร์) อีกหนึ่งค่ายรถยนต์ใหญ่ของจีน

ขณะที่รายล่าสุดเตรียมรุกตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลพลังงานไฟฟ้าในไทยคือ “BYD” ประกาศความร่วมมือกับ “เรเว่ ออโตโมทีฟ” (Rêver Automotive) เพื่อเป็นผู้จัดจำหน่ายและให้บริการหลังการขายสำหรับกลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ (Thailand Authorized Distributor)

BYD
Photo Credit: Facebook BYD

 

สำรวจตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทย ความต้องการพุ่งตามกระแสโลก

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี” หรือ ttb analytics” ประเมินยอดขายรถยนต์นั่งไฟฟ้าของไทยปี 2022 แตะ 6.36 หมื่นคัน แบ่งเป็น

– รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) หรือรถยนต์ไฟฟ้า 100% จำนวน 10,203 คัน หรือขยายตัว 539.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564

– รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid) คาดว่าจะอยู่ที่ 41,927 คัน และไฮบริดแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) 11,469 คัน

ประมาณการณ์ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าดังกล่าว ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากอานิสงส์มาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ตามกระแสความนิยมยานยนต์ไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคทั่วโลกในด้านราคาและเทคโนโลยีแบตเตอรี่ รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่อยู่ระดับสูงต่อเนื่อง สวนทางกับกระแสรถยนต์นั่งเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง (Internal Combustion Engine: ICE) หดตัว จากปีที่แล้วถึง 8.8%

ปัจจัยขับเคลื่อนให้รถยนต์ไฟฟ้าเติบโต ประกอบด้วย

– คาดการณ์ว่าปี 2022 ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในไทยพุ่งตามกระแสโลก ท่ามกลางแผนการยกเลิกการใช้ยานยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์สันดาปภายในหลายประเทศ และการตื่นตัวต่อภาวะโลกร้อนที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้รถยนต์ไฟฟ้าเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

– ผลกระทบจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ซื้อรถใหม่จะพิจารณามากขึ้นในปีนี้ โดยที่ผ่านมารถไฟฟ้าเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ซึ่งผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย ไปจนถึงผู้ที่อาศัยในเขตเมือง แต่ปัจจุบันผู้ซื้อรถใหม่เริ่มหันมาให้ความสนใจ ในการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

– ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

– การปรับปรุงพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ทำให้ความจุของแบตเตอรี่ (Battery Capacity) ดีขึ้นกว่าเดิมถึง 3 เท่า ซึ่งช่วยลดความกังวลในการขับขี่ (Range Anxiety) จากข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอ และกระจุกในพื้นที่เขตเมืองเป็นหลักแล้ว

– ภาครัฐได้ออกมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนเมษายน 2022 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินอุดหนุนเพิ่มเติม การลดภาษีสรรพสามิตและภาษีอากรขาเข้าสำหรับรถยนต์ BEV

– ราคารถยนต์ไฟฟ้าจับต้องได้มากขึ้น และกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมา

– มาตรการกระตุ้นยอดขายจากฝั่งผู้ผลิต ส่งผลให้ราคาขายปลีก รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจับต้องได้มากขึ้น

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้แนวโน้มความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าขยายวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ใช้ รถยนต์ที่เป็นกลุ่ม Eco Car ซึ่งมียอดขายรถใหม่เฉลี่ยอยู่ประมาณ 2-3 แสนคันต่อปี และอาจเป็นตลาดที่มีศักยภาพเติบโตสูง ในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม ttb ชี้ว่าต้องจับตาเรื่องการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) และชิ้นส่วนที่สำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่คาดว่าจะยังคงลากยาวต่อไปจากปัญหา Supply Disruption หลังความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนส่อเค้ายืดเยื้อ และการคงมาตรการ Zero COVID ของจีน ซึ่งอาจกระทบต่อยอดการผลิตรถยนต์ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ทำให้การส่งมอบอาจล่าช้าออกไปอย่างน้อย 6 – 12 เดือน

EV

รถยนต์ไฟฟ้าจีนรุกสร้างฐานลูกค้าไทย

แม้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะโตเร็ว แต่โอกาสที่จะกลายเป็นฐานผลิตรถยนต์ BEV ของภูมิภาคยังค่อนข้างยาก เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังเผชิญกับการแข่งขันจากค่ายรถยนต์จากจีนมากขึ้น ซึ่งในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์ BEV ในไทยที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งมาจาก

– ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทยยังค่อนข้างเล็ก

– จีนเร่งรุกตลาดสร้างฐานลูกค้าใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่บริษัทผู้ผลิตหลักจากประเทศญี่ปุ่นยังไม่เดินหน้ารุกตลาด BEV อย่างเต็มที่ ส่งผลให้รถยนต์ BEV ที่วิ่งบนท้องถนนในปัจจุบันเกิน 80% เป็นผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศจีน

อย่างไรก็ดี การตั้งฐานผลิตรถยนต์ BEV ของค่ายรถจีนนอกประเทศก็อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่คุ้มค่านัก เนื่องจากปริมาณการผลิต รถยนต์ BEV ในโรงงานประเทศจีนมีขนาดใหญ่จึงมีการผลิตสินค้าจำนวนมากในครั้งเดียวจนได้ต้นทุนที่ต่ำ หรือที่เรียกว่าการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อคันถูกกว่าไทยค่อนข้างมาก

อีกทั้งผู้ผลิตยังสามารถนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมาขายในไทยโดยตรงผ่านสิทธิประโยชน์ด้านเขตการค้าเสรีไทย-จีน (FTA) แทนที่จะเข้าร่วมโครงการสนับสนุนจากภาครัฐที่ผู้ผลิตมีภาระผูกพันที่จะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศอีกด้วย

EV

จับตา “Wallbox EV Charger” ขยายรับความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า

แนะธุรกิจติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (Wallbox EV Charger) รับความต้องการรถยนต์ BEV และ PHEV โต ต่อเนื่อง ลดการพึ่งพาสถานีชารจ์ ไฟฟ้าสาธารณะ

แน่นอนว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะเจอแรงกระเพื่อมจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าชัดเจนขึ้น ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจให้บริการบำรุงรักษาและอะไหล่ซ่อมรถ ธุรกิจประกันภัยรถ ตลอดจนธุรกิจสถานีบริการน้ำมันและก๊าซที่จำเป็นจะต้อง เร่งปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงระลอกใหญ่ที่กำลังจะมาถึงนี้

ttb analytics คาดว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่ และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงธุรกิจสถานีชาร์จไฟฟ้า ธุรกิจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์

โดยเฉพาะในระยะแรก “ธุรกิจติดตั้งอุปกรณ์ชารจ์รถยนต์ไฟฟ้า” (Wallbox EV Charger) จะมีแนวโน้มสดใสตามความต้องการ ของรถยนต์ BEV ที่นับวันจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งยังสามารถรองรับลูกค้ารถยนต์PHEV ที่มีเติบโตได้ดีตามการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนตไฟฟ้าของไทย

ทำให้ผู้ผลิตทั้งรายเล็กและรายใหญ่หันมาสนใจธุรกิจให้บริการติดตั้ง Wallbox EV Charger กันอย่างคึกคัก โดยจะตอบโจทย์ทั้งในแง่ของความรวดเร็วในการชาร์จ ความปลอดภัยในการใช้งาน อีกทั้งยังลดข้อจำกัดจากสถานีและหัวจ่ายไฟฟ้าที่ยังมีน้อย เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่มักเป็นการใช้งานเพื่อเดินทางไปกลับที่พักเป็นประจำ ทำให้การชาร์จไฟฟ้าในเวลากลางคืนก่อนออกจากบ้าน นับว่าสะดวกมากกว่าที่จะต้องไปจอดเพื่อชาร์จที่สถานี รวมทั้งการชาร์จที่บ้านยังมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ถูกกว่าการชาร์จ ตามสถานีชาร์จไฟฟ้าถึงราว 1-3 เท่าอีกด้วย

EV

 

เส้นทาง “BYD” กว่าจะมาเป็นยักษ์ใหญ่ยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก

ชื่อ BYD ย่อมาจาก Build Your Dreams ถือกำเนิดขึ้นปี 1995 โดย Wang Chuanfu เริ่มต้นจากธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ ป้อนให้กับแบรนด์โทรศัพท์มือถือ และแล็ปท็อปรายใหญ่ของโลก เช่น Motorola, Nokia, Dell จากนั้นในปี 2002 เข้าสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

กระทั่งในปี 2003 เป็น Turning Point ครั้งใหญ่ของ BYD เมื่อตัดสินในเข้าสู่อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ โดยส่งรถยนต์รุ่น BYD F3 เข้าสู่ตลาดในปี 2005

จากนั้นปี 2007 ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมผิงซาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัท BYD ในปัจจุบัน

ต่อมาปี 2008 บริษัท Berkshire Hathaway ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ เข้าซื้อหุ้น BYD 10% มูลค่า 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งเปิดตัวรถยนต์ Plug-in Hybrid ออกสู่ตลาด และเข้าสู่อุตสาหกรรมพลังงานใหม่ ด้วยการจัดหาระบบนิเวศพลังงานปลอดภัย ทั้งแผงโซล่าร์เซลล์, ระบบกักเก็บพลังงาน และยานยนต์ไฟฟ้า นับเป็นก้าวสำคัญของ BYD ในตลาดยานยนต์ไฟฟ้า

BYD
Photo Credit: Facebook BYD

ในปี 2015 เปิดตัวกลยุทธ์ “7+4 Full Market EV Strategy” สร้างระบบ Supply Chain อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร นั่นคือ พัฒนายานยนต์ไฟฟ้า 7 ประเภท ประกอบด้วยรถโค้ช, แท็กซี่, รถขนส่ง, รถก่อสร้าง, รถบัส หรือรถโดยสารประจำทาง, รถยนต์ส่วนบุคคล, รถทำความสะอาดถนน ขณะเดียวกันพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าสำหรับใช้ในพื้นที่เฉพาะ เช่น รถใช้ในเหมือง, รถถ่ายโอนสินค้าทางเรือ, รถในคลังสินค้า และรสบัสในสนามบิน

เมื่อยุทธศาสตร์บุกอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของ BYD มุ่งทำตลาดทุกเซ็กเมนต์ และครอบคลุมทั้งการขาย B2B และ B2C “BYD” ได้ชนะการประมูลเพื่อจัดหารถประจำทาง มูลค่า 660 ล้านปอนด์ ในสหราชอาณาจักร

ไม่เพียงแต่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น ในปี 2016 “BYD” ยังได้เข้าสู่อุตสาหกรรมระบบขนส่งระบบราง

BYD eBus
Photo Credit: Facebook BYD

ขณะที่ปี 2022 BYD” ประกาศยกเลิกการผลิตรถยนต์สันดาป และผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 100% โดยล่าสุดมียอดขายรถยนต์พลังงานใหม่ทะลุ 1 ล้านคัน และกลายเป็นแบรนด์จีนรายแรกที่เข้าสู่ “One Million Club” ของยานยนต์พลังงานใหม่

รวมทั้งรุกตลาดรถยนต์ส่วนบุคคล ในประเทศญี่ปุ่น และไทย โดยสำหรับตลาดไทย จับมือกับ “เรเว่ ออโตโมทีฟ” (Rêver Automotive) ให้เป็นผู้จัดจำหน่ายและให้บริการหลังการขายสำหรับกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า

ส่วนยอดขายรวมตั้งแต่ปี 2019 – 2022 (มิถุนายน) ทะลุกว่า 2,150,859 คัน และปัจจุบัน BYD ดำเนินธุรกิจในกว่า 400 เมืองในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุม 6 ทวีป มีพนักงานกว่า 290,000 คน ในจำนวนนี้เป็นทีมวิศวกร R&D มากถึง 40,000 คน และสถาบันวิจัย 11 แห่งทั่วโลก มีทีมออกแบบ In-house กว่า 400 คน จาก 10 ประเทศ และมีต้นแบบการออกแบบ 25,000 แบบ ทั้งยังจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (ปี 2002) และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น (ปี 2011)

BYD
Photo Credit: Facebook BYD

 

ได้เวลา “BYD” ลุยตลาดรถยนต์ส่วนบุคคลในไทย เตรียมเปิดขายไตรมาส 4 ปีนี้ – ตั้งเป้า Top 5 ภายใน 5 ปี

BYDเริ่มเข้าสู่ตลาดไทยในปี 2018 นำเข้าโดย “บริษัท ไรเซน เอนเนอร์จี จำกัด” ที่ได้สร้างความร่วมมือกับ “บริษัท อีวี โซไซตี้ จำกัด” ผู้บริหารกิจการแท็กซี่ในสนามบินสุวรรณภูมิ และ “กรมการขนส่งทางบก” นำรถรุ่น “BYD e6” ไปทำเป็น “EV Taxi VIP” 

ขณะที่ความเคลื่อนไหวล่าสุด “เรเว่ ออโตโมทีฟ” (Rêver Automotive) ธุรกิจของ 2 พี่น้องตระกูลพระประภา คือ “คุณประธานวงศ์ ประธานพร พรประภา” ได้ประกาศความร่วมมือกับ BYD Auto Industry ในการได้รับสิทธิให้เป็นผู้จัดจำหน่ายและให้บริการหลังการขาย “รถยนต์ส่วนบุคคล BYD (ไม่รวมรถเพื่อการพาณิชย์) ในตลาดไทยอย่างเป็นทางการ (Thailand Authorized Distributor)

แผนยุทธศาสตร์ของ เรเว่ ออโตโมทีฟ เตรียมทุ่มงบลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท โดยเบื้องต้นจัดสรร 450 ล้านบาทสำหรับงบการตลาดในช่วง 2 ปีแรก และ 150 ล้านบาทเป็นงบพัฒนา IT Infrastructure เช่น ติดตั้งระบบ Software ในรถ และสร้าง Super App เชื่อมต่อการใช้งานทั้งในขณะขับขี่รถยนต์ และเวลาอยู่นอกรถ ขณะที่งบที่เหลือ ส่วนหนึ่งจะใช้สต๊อครถสำหรับขาย

BYD

นอกจากนี้ได้วางเป้าหมายดังนี้

– ในช่วงไตรมาส 4/2022 เตรียมเปิดตัวรถยนต์ 1 ในรุ่น Ocean Series ที่เพิ่งเปิดตัวปีนี้ที่ต่างประเทศ

– จะมีตัวแทนจำหน่าย ที่มีทั้งโชว์รูม และศูนย์บริการหลังการขายเต็มรูปแบบ 31 แห่งภายในปีนี้ และภายในสิ้นปี 2023 ตั้งเป้ามีตัวแทนจำหน่าย 60 – 70 แห่ง

– ร่วมมือกับ SHARGE เพื่อเปิดสถานีชาร์จเพิ่มขึ้นจากเดิมในไทยให้ถึง 1,000 สถานี ครอบคลุมทั้งประเทศ

– วางแผนสร้างโรงงานประกอบรถ เพื่อให้ได้สิทธิจากภาครัฐตามนโยบายสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า

– ตั้งเป้ายอดขายติด Top 5 ของตลาดรวมรถยนต์ในไทยภายใน 5 ปี โดยคาดว่าจะมียอดขายหลักหมื่นคัน ด้วยกลยุทธ์ผนึกกำลังจากความรู้ความชำนาญในธุรกิจรถยนต์ของทีมงานกับผลิตภัณฑ์จาก BYD ที่มีความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น Blade Battery และ e-platform 3.0 แพลตฟอร์มแห่งอนาคตที่ยกระดับการขับขี่รถยนต์ EV ทั้งอัตราการเร่ง, ระยะทางขับขี่ และความเร็วในการชาร์จ,​ การควบคุมอุณหภูมิให้ต่ำอย่างเสถียร

– เตรียมเปิดให้จองทั้งช่องทางออนไลน์ และโชว์รูม

BYD
Photo Credit: www.en.byd.com

“เรเว่ ออโตโมทีฟ มุ่งมั่นที่จะส่งมอบโซลูชั่นด้านพลังงานในฝันรูปแบบใหม่ หรือ New Dream Energy โดยนำเสนอเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนและรองรับระบบนิเวศของนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเปิดประตูความเป็นไปได้ใหม่ๆ เร่ิมต้นจากนำเข้า BYD รถยนต์ EV อันดับต้นๆ ของโลก เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

ที่ผ่านมา EV ในไทย ทางเลือกในตลาดน้อย และในช่วงแรกๆ ลาด EV ในไทยยังเป็นตลาด Upper Market จำนวนรถที่ขายผ่านดีลเลอร์น้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าแปลว่าไม่มีใครอยากได้ เราต้องการเข้ามาเติมเต็ม มีรถเพียงพอกับ Demand ที่พร้อมขาย พร้อมส่ง” คุณประธานวงศ์ พรประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด กล่าวถึงที่มาของการตั้งบริษัท และการเป็นผู้จัดจำหน่าย BYD ในไทย

 

 

Source: ttb analytics, IEA


  • 119
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ
CLOSE
CLOSE