เมื่อ ‘เนสกาแฟ’ บุกธุรกิจร้านกาแฟครั้งแรก กับ ‘NESCAFÉ Hub’ โมเดลธุรกิจใหม่ เพื่อรักษาแชมป์ในตลาดกาแฟกว่า 6 หมื่นล้านบาท

  • 72
  •  
  •  
  •  
  •  

1

ด้วยความแรงของเทรนด์การบริโภคกาแฟสด และการดื่มกาแฟนอกบ้านที่เติบโตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อตามร้านกาแฟต่าง ๆ และการบริโภคกาแฟพร้อมดื่ม กลายเป็นโจทย์ใหญ่ให้ ‘เนสกาแฟ’ ที่เข้ามาทำตลาดในไทยมานาน 40 ปี ต้องขยับตัวอย่างหนัก โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

มาถึงล่าสุด การบุกตลาดกาแฟนอกบ้าน ด้วยการเปิด‘เนสกาแฟ ฮับ’ (NESCAFÉ Hub) ร้านกาแฟแห่งแรก ที่เนสกาแฟ ต้องการปั้นให้เป็นโมเดลธุรกิจใหม่ ในการรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดกาแฟที่มีมูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท โดยเบื้องต้นโฟกัสเปิดในทำเลจุดศูนย์กลางการเดินทาง ประเดิมสาขาแรก สถานีรถไฟฟ้าชิดลม

ปัจจุบันภาพรวมตลาดกาแฟในบ้านเรามีมูลค่าราว 64,700 ล้านบาท เติบโต 4% แบ่งเป็นตลาดกาแฟในบ้าน 59% มีมูลค่าอยู่ที่ 38,000 ล้านบาท และกาแฟนอกบ้าน 41% มีมูลค่า 26,700 ล้านบาท เติบโต 8% โดยในส่วนของตลาดกาแฟนอกบ้านนั้น แบ่งออกเป็น Specialty Cafe อาทิ คาเฟ่ที่เป็นเชน 64% มีมูลค่าตลาด 17,000 ล้านบาท และอื่น ๆ อีก 36%

ขณะที่แบรนด์เนสกาแฟ แม้จะครองมาร์เก็ตแชร์ในตลาดรวมของกาแฟมากกว่า 50% แบ่งเป็นตลาดกาแฟ 3 in 1 (Mixed Coffee) 60% กาแฟผงสำเร็จรูป 80% และกาแฟกระป๋องพร้อมดื่ม 32%

capture-20180703-144310

ทว่าหากเจาะลึกลงไป จะเห็นได้ว่า ตลาดส่วนใหญ่ของเนสกาแฟจะอยู่ในรูปแบบของกาแฟผงสำเร็จรูป และยังขาดโมเดลที่เป็นร้านกาแฟ ที่จะมาเติมเต็มตลาดกาแฟนอกบ้าน ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีการเติบโตที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก

“เราต้องการเป็น Total Solution ที่ตอบโจทย์ทุกเซ็กเม้นท์ในตลาดกาแฟ ดังนั้นเราถึงพยายามขยายสู่พื้นที่ใหม่ ๆ และตลาดกาแฟนอกบ้านมีความน่าสนใจ เพราะเติบโตดีตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่นิยมดื่มกาแฟนอกบ้านมากขึ้น เราจึงมองหาโมเดลใหม่ ๆ มาเพิ่มการเติบโตให้กับเรา” แวลดดิสลาฟ อังดรีฟ ผู้อำนวยการบริหารธุรกิจผลิตภัณฑ์กาแฟและครีมเทียม บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวถึงที่มาของการเปิดร้านเนสกาแฟ ฮับ

ชู เข้าถึงง่าย ในราคาพรีเมียม’ แจ้งเกิด

สำหรับ เนสกาแฟ ฮับ จะเลือกเปิดสาขาในย่านใจกลางเมือง เบื้องต้นโฟกัสในจุดศูนย์กลางการเดินทาง โดยสาขาแรก ได้แก่ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสชิดลม ซึ่งคอนเซปต์ของร้านจะเน้นทันสมัย แต่เรียบง่าย ตามโมเดลต้นแบบจากญี่ปุ่น ที่ทางเนสกาแฟได้เปิดแฟลกชิพ สโตร์ ในย่านฮาราจุกุ เมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา และเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาได้ขยายโมเดลของร้านกาแฟมาเปิดในระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้า ปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 50 สาขา

ส่วนสาเหตุที่เลือกสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสชิดลม เป็นสาขาแรก เพราะเป็นทำเลที่มีความ trendy และมีความหลากหลายของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนักเรียน คนวัยทำงาน ผู้ใหญ่ และนักท่องเที่ยว คาดว่า จะเข้าถึงผู้สัญจร 15,000 คนต่อวัน และสร้างยอดขายได้มากกว่า 300 แก้วต่อวัน

อย่างไรก็ตาม แม้ เนสกาแฟ จะเป็นแบรนด์ดัง แต่สำหรับธุรกิจร้านกาแฟ ก็ถือเป็นน้องใหม่ในตลาดนี้ ดังนั้นการแจ้งเกิดเนสกาแฟ ฮับ จึงต้องสร้างความต่าง ในคอนเซปต์ที่ว่า ‘เข้าถึงง่าย ในราคาพรีเมียม’ โดยกาแฟจะใช้อาราบิก้า 100% เกรดพรีเมียมที่อิมพอร์ตเข้ามา แต่ขายในราคาที่ไม่ต่างจากร้านทั่ว ๆ ไปที่เปิดขายในทำเลเดียวกัน คือ เริ่มต้น 40-65 บาท

นอกจากนี้ ด้วยการแข่งขันปัจจุบันที่ร้านกาแฟ ต้องให้ประสบการณ์มากกว่ากาแฟ จึงพยายามสร้างความต่างจากรายอื่น ซึ่งนอกเหนือจากเมนูหลักเหมือนกับร้านอื่น ๆ อาทิ อเมริกาโน่ , คาปูชิโน่ , ลาเต้ ฯลฯ จำนวน 7 เมนู และ Nitro Cold Brew 1 เมนู

ความต่างก็คือ การร่วมมือกับบาริสต้าชื่อดังต่าง ๆ มาสร้างสรรค์เมนูซิกเนอเจอร์ที่มีเฉพาะที่นี้ทีเดียว และเมนูนี้จะมีการหมุนเวียนสับเปลี่ยนทุกเดือน เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ตลอดจนสร้างสีสันและความน่าตื่นเต้นให้กับลูกค้า

capture-20180703-143953

เริ่มต้นด้วยการจับมือกับ ‘ซาวาดะ ฮิโรชิ’ แชมป์ลาเต้อาร์ตระดับแรกที่เป็นชาวเอเชียคนแรก กับ 3 เมนู ได้แก่ ‘โตเกียว เอ็กซ์เพรส’ กาแฟลาเต้ที่ผสานกับชาเขียวมัทฉะ และส้มยูสุ ที่จะขายตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นเดือน ก.ค.2561 เท่านั้น , ‘คาเฟ่โมฮิโต้’ กาแฟที่ผสานกับรสชาติของค็อกเทลโมฮิโต้ และ ‘ลาเวนเดอร์บลิส’ เครื่องดื่มมะนาวโซดาที่ผสมกันระหว่างน้ำมะนาวกับดอกอัญชัน

เดินเกมชิงผู้นำตลาดกาแฟกว่า 64,000 ล้านบาท

“ตลาดกาแฟนอกบ้าน จะโตแซงตลาดกาแฟในบ้านหรือไม่ เป็นเรื่องที่เดายาก แต่สิ่งที่เห็น คือ ตลาดกาแฟในไทยยังโตได้อีกมาก เพราะอัตราการบริโภคกาแฟของคนไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ยังน้อยมาก โดยอยู่ที่ 300 แก้วต่อคนต่อปี ขณะที่ญี่ปุ่นคนดื่มกาแฟ 400 แก้วต่อคนต่อปี และยุโรป 600 แก้วต่อคนต่อปี”

ดังนั้น กลยุทธ์ของเนสกาแฟ จึงพยายามสร้างการเติบโตในทุกเซ็กเม้นท์ เพื่อให้คงความเป็นผู้นำของตลาดกาแฟในไทย ไม่ว่าจะเป็น การรุกตลาดพรีเมียม ด้วยการเปิดตัว ‘เนสกาแฟ โกลด์’ และ ‘เนสกาแฟ โกลด์ เครมา’ โปรดักท์ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตมาตรฐานเดียวกับกาแฟระดับซูเปอร์พรีเมียมในสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ที่มีจุดเด่น คือ การผสมผสานกับกาแฟอาราบิก้าชั้นดีจากเทือกเขาสูงทางภาคเหนือของไทยที่คั่วบดละเอียด 10 เท่า

รวมไปถึงการเปิดตัว ‘เนสกาแฟ เบลนด์ แอนด์ บรู’ ออกสู่ตลาดแทน ‘เนสกาแฟ 3 in1’ , การปรับสูตร ‘เนสกาแฟ เรด คัพ’ ด้วยการผสมกาแฟคั่วบดละเอียดเข้าไป เพื่อให้ได้รสชาติที่ดี และแก้จุดอ่อนในเรื่องรสเปรี้ยว , การออกรสชาติใหม่ในกลุ่มกาแฟพร้อมดื่ม อย่าง Black Ice ที่นอกจากตอบโจทย์ในเรื่องความสะดวกสบายแล้ว ยังเป็นโปรดักท์ที่ตอบเทรนด์รักสุขภาพ เพราะโปรดักท์ตัวนี้มีแคลลอรี่เพียง 50% เป็นต้น

และแน่นอน ความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ก็คือ การที่เนสท์เล่ บริษัทแม่ของเนสกาแฟ ได้มีการเซ็นสัญญาเป็นพาร์ทเนอร์ทางการค้าร่วมกับแบรนด์ร้านกาแฟดังอย่าง ‘สตาร์บัค’ ด้วยมูลค่าดีล 7.15 พันล้านบาท

โดยเนสท์เล่ จะได้สิทธิ์พัฒนาสินค้ากาแฟและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ภายใต้แบรนด์สตาร์บัคทั่วโลก ยกเว้นกาแฟบรรจุขวดพร้อมดื่ม และจะได้สิทธิ์วางจำหน่ายเฉพาะนอกร้านสตาร์บัคเท่านั้น ที่ดีลนี้ คาดว่า จะเรียบร้อยภายในสิ้นปีนี้ จะสร้าง Big Move ให้กับเนสกาแฟอย่างไรบ้าง

NESCAFE HUB3

 

 

 

 


  • 72
  •  
  •  
  •  
  •