จับตา AI พลิกชะตาธุรกิจ-อุตสาหกรรม

  • 96
  •  
  •  
  •  
  •  

CYMERA_20180719_114752-700x394

คำว่า “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ Artificial Intelligence (AI) อาจเป็นคำที่คุ้นๆ หูคนทั่วไปมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าในปีนี้ AI กำลังกลายเป็นที่สนใจเป็นพิเศษจากบรรดาทุกองค์กรในแวดวงธุรกิจ สังเกตได้ว่าเวทีสัมมนาเรื่อง AI หรือ AI Stage ในงาน Techsauce Global Summit 2018 งานสัมมนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ มีผู้ต้องการเข้าฟังล้นทะลักห้องตลอดทั้งวันที่จัดสัมมนา

น.ส.อรนุช เลิศสุวรรณกิจประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด ผู้จัดงาน Techsauce Global Summit ประเมินว่า สาเหตุที่คนสนใจเข้าฟังสัมมนาหัวข้อเกี่ยวกับ AI จนล้นทะลักเวทีตลอดทั้งวัน อาจมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ 1.ต้องการรู้จัก AI มากขึ้น ต้องยอมรับว่าคนทั่วไปอาจยังรู้จัก AI ในฐานะ AI แต่ยังไม่ได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า AI คืออะไร เกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง และสามารถมาเชื่อมโยงกับชีวิตหรือธุรกิจที่ตัวเองทำอยู่ได้อย่างไร

น.ส.อรนุช เลิศสุวรรณกิจ

“คนทั่วไปอาจเริ่มรู้จัก AI จาก Siri ไว้คุยเล่นโต้ตอบกันกับสมาร์ทโฟน แต่อาจไม่ได้เข้าใจว่า AI ทำอะไรอย่างอื่นได้อีกบ้าง คำที่มาควบคู่กัน เช่น Data Science, Machine Learning, Big Data, Data Analysis คืออะไร แต่ปีนี้เป็นปีที่ทุกคนลุกขึ้นมาพูดเรื่อง AI แม้กระทั่งค่ายผู้ผลิตสมาร์ทโฟนก็ยังใช้ AI มาตอบโจทย์ความต้องการถ่ายรูปเซลฟี่ของผู้บริโภค เลยน่าจะเป็นสาเหตุให้คนทั่วไปต้องการรู้จัก AI มากขึ้น” น.ส.อรนุช กล่าว

2.เก็บข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตัวเอง AI กลายเป็นเรื่องที่สามารถเชื่อมโยงได้กับทุกธุรกิจ ทั้งธุรกิจผลิตสมาร์ทโฟน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจ e-Commerce ธุรกิจประกันภัย ไปจนถึงภาคอุตสาหกรรม ทำให้เวที AI เป็นเวทีที่มีคนจากทุกแวดวงธุรกิจและอุตสาหกรรม สนใจและตื่นตัวในการเข้ามาเก็บข้อมูลเชิงลึกที่จะไปต่อยอดกับธุรกิจของตัวเอง

3.เก็บข้อมูลของภาคอุตสาหกรรมอื่นไปประยุกต์ใช้ ที่ผ่านมา AI ได้เข้ามามีบทบาทในแวดวงธุรกิจและอุตสาหกรรมมากขึ้น ทั้งในรูปแบบ Chatbot คอยช่วยเหลือทั้งด้านงานขายและการตลาด งานด้าน CRM การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจาก Big Data เพื่อช่วยให้เกิดการตัดสินใจที่ชาญฉลาด ถูกต้อง และแม่นยำยิ่งขึ้น น่าจะเป็นอีกสาเหตุให้คนในแวดวงธุรกิจต่างๆ ต้องการเข้ามาเรียนรู้วิธีการนำ AI ของแวดวงอื่นไปใช้ เพื่อประยุกต์ใช้หรือนำไปพัฒนาธุรกิจของบริษัท ตลอดจนสตาร์ทอัพของตัวเอง

น.ส.อรนุช กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน บริษัทยักษ์ใหญ่ในทุกธุรกิจและอุตสาหกรรม ตลอดจนสตาร์ทอัพหลายรายทั้งในระดับอาเซียนและระดับโลกต่างให้ความสนใจกับการพัฒนา AI มากขึ้น เช่น ในจีนนั้น ข้อมูลของสำนักข่าวซินหัวระบุว่า มีการลงทุนในอุตสาหกรรม AI ปี 2017 ถึง 2.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9.31 แสนล้านบาท) นอกจากนี้ จากจำนวนผู้เข้าแข่งขัน Startup Pitching รอบคัดเลือกของ Techsauce Global Summit 2018 กว่า 200 รายใน 20 ประเทศ มีสตาร์ทอัพด้าน AI เข้าแข่งขันหลายราย และมีบางรายที่เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ คว้ารางวัล Special Grand Prize ไปด้วย เชื่อว่า AI จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีบทบาทเปลี่ยนแปลงภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ AI ถือเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงการเติบโตของ Deep Tech ต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมโลก Techsauce ในฐานะผู้ที่มุ่งมั่นจะช่วยยกระดับระบบนิเวศด้านเทคโนโลยี หรือ Tech Ecosystem ของไทยและภูมิภาค จึงคาดว่าจะจัดเวทีด้าน Deep Tech และด้าน AI อย่างต่อเนื่องในงาน Techsauce Global Summit 2019 เพื่อตอบโจทย์ทุกภาคส่วนที่มองหาองค์ความรู้ด้านดังกล่าวในการไปใช้พัฒนาทั้งตัวบุคคลตลอดจนธุรกิจ

“ด้วยคอนเซ็ปต์ Future is here เราพยายามช่วยให้ทุกคนมีโอกาสเห็นเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่อยู่ระหว่างการเตรียมรับมือหรือยังไม่รู้ว่าจะรับมือกับยุค Global Disruptive อย่างไร ก็สามารถมามองหากลยุทธ์ เรียนรู้เทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้นที่งาน Techsauce Global Summit เพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงได้” น.ส.อรนุช กล่าว

สำหรับงาน Techsauce Global Summit 2018 ครั้งที่ผ่านมา เป็นงานสัมมนานานาชาติที่มุ่งเติมเต็มองค์ความรู้ สร้างเครือข่ายทางธุรกิจ เชื่อมโยงผู้ประกอบการ นักลงทุน และทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน ภายในงานประกอบด้วยเวทีทั้งหมด 10 เวที หัวข้อเสวนากว่า 200 หัวข้อ และวิทยากรจากองค์กรชั้นนำจากทั่วโลกกว่า 200 คน รวมถึงมีเวทีการแข่งขัน Startup Pitching จากสตาร์ทอัพที่โดดเด่นจากทั่วเอเชีย-โอเชียเนีย โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 10,000 คน ทั้งองค์กรที่กำลังค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ แบรนด์ที่กำลังเตรียมการด้าน Digital Transformation ผู้ประกอบการที่มองหาเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กร ตลอดจนสตาร์ทอัพ และผู้ที่สนใจเรื่องราวของเทคโนโลยี องค์ความรู้ใหม่ๆ


  • 96
  •  
  •  
  •  
  •