The coffee shop effect: ทำไมเราถึงคิดไอเดียออกได้ เวลาทำงานในร้านกาแฟ

  • 462
  •  
  •  
  •  
  •  

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมความคิดสร้างสรรค์ หรือไอเดียต่างๆ ส่วนใหญ่มักเกิดที่ร้านกาแฟ?

ทำไมการทำงานที่บ้านหรือออฟฟิศ ให้ไอเดียต่างๆ ไม่ค่อยได้

คนที่ประสบความสำเร็จในโลกหลายคนทีเดียว ที่สามารถสร้างสรรค์งานเจ๋งๆ ออกมาได้กันที่คอฟฟี่ช้อป ไม่ว่าจะเป็น Pablo Picasso, JK Rowling, Simone de Beauvoir Jean-Paul Sartre หรือ Bob Dylan ไม่ว่าจะเป็น นักร้อง นักแต่งเพลง ศิลปิน พวกเขาคิดงานสร้างสรรค์กันมาหลายศตวรรษได้ที่โต๊ะทำงานในร้านกาแฟ

ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์โควิด ก็ทำให้หลายคนต้องทำงานอยู่ที่บ้าน และก็มีบางคนที่มีปัญหาว่าเริ่มทำงานเฉื่อยๆ อ่อยอิ่งอยู่บนเตียงและโซฟานุ่มๆ มากเกินไป ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการทำงานได้ และถ้าเกิดว่าการทำงานแบบรีโมท (การทำงานแบบทางไกล) นั้น เริ่มเป็นเรื่องถาวรมากขึ้นผู้เชี่ยวชาญหลายคนวิเคราะห์ว่า แทนที่ผู้คนจะเลือกทำงานที่บ้าน แต่พวกเขาจะเลือกที่จะทำงานในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น เพียงเพราะว่าต้องการแยกตัวเองออกมาเพื่อทำงานให้ได้ออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ

แล้วร้านกาแฟมันช่วยกระตุ้นไอเดียและความคิดเราได้อย่างไร? มันมีอะไรที่ทำให้แตกต่างจากการทำงานที่ออฟฟิศหรือที่บ้าน? ทั้งนี้ มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ร้านกาแฟมีสิ่งเร้าบางอย่างที่ทำให้เกิดสภาพแวดล้มที่ดี ที่สร้างประสิทธิภาพในการทำงานได้ มันมีสิ่งรบกวนหลายองค์ประกอบที่รวมเข้าด้วยกัน สร้างให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง เช่น เสียงหึ่งๆ ของฝูงชนที่ฟังดูสบายๆ ความวาไรตี้ของภาพที่ทำให้เราเบี่ยงเบนความสนใจไปได้ในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อช่วยให้เราเกิดไอเดียที่คมชัดเกิดความคิดสร้างสรรค์ที่ดีที่สุด ซึ่งมั่นใจว่าไม่ได้เกิดจากการอัดเอสเพรสโซ่ 2 สองแก้วเข้าไปอย่างแน่นอน

ความรื่นรมย์ของเสียงและฝูงชน

สังเกตไหมว่าบางคนต้องใส่หูฟังฟังเพลงทุกครั้งเวลาทำงานในที่สาธารณะ แต่เรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์ทราบเรื่องนี้มานานแล้ว ว่าพวกเสียงรบกวนพื้นหลัง (background noise) เป็นประโยชน์ต่อความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์

ทั้งนี้ การศึกษาในปี 2012 ตีพิมพ์ในวารสารการวิจัยผู้บริโภค แสดงให้เห็นว่า เสียงรบกวนรอบข้างที่อยู่ในระดับต่ำถึงปานกลางในสถานที่ เช่น โรงอาหาร สามารถเพิ่มพลังด้านความคิดสร้างสรรค์ของผู้คนได้ แนวคิดก็คือถ้าคุณสับสนมึนงงกับงานในมือ เสียงของฝูงชนในโรงอาหาร ก็อาจจะช่วยเพิ่มความสามารถในการคิดเชิงนามธรรมของคุณได้ ซึ่งอาจนําไปสู่การครีเอทไอเดียสร้างสรรค์ออกมาได้

นอกจากนี้ การศึกษาอื่นๆ ในปี 2019 มีการค้นพบที่คล้ายกัน โดยระบุว่า เสียงสะท้อนที่เรียกว่า stochastic resonance โดยพื้นฐานทั่วไปจะเกิดกับสัตว์ เป็นปรากฏการณ์ที่เสียงในปริมาณที่เหมาสมส่งผลต่อความรู้สึกของสิ่งมีชีวิต อย่างเช่น ระดับเสียงรบกวนที่เรียกว่า “Goldilocks” นั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยสิ่งเร้าที่เป็นเสียงแบล็กกราวนด์จะช่วยปรับปรุงการตัดสินใจได้ บ้างก็เรียกเสียงลักษณะนี้ว่า the coffee shop effect ดังนั้น พวกเสียงดนตรีตามห้างหรือดนตรีในที่สาธารณะ รวมไปถึงเสียงกระแทกกากกาแฟออกจากเครื่องบดของบาริสต้า ไม่ได้สร้างความรำคาญในการทำงานแต่อย่างใด แต่อาจจะเป็นตัวช่วยชั้นดีในการทำให้คุณสร้างสรรค์ศิลปะชั้นเองออกมาเลยก็ได้

นอกจากนี้ ยังมีความจริงที่ว่า ในร้านกาแฟเรามักจะถูกรายล้อมไปด้วยผู้คนที่มาทําในสิ่งเดียวกันกับเรา ซึ่งสิ่งนี้เองมันจะทำหน้าที่เป็นเสมือนแรงจูงใจอย่างหนึ่งในการทำงาน ทั้งนี้ การศึกษาในปี 2016 ได้สนับสนุนแนวคิดนี้ เมื่อนักวิจัยขอให้ผู้เข้าร่วมนั่งข้างๆ กันหน้าคอมพิวเตอร์เพื่อทํางานบนหน้าจอเดียวกัน การศึกษาแสดงให้เห็นว่า เพียงแค่ทํางานถัดจากบุคคลที่ใช้ความพยายามอย่างมากในงาน จะทําให้คุณทําในแบบเดียวกันด้วย

“มันคล้ายกับการไปยิมเพื่อออกกําลังกาย” Sunkee Lee ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านทฤษฎีและกลยุทธ์องค์กร ที่ Carnegie Mellon University’s Tepper School of Business กล่าวและว่า “หนึ่งในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับร้านกาแฟ คือเอฟเฟ็ต์ของการอำนวยความสะดวกทางสังคม (social-facilitation effect) ซึ่งก็คือ เมื่อคุณไปที่นั่น คุณเห็นคนอื่นทํางาน และมันทําให้คุณอยู่ในอารมณ์ที่พร้อมจะเริ่มทํางาน มันจะเป็นไปตามธรรมชาติเลย เพียงแค่สังเกตคนอื่นรอบๆ ก็จะสามารถกระตุ้นให้คุณทํางานขึ้นได้”

 

ความหลากหลายของภาพ

สิ่งหนึ่งที่ทําให้การทํางานที่ออฟฟิศหรือที่บ้านมันเร้าใจได้มากขึ้นก็คือ การสร้างสภาพแวดล้อมทางสายตาที่ดี บ่อยครั้งที่เรานั่งอยู่บนเก้าอี้ตัวเดิม มองไปยังผนังเดิมๆ กับห้องสี่เหลี่ยม ซึ่งไม่ช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายแต่อย่างใด

ดังนั้น หากมีการกระตุ้นด้วยภาพ หรือวิธีการตกแต่งห้อง (ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงานหรือที่บ้าน) จะส่งผลต่อกระบวการคิดเชิงสร้างสรรค์ของเราได้ หรือเรียกว่า ‘การคิดเชิงสร้างสรรค์ที่บรรจบกัน’ ทั้งนี้ งานวิจัยของ Lee บอกว่า ความหลากหลายของภาพช่วยในการ “แก้ปัญหาที่มีทางออกที่ดีที่สุด และคุณจำเป็นต้องคิดนอกกรอบ”

นอกจากนี้ Lee ยังพยายามทดลองด้วยการเพิ่มไฟนีออนเข้าไปที่ผนังโฮมออฟฟิศของเขา เขาก็พบว่าเฟอร์นิเจอร์หน้าตาประหลาดๆ ไม่นานก็เริ่มรู้สึกคุ้นเคยและน่าเบื่ออย่างรวดเร็ว ทว่า ร้านกาแฟซึ่งมีสิ่งเร้าที่หลากหลาย สามารถสร้างความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด

“แม้ว่าคุณจะแยกตัวออกมาทำงานลำพัง จดจ่ออยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์และตัดเสียงรบกวนต่างๆ ด้วยการใส่หูฟัง แต่มันก็จะมีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นรอบๆ ตัวคุณ” Korydon Smith ศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรม แห่งมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล หนึ่งในผู้ร่วมเขียนบทความเกี่ยวกับประโยชน์ของการทำงานในร้ากาแฟ กล่าวและบอกว่า “มีผู้คนเข้าและออก มีแสงของกลางวันซึ่งเปลี่ยนไปตามเวลา มีกลิ่นหอมของกาและอาหารซึ่งแตกต่างกันออกไป ซึ่งเราแทบจะไม่ได้สังเกตสิ่งเร้าเล็กๆ เหล่านั้นเลย ซึ่งอันที่จริงปกติเราอาจจะไม่เลือกที่จะทำงานในสภาพแวดล้อมแบบนั้น แต่กิจกรรมเหล่านั้นกลับทำให้สมองของเราทำงานได้แตกต่างไปจากที่บ้าน”

อากาศแห่งความไม่เป็นทางการ

ในขณะที่คนมักจะติดภาพว่าร้านกาแฟนั้นผู้ที่มาใช้บริการส่วนใหญ่คือคนทำงานโดดเดี่ยวที่โหยหาความครีเอทีฟ แต่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ร้านกาแฟก็ช่วยสร้างประสิทธิภาพให้การทำงานเป็นหมู่คณะได้ โดยระบุว่า ร้านกาแฟจะทำให้การทำงานเป็นกลุ่มหรืองานที่ต้องใช้ความคิดแบบเบรนสตอรมดีขึ้นได้ เพราะช่วยบิวด์บรรยากาศอบอุ่นของความเป็นมิตรได้ด้วย

“ถึงแม้ว่ารูปแบบการประชุมจะปรับเป็นแบบดิจิทัล อย่างไรก็ตาม โดยนัยแล้วมันก็ยังคงเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการอยู่ ในทางตรงกันข้าม มีสิ่งที่สำคัญที่เกิดขึ้น เรียกว่า อากาศแห่งความไม่เป็นทางการ เมื่อยามที่มีการร่วมประชุมในบาร์หรือคาเฟ่” Smith กล่าว และว่า สิ่งเร้าทางเสียงและภาพทั้งหมดนั้นจะช่วยการทำงานแบบเป็นกลุ่มได้ดี เมื่อเทียบกับความแห้งแล้งในการประชุมแบบ Zoom หรือการประชุมอย่างเป็นทางการในออฟฟิศ

การประชุมในออฟฟิศหรือประชุมแบบออนไลน์ ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ ทั้งนี้ Kelly Hayes McAlonie ผู้อํานวยการฝ่ายวางแผนวิทยาเขต มหาวิทยาลัยบัฟฟาโล และหนึ่งในผู้ร่วมวิจัยกับ Smith ระบุว่า ด้วยวาระการประชุม ที่ไม่ต้องพบใครเพื่อดื่มกาฟ แต่อาจจะมีระบุอยู่ในตารางการประชุมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการประชุมแบบเสมือนจริงหรือวิธีการอื่น ซึ่งจุดนี้เองก็อาจจะทำลายความคิดสร้างสรรค์ได้ นอกจากนี้ เธอยังบอกอีกว่าวิทยาลัยของเธอนั้นเป็นพื้นที่แบบออฟฟิศแบบโอเพ่นแอร์ ที่ผสมผสานความเป็นคอฟฟี่ช้อปลงไปด้วย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการทำงานร่วมกัน

มีข้อจำกัดที่ควรพิจารณาอย่างหนึ่งก็คือว่า ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะทุกที่ ที่จะเป็นมิตรกับการทำงาน อย่างบาร์บางแห่งก็มีเสียงรบกวนรอบข้างมากเกินไป หรือมีดนตรีแบล็กกราวด์ที่ไม่พอดี จนกลายเป็นการรบกวนสมาธิจริงๆ ทำให้ไม่ส่งเสริมการทำงานในพื้นที่ดังกล่าวได้

ในช่วงปีที่ผ่านมาเราทุกคนมีความจําเป็นที่จะต้องทำงานที่บ้านและหลายคนก็เริ่มรู้วิธีที่จะสร้างงานที่บ้านให้มีประสิทธิภาพได้บ้างแล้ว ซึ่งจากผลสำรวจจาก Buffer เผยว่า การทำงานระยะไกลราว 3,500 คนทั่วโลก ผ่านรายงาน State of Remote Work ปี 2020 พบว่า 80% ชอบทำงานที่บ้าน มากกว่าสถานที่พวก coworking spaces หรือร้านกาแฟ ซึ่งคล้ายๆ กับผลสำรวจปี 2019 และปี 2018 ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์แรกๆ คนผูกพันกับการทำงานที่บ้านมากขึ้น นั่นแปลว่าสำหรับบางคนแล้วความต้องการที่จะไปยังสถานที่สาธารณะเพื่อทำงานอาจจะยังไม่มีเพราะผลจากการต้องเว้นระยะห่างทางสังคมด้วยนั่นเอง

 

อย่างไรก็ตาม Lee เชื่อว่า จากประสบการณฺในเชิงบวกที่ต่อการทำงานที่ร้านกาแฟ และผลจาก coffee-shop effect มีผลล่อลวงทำให้เราออกจากบ้านไปทำงานข้างนอกมากกว่า ดังนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมพวกเขาจึงกลับไปที่ร้านกาแฟซ้ำอีก

แม้ว่าการทํางานจากที่บ้านยังคงเป็นตัวเลือกระยะยาวโดยเฉพาะในช่วงที่การแพร่ระบาดยังรุนแรงอยู่ แต่ด้วย coffee-shop effect ที่มีผลลัพธ์ที่ดี ต่อการทำงาน นั่นจึงทำให้กลายเป็นตัวเลือกที่ดีที่จะทำให้เราโหยหาบรรยากาศแบบนั้นและมากไปกว่านั้นก็คือรสชาติของกาแฟที่ดีด้วย

แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะดูแลตัวเองให้ดี ทั้งหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง และการล้างมือบ่อยๆ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด

 

Source: BBC

 


  • 462
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!