ตามติดวิวัฒนาการของ WeChat มีอะไรใหม่สำหรับธุรกิจไทยจากงานใหญ่ประจำปี ที่เมืองกวางเจา ประเทศจีน

  • 518
  •  
  •  
  •  
  •  

wechat-open-f

Marketing Oops! มีโอกาสได้รับเชิญจาก Tencent ประเทศจีน ร่วมงาน WeChat Open Class Pro 2019 งานใหญ่ประจำปีของ WeChat ที่จัดขึ้นแบบ 2 วันเต็ม เป็นงานที่มีแต่เรื่องของ WeChat ล้วนๆ กับจำนวนคนที่มาร่วมงานหลายพันคน ทั้งพันธมิตรธุรกิจ และนักพัฒนาแอพพลิเคชั่น เหตุที่ WeChat สามารถจัดงานใหญ่ประจำปี 2 วันติดกันได้ขนาดนี้ ก็เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่า WeChat App นั้นถือเป็น lifestyle app ที่สำคัญของคนจีนแทบทุกคน และปัจจุบันมีผู้ใช้มากถึง 1,000 ล้านราย เทียบกับจำนวนประชากรจีนทั้งหมดในปี 2018 อยู่ที่ประมาณ 1,400 ล้านราย

บรรยากาศในงานดูคึกคัก เต็มทุกที่นั่ง และยังมีสื่อมาร่วมงานกว่า 200 รายได้ ทำให้เห็นชัดว่าคนจีนมีการตื่นตัว ตื่นเต้นกับพัฒนาการและมีความภูมิใจกับ WeChat ไม่แพ้กับ Google, Facebook หรือ LINE ที่เรารู้จักกัน แต่ความเหนือเมฆของ WeChat คือความสามารถในการรวมทุกแอพฯไว้ในแอพฯเดียว และยังสามารถพัฒนาต่อไปให้เหนือกว่าเพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตที่ทันสมัย และ cashless society ของคนจีน

งานนี้ นอกจากการอัพเดทจำนวนผู้ใช้และการเติบโตของ WeChat แล้ว ยังได้กล่าวถึงสิ่งที่พัฒนามาแล้วต่อเนื่อง ทั้ง WeChat Mini Program, WeChat Mini Game, WeChat Pay ที่ปัจจุบันได้ต่อยอดไปสู่ Smart Shopping, WeChat iTalking และรวมถึงก้าวต่อไปในอนาคตของ WeChat   ซึ่งเนื้อหาที่ได้จากงานนี้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ทั้งกับนักพัฒนา และธุรกิจที่ต้องการใช้ WeChat ในการเข้าถึง สื่อสาร และสร้างสัมพันธ์กับลูกค้าจีนได้อย่างแน่นอน

มาดูกันว่า ในแต่ละส่วนที่กล่าวมา WeChat ได้พัฒนาออกมาอย่างไร และจะมีผลช่วยให้ธุรกิจบน WeChat ต่อยอดความสำเร็จได้อย่างไรบ้าง

WeChat Mini Program ช่องทางลัดสร้างสัมพันธ์ และต่อยอดอีคอมเมิร์ซสู่ตลาดจีน

WeChat เปิดบริการ Mini Program มาได้ 2 ปีแล้ว เป็น in App program ทีเปิดโอกาสให้นักพัฒนาหรือร้านค้าบน WeChat สามารถพัฒนาโปรแกรมต่อยอดจาก Official Account ปัจจุบันไปสู่การทำ Loyalty program, การเข้าถึงร้านค้าออนไลน์ และการซื้อขายบนช่องทางของ WeChat และ WeChat Pay โดยไม่ต้องเสียทรัพยากรการผลิต งบประมาณ และเวลาในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นขึ้นมาใหม่ และที่สำคัญไม่จำเป็นต้องมีงบโฆษณาเพื่อการโปรโมท

การพัฒนาระบบผ่าน Mini ProgramWeChat เป็นการเปิด API ให้กับนักพัฒนาให้สามารถพัฒนาแพลตฟอร์มและระบบที่เชื่อมต่อกับ API ของ WeChat ได้   ธุรกิจมีแพลตฟอร์มของอีคอมเมิร์ซ หรือไม่มี ก็สามารถสร้างแพลตฟอร์มบน Mini Program ได้ ทำให้เชื่อมต่อกับระบบสมาชิก และ CRM ได้ในทันทีโดยไม่ต้องผ่านการพัฒนาจากทีมงานของ WeChat เว้นเสียแต่บริษัทที่ต้องการความช่วยเหลือ ทางทีมงานของ WeChat ก็ยินดีที่จะให้บริการ โดยเฉพาะบริษัทของไทยที่อาจจะขาดความเข้าใจในภาษาจีน หรือขาดทีมพัฒนาก็สามารถติดต่อทีมงานของ Tencent ประเทศไทยได้  เมื่อมีแพลตฟอร์มบน Mini Program แล้ว ลูกค้าจะมีประสบการณ์ที่ Friendly ขึ้น สามารถทำธุรกรรม และทำกิจกรรมกับร้านค้าบน WeChat ได้เลย   เพราะปัจจุบัน มีการพัฒนาระบบผ่าน Mini Program แล้วกว่า 1 ล้านแอพฯ   คลิกดูต้นแบบและตัวอย่างจากแบรนด์และร้านค้าในจีนได้จากบทความนี้ ทำความรู้จักกับ WeChat Mini Program ยกระดับฐานลูกค้า และช่องทางอีคอมเมิร์ซสู่ตลาดจีน

 

WeChat Pay กับวิวัฒนาการที่น่าตื่นเต้น สู่ Facial Pay และ Smart Shopping

WeChat Pay เป็น Mobile Wallet ที่ปัจจุบันคนจีนกว่า 800 ล้านคนใช้งานในชีวิตประจำวัน เพื่อชำระสินค้าและบริการ ทั้ง ซื้อสินค้า ชำระค่าบริการ ค่าแท็กซี่ ชอปปิ้ง หรือแม่แต่การใช้บริการผ่านร้านทำผม โรงพยาบาล หรือทุกอย่างของการชำระเงิน สามารถชำระผ่าน WeChat Pay ได้หมด

ที่สุดของงานนี้คือ การ showcase ให้เห็นถึงวิวัฒนาการของ WeChat Pay จาก Scan and Pay (การชำระเงินผ่าน QR Code) ไปสู่ Facial Pay (การชำระเงินด้วยใบหน้า)    Smart Shopping ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ไม่ได้เป็นการเริ่มต้นของเทรนด์ แต่ปัจจุบันมีร้านค้าและสถานบริการต่างๆ กว่า 300 ร้านค้าได้ทดลองใช้กันแล้ว ทั้ง คาร์ฟูล ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายเสื้อผ้าชื่อดัง และร้านขายยา เป็นต้น เชื่อใครที่มีโอกาสมาเยือนประเทศจีนปีนี้ และมี WeChat account จะสามารถใช้ WeChat ชำระเงินด้วย Facial Pay ได้แล้ว

wechat-pay2

WeChat iTalking ผู้ช่วยส่วนตัวให้กับธุรกิจบน WeChat ต่อยอดสู่ Smart Customer Service

จากจำนวนผู้ใช้ WeChat กว่า 1 พันล้านคน  ซึ่งใกล้จะเทียบเท่ากับประชากรจีนในปัจจุบันทั้งหมดแล้ว หมายถึง WeChat ไม่จำเป็นต้องเพิ่มการเติบโตของจำนวนผู้ใช้งานไปมากกว่าเดิม  แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการให้ความสนใจในการสร้างคุณค่าให้กับผู้ใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด WeChat iTalking หรือ Xiaowei บริการผู้ช่วยส่วนตัวผ่านทางเสียง (Voice Assistant) จึงถือเป็นอีกหนึ่งโปรเจคสำคัญที่ WeChat ได้พัฒนาออกมา     ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถใช้ WeChat iTalking เป็นเหมือน Personal Assistant ในลักษณะเดียวกับ Siri หรือ Google Assistant   เลยไปถึงการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT อื่นๆ ทั้งกับ Smart car, Smart Home เช่น เชื่อมต่อกับ WeChat iTalking ในรถยนต์ เพื่อสั่งอาหาร หรือบอกทาง

ในแง่ของธุรกิจ WeChat iTalking จะเปรียบเสมือนเป็น Customer Service ในการถามตอบและสั่งซื้อสินค้า ผู้บริโภคจะสามารถติดต่อกับธุรกิจผ่านการใช้เสียง สอบถามรายละเอียดที่ต้องการ และทำธุรกรรมผ่านการใช้เสียงได้เช่นกัน

wechat-italking

WeChat Work

อีกหนึ่งแอพฯ ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้สำหรับองค์กร WeChat Work จะคล้ายกันกับ Facebook @Work แต่มีประสิทธิภาพกว่า เพราะถูกออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับการทำงานในองค์กร มีฟีเจอร์ต่างๆ สำหรับคนทำงานโดยเฉพาะ  เพราะได้มีการศึกษาการใช้งานจาก pain point และความต้องการของพนักงานในองค์กร   เช่น

  • สามารถจำกัดระดับการสนทนา เฉพาะกับผู้บริหารด้วย หรือเฉพาะทีม
  • สามารถส่งข้อความเฉพาะกลุ่มคนได้
  • แชร์ To Do List ระหว่างทีมงานได้
  • และยังต่อยอดไปยัง WeChat Pay ให้พนักงานสามารถทำการเบิกค่าใช้จ่ายผ่านWechat Work ได้

การมาของ WeChat Work จะทำให้คนจีนมีชีวิตอยู่กับ WeChat ทั้งด้านไลฟสไตล์และการทำงานในทุกๆวัน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งหนทางสู่การสร้างประสบการณ์และความยั่งยืนของ WeChat

 

เชิญนักพัฒนา ร่วมสร้าง Mini Game

ปัจจุบัน พวกเราติดเกมบนมือถือมากขนาดไหน คนติดเกมอย่างเราๆคงเข้าใจดี นี่ไม่ได้พูดถึงคอเกมฮาร์ดคอร์นะคะ แต่หมายถึงคนทำงานทั้งหญิงชาย ทั้งแม่บ้าน เด็กเล็ก และวัยรุ่น พวกเราต่างใช้เกมเป็นการฆ่าเวลากันทั้งนั้น   WeChat เห็นถึงเทรนด์นี้ จึงเปิดโอกาสให้ทีมนักพัฒนาเกมมือสมัครเล่น ลงทะเบียนสมัครเข้ามาเป็นทีม มาร่วมสร้างและพัฒนาเกมร่วมกัน โดยจะสนับสนุนทั้งซอฟแวร์ ฮาร์ดแวร์ งบประมาณ และความรู้ในการพัฒนาให้กับทีมที่สมัครเข้ามา   WeChat ไม่ได้ต้องการ นักพัฒนาเกมระดับมืออาชีพ หรือบริษัทเกมที่ต้องการเข้ามาหารายได้ หากแต่ต้องการเปิดโอกาสให้นักพัฒนาทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเกมที่มีความสร้างสรรค์ ให้ได้มีโอกาสเข้าร่วมสร้างเกมบน WeChat เพราะเชื่อว่า WeChat จะได้เกมที่มีครีเอทีฟ มีคุณค่าต่อผู้ใช้งาน มากกว่าความต้องการสร้างรายได้ของนักพัฒนาเกม    หาก WeChat มีเกมที่สร้างสรรค์ ผู้ใช้ WeChat ก็จะไม่ถูกรบกวน และได้ใช้ WeChat อย่างเป็นสุข Mini Game จึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จะทำให้คนจีนสามารถใช้เวลาบน WeChat มากขึ้น

และนี่คือทั้งหมดที่ได้มาจากงาน WeChat Open Class Pro ที่ผ่านมา   จะเห็นได้ว่า สิ่งที่ WeChat ได้พัฒนาออกมานั้น คือจุดยืนเดียวคือ #Lifestyle #Application ที่มาพร้อมกับช่องทางในการทำธุรกิจ หวังว่าการอัพเดทครั้งนี้จะช่วยลดความท้าทายของภาคธุรกิจไทยที่ต้องการบุกตลาดจีน จะเริ่มเห็นแสงสว่างในการเข้าถึงกลุ่มคนจีนมากขึ้น เพราะคนจีนแทบทุกคนใช้ WeChat และ WeChat เองก็ต่อยอดการพัฒนาเปิดทางให้กับธุรกิจทั่วโลกได้ทำการตลาดและเข้าถึงกลุ่มคนจีนได้อย่างง่ายขึ้น สำหรับอุปสรรคของภาษาจีนนั้น ก็อาจจะไม่อุปสรรคอีกต่อไป เพราะ Tencent เองก็มีสำนักงานอยู่ที่ไทย เชื่อว่าจะสามารถให้คำตอบและช่วยเหลือ ประสานงานกับประเทศจีน และช่วยพัฒนาระบบให้กับธุรกิจที่ต้องการได้

wechat-pay

ธุรกิจของ Tencent ในประเทศไทย

เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย)  คือผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและบริการด้านเนื้อหา หรือ “Content Platforms and Services” ตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคออนไลน์ แบ่งผลิตภัณฑ์และการให้บริการออกเป็น 3 ประเภทได้แก่  News and Portal ได้แก่ Sanook! และ NoozUP,  Entertainment & Multimedia Platforms ได้แก่ JOOX, Game และ Services ได้แก่ Topspace, Tencent Social Ads และ WeChat OA

 

เขียนโดย ณธิดา รัฐธนาวุฒิ
ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ MarketingOops.com กับประสบการณ์การทำงานในแวดวง Digital มากกว่า 15 ปี ในธุรกิจคอนเทนท์ ธุรกิจออนไลน์ และการตลาดดิจิทัล

อ่านบทความ Exclusive Insider เพิ่มเติมได้ที่นี่

บทความ Exclusive นี้เผยแพร่บน Marketing Oops! เป็นที่แรก

Copyright© MarketingOops.com


  • 518
  •  
  •  
  •  
  •  
Tukko Nathida
ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ MarketingOops.com กับความตั้งใจในการนำเสนอเนื้อหาที่ทันเหตุการณ์ และเกิดประโยชน์ ให้สามารถนำเนื้อหาความรู้ และ Insight ไปต่อยอดกับอนาคตของธุรกิจ และการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ เทคโนโลยี ครีเอทีฟ การตลาด โฆษณา และสตาร์ทอัพ