คุมไม่อยู่! ยุควิกฤตเงินเฟ้อพุ่ง สินค้าแพง ค่าครองชีพสูง กระทบหนักทั่วโลก

  • 98
  •  
  •  
  •  
  •  

เงินเฟ้อ

ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่กระทบอย่างหนักไปทั่วโลก ส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด จะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.5% เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปีในประวัติการณ์ รวมไปถึงสงครามรัสเซียกับยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ปัญหาดังกล่าวล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบอย่างหนักไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ทำให้ค่าครองชีพสูงตามไปด้วย จากราคาน้ำมัน และอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น ประชาชนเองต้องตกอยู่ในสภาวะของเงินฝืดเคือง

ส่องเงินเฟ้อสหรัฐฯ กระทบเศรษฐกิจโลกแค่ไหน

จากสภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐยังคงปรับตัวสูงขึ้น สาเหตุหลักรวมถึงเงินเฟ้อในประเทศไทยด้วยมาจากปัญหาน้ำมันที่ปรับตัวและปัจจุบันสถานการณ์ระหว่างยูเครน-รัสเซียยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า ปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มชะลอการจับจ่ายใช้สอย หลังจากที่สินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงราคาบ้านในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบให้เกิดการเพิ่มขึ้น รวมถึงบัตรเครดิตด้วยที่มีการผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้นจาก 1.48% เป็น 1.62% ขณะที่ร้านอาหารมีลูกค้าลดลง 1.7% ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ส่วนข้อมูลจากกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ระบุว่าเฟดจะปรับลดขนาดงบดุลลง 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน ในเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม ปี 65 และจะปรับลดในอัตรา 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนตั้งแต่เดือนกันยายน เป็นต้นไป เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ

ซึ่งยังคงต้องติดตามข้อมูลเงินเฟ้อเดือนเม.ย. 65 ของสหรัฐ และความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดหลายราย ที่ยังไม่ได้ประกาศออกมา เพื่อประเมินทิศทางการคุมเข้มนโยบายการเงินในระยะถัดไปหลังการจ้างงานของสหรัฐ แม้ค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดเล็กน้อยแต่ผู้ร่วมตลาดยังคาดว่ามีโอกาสอยู่บ้างที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 75bp ในการประชุมเดือนมิ.ย. 65 หากเงินเฟ้อสูงเกินคาดและบอนด์ยิลด์สหรัฐ ยังพุ่งสูงขึ้น ค่าเงินดอลลาร์จะได้แรงหนุนต่อเนื่องในทางกลับกัน หากเงินเฟ้อใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดไว้ ดอลลาร์สหรัฐฯ อาจพักฐานได้

เงินเฟ้อ

เงินเฟ้อไทยเดือน พ.ค. 65 สินค้าแพง รอขึ้นราคาอีกเพียบ

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ เดือนพฤษภาคม 2565 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับมาตรการตรึงราคาและการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ได้สิ้นสุดลงในเดือนเมษายนและปลายเดือนพฤษภาคมนี้ และการปรับราคาสูงขึ้นแบบขั้นบันไดของก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565 รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ

นอกจากนี้ ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลก มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ และพันธมิตร และการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ ยังคงเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้เงินเฟ้อของประเทศสูงขึ้นได้ในระยะต่อไป ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทย ปี 2565 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 4.0-5.0% (ค่ากลางอยู่ที่ 4.5%) ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

ส่วนเงินเฟ้อเดือนเมษายน 2565 เท่ากับ 105.15 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.65% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวจากเดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 5.73% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 0.34% ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 4 เดือนอยู่ที่ 4.71% ยังคงระดับสูงเนื่องจากราคาพลังงาน อาหารสำเร็จรูปยังสูง

สำหรับปัจจัยที่กระทบต่อเงินเฟ้อยังมีปัจจัยหลักมาจากราคาพลังงาน อาหารสด และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารสำเร็จรูปสูงขึ้น และส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการคว่ำบาตรส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิต การค้า และการขนส่ง ราคาสินค้าและบริการในประเทศจึงปรับสูงขึ้น และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในที่สุด ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับหลายประเทศที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน

เงินเฟ้อ

ส่วนสินค้าในกลุ่มอาหาร สูงขึ้น 4.83% และในกลุ่มของใช้ เช่น

• ไข่ไก่ เนื้อสุกรไก่สด ราคาเปลี่ยนแปลงตามต้นทุนการเลี้ยง ผักสดบางชนิด ซึ่งปรับขึ้นตามสภาพภูมิอากาศ และปริมาณผลผลิต
• น้ำมันพืช ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น
• อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น กาแฟ ชา ปรับขึ้นเล็กน้อย
• สินค้าอื่น ๆ ที่ปรับสูงขึ้น เช่น สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด อย่างน้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก น้ำยารีดผ้า ของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู ยาสีฟัน สบู่ถูตัว) เนื่องจากหมดโปรโมชั่นลดราคาแต่ราคาสินค้ายังไม่เกินช่วงแนะนำ

ขณะที่สินค้าจำเป็นอีกหลายรายการราคายังคงลดลง เช่น กลุ่มข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลง 3.64% (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว แป้งข้าวเจ้า) ราคาปรับลดลงตามความต้องการของตลาดและปริมาณผลผลิตที่ออกมากกว่าปีที่ผ่านมา กลุ่มผลไม้สด ลดลง 1.05% (ส้มเขียวหวาน มะม่วง กล้วยหอม) เนื่องจากผลไม้หลายชนิดออกมาพร้อมกัน ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นถือว่ากระทบไปทั่วโลก ส่งผลให้ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ปรับราคาทะยานสูงขึ้น ฉะนั้นแล้วในฐานะผู้บริโภคอาจจะต้องรัดเข็มขัด ซื้อแต่ของที่จำเป็น เพราะไม่รู้ว่า ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น จะคลี่คลายลงเมื่อไร


  • 98
  •  
  •  
  •  
  •  
sabuysuk
การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน ล้วนแล้วแต่ได้กำไร