ทำความเข้าใจ ภาวะเงินเฟ้อสูง ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ประชาชน คนทำงาน ต้องรับมืออย่างไร?

  • 473
  •  
  •  
  •  
  •  

เงินเฟ้อ

ปัจจุบันผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนักคงหนีไม่พ้นปัญหาเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นไปทั่วโลก ซึ่งในสหรัฐฯ พุ่งพรวดไปถึง 7% หรือสูงที่สุดในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของชาวอเมริกันปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสภาวะเงินเฟ้อสูงในครั้งนี้ยังกระทบลามมายังประเทศไทยที่ต้องประสบปัญหาเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อไทยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาประเมินเฉลี่ยทั้งปี 2565 จะเร่งตัวขึ้นถึง 4.9% สูงที่สุดในรอบ 14 ปี สอดคล้องกับเงินเฟ้อของหลายประเทศทั่วโลกที่ปรับตัวสูงสุดในรอบมากกว่า 10 ปี

ทั้งนี้ ภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ส่งผลกระทบต่อประชาชน คนทำงานมาตั้งแต่หลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บวกกับการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาความขัดแย้งสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ชาติตะวันตกออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ฉุดภาคส่งออก ทำให้ราคาวัตถุดิบต้นทุนในการผลิตสินค้านั้นแพงขึ้นไปสักทุกอย่าง ซึ่งสวนทางกับรายได้ของประชาชน คนทำงานที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ปัจจัยที่มีผลต่อประชาชน คนทำงาน กับการต้องแบกรับภาระกับปัญหาเงินเฟ้อ

สาเหตุหลักของการเกิดปัญหาเงินเฟ้อธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ ธปท.แบ่งได้เป็น 2 สาเหตุ คือ ประชาชนต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่า Demand – Pull Inflation ประกอบกับสินค้าและบริการนั้นๆ ในตลาดมีไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ขายปรับราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น เรียกว่า Cost – Push Inflation หากผู้ผลิตไม่สามารถ แบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้จะทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้นด้วย

ทั้งนี้ จากภาวะเงินเฟ้อส่งผลให้ราคาสินค้าของกินของใช้ต่าง ๆ ปรับราคาสูงขึ้น จึงเป็นปัญหาต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่รายได้ยังเท่าเดิม เช่น พนักงานออฟฟิศเคยกินข้าวกลางวันเฉลี่ยมื้อละ 35 บาท แต่พอเมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนของวัตถุดิบเช่น หมู ไก่ ข้าว น้ำมัน หรือการขนส่งปรับตัวสูงขึ้นจึงทำให้ข้าวกลางวันปรับสูงขึ้นเฉลี่ยมื้อละ 50 – 60 บาทเป็นต้น ในขณะที่รายได้ของพนักงงานออฟฟิศท่านนั้นยังเงินเดือนเท่าเดิม จึงส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของกินของใช้ได้น้อยลงนั่นเอง

นอกจากนี้ ปัญหาเงินเฟ้อในประเทศไทยที่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว ยังส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าครองชีพที่แพงขึ้น ถือเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติมต่อกำลังซื้อของครัวเรือนไทยในทุกกลุ่ม และลดทอนความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนด้วย โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยที่มีสัดส่วนการบริโภคอาหารสดและเชื้อเพลิงสำหรับใช้ในบ้านและการเดินทางในระดับสูง ซึ่งมีการปรับราคาเร่งตัวมากที่ราว 15 – 16% จากระยะเดียวกันปี 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับราคาสินค้าในหมวดอื่น ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของครัวเรือนไทยในกลุ่มที่มีรายได้รวม 25,000 -50,000 บาทต่อเดือน จะเพิ่มขึ้นจาก 68% ในปี 2564 มาอยู่ที่ราว 75% ในปี 2565 นี้ สำหรับครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 15,000 – 25,000 บาท จะเพิ่มขึ้นจาก 80% มาอยู่ที่ 87% และครัวเรือนกลุ่มรายได้รวม 15,000 บาท จะเพิ่มขึ้นจาก 90% เป็น 98%

จากผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2564 พบว่า ครัวเรือนไทยจะมียอดหนี้สินรวมโดยเฉลี่ยประมาณ 208,000 บาทต่อครัวเรือน เมื่อสมมติให้ระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ที่ 5 ปีและอัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี ครัวเรือนไทยโดยรวมจะมีภาระผ่อนส่งหนี้สินราว 4,400 บาทต่อเดือน โดยเมื่อคำนวณสัดส่วนภาระผ่อนหนี้สินต่อรายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน พบว่า สัดส่วนดังกล่าวของครัวเรือนกลุ่มรายได้ที่ 25,000 – 50,000 บาทต่อเดือน จะอยู่ที่ 0.88 ครัวเรือนกลุ่มรายได้ 15,000-25,000 บาท มีสัดส่วนอยู่ที่ 0.95 ขณะที่ครัวเรือนกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท มักมีรายได้ไม่เพียงพออยู่แล้ว ส่วนใหญ่จึงมักเป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันและดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนใหญ่คิดเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ จึงทำให้ไม่สามารถคำนวณหาสัดส่วนดังกล่าวได้

แต่จากผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนข้อมูลจาก Socio – Economic Survey หรือ SES ของ ttb analytics ปีล่าสุดพบว่า ครัวเรือนไทยมียอดหนี้นอกระบบรวมราว 3,800 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งคาดว่ามาจากครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยเป็นหลัก ดังนั้น เมื่อพิจารณาสัดส่วนภาระผ่อนหนี้สินต่อรายได้สุทธิดังกล่าวพบว่า ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่มีภาระผ่อนหนี้ต่อเดือนค่อนข้างสูงตามสภาพปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่เรื้อรังมานาน มีเงินสดเก็บออมไว้ใช้ในยามฉุกเฉินน้อยมาก โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มรายได้รวมต่ำกว่า 25,000 บาทลงมาที่ส่วนใหญ่ไม่เหลือเงินเก็บ ในกรณีเช่นนี้ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ก็จะยิ่งเพิ่มความเปราะบางให้แก่ภาวะการเงินของครัวเรือนไทย

เงินเฟ้อ

การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อให้แก่ประชาชน คนงานกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ในสภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่สถานการณ์รายได้สุทธิของประชาชนคนทำงานต่อครัวเรือนไทยในปี 2565 กลับปรับลดลงจากปีก่อนตามค่าครองชีพที่แพงขึ้น ประกอบกับภาระผ่อนชำระหนี้สินที่ยังมีอยู่ในระดับสูง ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี มองว่า ภาครัฐควรจัดการฟื้นฟูกิจกรรมเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศให้กลับมาใกล้เคียงปกติให้ได้มากที่สุด มีการดูแลระดับราคาสินค้าโดยรวมไม่ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยการออกมาตรการบรรเทาค่าใช้จ่ายแก่ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งบริหารจัดการหนี้อย่างเหมาะสม

โดยช่วยเหลือครัวเรือนกลุ่มเปราะบางและหาทางแก้ไขหนี้นอกระบบ ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ควรหาวิธีลดรายจ่าย ประคองรายได้ที่มีอยู่ พร้อมหาช่องทางเพิ่มเติมรายได้ และบริหารจัดการหนี้ครัวเรือนอย่างเหมาะสม เช่น ขอเจรจาปรับลดภาระผ่อนจ่ายต่อเจ้าหนี้ลงชั่วคราวที่ประชาชนคนทำงานต้องแบกรับ เพื่อประคับประคองตนเองให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตค่าครองชีพทับซ้อนวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ไปให้ได้

จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ระบุว่า หน่วยงานที่จะเข้ามาดูแลและแก้ไขควบคุมดูแลกับปัญหาเงินเฟ้อที่ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงให้กับความเป็นอยู่ของประชาชนมีด้วยกัน 2 หน่วยงาน

1.กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะเข้ามาดูแลราคาสินค้าและบริการไม่ให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสหรือเอาเปรียบผู้บริโภค หรือตรึงราคาไว้ในช่วงที่สินค้าขาดแคลนระยะสั้น นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ติดตามรวบรวมข้อมูลราคาสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคซื้อเป็นประจำทุกวันจากตลาดและแหล่งจำหน่ายต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อนำมาคำนวณจัดทำเป็นดัชนีที่เรียกว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบภาวะเงินเฟ้อสามารถวัดได้จากการเปลี่ยนแปลงของดัชนีดังกล่าว ซึ่งเรียกตัวชี้วัดนี้ว่า อัตราเงินเฟ้อ

2. ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธปท. ดำเนินนโยบายการเงินผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดูแลเงินเฟ้อ ให้อยู่ในระดับต่ำและไม่ผันผวน ซึ่งเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว และความกินดีอยู่ดีของประชาชนนั่นเอง

การดูแลให้ระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพด้านราคา ซึ่งหมายถึง การมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่่าและไม่ผันผวน (Low and Stable Inflation) ราคาสินค้าไม่เปลี่ยนแปลงขึ้น หรือลงรวดเร็วจนเกินไป ซึ่งจะช่วยให้การตัดสินใจวางแผนการบริโภค การผลิต การออม การลงทุนของ ภาคเอกชนง่ายขึ้น ตลอดจนสร้างบรรยากาศที่ดีเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการจ้างงานอย่าง ยั่งยืนในระยะยาว

เงินเฟ้อ

สรุปดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนเมษายน 2565

รายงานจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนเมษายน 2565 เท่ากับ 105.15 (ปี 2562 = 100) สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 4.65 (YoY หรือ Year on Year Comparison เป็นการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงในระยะเดียวกันของ 2 ปีก่อนและปีก่อนหน้า) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักยังคงเป็นราคาพลังงาน อาหารสด และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหาร สำเร็จรูปสูงขึ้น และส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการคว่ำบาตร ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตการค้า และการขนส่ง ราคาสินค้าและบริการในประเทศจึงปรับสูงขึ้น และส่งผลให้อัตราเงิน เฟ้อเพิ่มขึ้นในที่สุด ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับหลายประเทศที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ราคาต้นทุนหรือราคา หน้าโรงงานของไทยที่สูงขึ้นค่อนข้างมาก สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต ที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 12.8 (YoY) ยังไม่ส่งผ่าน ไปยังราคาขายปลีกมากนัก เนื่องจากมาตรการของภาครัฐ และความต้องการที่ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 โดยมี รายละเอียด สรุปดังนี้ สำหรับสินค้าสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 4.65 (YoY) เช่น

• สินค้าในกลุ่มพลังงาน สูงขึ้นร้อยละ 21.07 ส่งผลให้สินค้าในหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 10.73 โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และส่งผลให้ค่าโดยสารสาธารณะปรับสูงขึ้นตาม

• หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.98 จากการสูงขึ้นของค่ากระแสไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ราคาปรับสูงขึ้นเนื่องจากสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาและเริ่มปรับราคาสูงขึ้นแบบขั้นบันได 3 ครั้ง ตั้งแต่เดือนเมษายน – มิถุนายน 2565

• สินค้าในกลุ่มอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 4.83 จากการสูงขึ้นของอาหารสดในกลุ่มปศุสัตว์ เช่น ไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่สด ราคาเปลี่ยนแปลงตามต้นทุนการเลี้ยง ผักสดบางชนิด ซึ่งปรับขึ้นตามสภาพภูมิอากาศ และปริมาณผลผลิต ส่วน น้ำมันพืช ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น นอกจากนี้ อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟ/ ชา (ร้อน/เย็น)) ปรับขึ้นเล็กน้อย

• สินค้าอื่น ๆ ที่ปรับสูงขึ้น เช่น สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก น้ำยารีดผ้า) ของใช้ ส่วนบุคคล (แชมพู ยาสีฟัน สบู่ถูตัว) เนื่องจากหมดโปรโมชั่นลดราคาแต่ราคาสินค้ายังไม่เกินช่วงแนะนำ

อย่างไรก็ตาม ในภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่งผลให้แก่ประชาชน คนทำงานต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นไปด้วย ซึ่งถือว่า เป็นปัญหาปากท้องของประชาชนโดยตรงที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในครั้งนี้ หากหน่วยงานภาครัฐเร่งเข้ามาแก้ไขในจุดนี้ให้ผ่อนคลายลงได้ก็เป็นการช่วยให้ประชาชน คนทำงานลดการแบกรับภาระนี้ลงไปได้เช่นกัน


  • 473
  •  
  •  
  •  
  •  
sabuysuk
การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน ล้วนแล้วแต่ได้กำไร
CLOSE
CLOSE