“วิกฤตค่าครองชีพ” กระทบพฤติกรรมจับจ่าย “สินค้ารักษ์โลก” – ปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกลดความสำคัญ!

  • 2
  •  
  •  
  •  
  •  

Inflation effect sustainable products

ปัญหาใหญ่ในเวลานี้ที่ผู้คนทั่วโลกกำลังเผชิญ หนีไม่พ้นอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งกระทบต่อค่าครองชีพสูงขึ้น กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งเงินในกระเป๋าที่น้อยลง และการใช้จ่ายลดลงในสินค้าหลายหมวดหมู่ หนึ่งในนั้นคือ “สินค้ารักษ์โลก” พบว่าผู้บริโภคลดการจับจ่าย และจากรายงานวิจัยยังพบว่า ค่าครองชีพสูงขึ้น ส่งผลให้สินค้าด้านความยั่งยืนถูกมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย!

Kantar บริษัทวิจัยชั้นนำด้านข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาทางการตลาดระดับโลก เปิดตัวรายงานฉบับล่าสุด 2022 Who Cares? Who Does? งานวิจัยที่เชื่อมโยงทัศนคติด้านความยั่งยืนของผู้บริโภคกับพฤติกรรมการจับจ่ายจริง

งานวิจัยล่าสุดซึ่งสำรวจผู้บริโภคราว 100,000 ราย ใน 24 ประเทศทั่วโลก พบว่านับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 4 ปีของรายงาน ที่จำนวนผู้บริโภคกลุ่ม “Eco Actives” ลดลง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมด้านความยั่งยืนมากที่สุด ลดลง 4% ในปี 2022 เมื่อเทียบกับปี 2021 และ 2020

ในขณะที่ Eco Dismissers ผู้บริโภคที่มีความสนใจสิ่งแวดล้อมเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีเลย กลับเพิ่มขึ้น 7% หรือคิดเป็น 44% ของประชากรโลก

การลดลงของกลุ่ม Eco Actives นั้นเป็นไปอย่างแพร่หลาย โดยลดลงมากที่สุดในสเปน (-8%), โปรตุเกส (-5%), ไอร์แลนด์ (-5%) และอินเดีย (-5%) กลับกันในแง่บวกซึ่งเพิ่มมากขึ้นในฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และโคลอมเบียที่กลุ่ม Eco Active นั้นคงที่หรือเติบโตขึ้น

แม้ว่าโดยรวมมีตัวเลขที่ลดลง แต่อำนาจการจับจ่ายของ Eco Actives ยังคงมีมูลค่า 376 พันล้านดอลลาร์ สำหรับตลาด FMCG ในปี 2022 Kantar คาดการณ์ว่ากลุ่ม Eco Actives จะเติบโตเป็น 763 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี 2027 ในสถานการณ์ในแง่ลบ หรือ 1.12 ล้านล้านดอลลาร์หากมีสถานการณ์ในแง่บวก ผู้บริโภคที่มีความสนใจในเรื่องความยั่งยืนทั่วโลก มีมูลค่า 1.14 ล้านล้านดอลลาร์ในการใช้จ่ายในปี 2022 

Kantar Research-Infographic

 

รู้จักผู้บริโภครักษ์โลก 3 กลุ่ม “Eco Actives – Eco Considerers – Eco Dismissers”  

Kantar ได้แบ่งกลุ่มผู้บริโภครักษ์โลกออกเป็น 3 กลุ่มตามพฤติกรรม

Eco Actives ผู้บริโภคที่มีความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมากและกำลังดำเนินการเพื่อลดของเสียให้เกิดประโยชน์สูงสุด

Eco Considerers ผู้บริโภคที่มีความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติก แต่ไม่ได้ดำเนินการเพื่อลดขยะ

Eco Dismissers ผู้บริโภคที่มีความสนใจในสิ่งแวดล้อมเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย และไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในการลดของเสีย

Kantar Research-Infographic

 

เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม: ต้นทุนของการบริโภค เมื่อสินค้ารักษ์โลกกลายเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย

วิกฤต “ค่าครองชีพ” กำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกือบครึ่ง (45%) ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าการดำเนินการด้านความยั่งยืนนั้นยากขึ้นเนื่องจากข้อจำกัดทางสังคมหรือทางการเงิน รายงาน Kantar’s Sustainability Sector Index ฉบับล่าสุดเปิดเผยว่า ค่าครองชีพส่งผลให้สินค้าด้านความยั่งยืนกลายเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยของผู้บริโภคที่ร่ำรวย และงานวิจัย 2022 Who Cares? Who Does? ตอกย้ำประเด็นนี้

ตัวอย่างเช่น ในสหราชอาณาจักร แบรนด์ชั้นนำ 20 อันดับแรกที่ตอบโจทย์ได้ดีต่อกลุ่ม Eco Actives โดยเฉลี่ย 75% นั้นมีราคาแพงกว่าราคาเฉลี่ยในหมวดหมู่สินค้าเดียวกัน อย่างไรก็ตามปัญหาทางการเงินอาจส่งผลให้แบรนด์เผชิญกับความท้าทาย โดยในตลาด FMCG ทั้งหมด แบรนด์ที่มีราคามากกว่า 10% ของค่าเฉลี่ยของราคาในหมวดหมู่สินค้า กำลังประสบกับส่วนแบ่งทางการตลาดที่ลดลง

Inflation effect sustainable products

 

โอกาสสำหรับตลาดสินค้าเพื่อความยั่งยืน

เมื่อพูดถึงพฤติกรรมผู้บริโภคเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์นั้นมีช่องว่าง value-action จำนวนมหาศาล ระหว่างค่านิยมของผู้บริโภคและการลงมือทำของพวกเขา พบว่า

62% ของผู้บริโภคพยายามซื้อสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตามมีเพียง 24% เท่านั้นที่หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่บรรจุด้วยพลาสติกอย่างเป็นประจำ

หมายความว่ามีโอกาสทางการตลาดสำหรับแบรนด์ในการช่วยให้ผู้บริโภคปิดช่องว่างเหล่านี้ ซึ่งมีโอกาสถึง 991 พันล้านดอลลาร์สำหรับตลาด FMCG ที่พร้อมตอบโจทย์ผู้บริโภคด้านสิ่งแวดล้อม

Kantar Research-Infographic

 

วิกฤตกระทบพฤติกรรมการจับจ่ายสินค้ารักษ์โลก

ท่ามกลางสภาวะปัญหาทั่วโลกตั้งแต่ความขัดแย้งและความไม่มั่นคงทางการเมือง ไปจนถึงอัตราเงินเฟ้อและค่าใช้จ่ายที่ทวีความรุนแรงขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ถูกลดความสำคัญลงสำหรับผู้คนจำนวนมากในชีวิตประจำวัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ความยั่งยืนและผลกระทบด้านลบในระยะยาวจะไม่ถูกจัดลำดับความสำคัญในช่วงนี้ ยุค post-pandemic มีผลเปลี่ยนแปลงชีวิต ในขณะที่ไลฟ์สไตล์มีความยุ่งมากยิ่งขึ้น ผู้คนกลับมาทำงานและเข้าสังคมมากขึ้น ผู้คนจึงมีเวลาน้อยลงดังเช่นที่พวกเขาอาจเคยมีในช่วงปิดเมืองที่บังคับใช้โดยรัฐ

นี่หมายถึงการกลับมาหาความสะดวกสบายมากกว่าสินค้าปลอดพลาสติก Kantar เห็นผู้บริโภคซื้อรีฟิลน้อยลง พฤติกรรมหลีกเลี่ยงพลาสติกลดลง และซื้อขวดเครื่องดื่มพลาสติกมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดอาจเป็นอาการของ “การกลับสู่สภาวะปกติ” วิถีชีวิตในยุค pre-Covid แต่สิ่งที่แบรนด์ยังคงต้องทำต่อไปคือความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

Inflation effect sustainable products

 


  • 2
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ
CLOSE
CLOSE