เงินเฟ้อพุ่ง น้ำมันแพง ส่งออกพัง สะเทือนธุรกิจ SME อ่วมหนัก ต้องปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดได้

  • 42
  •  
  •  
  •  
  •  

เงินเฟ้อ

ภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันต้องยอมรับว่า โดนกระทบกันอย่างถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคที่ต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้น หรือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจ SME ต้องแบกรับกับแรงกดดดันการขนส่งวัตถุดิบในการผลิตสินค้า ส่งผลให้เกิดการสะดุดชะงักต่อราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น จากปัญหาการสู้รบสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนส่อแววยืดเยื้อทวีความตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังต่อราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นในรอบนี้

ภาวะเงินเฟ้อกับผลกระทบต่อภาคธุรกิจ

ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ หรือเจ้าของกิจการ SME ที่ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้ธุรกิจเกิดความเสียหายจากการปรับขึ้นราคาพลังงานได้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธปท. ระบุถึงผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และนักธุรกิจถึงผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือ

• เมื่อสินค้ามีราคาแพงขึ้น ยอดขายจะลดลง ในขณะเดียวกัน ต้นทุนการผลิตก็จะสูงขึ้นด้วย ส่งผลให้เจ้าของธุรกิจบางรายอาจตัดสินใจชะลอการผลิต ลดการลงทุนและการจ้างงาน ทำให้คนตกงานมากขึ้น

• ความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศลดลง เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกของเราจะสูงขึ้น เมื่อเทียบกับราคาสินค้าออกของประเทศอื่น ๆ

ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติตามมาอย่างไม่ต้องมีข้อสงสัย โดยผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ

• ในภาวะที่ประชาชนซื้อของน้อยลง ธุรกิจไม่สามารถขายของได้ การลงทุนเพื่อผลิตสินค้าก็จะชะลอออกไป ทำให้การพัฒนาศักยภาพการผลิตของประเทศในระยะยาวอาจชะลอลงตามไปด้วย

• ถ้าอัตราเงินเฟ้อสูงจนทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบนาน ๆ ประชาชนก็จะหันไปเก็งกำไรในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง สะสมปัญหาฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่าง ๆ และความไม่สมดุลในภาคการเงินของประเทศได้เช่น หนี้ครัวเรือน

โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยตัวเลขธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการเดือนเมษายน 2565 พบว่า มีจำนวน 850 ราย เพิ่มขึ้น 39% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีจำนวน 612 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 9,110.66 ล้านบาท ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 95 ราย คิดเป็น 11% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 35 ราย คิดเป็น 4% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 27 ราย คิดเป็น 3% ส่วนธุรกิจ SME อาจมีการปิดกิจการไปเพราะไม่มีทุนฟื้นกิจการ

เงินเฟ้อ

ผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2565 ลดลงอยู่ที่ระดับ 86.2

ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน เช่น เศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน การแพร่ระบาดโควิด-19 ราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนปรับเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงสุดในรอบ 10 ปี ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ประกอบการ และเจ้าของธุรกิจ SME โดยอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ทำการผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ระดับ 86.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 89.2 ในเดือนมีนาคม

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,320 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในเดือนเมษายน 2565 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นได้แก่

• ราคาน้ำมัน ร้อยละ 80.4
• สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ร้อยละ 68.0
• สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 60.2 และ
• เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 55.2

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 95.9 ปรับตัวลดลงจาก 99.6 ในเดือนมีนาคม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้นภายหลังจากภาครัฐลดการอุดหนุนราคาโดยจะปรับขึ้นแบบขั้นบันไดจนถึง 35 บาท ต่อลิตร รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตกจะทำให้ราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นซึ่งจะกระทบต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง นอกจากนี้นโยบายปิดเมืองของจีนเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การขนส่งสินค้ามีความล่าช้า รวมถึงเกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบและส่งผลกระทบต่อ Supply Chain ในตลาดโลก

เงินเฟ้อ

กลยุทธ์ธุรกิจ SME ต้องปรับตัว รับมือต้นทุนที่สูงอย่างไรให้รอด

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ธุรกิจเอสเอ็มอีต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ได้แนะนำผู้ประกอบการ SME ได้เห็นทิศทางการฟื้นตัว พร้อมทั้งกลยุทธ์ในการรักษาตลาดเดิมให้คงไว้ และบุกการเปิดตลาดใหม่เพิ่มรายได้ โดยยังสามารถควบคุมต้นทุนให้ทำกำไรได้ต่อไป และก้าวผ่านสถานการณ์นี้ไปได้อย่างราบรื่น โดยแบ่งออกเป็นแต่ละภาคธุรกิจ ดังนี้

• ภาคการผลิต มีแนวโน้มกลับมาเติบโตต่อเนื่อง โดยมีโครงสร้างต้นทุนส่วนใหญ่เป็นด้านวัตถุดิบ จึงควรปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มช่องทางขายบน Platform Online เพิ่มจุดผลิต จุดกระจายสินค้าเพื่อครอบคลุมพื้นที่ขายให้เพิ่มมากขึ้น หรือเพิ่มช่องทางตลาดใหม่ ๆ ส่วนระยะต่อไป ควรให้ความสำคัญด้านต้นทุนมากขึ้น โดยปรับปรุงกระบวนการผลิตและบริหารจัดการการผลิตให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

• ภาคการค้า ที่มีทิศทางการฟื้นตัวชัดเจนและเติบโตต่อเนื่อง แต่ด้วยโครงสร้างต้นทุนดำเนินงานมีสัดส่วนสูงกว่าภาคการผลิต ภาคการค้าจึงสามารถเน้นลดต้นทุนในส่วนดำเนินงานได้ง่ายกว่า เช่น ลดการทำงานซ้ำซ้อน คุมสต็อกสินค้าให้มีปริมาณเหมาะสมเพื่อลดการสูญเสียหรือล้าสมัย รวมถึงใช้บริการพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น บริการขนส่งที่ช่วยลดต้นทุนค่าแรงและค่าพลังงานได้บางส่วน พร้อมกับการเพิ่มช่องทางรายได้จากการขายเพิ่มเติม ด้วยการพึ่งพากำลังซื้อของผู้บริโภคที่เริ่มฟื้นตัว และอาจหาช่องทางรายได้ใหม่ จากตลาดที่เปิดกว้างบนพื้นที่ Online ที่ต้นทุนต่ำกว่าการขายหน้าร้าน

• ภาคบริการ แนวโน้มการฟื้นตัวดีขึ้นด้วยกำลังซื้อในประเทศ ในขณะที่กำลังซื้อต่างชาติมีโอกาสหลังเปิดประเทศมากขึ้น โดยกลุ่มภาคบริการควรให้ความสำคัญกับการลดต้นทุน โดยเฉพาะด้านการดำเนินงาน เนื่องจากมีสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น ๆ โดยเริ่มจากการลดหรือรวมกระบวนการทำงานที่ซ้ำซ้อน เพื่อลดต้นทุนที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับกิจการ การเพิ่มประสิทธิภาพในธุรกิจจากการเพิ่มทักษะฝีมือ รวมถึงใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนบางส่วน

และในระยะถัดไปเมื่อพบสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น ธุรกิจควรเร่งด้านช่องทางรายได้เพิ่มเติมโดยการหาเครือข่ายพันธมิตรเพื่อเพิ่มฐานลูกค้า หรือเพิ่มรูปแบบงานบริการที่ใกล้เคียงกับธุรกิจเดิมเป็นฐานรายได้ใหม่ เพื่อรักษาพื้นที่กำไรเพิ่มในระยะถัดไป

อย่างไรก็ตาม จากทิศทางต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น และแนวโน้มการฟื้นตัวที่แตกต่างกันในแต่ภาคธุรกิจ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการ SME สามารถกำหนดกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจของตนเอง เพื่อที่จะได้บริหารต้นทุนและจัดการช่องทางการตลาด เพื่อนำไปสู่ผลประกอบการที่ยังดำเนินต่อไปได้ในอนาคต


  • 42
  •  
  •  
  •  
  •  
sabuysuk
การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน ล้วนแล้วแต่ได้กำไร