ไม่ง่ายนักที่คนหนุ่มวัยเพียง 26 ปีจะเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง
ไม่ง่ายนักสำหรับคนที่จากบ้านของตัวเอง ไปอาศัยอยู่ในดินแดนใหม่แปลกทั้งภาษาและวัฒนธรรมตั้งแต่อายุแค่ 8 ขวบ
และไม่ง่ายนักสำหรับคนที่จากเมืองไทยไปเล่าเรียน และทำงานยังต่างประเทศอยู่ถึง 16 ปี ทิ้งเงินเดือน 2 แสน แล้วกลับมาทำงานเป็นลูกจ้างออฟฟิศบริษัทโฆษณารับเงินเดือน 2 หมื่นกว่าๆ ทั้งเข้าใจภาษาไทยน้อยมาก
ทั้งเข้าใจตลาดเมืองไทยน้อยมาก แต่ต้องมารับงานด้านโฆษณาที่ต้องอาศัยทักษะเรื่องของ Creative มากถึงมากที่สุด เกินความเชี่ยวชาญสำหรับคนที่จากบ้านไปใช้ภาษาอื่นในต่างประเทศนานๆ
แต่มาถึงวันนี้บริษัทโฆษณา VDA BANGKOK บริษัทที่เขาปลุกปั้นมากับมือและมีรายได้แตะ 100% เป็นครั้งแรก จนสามารถยืดอกได้ เพราะหลังจากผ่านพ้นต้นปีไปแค่ 2-3 เดือน ก็สามารถทำรายได้เท่ากับปีที่แล้วทั้งปี
สู้ด้วยตัวเอง
วรพฤฒิ์ เตชะไพบูลย์ Chief Executive Officer บริษัท VDA BANGKOK จำกัด กล่าวว่า “ผมคุยกับทางบ้านในเรื่องเกี่ยวกับโอกาสสุดท้าย ถ้าไม่ดีขึ้นผมก็จะกลับไปทำงานประจำ” ที่คุณ “ปู่-วรพฤฒิ์” พูดถึงเพราะมันเกี่ยวกับที่มาของเรื่องราว ที่ราวกับว่าเส้นทางที่เขาพบเจอ ล้วนสรุปได้ด้วยประโยคเดียวนั่นคือ “ชีวิตผมเป็นอย่างนี้มาตลอด”
เมื่อคุณพ่อคือคุณอุทัย เตชะไพบูลย์ เสียเมื่อตอน 6 ขวบ คุณวรพฤฒิ์ก็ถูกส่งไปอังกฤษอีก 2 ปีถัดมา ซึ่งคุณพ่อก็คือ น้องชายแท้ๆ ของเจ้าสัวอุเทน เตชะไพบูลย์ จากนั้นก็เข้าเรียนโรงเรียนประจำระดับประถมที่เจ้าชายชาลส์เคยทรงศึกษาอยู่ และเรียนเก่งในระดับนักเรียนทุนจนขึ้นไปถึงมัธยม แต่ต้องไปต่อมัธยมจนจบที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งดีกรีก็เป็นเหมือนเด็กที่เริ่มวัยรุ่นหัวโจกทั่วไปที่มักทำให้ทางครอบครัวเป็นห่วง
ความเฮี้ยวของคุณวรพฤฒิ์ก็ไม่ได้ลดลง ถึงแม้ว่าจะจบการศึกษาระดับปริญญา คณะศิลปกรรมบัณฑิตด้านการออกแบบนิเทศศิลป์ พาร์สัน สคูล ออฟดีไซน์ นิวยอร์คสหรัฐอเมริกา แต่ระหว่างทางผลการเรียนก็ติดโปรแบบเทอมเว้นเทอม
“4 ปีจบ เรียนได้ที่โหล่ตลอด สนุกสนานไปหน่อย กฎคือติด 2 เทอมติดกันจะถูกไล่ออก แต่ผมติดเทอมเว้นเทอม (หัวเราะ) จากนั้นก็อยากเรียนเกี่ยวกับแฟชั่น อนุปริญญาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สาขาการตลาดแฟชั่น ปกติคนอื่นเรียน 2 ปี แต่ผมปีเดียวจบ ทำงานอยู่ที่นั่นอีก 1 ปี ในตำแหน่งผู้กำกับฝ่ายศิลป์ NES Group ก็กลับมาเมืองไทย”
“ชีวิตที่ต้องเอาชนะทุกอย่างมาตลอด” ของคุณปู่-วรพฤฒิ์ ไม่ได้จบแค่นี้ จากเด็กที่เก่งอาร์ต แต่ทางบ้านอยากให้เป็นทนาย อยู่ต่างแดนก็สุขสบายแต่ก็ดิ้นรนกลับมาเมืองไทย ด้วยเหตุผลที่เจ้าตัวบอกว่า “ผมอยากกลับเมืองไทยตั้งนานแล้ว” เพราะใช้ชีวิตในต่างแดนมาถึง 16 ปีตั้งแต่เด็กจนโตเป็นหนุ่ม หลายคนคัดค้านว่าอเมริกาเป็น Land of Opportunity ทำไมต้องกลับ
“คุณเรียนเมืองนอกมาตั้งแต่ 8 ขวบจะปรับตัวได้หรือ” แต่กลับกันผมมองว่า เมืองไทยเสียอีกน่าจะมีโอกาสมากกว่า ที่อเมริกานั่นต่างหากที่ต้องแข่งกับคนทั้งโลก เด็กไทยเก่งเลขนะแต่ผมโง่ ผมชอบภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์ ศาสนา อะไรที่ต้องใช้ภาษาผมชอบ”
สิ่งหนึ่งที่ดูจะขัดกับบุคลิกตัวตนของเขา นั่นคือ เขาเป็นหนอนหนังสือตัวยง
เขาชอบเรียนภาษาทั้งลาติน ฝรั่งเศส บ้า อิน หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สงครามครูเสด ศาสนา ซีซาร์ จักรวรรดิโรมัน นโปเลียน ฯลฯ เป็นเล่มๆ อ่านมาหมด ใช้เวลา 1 สัปดาห์อ่านจบ 3 เล่มสบายๆ
นั่นจึงไม่แปลกที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ขึ้นแท่นผู้บริหารที่น่าจับตามองอีกคนหนึ่งในไทยรัฐออนไลน์ “จงคิดอย่างผู้นำ” ปรัชญาการทำงานของวรพฤฒิ์ เตชะไพบูลย์ (25 เม.ย. 2555)
ปู่-50 Layout
ราวปี 2008-2009 เขาร่วมงานด้านอาร์ตไดเร็กเตอร์ที่ TBWA Thailand ทำได้ประมาณปีครึ่งก็ย้ายไปเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาด LBG ดูแลผลิตภัณฑ์ Burberry ได้อีกครึ่งปีเพราะรักและชื่นชอบในแฟชั่น แต่ตัวเองก็ไม่ใช่คนในวงการนี้ เพราะตนเองเป็นคนโฆษณา
“ที่ TBWA ผมมีความสามารถน้อยที่สุดในรุ่น ขาย Layout 50 ครั้งมั้งกว่าจะผ่าน (หัวเราะ) จนโดนแซวเลยว่าปู่-50 เลย์ (หัวเราะ) โชคดีที่ได้งานที่คนไม่อยากทำ ก็พยายามทำ ถูกแซวว่าคนตระกูลดังจะทนเหรอ ผมไม่รู้ ผมอยากทำ ผมไม่รอ” เขากล่าว
เมื่อทิ้งงานแฟชั่นเขามีความคิดอยากกลับไปที่ TBWA แต่ติดเรื่องการลงทุน 30% ใน MOGA Hair Salon ร้านตัดผมสุดฮิป รวมทั้งสนามฟุตซอล “SKYKICK ARENA” ย่านบางนา-ตราด หลักสิบล้านบาทในวัย 24-25 ปี (เคยถูกเขียนไว้ในคอลัมน์ ขอเวลานอก: ‘ปู่’ วรพฤฒิ์ ยิ่งกว่าฟุตบอล) ซึ่งไม่ขาดทุนแต่ผ่านไป 8-9 ปี ก็ไม่เห็นตัวเงิน เพราะกำไรที่ได้มาก็นำไปซ่อมแซมหญ้าเทียม ซึ่งแต่ละครั้งก็ใช้เป็นหลักล้านบาท
เมื่อถึงคราวต้องตัดสินใจทำอะไรอีกสักครั้ง จุดหักเหที่ทำให้เกิด VDA BANGKOK เมื่อปี 2011 ทั้งๆ ที่ตัวเองทำงานในระบบมาได้ 2-3 ปี ความรู้ก็น้อย ประสบการณ์บริหารคนก็ไม่มี ทั้งที่บ้านและกลุ่มเพื่อนลงความเห็นว่า “เจ๊งแน่ๆ”
จากเงินลงทุนจากทางบ้าน 5 แสนบาท ใน 3 เดือนแรกว่าจ้างพนักงานมา 3 คน ทำทั้งหมด 4 คน (รวมทั้งตัวเอง) งานที่เข้ามาครั้งละ 2 หมื่น 3 หมื่นบาท เงินที่มีอยู่จึงเหลือแค่ 2 แสนบาท “ได้กลับไปทำงานประจำแน่” คุณปู่คิด และถือว่าโชคดีที่เขาได้งาน Annual Report จากธนาคารออมสินมาช่วยชีวิต รวมทั้งงานของพี่ในวงการแฟชั่นอีกท่านหนึ่ง ทำให้บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนรอดจากสถานการณ์วิกฤตมาได้
ปีแรกของ VDA BANGKOK เริ่มต้นกิจการที่ยอดรายได้ 10 ล้านบาท ซึ่งลูกค้ามักเข้าใจผิดคิดว่าเป็นบริษัทที่รับทำงานทางด้าน PR และ Event ความจริงแล้ว V มาจากคำว่า Verb, D คือ Design และ A คือ Atelier ภาษาฝรั่งเศสหมายถึง Workshop รวมความหมายแล้วก็คือ Action Design Workshop จากนั้นคุณปู่ก็เริ่ม Build ทีมในปีที่ 2 พร้อมๆ กับรายได้ที่โตขึ้นเรื่อยๆ เป็นหลัก 15 20 30 ล้านบาท แต่ก็มาเจอปัญหายอดรายได้ตกอย่างมากในปีที่ 5 จากภาวะเศรษฐกิจประเทศที่ย่ำแย่
“ชีวิตเป็นอย่างนี้มาตลอด” คุณปู่กล่าวขึ้น
สู้กับ “นามสกุล”
“คุณพลาย” ขจรพัฒน์ เกษมศรี ณ อยุธยา จาก SPA-HAKUHODO เพื่อนป. 1 ของคุณปู่ได้เข้ามารับตำแหน่ง Managing Director เป็นผู้เข้ามาดูแลบริหารจัดการทั้งหมด เซ็ตระบบทุกอย่างในบริษัท ซึ่งในปี 2017 ยอด Billing ทั้งปีขยับเพิ่มขึ้นมาเป็น 100% และในปีนี้ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้สามารถทำยอด Billing ไปแล้ว 100% จากปีที่แล้ว โดยลูกค้ามีทั้ง UMAY+, CAT Telecom, UOB Bank, Siamese Asset, Squeeze by Tipco, Bikeclub, Blackmores ฯลฯ เดี๋ยวนี้คุณปู่ไม่ต้องโทรหาลูกค้าแล้ว แต่ลูกค้าจะโทรมาเองแทบทุกวัน
ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ตัวเลขของหลายบริษัทและหลายอุตสาหกรรมไม่เป็นไปตามเป้า ยอดรายได้ตกแทบทุกเอเจนซี่ แต่ VDA BANGKOK เป็นเอเจนซี่ไม่กี่บริษัทที่ยอดโตขึ้น 100%
“ผมเป็นคนอย่างนี้มาตลอด หลังชนฝามาตลอด แต่สิ่งหนึ่งคือ ผมไม่เคยยอม อาจจะเข่าถึงพื้น แต่อีกขายังยืนอยู่ ผมสู้เพื่อตัวเองมาตลอด สู้คนเดียว เป็นคนพูดไม่เก่ง คุณหนูหรือเปล่า อันนี้ถูกถามมาตลอด การโดนดูถูกมีหลายแบบไม่ว่าจะมีบ้านรวยหรือจน”
“นามสกุล อันนี้เป็นสิ่งที่ผมสู้กับมันมาตลอดทั้งชีวิต ผมยื่นนามบัตรไม่เคยพูดนามสกุล แต่คนตัดสินผมจากนามสกุล ผมอยากได้งานจากความสามารถของออฟฟิศที่ดี อย่าอยากได้ผม เพราะเกรงใจแม่หรือครอบครัวของผม แต่ผมจะเปลี่ยนมุมมองสังคมได้ขนาดนั้นหรือ มันเป็นแค่นามสกุล คนเราเลือกเกิดไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นลูกคนจนหรือคนรวย เราต้องมีจุดยืนของเรา เราต้องเชื่อในสิ่งที่เราเชื่อ คุณลุงของผม (เจ้าสัวอุเทน) สอนผมมาตั้งแต่เด็กว่า การเป็นลูกตระกูลเตชะไพบูลย์มันมีความหมายยังไงบ้าง ไม่ใช่เกิดมาในตระกูลนี้แล้วดีไปหมด เราจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคมยังไงต่างหาก”
ตระกูลเตชะไพบูลย์จึงดำเนินงานช่วยเหลือสังคมมาตลอด ในรูปขององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรทั้งมูลนิธิปอเต็กตึ้ง โรงพยาบาลและมหาวิทยาลัยหัวเฉียว รวมทั้งการดูแลมูลนิธิ Bangkok Symphony Orchestra Foundation โดยคุณแม่อัจฉรา เตชะไพบูลย์ เป็นกรรมการวง Bangkok Symphony Orchestra
“นี่คือสิ่งสำคัญที่ตระกูลทำเพื่อสังคม ผมก็เช่นกันต้องรีเทิร์น เพราะถือว่าเรามาอาศัยแผ่นดินนี้อยู่ต้องคืนให้สังคม เล็กๆ ของผมก็คือ การให้โอกาสคนรุ่นใหม่ๆ ทำเท่าที่กำลังจะทำได้”
การเป็นคนพูดไม่เก่ง ไม่มีประสบการณ์ด้านบริหารด้านการเงินในรูปขององค์กร ทำให้เขาต้องฝึกตัวเองทุกวัน Build คนจาก 0 เป็น 50 คนภายใน 6 ปี ปัจจุบันจะดูบัญชี ตัวเลข ไฟแนนซ์อย่างช่ำชอง แม้ว่าบริษัทด้านโฆษณา VDA BANGKOK ที่ทำอยู่กำลังจะขยายสเกลและตัวเลขทางธุรกิจ ให้พุ่งไปสู่ระดับร้อยล้านในอนาคต คุณปู่ก็ยังหาเวลาไปเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับไฟแนนซ์ จนจบหลักสูตรปริญญาโท Executive MBA จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรไปเมื่อปีที่แล้ว ท่ามกลางความยินดีของครอบครัว
VDA BANGKOK ถึงจุดประกาศตัว
“เราจะเป็นเอเจนซี่แรกๆ ในเมืองไทย ที่เน้นเรื่องของ ROI ทุกแพลตฟอร์ม เรามี Media partner ทุกประเภท และเราเน้นว่าการเป็นเอเจนซี่ไม่ใช่แค่เรื่องครีเอทีฟเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงเรื่องของ Strategy และ Tactics ผ่านเซอร์วิสต่างๆ ที่เรามี เพื่อผลักดันธุรกิจลูกค้าต่อไป”
หลักการของ VDA BANGKOK คือต้องเข้าใจ Bottom Line ของลูกค้าก่อน เข้าใจตลาดในธุรกิจลูกค้าว่า กลุ่มเป้าหมายคือใครและต้องการอะไร จากจึงทำการวิเคราะห์เพื่อหา Insight ของกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้อง
รวมไปถึงทีมงานที่ปฏิบัติกับลูกค้าเป็นพาร์ทเนอร์ คอยให้คำแนะนำและใส่ใจรายละเอียดในทุกๆ ขั้นตอน เหมือนเพื่อนที่คอยช่วยเพื่อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ ที่ช่วยทำให้เกิด Long Term Partnership กับลูกค้า และทำให้ลูกค้ารู้สึกอุ่นใจและประทับใจกับ VDA BANGKOK มากยิ่งขึ้น
ปู่-Beat Barrier
ประสบการณ์ล้ำค่าจาก TBWA ทำให้เขาเชื่อว่าคนเกิดมามีพรสวรรค์อย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมีความอดทน มีความตั้งใจ และมีวินัย ทั้ง 3 ส่วนต้องประกอบเข้าด้วยกัน เขาเป็นคนที่เชื่อฟังความคิดเห็นคนอื่นมาตลอด ทำให้ได้เปรียบในเรื่องของข้อมูล วิธีคิด ฟังข้อมูลวันนี้พรุ่งนี้นำไปขายได้เลย ประกอบการเป็นนักอ่าน ทำให้มีนิสัยของการเรียนรู้ติดตัว เขาไม่มีและไม่เชื่อเรื่องของ Ego เพราะคิดว่านี่คือสิ่งสำคัญ นี่คือสิ่งที่ปิดกั้น
“คุณจะจบไหนก็ตามถ้าทำงานได้ ผมรับพนักงานทุกคนไม่เคยดูเกรดหรือดูสถาบัน ผมไม่ต้องการเกียรตินิยมอันดับ 1 คุณจะจบสถาบันไหนมาก็ตาม แต่สิ่งที่เราต้องการคือ การถ่อมตน เราต้องก้มหัวให้เป็น เราต้องไม่คิดว่าเรารู้ไปทุกอย่าง ซึ่งมีมนุษย์พันธุ์นี้มากมายในประเทศไทย คิดว่าทุกคนโง่ไปหมด และมองตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางของทุกสิ่ง”
“ผมเป็นคนที่ไม่เคยได้รับคำชมจากพ่อแม่ ต้อง Beat Barrier แบบหลังชนฝามาตลอดแต่ไม่มีคำชม ไม่ว่าจะทำ Billing ได้ 60 ล้าน หรือ 200 ล้าน ถึงอย่างไรท่านก็ไม่ชมอยู่ดี แต่ท่านสอนเรามาตลอดว่า วันที่คิดว่ารวย คือจน ผมจึงสู้มาตลอด พรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้”
“สิ่งที่ผมคิดว่ายากที่สุดคือ คน เราอยู่ในยุคที่ไม่มีขาวกับดำ ต้องเข้าใจ ยอมสิ่งนี้ก่อน ถ้านี่คือ ถูก ผิด เราจะ บริหารไม่ได้ เพราะมันไม่ทิ้งช่องไว้ให้พนักงานเลย สิ่งที่พยายามทำคือ สร้างวินัยทีมเวิร์คในกรอบกว้างๆ แต่ต้องเล่นในกฏ ในเกม”
“คุณภาพงาน คน ระบบ เราต้องดีขึ้นๆ ไม่มีใครเปิดบริษัทมาแล้วตูมตาม แต่เราต้องรู้ตัวเอง สิ่งที่ผมทำคือ Passion ของผม ให้ทำอย่างอื่นนอกจากธุรกิจโฆษณา ผมก็คงไม่อยากทำ
“ผมไม่อยากให้ลูกค้าดูถูก ทุกอย่างที่เกี่ยวกับแบรนด์ VDA BANGKOK ไม่ใช่แค่ความน่าเชื่อถือ แต่ต้องมาพร้อมกับความเป็นมืออาชีพ ทุกวันนี้สิ่งที่ผมพยายามทุกๆวัน คิดว่างานที่ออกมาดีหรือยัง ดีได้มากกว่านี้ไหม ผมและทีมงานทำงานแบบ Unstoppable ถล่มกำแพง ทลายกองทัพ ทะลุตึกได้หมด ไม่มี Barrier ไหนที่เราถล่มไม่ได้”
“ผมเคยพูดกับภรรยาว่าวันที่ผมตาย ไม่อยากตายแบบไม่ได้สู้จนหยดสุดท้าย ผมจะทำงานจนวันสุดท้ายของชีวิต อย่างน้อยผมพูดได้ว่า ทำจนสุดชีวิต สู้จนลมหายใจสุดท้าย ถ้าจะต้องให้มุดดิน โคลน ยอม ขอให้วันสุดท้ายตายแบบสบายใจ ผมไม่เอาเงินมาเป็นตัวตั้งในชีวิต มันเป็นแค่ตัววัดคะแนนของความสำเร็จ ถ้าหยุดทำงาน ก็คือ อยากจะตายแล้ว”
สมบูรณ์พร้อมของครอบครัว
มีลูกชีวิตเปลี่ยน วันพักผ่อนของคุณปู่ นั่นคือ การใช้เวลากับครอบครัว มอบเวลาคุณภาพให้กับลูกสาวตัวน้อย เปรียบเสมือนการสร้างเขื่อนจะส่งน้ำอย่างไรให้ข้าวในนาเติบโต เขาจึงไม่เชื่อในวิธีการของการบังคับ ช่วงแรกเกิดจนถึง 3 ขวบของลูกจึงมีค่าสำหรับเขา เวลากลับมาไม่ได้ และเขาจะไม่แลกสิ่งนี้กับอะไร
“ผมมองว่าครอบครัวสำคัญที่สุด”
วันที่แต่งงานเขากล่าวว่า เขาไม่ได้มองหาคนที่เขารัก แต่คุณปู่จะหาคนที่ให้ความนับถือเขาได้ต่างหาก
ความคิดของลูกหลานตระกูลใหญ่ อาจจะพบเห็นได้อยู่ทั่วๆ ไป
แต่คงไม่ใช่กับวิธีคิดและการใช้ชีวิตของคนหนุ่มในวัย 33 ปีอย่างคุณปู่-วรพฤฒิ์ เตชะไพบูลย์ แน่นอน