ภายหลังโรคระบาดเริ่มลดความรุนแรงลง จนเริ่มแผนการปรับสู่การเป็นโรคประจำถิ่น และมีความพยายามที่จะทำให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่ภาวะ “ปกติ” แต่ในแง่ของธุรกิจแล้ว ผลกระทบยังคงตามต่อเนื่อง แม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นก็ตาม โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิต (Manufacturing) ที่ต้องการโชว์ศํกยภาพการผลิตเพื่อให้แบรนด์ต่างๆ เกิดการจ้างงาน
โดยในอดีตการจัดงานที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิต ช่วยให้ธุรกิจสามารถจับคู่กับผู้ผลิตได้และสร้างเม็ดเงินให้อุตสาหกรรมจำนวนมาก แต่ช่วงการเกิดโรคระบาดทำให้การจัดงานที่ถือเป็นเวทีพบปะผู้ผลิตและแบรนด์ต่างๆ ห่างหายไป แม้จะมีรูปแบบการจัดงานแบบออนไลน์ก็ยังมีอุปสรรคในเรื่องของการเจรจาข้อตกลงกัน และทำให้อุตสาหกรรมผู้ผลิตซบเซาลง
ลา่าสุด RX Tradex (หรือเดิมคือ Reed Tradex) พลิกฟื้นการจัดงานมหกรรม Manufacturing Expo 2022 กลับมายิ่งใหญ่ด้วยการผสาน 9 งานย่อยเข้าไว้ด้วยกัน ประกอบไปด้วย งานแสดงการผลิตพลาสติก (InterPlas Thailand) งานแสดงการผลิตแม่พิมพ์และการขึ้นรูป (InterMold Thailand) งานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ (Automotive Manufacturing) งานแสดงหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและระบบอัตโนมัติ (Assembly & Automation Technology) งานแสดงเทคโนโลยีเคลือบผิวและทำสีชิ้นส่วนอุตสาหกรรม (Surface & Coating) งานแสดงเทคโนโลยีการผลิตและตรวจวัดชิ้นส้วนอิเลคทรอนิกส์ (NEPCON Thailand) งานแสดงการบริหารจัดการโรงแรม (FecTech) และงานการผลิตเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ (GFT)
โดย คุณวราภรณ์ ธรรมจรีย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ จำกัด ชี้ว่า หลังสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง ทำให้การจัดงานแสดงสินค้าสามารถกลับมาจัดงานได้เหมือนเดิม ชี้ให้เห็นถึงความพร้อมในการจัดงานแสดงสินค้า เห็นได้จากที่มีผู้ประกอบการหลายรายเริ่มทยอยจัดงานขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี ซึ่งงาน Manufacturing Expo 2022 จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22-25 มิถุนายนนี้ ที่ศูนย์ประชุมไบเทคบางนา
สำหรับการจัดงานในปีนี้จะใช้ธีมงาน “Power Up” เพื่อเป็นการเสริมพลังงานให้ภาคการผลิตอย่างครบวงจร ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการต้องทุ่มทุกขุมพลังทั้งการปรับตัว ปรับโครงสร้างธุรกิจ ปรับรูปแบบการทำงานเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้จนถึงทุกวันนี้ โดยตั้งเป้าผู้เข้าร่วมชมงานครั้งนี้กว่า 50,000 คน พร้อมนำเทคโนโลยีใหม่จากแบรนด์มากกว่า 1,000 แบรนด์ทั่วโลกจาก 30 ประเทศ
อีกหนึ่งไฮไลต์ที่สำคัญของงานในครั้งนี้คือการจัดการสัมมนาเชิงวิชาการที่รวบรวมไว้กว่า 30 หัวข้อสัมมนาโดยหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจแบ่งออกเป็น 7 หัวข้อหลัก ประกอบด้วย งานสัมมนา Automotive Summit 2022 ที่จะเน้นประเด็นเรื่อง “ความเป็นกลางทางคาร์บอน: จุดเปลี่ยนของยานยนต์แห่งอนาคต” งานสัมมนา Plastic Forum ที่จะเน้นประเด็น “ก้าวข้ามวิกฤติ พลิกฟื้นอุตสาหกรรมพลาสติกอย่างยั่งยืน”
งานสัมมนา InterMold Forum ในหัวข้อ “หลักการออกแบบผลิตภัณฑ์และแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก” งานสัมมนา Robotics & Automation Symposium ในหัวข้อ “รวมพลัง พลิกธุรกิจ SMEs ไทย สู่การผลิตสมัยใหม่ ยุค 4.0” งานสัมมนา Surface & Coating Forum ในหัวข้อ “การเสริมสร้างศักยภาพอุตสาหกรรมชุบโลหะเพื่อโอกาสใหม่ และการสนับสนุนจาก TEPNET”
งานสัมมนา NEPCON Forum กับประเด็นหัวข้อ “การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในภาคการผลิต: กลยุทธ์แผนที่นำทางและแนวปฏิบัติ” และงานสัมมนา FacTech Forum กับประเด็นหัวข้อ “การส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม”
การจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นความพิเศษที่มีถึง 9 งานย่อยรวมอยู่ในงานเดียวกัน ช่วยให้ผู้เข้าร่วมชมงานรู้สึกได้ถึงความคุ้มค่าในการเข้าชมงาน โดยภายในงานจะเน้นให้ผู้เข้าชมงานเข้าร่วมงานในรูปแบบ On Site ขณะที่เทคโนโลยีออนไลน์จะนำมาใช้ในรูปแบบ Remote Booth ซึ่งจะช่วยให้แบรนด์ต่างประเทศที่เข้าร่วมงานสามารถร่วมงานผ่านรูปแบบ Video Conference ได้
ซึ่งในช่วงที่ผ่านกว่า 2 ปี คุณวราภรณ์ อธิบายว่า การจัดงานส่วนใหญ๋จะเน้นไปที่รูปแบบออนไลน์ ซึ่งได้รับการตอบรับดี แต่การได้พบปะพูดคุยกับได้เจรจาตกลงการค้าต่อหน้ากัน จะช่วยให้โอกาสการเจรจาสำเร็จได้มากกว่าการเจรจาผ่านรูปแบบออนไลน์ เนื่องจากบางครั้งเจ้าหน้าที่ที่คอยตอบคำถามผ่านระบบออนไลน์อาจมีความเชี่ยวชาญไม่มากพอ หรือมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมชมงานครั้งนี้สามารถลงทะเบียนได้ 2 รูปแบบ ทั้งการลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมชมงานการแสดงสินค้าต่างๆ และการลงทะเบียนเพื่อเข้ารับฟังการสัมมนา โดยงานในครั้งนี้จะมีการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมชมงานเพื่อให้เป็นไปกฎระเบียบความปลอดภัยที่ภาครัฐกำหนด