ในยุคที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แบรนด์ระดับโลกอย่าง KFC Thailand จึงต้องปรับตัวและสร้างสรรค์กลยุทธ์ทางการตลาดที่สามารถเชื่อมโยงกับผู้บริโภคไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการผสมผสานระหว่างอัตลักษณ์ของแบรนด์กับวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างแยบยล แคมเปญการตลาดของ KFC Thailand จึงไม่เพียงแต่สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ แต่ยังสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคได้อย่างลึกซึ้ง และตอบโจทย์ความต้องการในยุคดิจิทัลได้อย่างโดดเด่น
เป็นโอกาสดีที่ Marketing Oops! ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ผู้บริหารคนเก่ง และอยู่เบื้องหลังแคมเปญสุดปังและกวาดรางวัลมากมายในเวทีระดับภูมิภาคและระดับโลก มร.ซูเฮล ลิมบาดะ Market Lead & Chief Marketing Officer เคเอฟซี ประเทศไทย ซึ่งจะมาเปิดทุกเคล็ดลับการทำงาน ตั้งแต่การความท้ายทายในยุคเศรษฐกิจดาวน์ดิ่ง และเบื้องหลังทุกการตัดสินใจของแต่ละแคมเปญ รวมทั้งล่าสุดกับโปรเจ็คต์สำคัญที่ KFC Thailand ลุยด้านการศึกษาเพื่ออนาคตของเด็กไทย ทั้งหมดนี้ผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษชิ้นนี้
ความท้าทายในธุรกิจ QSR กับเกมที่ผู้เล่นแข่งกันเดือด
ธุรกิจอาหารเป็นเกมที่แข่งกันดุเดือดมากอย่างที่เราทราบกันดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาด QSR ซึ่งถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่หินโหดมากที่สุดในประเทศไทย แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ KFC เองก็เข้าใจในสถานการณ์นี้ดี คุณซูเฮล เปิดใจกับเราเรื่องนี้เช่นกัน โดยบอกว่า ประเทศไทยมีร้านอาหารมากมาย คนไทยมีทางเลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น แบรนด์ใหญ่ แบรนด์เล็ก หรือแม้แต่สตรีทฟู้ด เรียกได้ว่ามีผู้เล่นมากมายเข้ามาอยู่ในตลาดเสมอ คนไทยรักอาหารจริงๆ ดังนั้น ในฐานะแบรนด์ เรามองมันเป็นโอกาส แล้วสิ่งที่เราจะรับมือกับความท้าทายนี้ได้ก็คือ เราต้องสร้างความโดดเด่นในตลาดอย่างแท้จริง เราต้องเชื่อมต่อกับหัวใจและความคิดของผู้บริโภคไทย
“ผมคิดว่ามันมีความท้าทายมากมายในอุตสาหกรรม QSR มีการแข่งขันสูงมากและทุกคนต่อสู้เพื่อผู้บริโภคกลุ่มเดียวกัน และความท้าทาย QSR คือ ในตอนนี้ทุกคนพยายามทําในสิ่งเดียวกัน เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น การสู้กันในเรื่องราคา ทำการตลาด โปรโมชั่น เหมือนกันไปหมด ดังนั้น สิ่งที่เราจะสร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ได้ คือเราต้องโดดเด่นและแตกต่าง เราต้องพยายามทําให้โดดเด่นในตลาดด้วยการมีมุมมองที่แตกต่างออกไปในเรื่องนี้”
ปรัชญา KFC ‘Relevant, Easy and Distinctive’
การสร้างความแตกต่างนั้นก็ตรงกับปรัชญาของ KFC ได้แก่ Relevant, Easy and Distinctive (เกี่ยวข้อง, ง่าย และโดดเด่น) มันเป็นวิถีของเรา คุณซูเฮลขยายความต่อ มันคือจุดประสงค์ของเรา เมื่อโลกบอกว่าไปฝั่งนั้นกันเถอะ แต่เราไม่เราจะไปด้านนั้น เพราะ เราต้องการสร้างความแตกต่าง และถ้าเราเลือกที่จะแตกต่างมันก็จะทำให้เราโดดเด่น กว่าคนอื่น
แต่ถึงจะแตกต่าง เราก็ยังต้องเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมด้วยนั้น ดังนั้น จะเห็นว่าแม้เราจะเป็นแบรนด์ระดับโลก (แบรนด์ต่างประเทศ) แต่งานแทบทุกชิ้นของเรามีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมความเป็นไทย ซึ่งเราใช้ประโยชน์จากความเข้าใจใน Insight ความเป็นไทยแบบ 100%
“ดังนั้น ในทุกครั้งที่ทีมของผมนำเสนอไอเดียอะไรมาก็ตาม ผมจะถามสิ่งนี้เสมอๆ ว่า Insight ของมันคืออะไร? สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับคนไทยอย่างไร? แล้วเราก็จะขับเคลื่อนมันด้วยสิ่งนั้น”
มากไปกว่านั้น อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ถ้าเราจะแตกต่างเราก็ต้องใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปด้วย แต่ความคิดสร้างสรรค์ก็ต้องมีความเกี่ยวโยงกับท้องถิ่น ซึ่งถ้าไม่มีเรื่องนี้มันก็คือไร้ค่า
การยึดโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่นสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเป็นแบรนด์ระดับโลก การเข้าถึงหัวใจหรือความคิดของคนไทยสำคัญมาก คุณต้องเคารพวัฒนธรรมของประเทศที่คุณอยู่
“สำหรับผม ผมไม่ใช่คนไทย แต่ผมก็ได้เรียนรู้วัฒนธรรมไทยมากมาย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากทีเดียว ยกตัวอย่างง่าย เรื่องมุกตลกอารมณ์ขัน ประเทศไทยมีอารมณ์ขันที่แตกต่างและซับซ้อนมาก มาประเทศไทยแรกๆ ผมก็ไม่เข้าใจ ดังนั้น สิ่งที่ผมทำก็คือ ผมต้องไว้วางใจทีม คุณรู้ไหมหลายครั้งเลยที่ผมต้องลงนามในแคมเปญที่ตัวเองก็ไม่เข้าใจ แต่เราต้องมีศรัทธาและไว้วางใจทีม”
“I am not KFC. My consumers are KFC. My team is KFC.” มร.ซูเฮล ย้ำกับเรา
เมื่อถามต่อว่า อะไรคือจุดที่คุณมองว่า แบบนี้มันใช่! ในเมื่อคุณไม่เข้าใจ? คุณซูเฮล ตอบอย่างมั่นใจว่า เขาใช้การมองไปที่บรรยากาศรอบๆ ห้องประชุม “ปฏิกิริยาของทีมของผมและเอเจนซี่ ถ้าพวกเขาตื่นเต้นกับมัน มันสําคัญมากที่จะต้องได้รับความรู้สึกในห้อง เมื่อไอเดียหมอเกิดขึ้น ผมก็ดูทีมของผมว่าทีมของผมก็ตื่นเต้นไหม มันเป็นเรื่องจริงใช่ไหม เพราะมันเป็นแคมเปญที่ Deep insight มากจริงๆ”
(คลิกอ่านรายละเอียดแคมเปญเพิ่มเติม)
รักษาความเป็นผู้นำ ด้วยจิตวิญญาณ Underdog
อย่างที่กล่าวว่าธุรกิจ QSR ไม่ง่าย แล้วยังต้องพบกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาเงินในกระเป๋าผู้บริโภคที่หดตัวลง แม้แต่เรื่องภาษีนำเข้าที่ทั่วโลกกำลังปวดหัวกับมัน KFC Thailand จะเผชิญหน้ากับความท้าทายนี้อย่างไร “ผมมักพูดเสมอว่า เราไม่สามารถควบคุมพายุได้ แต่เราสามารถควบคุมการตอบสนองต่อพายุได้ นั่นคือวิธีที่เราตอบสนองต่อโลกในแง่บอก”
และเขายังยกตัวอย่างความพยายามของผู้ก่อตั้งแบรดน์ด้วยว่า “คุณรู้ไหมว่า ผู้พันแซนเดอส์ กว่าเขาจะประสบความสำเร็จในธุรกิจ ก็เมื่อเขาอายุ 60 ปีแล้ว นั่นเป็นเพราะเขาคิดบวก ดังนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราต้องมองโลกในแง่ดีเอาไว้”
เราต้องใช้ประโยชน์จากความต้องการของผู้บริโภค พวกเขาต้องการวิธีที่เข้าถึงแบรนด์ให้ได้มากที่สุด และะมีคุณค่ามากที่สุด ดังนั้นคุณต้องให้ความคุ้มค่าแก่พวกเขา แต่ในขณะเดียวกัน เราจําเป็นต้องสร้างความสนุกสนานและความตื่นเต้นด้วย เพราะเมื่อคุณอยู่ในสภาพแวดล้อมที่หนักหน่วง เรามีบทบาทในการทําให้สภาพแวดล้อม หรือผู้คนรู้สึกสนุกขึ้นอีกเล็กน้อย นั่นคือทั้งหมดที่ทำ มันหมายถึงการเริ่มต้นด้วยความคิดและทัศนคติที่ดี
“ทัศนคติของเราของเราคือเราไม่ใช่ ที่1 ไม่ใช่ นัมเบอร์วัน แต่เรามี จิตวิญญาณแบบ Underdog เพราะถ้าเราบอกตัวเองว่าเราเป็น เราอันดับ 1 แล้ว ก็อาจจะทำให้เราหย่อนยานได้”
‘เชื่อในทีม’ และปลดล็อกศักยภาพคน หลักคิดในการทำงาน
ดูเหมือนคำว่า ‘ทีม’ (Team) สำคัญกับการทำงานของคุณซูเฮลมากๆ ผู้บริหาร KFC Thailand ยอมรับ “ใช่ครับ เพราะทีมคือทุกอย่างของผม” แต่ทีมของเขา ไม่ได้หมายถึงแค่ทีมการตลาดเท่านั้น แต่เขาหมายถึงพนักงาน KFC ทุกคน ตั้งแต่สำนักงานไปจนถึงทุกคนในร้าน หรือแม้แต่พันธมิตรต่างๆ ด้วย
มันคือค่านิยม มันคือ DNA ของ KFC ที่ “ผู้พัน แซนเดอร์” เชื่อมั่น เขาเชื่อในผู้คน เขาเชื่อในการทำดีเพื่อชุมชน และการช่วยเหลือคน อันเป็นค่านิยมและหลักปรัชญาของ KFC ว่าในฐานะผู้นำแล้วบทบาทของเราคือ การปลดล็อกศักยภาพของผู้คน
“งานของผมไม่ใช่การบอกให้ใครทำอะไร แต่คือการช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่สามารถเปิดให้ทุกคนได้เป็นตัวของตัวเองได้ดีที่สุด และถ้าเป็นตัวของตัวเองที่ดีที่สุดทุกอย่างจะดูแลตัวเอง มากไปกว่านั้นความสำเร็จของผมคือความสำเร็จของทีม”
ชู้ส! 2 Campaign สุดโปรด
เมื่อถามถึงแคมเปญที่เขาชอบมากที่สุด คุณซูเฮล หัวเราะและบอกว่า ตอบยากมาก เพราะเหมือนกับว่ากำลังต้องบอกว่าใครเป็น ‘ลูกคนโปรด’ แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็บอกว่า มีอยู่ 2 แคมเปญที่เขาชอบมากๆ
อันแรกเลยคือ แคมเปญฉลอง 40 ปี KFC ประเทศไทย ที่จัดงาน Kentucky Town Bangkok อย่างยิ่งใหญ่ พร้อมทั้งการเปิดตัว “แบมแบม” ใน”ฐานะ Friend of KFC ประเทศไทย เหตุที่ชอบแคมเปญนี้ ก็เพราะว่ามันเป็นงานที่เหมือนกับเราได้เขียนจดหมายถึงแฟนๆ ของ KFC ที่รักกันเหนียวแน่นยาวนานมาตลอด 40 ปี
“มันเป็นแคมเปญที่ยอดเยี่ยมมากๆ ผมคิดว่ามันเป็นวิธีที่ถูกต้องในการเฉลิมฉลอง 40 ปีของ KFC ในประเทศไทย โดยไม่เพียงแต่กับแฟนๆ ของเราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนที่ทํางานที่ KFC ด้วย มันเป็นวิธีที่สวยงามในการเฉลิมฉลองแคมเปญอื่น ๆ รวมกันในปีนั้น”
(คลิกอ่านรายละเอียดแคมเปญเพิ่มเติม)
อีกแคมเปญที่คุณซูเฮลเลือก ได้แก่ แคมเปญ “สุขสันต์วันแม่.. แด่ผู้ชอบเก็บ” หรือ “KFC Bucket Ware” ซึ่งเป็นแคมเปญไวรัลสร้างกระแสความต้องการ Bucket ware ของ KFC อย่างถล่มทลาย คุณซูเฮล สารภาพว่าชอบมาก เพราะมันคือความเกี่ยวข้องกับ Gen Z อย่างที่เราคาดไม่ถึง
“คุณรู้หรือไม่ว่า มันโดนใจ Gen Z มาก เพราะมันไปปรากฏบนอินเตอร์เน็ต เกิดกระแสออนไลน์มหาศาล มันสวยงาม และเป็นตัวอย่างที่ดีของ Modern marketing มันอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นไอเดียที่ทันสมัย”
แล้วทำไมมันถึงเกี่ยวข้องกับ Gen Z เพราะเราพบว่า นอกเหนือจากมันไปโผล่บนอินเตอร์เน็ตเต็มไปหมดแล้ว เรายับพบว่า ค่านิยมของคน Gen Z คือเขาให้ความสำคัญกับเรื่องครอบครัว มาเป็นลำดับแรก ๆ พวกเขาให้คุณค่ากับครอบครัวเป็นอันดับ 1 และการนำเสนอเรื่อง Bucket เป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของการเข้าถึง Gen Z ผ่านความชอบของคุณแม่ เพราะฉะนั้นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับแคมเปญนี้คือเมื่อแคมเปญนี้มาถูกทางในการเข้าใจ Gen Z กลุ่มคนเหล่านี้ก็ให้เครดิตกับเราบนโซเชียลมีเดีย
(คลิกอ่านรายละเอียดแคมเปญเพิ่มเติม)
โครงการ KFC Bucket Search เพื่อการศึกษาเด็กไทย
นอกเหนือจากแคมเปญด้านการตลาดเจ๋งๆ แล้ว อีกสิ่งที่ KFC เองก็ไม่เคยลืมที่จะคืนสู่สังคม คือการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับประเทศไทย หนึ่งในนั้นก็คือ โครงการ KFC Bucket Search ซึ่งเป็นโครงการภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิเคเอฟซีและกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อส่งมอบโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาศักยภาพให้แก่เด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเริ่มต้นจากการให้โอกาสในการทำความเข้าใจตนเองและวางแผนชีวิตผ่านการศึกษาทางเลือกที่สอดคล้องกับความต้องการ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาสามารถดูแลตนเองและกลับมามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมได้ในอนาคต ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ ทักษะการดำรงชีวิต และเงินทุนเพื่อเติมเต็มทักษะและศักยภาพในด้านที่สนใจ โดยไม่กระทบต่อชีวิตประจำวัน ผ่านหลักสูตรที่ยืดหยุ่น ช่วยจัดสรรเวลา รายได้ และเงินทุนเพื่อวิชาชีพ
คุณซูเฮล กล่าวถึงโครงการนี้ว่า จุดเริ่มต้นมันง่ายๆ มากเลยคือ เพราะ KFC เราเชื่อว่าคนทุกคนมีศักยภาพ อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น ซึ่งเรามักใช้คำว่า “Everybody has a seat at our table” หมายความว่า ทุกๆ คนมีสิทธิ์ที่จะร่วมโต๊ะร่วมวงกับเราได้หมด มากไปกว่านั้น เราเชื่อว่าคนไทยมีศักยภาพมาก แต่เราก็พบว่า ยังมีเยาวชนไทยอีกมากกว่าล้านคน ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เยาวชนมากกว่า 1,000,000 ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ และไม่ได้โอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไปด้วย ซึ่งส่วนตัวมองว่านี่คือวิกฤตเลย และ KFC เรามองว่าเราต้องทำอะไรบางอย่าง
KFC Bucket Search ช่วยสานได้ทุกฝันเป็นจริง
โครงการ KFC Bucket Search ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี 2566 โดยในปีแรก มีเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปีที่หลุดออกนอกระบบการศึกษา (school dropouts) เข้าร่วมโครงการจำนวน 130 คน จากพื้นที่นำร่องกว่า 10 จังหวัดทั่วประเทศไทย โดยผ่านการสรรหาและคัดเลือกจาก กสศ. เพื่อรับการสนับสนุนที่แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
1.ทางเลือก สายวิชาชีพ เป็นการมอบทุนการศึกษาสำหรับกลุ่มเยาวชนนอกระบบที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี ทั่วประเทศไทย เพื่อใช้ในการเรียนหลักสูตรเฉพาะตามความถนัด ฝึกทักษะอาชีพ และ/หรือเทียบวุฒิการศึกษา รวมถึงใช้ในการประกอบอาชีพที่สนใจ ทุนการศึกษานี้ครอบคลุมค่าเล่าเรียน ค่าฝึกอบรม และเงินเริ่มต้นสำหรับการประกอบอาชีพ
2.ทางเลือก Work & Study เป็นการมอบทุนการศึกษาสำหรับเยาวชนที่ต้องการเรียนควบคู่ไปกับการทำงาน โดยสามารถแบ่งเวลาและหารายได้ไปพร้อมๆ กัน ทุนการศึกษานี้สามารถนำไปใช้เพื่อศึกษาต่อหลักสูตรเฉพาะตามความถนัด ฝึกทักษะอาชีพ และประกอบอาชีพตามความสนใจ โดยครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้แก่ ค่าเล่าเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าอาหารกลางวัน ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทางเลือกนี้ไม่จำกัดเพียงการทำงานกับเคเอฟซีเท่านั้น แต่ผู้เรียนสามารถเลือกสถานประกอบการได้ตามความถนัดและเหมาะสม
หลักสูตรเคเอฟซี เป็นทางเลือกสำหรับเยาวชนที่เลือก work & study โดยเคเอฟซีได้ริเริ่มหลักสูตรทักษะอาชีพและผู้ประกอบการ เป็นหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4 – ม.6) ซึ่งมีการพัฒนาเป็นพิเศษ โดยได้เลือกหรือปรับใช้มาตรฐานการเรียนหรือตัวชี้วัดของหลักสูตรแกนกลาง การศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 (ปรับปรุง 2560) ในการพัฒนาผู้เรียน ทั้งในส่วนของโครงสร้าง เวลาเรียน มาตรฐานการเรียนรู้ และสาระการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบท ความต้องการ และวัตถุประสงค์ของการเรียน จึงกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ไว้จำนวน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก ดังนี้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา การงานอาชีพ ศิลปะ และภาษาต่างประเทศ โดยมุ่งหวังให้เยาวชนกลุ่มนี้สามารถสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทั้งในและนอกห้องเรียน เพื่อนำไปสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง สามารถเชื่อมโยงความรู้กับประสบการณ์ พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ เน้นคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่ดี พร้อมทั้งรู้จักการใช้ชีวิตแบบมีคุณค่า
ไม่ได้ทำเพื่อข่าว PR ไม่ได้ทำเพื่อเป็น CSR
“เราไม่ได้ทําสิ่งนี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการประชาสัมพันธ์ การทำความดีด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง ไม่ใช่เพื่อข่าวประชาสัมพันธ์ หรือถ่ายรูปกับผู้ใหญ่ในบ้านเมือง และเราไม่ได้มองว่านี่คือโครงการ CSR เราทําสิ่งนี้ด้วยความตั้งใจของเรา ความตั้งใจอย่างจริงใจของเราคือการทําความดีในชุมชนที่เราให้บริการ เพื่อช่วยให้เยาวชนมากกว่าล้านคนหาทางกลับเข้าสู่ระบบ เพราะเราเชื่อจริงๆ ว่าหากเราสามารถปลดล็อกศักยภาพของคนไทยได้” คำยืนยันจาก คุณซูเฮล
นอกจากนี้ คุณซูเฮลยังบอกว่า ในหลายๆ ครั้งเขาตัดสินใจที่จะเดินทางไปติดตามโครงการต่างๆ ด้วยตัวเอง โดยเขาบอกว่า ในการไปแต่ละครั้งเขารู้สึกมีความสุขมากจริงๆ ที่ได้เห็นเด็กและเยาวชนได้มีโอกาสทำในสิ่งที่ฝันหรือตั้งใจได้สำเร็จ
“การได้เห็นพวกเขามีส่วนร่วมในโปรแกรม ทําดีต่อกันในโปรแกรม มันเติมเต็มหัวใจของผมจริงๆ เพราะมันบอกว่าเรากําลังทําในสิ่งที่ถูกต้อง และหลายๆ ครั้งที่เด็กๆ เหล่านี้ได้สร้างแรงบันดาลใจสำคัญในการทำงานและใช้ชีวิตของผม”
ในตอนท้ายคุณซูเฮล ยังชักชวนเพื่อนๆ แบรนด์มาร่วมกันเป็นพันธมิตรเพื่อทำในสิ่งนี้ให้กับสังคมและชุมชนและประเทศไทย
“ทั้งหมดนี้สามารถเริ่มต้นได้ก็ต่อเมื่อความตั้งใจของคุณบริสุทธิ์ ความตั้งใจของคุณต้องทําความดี จงให้ความสําคัญกับจุดประสงค์ของคุณก่อนผลกําไรของคุณ นั่นคือคําแนะนําของผม”