เปิดฉากโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยว “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” ด้วยความปั่นป่วนวุ่นวายตลอด 2 วันที่ผ่านมา (1-2 ก.ค. 68) ตั้งแต่ระบบล่ม รับ OTP ไม่ได้ จนถึงข้อความแจ้งเตือน “มีผู้ใช้งานนี้ในระบบแล้ว” สร้างความหงุดหงิดให้กับประชาชนที่ตั้งใจจะใช้สิทธิ์เพื่อออกเดินทางท่องเที่ยว Marketing Oops! ขอสรุปมหากาพย์นี้ให้คุณเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และอะไรคือสาเหตุที่แท้จริง
รู้จักโครงการ “เที่ยวไทยคนละครึ่ง”
โครงการ “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” เป็นนโยบายจากภาครัฐที่มุ่งหวังกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในประเทศ โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางและที่พักให้กับประชาชน แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ:
- ส่วนลดค่าที่พัก: รัฐบาลจะสนับสนุนค่าที่พักสูงสุด 50% ของราคาห้องพัก
- คูปองดิจิทัล: ผู้ได้รับสิทธิ์จะได้รับคูปองดิจิทัลมูลค่า 500 บาท/คืน สำหรับใช้จ่ายในร้านอาหารและกิจกรรมท่องเที่ยวที่ร่วมโครงการ
- ประชาชนสามารถเดินทางได้ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม – 31 ตุลาคม 2568
โครงการนี้มีจำนวนสิทธิ์รวม 500,000 สิทธิ์ ซึ่งในตอนแรก ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นการจัดสรรสิทธิ์แบบ “ใครมาก่อนได้ก่อน” ทันทีที่ลงทะเบียนสำเร็จ ทำให้เกิดการแห่กันเข้าไปลงทะเบียนอย่างล้นหลาม
แต่จริงๆแล้ว สิทธิ์เหล่านี้จะถูกนับก็ต่อเมื่อมีการจองและชำระเงินค่าที่พักจริงเท่านั้น ซึ่งรายละเอียดในส่วนนี้ไม่ได้มีการสื่อสารที่ชัดเจนในตอนเริ่มต้น
เปิดฉากความวุ่นวาย: ThaID ล่ม ด่านแรกที่ไปไม่ถึง
โครงการ “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” เปิดให้ลงทะเบียนวันแรกวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เวลา 08.00 น. แต่เพียงไม่กี่นาทีหลังเปิดระบบ ประชาชนที่แห่กันไปทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน Amazing Thailand และเว็บไซต์ เที่ยวไทยคนละครึ่ง.com ของโครงการ ก็ต้องเจอกับปัญหาแรกคือ ระบบ ThaID ล่ม
เมื่อผู้ใช้กดลงทะเบียน ระบบจะนำไปยังกระบวนการยืนยันตัวตนผ่าน ThaID ซึ่งเป็นคอขวดสำคัญ เพราะระบบไม่เคยรองรับปริมาณผู้ใช้งานพร้อมกันมากขนาดนี้มาก่อน ทำให้เกิดปัญหาโหลดนานจน Timeout ไม่สามารถสร้าง QR Code หรือเข้าแอปฯ ThaID เพื่อสแกนยืนยันตัวตนได้ ส่งผลให้กระบวนการทั้งหมดหยุดชะงักลง
แก้ไขเฉพาะหน้า เปลี่ยนช่องทาง แต่เจอปัญหาใหม่
เพื่อบรรเทาสถานการณ์เฉพาะหน้า ทางผู้พัฒนาระบบจึงปรับเปลี่ยนขั้นตอนการลงทะเบียนอย่างเร่งด่วน โดยยกเลิกการยืนยันตัวตนผ่าน ThaID ชั่วคราว และเปลี่ยนให้ผู้ใช้กรอกข้อมูลหมายเลขบัตรประชาชนและข้อมูลส่วนตัวโดยตรง แม้จะช่วยให้ผู้ใช้ผ่านด่านแรกไปได้ แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาใหม่ที่คาดไม่ถึง นั่นคือ OTP ไปไม่ถึงมือผู้ลงทะเบียน
ต้นตอ OTP หาย Google มองว่าเป็นสแปม!
ปัญหา OTP ไม่ส่งถึงผู้สมัคร กลายเป็นดราม่าใหญ่ที่สร้างความงุนงงให้กับหลายคน นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ออกมาชี้แจงว่า สาเหตุหลักมาจาก ระบบของ Google ที่ตรวจสอบโดเมนใหม่ของ ททท. (@tat.or.th) และมองว่าเป็นการส่งอีเมลในลักษณะสแปม ส่งผลให้ OTP ที่ส่งผ่าน Gmail ไม่ปรากฏในกล่องจดหมายผู้ใช้
จากการวิเคราะห์พบว่า ปัญหานี้เกิดจากประเด็นทางเทคนิคในการส่งอีเมลของระบบ โดยระบบได้ส่งอีเมล OTP ออกไปเป็นจำนวนมากในเวลาสั้นๆ ซึ่งผิดต่อข้อกำหนดและแนวทางปฏิบัติสำหรับการส่งอีเมลจำนวนมาก (Bulk Email Sender Guidelines) ของ Google ทำให้โดเมน tat.or.th ถูก Google บล็อกการส่งอีเมลชั่วคราวเพื่อป้องกันสแปม นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ลงทะเบียนส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับอีเมลยืนยันตัวตน
ติดลูป “มีผู้ใช้งานนี้ในระบบแล้ว” แก้ไขอย่างไร?
นอกจากปัญหา OTP แล้ว ผู้ใช้งานอีกจำนวนหนึ่งยังพบปัญหาที่สาม คือเมื่อพยายามกลับไปลงทะเบียนใหม่อีกครั้ง ระบบกลับแจ้งข้อความว่า “มีผู้ใช้งานนี้ในระบบแล้ว” และไม่สามารถดำเนินการต่อได้ แม้ว่าจะยังลงทะเบียนไม่สำเร็จในครั้งแรกก็ตาม
สาเหตุของปัญหานี้เกิดจากขั้นตอนการทำงานของระบบ ที่ได้สร้างบัญชีผู้ใช้งานโดยผูกกับหมายเลขบัตรประชาชนตั้งแต่ขั้นตอนที่ผู้ใช้กรอกอีเมลและตั้งรหัสผ่านในหน้าแรกแล้ว แม้ว่าบัญชีนั้นจะยังไม่ได้รับการยืนยันผ่าน OTP ก็ตาม เมื่อผู้ใช้พยายามกลับมาสมัครใหม่ด้วยข้อมูลเดิม ระบบจึงตรวจพบว่ามีชื่อผู้ใช้ (ซึ่งก็คือเลขบัตรประชาชน) อยู่ในฐานข้อมูลแล้ว จึงปฏิเสธการสมัครซ้ำ และเนื่องจากอีเมลที่ผูกไว้กับบัญชีนั้นไม่สามารถรับ OTP ได้เพราะโดเมนถูกบล็อก คนที่สมัครเลยเหมือนกับติดลูปและสมัครต่อไม่ได้
มาตรการแก้ไขจาก ททท.
- ประสานงานกับ Google เพื่อปลดบล็อกการส่งอีเมล
- แนะนำให้ใช้ Hotmail หรือ Yahoo แทน Gmail ชั่วคราว
- ปรับหน้าเว็บไซต์ให้สามารถเปลี่ยนอีเมลได้ โดยไม่ต้องเริ่มลงทะเบียนใหม่
- เคลียร์แคชและอัปเกรดระบบส่ง OTP
- ส่ง OTP ผ่านช่องทางที่ได้รับการรับรองจาก Google
สิทธิ์ยังอยู่! ไม่ต้องกังวล
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ททท. ได้ชี้แจงเพื่อลดความกังวลของประชาชนว่า สิทธิ์ทั้ง 500,000 สิทธิ์นี้จะยังไม่ถูกนับและตัดสิทธิ์จนกว่าจะมีการชำระเงินค่าที่พักจริงและยืนยันการจองห้องพักเรียบร้อยแล้ว นั่นหมายความว่า การลงทะเบียนที่ติดขัดหรือยังไม่สมบูรณ์ในช่วงแรกนี้ จึงยังไม่ทำให้คุณเสียสิทธิ์ไปในทันที ดังนั้น ประชาชนจึงไม่จำเป็นต้องรีบลงทะเบียนหรือกังวลกับการแย่งชิงสิทธิ์ในช่วงแรกที่ระบบยังมีปัญหา
ดังนั้นใครที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน หรือลงทะเบียนแล้วติดปัญหา ก็ยังมีเวลาและโอกาสที่จะได้รับสิทธิ์นี้อยู่ และที่สำคัญแว่วๆมาจาก ททท.ว่าอาจเพิ่มสิทธิในโครงการนี้ด้วยหากได้รับการตอบรับที่ดี
สื่อสารโดเมนผิดพลาด ใครจดชื่อโดเมนไปแล้ว?
อีกหนึ่งความผิดพลาดที่สร้างความกังวลและสับสนคือ การสื่อสารเกี่ยวกับชื่อโดเมนของเว็บไซต์โครงการที่ปกติจะต้องเป็น “เที่ยวไทยคนละครึ่ง.com”
แต่บนหน้าลงทะเบียนในแอป Amazing Thailand มีการระบุให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ “ไทยคนละครึ่ง.com” ตกคำว่า “เที่ยว” ไป แถมทำลิงก์ไว้ผิด และจากการตรวจสอบปรากฏว่าโดเมนดังกล่าวไม่ได้ถูกใช้งานโดย ททท. และยังไม่ได้มีการจดทะเบียนไว้ด้วยซ้ำ
ความผิดพลาดนี้กลายเป็นมีคนหัวใสไปจดทะเบียนชื่อโดเมน “ไทยคนละครึ่ง.com” ไปด้วยเงินเพียง 400 บาท และประกาศเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจซื้อต่อในราคา 100,000 บาท
สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความหละหลวมในการบริหารจัดการและสื่อสารข้อมูลที่สำคัญของหน่วยงานรัฐ ว่าถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทะเบียนโดยประชาชนต้องใช้ข้อมูลส่วนบุคคลมีความผิดพลาดขนาดนี้ จะเกิดอันตรายต่อประชาชนอย่างไร อาจจะมี Scammer มาหลอกให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคลในนามหน่วยงานรัฐ จะเสี่ยงแค่ไหน
พบโรงแรมฉวยโอกาสขึ้นราคา
ไม่เพียงแต่ปัญหาทางเทคนิคและการสื่อสารที่ผิดพลาดต่างๆเท่านั้น แต่ยังมีประชาชนพบ “การฉวยโอกาสขึ้นราคา” ของโรงแรมบางแห่งด้วย เช่น ห้องพักปกติราคา 1,700 บาท กลับกลายเป็น 3,400 บาทเมื่อเข้าร่วมโครงการ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์จากส่วนลดที่รัฐสนับสนุน เพราะยังต้องจ่ายเงินเท่าเดิม (1,700 บาท) ในขณะที่ผู้ประกอบการกลับได้เงินเพิ่มจากรัฐอีก 50%
เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการ
อย่างไรก็ตาม มีเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการซึ่งพบปัญหาหลายประการเช่นกันไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “เงื่อนไขที่ปรับเปลี่ยนกระชั้นชิด ที่ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจเงื่อนไขใหม่ๆ ของโครงการที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันก่อนเริ่มลงทะเบียน ทำให้ไม่สามารถเตรียมตัวและสื่อสารกับลูกค้าได้อย่างทันท่วงที
เรื่อง “ระบบลงทะเบียนมีความซับซ้อนและต้องใช้ข้อมูลจำนวนมาก” ซึ่งเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก นอกจากนี้ยังจำกัดให้ขายห้องพักเพียง 3 ชนิดในราคาตายตัว ทั้งที่ราคาห้องพักจริงแตกต่างกันไปตามวันธรรมดา วันหยุดสุดสัปดาห์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ การนำเทคโนโลยีมาใช้กลับกลายเป็นการเพิ่มภาระงานแทนที่จะช่วยให้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ “ผู้ประกอบการ” บางรายยังเจอด้วยว่าเมื่อกรอกข้อมูลราคาสูงสุดของห้องพัก ระบบกลับดึงราคานั้นไปใช้ในการขาย ทำให้โรงแรมถูกตำหนิเรื่องการขึ้นราคา ทั้งที่ราคาห้องพักมีความผันผวน
คำเตือนจาก ททท.

ทางผู้ว่าการ ททท. ได้ออกมายืนยันว่าราคาที่พักในโครงการมีการกำหนดกฎเกณฑ์ให้บวกลบไม่เกิน 10% เมื่อเทียบกับราคาช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ หากพบการขึ้นราคาที่ไม่สมเหตุสมผล ททท. ขู่จะถอนสิทธิ์ทันที พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนแจ้งเบาะแสหากพบว่าการจองโรงแรมผ่านแอปพลิเคชันอื่นมีราคาถูกกว่าโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่ง
มหากาพย์ “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” ในครั้งนี้ ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับหน่วยงานไม่เฉพาะภาครัฐเท่านั้นยังเป็นบทเรียนสำหรับเอกชนด้วยเช่นกันในการเตรียมความพร้อมของระบบรองรับผู้ใช้งานจำนวนมาก การประเมินความเสี่ยงและวางแผนสำรองในกรณีฉุกเฉิน รวมถึงการสื่อสารที่ชัดเจนและทันท่วงทีกับประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและเสียโอกาสในการเข้าถึงสิทธิ์ที่ควรได้รับ
หวังว่าในไม่ช้า ปัญหาทั้งหมดจะได้รับการแก้ไข และประชาชนจะสามารถใช้สิทธิ์ “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” ได้อย่างราบรื่น และในอนาคตก็หวังว่าปัญหาแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นแบบซ้ำแล้วซ้ำอีกแบบนี้