ท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และนโยบายภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ธุรกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ล่าสุด ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เปิดเผยผลสำรวจ UOB Business Outlook Study 2025 ซึ่งจัดเก็บข้อมูลจากผู้บริหารธุรกิจไทยกว่า 500 ราย พบว่าธุรกิจไทยยังมีศักยภาพในการปรับตัว ด้วยการขยายตลาดไปยังภูมิภาคอาเซียน เร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนมากขึ้น
คุณวีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล กรรมการผู้จัดการ Deputy CEO & Wholesale Banking ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “ผลสำรวจครั้งนี้สะท้อนถึงศักยภาพของธุรกิจไทยในการมองหาโอกาสใหม่ในระดับภูมิภาค พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีและแนวทางยั่งยืนเพื่อรับมือกับความท้าทายระดับโลก ยูโอบีพร้อมสนับสนุนธุรกิจไทยทั้งในแง่โซลูชันการเงิน ความเชี่ยวชาญในตลาด และเครือข่ายในอาเซียน”

ภาษีสหรัฐฯ ทำความเชื่อมั่นลด ธุรกิจไทยต้องเร่งปรับตัวให้ทัน
หนึ่งในสัญญาณสำคัญที่สะท้อนถึงแรงสั่นสะเทือนจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ คือ “ความเชื่อมั่นทางธุรกิจ” ที่ลดลงต่อเนื่องจาก 62% ในปี 2023 เหลือเพียง 52% ในปี 2025 โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กซึ่งได้รับผลกระทบหนักที่สุด
ภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากวัตถุดิบและการผลิต กลายเป็นประเด็นหลักที่ธุรกิจกังวลมากที่สุด (60%) รองลงมาคือความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น (57%) จากบทวิเคราะห์ของคุณสถิตย์ แถลงสัตยา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจสัมพันธ์ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย พบว่า “ผลกระทบจากนโยบายภาษีนี้จะกระทบเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างน้อย 3 ระลอก” ได้แก่ การส่งออกโดยตรง, ซัพพลายเออร์ในประเทศ, และการแข่งขันจากจีนในตลาดที่ 3
เพื่อรับมือกับความผันผวน ธุรกิจเริ่มออกมาตรการสำคัญ เช่น ลดต้นทุน (ธุรกิจขนาดกลางทำถึง 67%) การเพิ่มรายได้ผ่านลูกค้าใหม่และความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ และการร้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐในด้านเงินทุน (92%), การค้าระหว่างประเทศ, และคำปรึกษาในการปรับตัว
ซัพพลายเชนสะดุดจากภาษี ธุรกิจไทยมองหาโอกาสในภูมิภาค
จากผลสำรวจพบว่า ธุรกิจถึง 90% ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในซัพพลายเชนยังคงรุนแรงขึ้น โดย 41% ของผู้ประกอบการคาดว่าจะต้องปรับซัพพลายเชนครั้งใหญ่อีกหลังมาตรการภาษีมีผล
ธุรกิจตอบสนองด้วยการนำเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจ ค้นหาวัตถุดิบทางเลือก หันมาใช้แพลตฟอร์ม e-commerce มากขึ้น และกระจายความเสี่ยงด้วยการจัดหาผู้ผลิตในตลาดท้องถิ่นหรือประเทศใกล้เคียง
อุปสรรคสำคัญยังคงเป็นต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นจากเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย รวมถึงช่องว่างด้านทักษะแรงงาน และการคาดการณ์ดีมานด์ที่ไม่แม่นยำ
ตลาดจัดหาวัตถุดิบในอนาคตจึงเปลี่ยนทิศจากจีนไปยัง ASEAN (+26%) และประเทศอื่นในเอเชียเหนือ เช่น ไต้หวัน (+20%) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการผลิต ซึ่งสะท้อนแนวโน้ม “resilience over efficiency” ที่ธุรกิจให้ความสำคัญมากขึ้น
ดิจิทัลกับความยั่งยืน กลายเป็นอาวุธสำคัญของธุรกิจยุคนี้
เทคโนโลยีดิจิทัล
นโยบายภาษีของสหรัฐฯ ไม่เพียงแต่เร่งให้ธุรกิจไทยมองหาตลาดใหม่ แต่ยังเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างชัดเจน โดย 68% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าจะปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง (CMB) ที่มีอัตราการเปลี่ยนผ่านถึง 95%
การนำดิจิทัลมาใช้ส่งผลชัดเจนต่อ productivity, ความปลอดภัยของข้อมูล, การเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ และความเร็วในการเข้าถึงตลาด ซึ่งคุณสถิตย์ยังชี้ว่า “ธุรกิจควรเรียนรู้การประยุกต์ใช้ AI หรือระบบ personalisation ให้เหมาะสมกับบริบทของตน เพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขัน”
ความยั่งยืน
แม้ว่ามากกว่า 90% ของธุรกิจจะตระหนักถึงความสำคัญของ sustainability แต่มีเพียง 53% เท่านั้นที่เริ่มดำเนินการจริง โดยกลุ่มธุรกิจขนาดกลางเริ่มขยับมากกว่ากลุ่มอื่น
หลังมาตรการภาษี มีธุรกิจถึง 64% ที่วางแผนเร่งการดำเนินการด้านความยั่งยืน โดยมองว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเสริมภาพลักษณ์แบรนด์ เข้าถึงความร่วมมือกับบริษัทข้ามชาติ และสร้าง advantage ใหม่ในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังต้องฝ่าด่านโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่พร้อม ต้นทุนที่สูง และความลังเลของผู้บริโภคต่อการจ่ายเพิ่มสำหรับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ธุรกิจไทยยังหนักใจเรื่องแรงงาน รับมือเทคโนโลยี-คนรุ่นใหม่ไม่ง่าย
แม้ภาคธุรกิจไทยจะเดินหน้าเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง แต่ประเด็นด้าน “แรงงาน” ยังคงเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่ธุรกิจต้องเผชิญ โดยครึ่งหนึ่งของผู้ประกอบการระบุว่ากำลังประสบปัญหาการรักษาบุคลากรคุณภาพ โดยเฉพาะในประเด็นค่าตอบแทนและความยืดหยุ่นในการทำงาน
ความกดดันดังกล่าวยิ่งทวีขึ้นเมื่อเทคโนโลยีอย่าง AI ถูกนำมาใช้มากขึ้น ขณะเดียวกันบุคลากรรุ่นใหม่ก็มีความคาดหวังที่แตกต่างไปจากเดิม ทำให้ 40% ของธุรกิจประสบปัญหาในการรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กรในระยะยาว
แนวทางที่ธุรกิจใช้ในการรับมือ ได้แก่ การเพิ่มค่าตอบแทน การปรับสภาพแวดล้อมการทำงาน การเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน รวมถึงการปรับบทบาทหน้าที่ภายในองค์กร เพื่อให้สามารถดึงดูดและรักษา talent ได้ท่ามกลางบริบทใหม่ที่เปลี่ยนไป
แม้โลกผันผวน แต่โอกาสในอาเซียนยังเปิดกว้าง
แม้ว่าบริบทระดับโลกจะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทั้งสงครามการค้า ภาษีนำเข้า และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นพื้นที่ที่มี “แรงส่ง” ทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของชนชั้นกลาง ความคืบหน้าของโครงการ EEC ความร่วมมือทางการค้าในกรอบ RCEP รวมถึงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศ
ผลสำรวจของ UOB ยังชี้ว่า ธุรกิจไทยมีศักยภาพสูงในการใช้จุดแข็งด้านความเข้าใจวัฒนธรรม การบริการ และความคล่องตัวในการเข้าถึงตลาด เพื่อขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งล้วนเป็นตลาดที่ยังมีโอกาสเติบโตสูง ทั้งในด้านกำลังซื้อและการลงทุนภาคเอกชน
คุณสถิตย์ได้กล่าวไว้ว่า “แม้ปัจจัยภายนอกจะไม่เอื้อ แต่หากไทยสามารถใช้จุดแข็งในระดับภูมิภาคได้อย่างเต็มที่ จะกลายเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุดใหม่ที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นยิ่งกว่าเดิม”

ธุรกิจไทยพร้อมรุกอาเซียน ขยายตลาดสู้ภาวะไม่แน่นอน
มากกว่า 86% ของธุรกิจไทยมีแผนขยายไปต่างประเทศภายใน 3 ปีข้างหน้า โดย 52% ตั้งใจเร่งขยายเร็วขึ้นหลังนโยบายภาษีสหรัฐฯ ออกมา ทั้งนี้ การค้าในภูมิภาคอาเซียนยังถูกคาดหมายว่าจะเติบโตต่อเนื่อง (66%) โดยประเทศเป้าหมายหลักคือ มาเลเซีย (52%), สิงคโปร์ (49%) และเวียดนาม
คุณสถิตย์วิเคราะห์ว่า ตลาดเหล่านี้มีศักยภาพทั้งด้านกำลังซื้อสูง สภาพแวดล้อมพร้อมสำหรับการลงทุน และเป็นแหล่งทรัพยากรที่เหมาะกับการจัดตั้งฐานผลิต
ในแง่ของรูปแบบธุรกิจ ไทยเน้นลงทุนใน 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ การผลิต, บริการทางการเงิน และค้าส่งค้าปลีก ซึ่งสะท้อนแนวทางกระจายความเสี่ยงโดยใช้ “ผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับลูกค้าใหม่ในตลาดใหม่”
เศรษฐกิจไทยยังโตช้า ต้องเร่งขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์ใหม่
แม้ผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ จะชัดเจนและรุนแรง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ธุรกิจไทยตื่นตัวในการสร้างศักยภาพใหม่เพื่อความยั่งยืนในระยะยาว
จากการวิเคราะห์โดย UOB และ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะโตเฉลี่ยเพียง 2% ต่อปีจนถึง 2030 ซึ่งต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในระดับการพัฒนาเดียวกัน เช่น เวียดนามหรืออินโดนีเซีย
เพื่อฟื้นคืนการเติบโต UOB เสนอว่า ไทยควรเร่งขับเคลื่อน 3 เครื่องยนต์ใหม่ ได้แก่
- อุตสาหกรรม New S-Curve ที่ใช้แรงงานทักษะสูง
- การปรับสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
- บริการที่มีมูลค่าสูง เช่น wellness และ health tourism
ในมุมมองของคุณสถิตย์ “สงครามการค้าและโควิดคือ wake-up call ที่ทำให้เราต้องปรับตัวจริงจัง” และหากธุรกิจไทยสามารถยกระดับได้อย่างรอบด้าน ไทยจะกลับมาเป็นเศรษฐกิจที่แข่งขันได้ในภูมิภาคอีกครั้ง