คาร์เทียร์จัดพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่ผู้ประกอบการหญิง 9 คนจากทั่วโลก ในงาน Impact Awards 2025 ณ ศูนย์ศิลปะการแสดงซาไก ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติร่วมงานกว่า 800 คน เพื่อยกย่องอดีตผู้ได้รับทุนโครงการ Cartier Women’s Initiative ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างผลงานอย่างเป็นรูปธรรมและผลกระทบเชิงบวกอย่างยั่งยืนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พิธีมอบรางวัลครั้งนี้เป็นกิจกรรมสำคัญส่งท้ายสัปดาห์ Cartier Women’s Initiative Impact Awards ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20–23 พฤษภาคม ภายในงาน World Expo 2025 ณ เมืองโอซาก้า ภูมิภาคคันไซ โดยคาร์เทียร์มีส่วนร่วมออกแบบและจัดสร้าง Women’s Pavilion อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญ ภายใต้แนวคิด “Forces for Good” โดยในพิธีมอบรางวัล ได้สะท้อนความเชื่อมั่นของคาร์เทียร์ที่ว่า “เมื่อผู้หญิงก้าวหน้า มนุษยชาติก็ก้าวไปข้างหน้าเช่นกัน”
นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้น โครงการ Cartier Women’s Initiative มุ่งมั่นยกย่องและสนับสนุนผู้ประกอบการหญิงที่ใช้พลังของธุรกิจขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างเป็นรูปธรรม โดยตลอดระยะเวลากว่า 17 ปีที่ผ่านมา โครงการฯ ได้สนับสนุนผู้ประกอบการแล้วกว่า 330 ราย จาก 66 ประเทศทั่วโลก มอบเงินทุนรวมกว่า 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 500 คน
โครงการฯ ให้การสนับสนุนทั้งในด้านเงินทุน และโปรแกรมพัฒนาศักยภาพระยะเวลา 1 ปี ซึ่งประกอบด้วยหลักสูตรการบริหารระดับผู้บริหารจาก INSEAD การฝึกอบรมธุรกิจที่ออกแบบเฉพาะบุคคล การให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ และการส่งเสริมภาพลักษณ์ ประชาสัมพันธ์ในระดับสากล
ในปี 2568 โครงการ Cartier Women’s Initiative ได้เชิดชูเกียรติอดีตผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 9 ท่าน ที่ดำเนินการขับเคลื่อนธุรกิจของตนให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ได้รับรางวัล Impact Awards ประจำปีนี้ได้รับการคัดเลือกใน 3 สาขาหลัก ได้แก่ การพิทักษ์รักษ์โลก (Preserving Planet), การพัฒนาคุณภาพชีวิต (Improving Lives) และการสร้างสรรค์และส่งมอบโอกาส (Creating Opportunities) ซึ่งล้วนสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และครอบคลุมทั้ง 17 เป้าหมายหลัก
ผู้ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ได้รับการคัดเลือกผ่านกระบวนการประเมินและตัดสินอย่างเข้มงวด โดยสะท้อนถึงภาวะผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ และนวัตกรรมที่สามารถขยายผลได้ในระดับโลก
ผู้ได้รับรางวัลสาขาการพิทักษ์รักษ์โลก (Preserving the Planet)
เทรซี โอรูร์ก (Tracy O’Rourke) จากประเทศไอร์แลนด์ ผู้ก่อตั้ง Vivid Edge และเป็นผู้เข้าร่วมโครงการในปี 2562 นำเสนอบริการบริหารจัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (energy efficiency as a service) เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างคุ้มค่า ผ่านการเข้าถึงเทคโนโลยีสะอาดในราคาที่เหมาะสม นับตั้งแต่เข้าร่วมโครงการ Cartier Women’s Initiative บริษัท Vivid Edge ได้ช่วยให้องค์กรต่าง ๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 36,457 ตัน และประหยัดพลังงานรวมกว่า 119.6 กิกะวัตต์ชั่วโมง เทียบเท่ากับการจ่ายพลังงานให้บ้านเรือนเกือบ 28,500 หลัง โดยลูกค้าสามารถลดการใช้พลังงานได้สูงสุดถึงร้อยละ 82
เครส เวสลิง (Kresse Wesling) ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Elvis & Kresse จากสหราชอาณาจักร และผู้เข้าร่วมโครงการในปี 2554 พัฒนาโมเดลธุรกิจที่ผสานหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้ากับการตอบแทนสังคม โดยเปลี่ยนสายส่งดับเพลิงที่หมดอายุการใช้งานและเศษหนังให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์หรูคุณภาพสูง นับตั้งแต่เข้าร่วมโครงการ บริษัทสามารถลดปริมาณขยะที่ต้องฝังกลบได้มากกว่า 315 ตัน และบริจาคเงินมากกว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้กับองค์กรการกุศลที่สนับสนุนชุมชนนักผจญเพลิง
คริสติน คาเก็ตสึ (Kristin Kagetsu) ผู้ร่วมก่อตั้ง Saathi จากประเทศอินเดีย และผู้เข้าร่วมโครงการในปี 2561 ผลิตแผ่นอนามัยที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพจากเส้นใยกล้วย ซึ่งเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนทั้งต่อสุขอนามัยของผู้หญิงและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพให้กับผู้หญิงในพื้นที่ชนบท ปัจจุบัน Saathi เข้าถึงผู้หญิงกว่า 114,000 คน ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 161 เมตริกตัน ลดขยะพลาสติกได้ 92 เมตริกตัน และสร้างงานให้กับผู้หญิงกว่า 485 คนในชุมชนที่ขาดแคลนโอกาสทางเศรษฐกิจ
ผู้ได้รับรางวัลสาขาการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Improving Lives)
เคทลิน ดอลการ์ต (Caitlin Dolkart) ผู้ก่อตั้ง Flare จากประเทศเคนยา ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมโครงการในปี 2562 ได้พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการเหตุฉุกเฉินแบบครบวงจร ที่ช่วยลดระยะเวลาการเรียกรถพยาบาลลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้สามารถช่วยชีวิตผู้คนได้หลายพันรายทั่วภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก นับตั้งแต่เข้าร่วมโครงการ Cartier Women’s Initiative บริษัท Flare ได้ขยายการให้บริการครอบคลุมทั่วภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก โดยสามารถลดระยะเวลาเฉลี่ยในการส่งความช่วยเหลือไปยังสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศเคนยาได้ถึงร้อยละ 97 จากเดิมที่ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง เหลือเพียง 16 นาทีเท่านั้น
นามิตา บังกา (Namita Banka) ผู้ก่อตั้ง Banka Bioloo จากประเทศอินเดีย ผู้เข้าร่วมโครงการในปี 2556 ได้นำเสนอระบบสุขาภิบาลแก่ชุมชนด้อยโอกาส ผ่านการติดตั้งห้องน้ำชีวภาพและระบบบำบัดน้ำเสีย ที่ช่วยยกระดับสุขภาพอนามัยและส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น นับตั้งแต่ได้รับการสนับสนุน Banka Bioloo ได้ติดตั้งห้องน้ำชีวภาพกว่า 3,000 แห่งให้กับการรถไฟอินเดีย ซึ่งรองรับผู้โดยสารจำนวนมากถึง 10 ล้านคนต่อวัน นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งห้องน้ำชีวภาพกว่า 30,000 หน่วยในพื้นที่ชนบท และเป็นบริษัทสุขาภิบาลแห่งแรกในอินเดียที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ปัจจุบันมีพนักงานมากกว่า 1,000 คน
อีเวตต์ อิชิมเว (Yvette Ishimwe) ผู้บริหารกลุ่ม IRIBA Water Group จากประเทศรวันดา และผู้เข้าร่วมโครงการในปี 2566 ได้ดำเนินธุรกิจให้บริการน้ำดื่มสะอาดในราคาที่เข้าถึงได้ ผ่านตู้กดน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วยยกระดับสุขอนามัยและลดอัตราการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อจากน้ำในพื้นที่รายได้ต่ำ นับตั้งแต่ก่อตั้ง IRIBA สามารถส่งมอบน้ำดื่มที่ปลอดภัยให้กับประชาชนกว่า 517,000 คน และลดอัตราโรคติดเชื้อจากน้ำในโรงเรียนที่ติดตั้งระบบของบริษัทได้ถึงร้อยละ 37
ผู้ได้รับรางวัลสาขาการสร้างสรรค์และส่งมอบโอกาส (Creating Opportunities)
รามา คายาลี (Rama Kayyali) ผู้ก่อตั้ง Little Thinking Minds จากประเทศจอร์แดน ผู้เข้าร่วมโครงการในปี 2557 มุ่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในภูมิภาคตะวันออกกลาง ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ภาษาอาหรับในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งช่วยเสริมทักษะการอ่านของเด็ก ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับตั้งแต่เข้าร่วมโครงการ Cartier Women’s Initiative แพลตฟอร์มของเธอสามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านของนักเรียนได้ถึงร้อยละ 25 และเข้าถึงผู้เรียนมากกว่า 400,000 คนใน 11 ประเทศ รวมถึงในกลุ่มชุมชนผู้ลี้ภัย
มาเรียม โทโรเซียน (Mariam Torosyan) ผู้ก่อตั้ง Safe YOU จากประเทศอาร์เมเนีย ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการในปี 2566 ได้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับเพศ โดยนำเสนอทั้งบริการแจ้งเหตุฉุกเฉินและทรัพยากรสนับสนุนจากชุมชนใน 5 ประเทศ นับตั้งแต่เข้าร่วมโครงการ Cartier Women’s Initiative แพลตฟอร์ม Safe YOU ได้ขยายการให้บริการครอบคลุม 5 ประเทศ มีผู้ใช้งานมากกว่า 40,000 ราย รองรับการแจ้งเหตุฉุกเฉินกว่า 18,000 ครั้ง และเปิดตัวโมดูลใหม่เพื่อส่งเสริมศักยภาพทางการเงินสำหรับผู้ได้รับผลกระทบในรัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
แจ็กกี้ สเตนสัน (Jackie Stenson) ผู้ร่วมก่อตั้ง Essmart จากประเทศอินเดีย ผู้เข้าร่วมโครงการในปี 2557 ส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต อาทิ โคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ และเตาหุงต้มสะอาด ให้กับชุมชนชนบท ผ่านระบบจัดจำหน่ายปลายทางที่เข้มแข็ง พร้อมส่งเสริมศักยภาพของผู้ค้าปลีกรายย่อยในท้องถิ่น จนถึงปัจจุบัน Essmart สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อผู้คนกว่า 1.4 ล้านคน เพิ่มชั่วโมงการใช้ชีวิตและทำงานได้มากกว่า 125 ล้านชั่วโมง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 101 ล้านกิโลกรัม และช่วยเพิ่มรายได้ให้กับร้านค้าในชนบทกว่า 5,000 ราย ผู้นำหญิงที่เปี่ยมวิสัยทัศน์ทั้งเก้าท่านนี้ ล้วนเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ร่วมกันกำหนดนิยามใหม่ของความเป็นผู้นำและขยายขอบเขตของผลกระทบเชิงบวกที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างไร้ขีดจำกัด
ผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่ได้รับรางวัล Impact Awards ทั้ง 9 ท่าน ไม่เพียงได้รับการยกย่องจากความสำเร็จจากการดำเนินการขับเคลื่อนธุรกิจของตนให้เกิดผลกระทบเชิงบวกที่ผ่านมา แต่ยังรวมถึงศักยภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยผู้ได้รับรางวัลแต่ละท่านจะได้รับทุนสนับสนุนจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมโอกาสในการเพิ่มการรับรู้ผ่านสื่อระดับนานาชาติ และเข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพระยะเวลา 1 ปี ซึ่งออกแบบมาเพื่อเสริมทักษะด้านการวัดผลกระทบ พัฒนาภาวะผู้นำ และขยายขอบเขตการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปีนี้ โครงการดังกล่าวได้เพิ่มเนื้อหาใหม่ในด้านการบริหารเวลา การเรียนรู้ร่วมกับผู้ประกอบการรายอื่น และการวางแผนกลยุทธ์ ซึ่งดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรโครงการรายใหม่
พิธีแห่งวิสัยทัศน์ เรื่องราว และการเฉลิมฉลอง
พิธีมอบรางวัล Impact Awards เป็นงานที่สะท้อนวิสัยทัศน์และถ่ายทอดเรื่องราว เส้นทางการดำเนินธุรกิจ ความสำเร็จอันโดดเด่นน่าจดจำของเหล่าผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่ได้รับรางวัลทั้ง 9 ท่าน ผ่านบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นและแรงบันดาลใจ
ภายในงานเริ่มต้นด้วยการแสดงอันน่าประทับใจจากศิลปินชื่อดังของญี่ปุ่น ได้แก่ เคอิจิโร ชิบูยะ (Keiichiro Shibuya) บรรเลงเปียโน ซูมิเระ ฮิโรสึรุ (Sumire Hirotsuru) เล่นไวโอลิน และชิอากิ โฮริตะ (Chiaki Horita) แสดงศิลปะการเต้นด้วยบทเพลง “Ring for Violin and Piano (2025)” ซึ่งประพันธ์ขึ้นโดยเฉพาะสำหรับโครงการ Cartier Women’s Initiative ถ่ายทอดเรื่องราวแห่งเสียงดนตรีและการเคลื่อนไหวที่สะท้อนถึงพลังแห่งการสร้างสรรค์และวิสัยทัศน์ที่โดดเด่นของศิลปินทั้งสาม
หลังจากบทเพลงเปิดงานอันทรงคุณค่า พิธีได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการด้วยการฉายภาพยนตร์สั้นเรื่อง “Shaping the Future” ซึ่งนำเสนอเสียงสะท้อนจากเยาวชนที่แสดงถึงความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาระดับโลกพร้อมเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือระหว่างคนรุ่นต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน
ในช่วงค่ำของงาน แซนดี ท็อกสวิก (OBE) (Sandi Toksvig OBE) ผู้ดำเนินรายการ นักเขียน และนักรณรงค์
เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ได้กล่าวเปิดงานด้วยถ้อยคำที่สร้างแรงบันดาลใจ ช่วยสร้างบรรยากาศที่เปี่ยมด้วยความรู้และความประทับใจแก่ผู้เข้าร่วมงาน
ต่อมา จูน มิยาชิ (June Miyachi) ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารคาร์เทียร์ ประเทศญี่ปุ่น ได้ขึ้นกล่าว
สุนทรพจน์เน้นย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตและความเป็นผู้นำของผู้หญิงอย่างเต็มศักยภาพ
จากนั้นได้มีการพูดคุยในบรรยากาศอบอุ่นระหว่าง คุณวินจี ซิน (Wingee Sin) ผู้อำนวยการระดับโลกโครงการ Cartier Women’s Initiative และคุณแซนดี ท็อกสวิก ที่ร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับพัฒนาการของความเป็นผู้นำสตรีในภาคธุรกิจ พร้อมสะท้อนถึงความสำเร็จที่ผ่านมาและแนวทางการดำเนินงานในอนาคต
พิธีดำเนินไปอย่างต่อเนื่องด้วยการพูดคุยแลกเปลี่ยน จากผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่ได้รับรางวัลในสาขาการพิทักษ์รักษ์โลก (Preserving the Planet) โดยแต่ละท่านได้เปิดเผยถึงผลกระทบเชิงบวกและวิสัยทัศน์เบื้องหลังโครงการริเริ่มของตนจากนั้นจึงมีการฉายวิดีโอจากผู้สนับสนุนของผู้รับรางวัลที่ได้ส่งต่อข้อความความรู้สึกต่องานของแต่ละท่าน เพื่อตอกย้ำถึงบทบาทสำคัญของพลังเครือข่ายและชุมชนในการขยายขอบเขตของผลกระทบให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน
ค่ำคืนแห่งการเฉลิมฉลองยังคงดำเนินต่อเนื่องด้วยการเสวนาที่ได้รับเกียรติจากผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่ได้รับรางวัลในสาขาการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Improving Lives) ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และแนวคิดเกี่ยวกับพันธกิจของตน รวมถึงผลลัพธ์ที่สะท้อนผ่านการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในระดับชุมชน การถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ได้รับการเสริมด้วยภาพยนตร์สั้นอันทรงพลัง ซึ่งรวบรวมจดหมายจากผู้คนที่ได้รับแรงสนับสนุนและเปลี่ยนแปลงชีวิตจากผลงานของผู้ประกอบการแต่ละท่าน เป็นการตอกย้ำอย่างทรงพลังถึงมิติความเป็นมนุษย์ซึ่งหล่อหลอมอยู่เบื้องหลังทุกองค์กรที่ได้รับเกียรติในครั้งนี้ สะท้อนถึงคุณค่าของความมุ่งมั่น ความเสียสละ และเจตนารมณ์ในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้แก่สังคม
ส่วนสุดท้ายของงานเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยน จากผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลในสาขาการสร้างสรรค์และส่งมอบโอกาส (Creating Opportunities) ตามด้วยภาพยนตร์สั้นเรื่อง “จดหมายถึงตัวเองในวัยเยาว์” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกล้าหาญ ความกังวล ความมุ่งมั่น และพลังของผู้หญิงที่กล้าตัดสินใจเสี่ยงเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าตัวเองและเพื่อสังคม
ค่ำคืนแห่งการเฉลิมฉลองดำเนินมาสู่ช่วงที่ทรงพลังและสร้างแรงบันดาลใจสูงสุด ด้วยสุนทรพจน์จาก ซีริลล์ วิญเญอรอง ประธานกรรมการด้านวัฒนธรรมและสาธารณกุศล คาร์เทียร์ ซึ่งได้กล่าวเน้นย้ำถึงพันธสัญญาระยะยาวของเมซงในการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง การร่วมขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคม และบทบาทสำคัญของผู้ประกอบการหญิงในฐานะพลังขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสำคัญระดับโลกอย่างยั่งยืน
“ผู้ประกอบการเพื่อสังคมหญิงที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ต่างเปี่ยมด้วยพลังร่วมกันอันยิ่งใหญ่
ในการขับเคลื่อนโลกไปข้างหน้า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในค่ำคืนนี้ เราได้ร่วมเฉลิมฉลองไม่เพียงแค่ความสำเร็จในการต่อยอดแนวคิดเล็ก ๆ ให้เติบโตเป็นผลลัพธ์ที่ทรงพลัง หากยังรวมถึงศักยภาพอันน่าทึ่งของพวกเธอในการเปิดทางสู่โอกาสใหม่ ๆ ให้กับคนรุ่นต่อไป ความกล้าหาญและวิสัยทัศน์ของพวกเธอเปรียบเสมือนแสงแห่งความหวังและแรงบันดาลใจที่ส่องสว่างสำหรับพวกเราทุกคน”
— ซีริลล์ วิญเญอรอง ประธานกรรมการด้านวัฒนธรรมและสาธารณกุศล คาร์เทียร์
ปิดท้ายค่ำคืนแห่งแรงบันดาลใจ แขกผู้มีเกียรติได้ร่วมชมการแสดงศิลปะปิดงานอันเปี่ยมพลังโดย KAORIalive
ซึ่งถ่ายทอดผ่านท่วงท่าการเต้นที่รังสรรค์ขึ้นโดยเฉพาะ ภายใต้ธีม “Forces for Good” ของโครงการ Cartier Women’s Initiative เพื่อเฉลิมฉลองความหวังและความสามัคคี ปลุกพลังแห่งความมุ่งมั่นในหัวใจของผู้ชมทุกคน
พิธีในค่ำคืนนั้นปิดฉากลงอย่างงดงาม ด้วยถ้อยคำสะท้อนความประทับใจจากพิธีกรผู้ดำเนินรายการ ส่งท้ายงานเฉลิมฉลองแห่งความเปลี่ยนแปลง ความคิดสร้างสรรค์ และพลังของชุมชนอย่างสมบูรณ์แบบ ทิ้งท้ายด้วยแรงบันดาลใจและความเชื่อมั่นว่า ทุกคนต่างมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมาย เพื่อร่วมกันสร้างอนาคตที่เปิดกว้างและยั่งยืนอย่างแท้จริง
สัปดาห์แห่งการบ่มเพาะและการสร้างเครือข่าย
ในปีนี้ Impact Awards Week ได้รับการออกแบบให้เป็นการเดินทางตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่เปี่ยมไปด้วยความหมาย ภายใต้แนวคิดของการเชื่อมโยง การใคร่ครวญ และการเฉลิมฉลองเกียรติคุณ โดยมีผู้ร่วมงานกว่า 180 คน ซึ่งล้วนเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงจากหลากหลายภูมิหลัง อันประกอบด้วยผู้เข้าร่วมโครงการ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ นักศึกษาในพื้นที่ และพันธมิตรจากนานาประเทศ ซึ่งต่างมีเจตจำนงร่วมกันในการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและการประกอบการที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม พร้อมมอบประสบการณ์เชิงลึกตลอดสัปดาห์นี้ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย มุ่งเสริมสร้างการเติบโตทั้งในระดับวิชาชีพและความเชื่อมโยงในระดับบุคคล อันเป็นการหล่อหลอมเครือข่ายแห่งแรงบันดาลใจเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
สัปดาห์กิจกรรมเริ่มต้นด้วยพิธีเปิดซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ในวันที่ 21 พฤษภาคม ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมพิธีเปิด Women’s Pavilion ภายใต้หัวข้อ “โทโมนิ” (Tomoni) ซึ่งหมายถึง “ร่วมกัน” ในภาษาญี่ปุ่น เพื่อย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนอนาคตที่สดใส เปิดกว้างและเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น โปรแกรมดำเนินต่อเนื่องจนถึงวันที่ 23 พฤษภาคม ด้วยกิจกรรมเวิร์กช็อปที่จัดโดยชุมชน และปิดท้ายด้วยงานค็อกเทลอำลาซึ่งสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ใหม่ พร้อมยืนยันเจตนารมณ์ร่วมในการขับเคลื่อนภารกิจอย่างยั่งยืนต่อไป
แนวโน้มสู่อนาคต: การจัดงานประจำปี 2569
เนื่องในโอกาสที่การจัดงานประจำปี 2568 ได้สิ้นสุดลง ทางคาร์เทียร์ขอประกาศเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ
Cartier Women’s Initiative ประจำปี 2569 ซึ่งเริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2568 และจะปิดรับสมัครในวันที่ 24 มิถุนายน 2568 (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.cartierwomensinitiative.com หรือกดสมัครที่ลิงก์นี้) ก่อนจะปิดท้ายด้วยพิธีมอบรางวัลระดับโลกที่จะจัดขึ้น ณ ประเทศไทย ในปี 2569 การประกวดในปีนี้จะมุ่งเน้นไปที่การคัดเลือกผู้ประกอบการเพื่อสังคมหญิงที่มีความโดดเด่น จำนวน 30 ราย ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ผ่านการคัดเลือกเป็น 3 อันดับแรกในแต่ละหมวดรางวัลทั้ง 10 หมวดหมู่
รางวัล Cartier Women’s Initiative ประจำปี 2569 จะประกอบด้วยรางวัลระดับภูมิภาคทั้งสิ้น 9 รางวัล รวมถึงรางวัล “Pioneer in Science & Technology” ซึ่งเป็นการยกย่องนวัตกรรมที่เกิดจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง ผู้เข้าร่วมโครงการทุกท่านจะได้รับการสนับสนุนอย่างครบถ้วนในทุกมิติ ทั้งด้านการเงิน สังคมและทุนมนุษย์ เพื่อส่งเสริมให้สามารถขยายขอบเขตของผลกระทบเชิงบวกจากธุรกิจที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงสังคมพร้อมทั้งเสริมสร้างศักยภาพในการเป็นผู้นำของตนเองให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น การจัดงานในปี 2569 นี้จะสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ของโครงการในการขยายบทบาทและเสียงของผู้หญิงเร่งส่งเสริมผู้ประกอบการที่ครอบคลุมทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง รวมถึงการร่วมกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืน เท่าเทียม และครอบคลุมสำหรับทุกคน