วิกฤตการระบาดของไวรัส COVID-19 ในภาวะปัจจุบันจะเรียกว่า ‘ยังเป็นพิษ’ กับภาคธุรกิจก็สามารถพูดได้ แต่มันไม่ได้กระทบต่อการเติบโตของธุรกิจเท่านั้น แต่มันยังทำลาย ‘ความคิด-mindset’ บางอย่างของนักธุรกิจไปด้วย
ย้อนรอยไปที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นแบบเร็วๆ สิ่งที่กระทบแรงที่สุดก็คงเป็น ‘จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ’ ที่หายไป จากเดิมที่ประเทศไทยเคยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในแต่ละเดือน เฉลี่ยกว่า 30 ล้านคน สถานการณ์ตอนนี้ทำให้หลายๆ อย่างเปลี่ยนไป

คุณชินตา ศรีจินตอังกูร, Country Lead จาก Nielsen ได้พูดรวมๆ ให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งหมดจาก COVID-19 ความไม่แน่นอนพวกนี้ทำให้ธุรกิจตัดสินใจระงับหรือเลื่อน budget บางอย่างออกไป ไม่ว่าจะเป็น การโฆษณา, การทำมาร์เก็ตติ้ง, การพัฒนานวัตกรรม จนไปถึง การเปิดตัวสินค้าและบริการใหม่ เพราะความคิดที่ว่า “สถานการณ์แบบนี้คงไม่คุ้มเสี่ยงเพราะผู้บริโภคก็คงไม่ใช้จ่ายเหมือนเดิม”
แต่ความคิดที่ว่ามานี้…มันผิด! หากเราเห็นข้อมูลที่อยากจะแชร์ให้อ่านกันจาก ‘นีลเส็น’ เชื่อว่าหลายๆ ความคิดต้องเปลี่ยนไป โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่ม FMCG (Fast-moving consumer goods) โดยทางนีลเส็น ได้แบ่งเป็น 6 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน คือ
-
เครื่องดื่ม (ไม่รวมแอลกอฮอล์)
-
พวกขนมคบเคี้ยว ไอศครีม
-
อาหาร (รวมอาหารสำเร็จรูป)
-
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ – บุหรี่
-
สินค้าใช้ในบ้าน
-
ผลิตภัณฑ์ดูแลตัวเอง
ในภาพรวมสินค้าทั้ง 6 เซกเมนต์ที่ยกตัวอย่างมานี้ ต่างก็มียอดขาย ‘ติดลบ’ เพราะผลกระทบจากการระบาดของไวรัส แต่หากว่าเราลองแบ่ง layer ให้เจาะลึกลงไป สิ่งที่เห็นก็คือ มีหลายๆ สินค้า/ผลิตภัณฑ์จากทั้ง 6 กลุ่มนี้ กลับมียอดขายที่ดีในช่วงที่มีการระบาดหนักจนถึงตอนนี้
คุณชินตา ได้ยกตัวอย่างให้ฟังว่า อย่างประเภทสินค้าเครื่องดื่ม – เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของวิตามิน เช่น น้ำเปล่าวิตามิน C, ซิงก์ ได้รับความนิยมมากขึ้น และจะเป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคตต่อเนื่อง เพราะคนเริ่มใส่ใจกับสุขภาพทั้งทางตรงและทางอ้อม
หรือแม้แต่ ‘ประเภทสินค้าอาหาร’ ที่รวมตั้งแต่ข้าวสาร น้ำตาล ซอสปรุงรส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไข่ และ น้ำมัน ฯลฯ สิ่งที่นีลเส็น ค้นพบในช่วงที่ผ่านมา (ที่มีการระบาด COVD-19) ผู้บริโภคยอมที่จะซื้อ ‘ไขไก่พรีเมียม’ ที่มีราคาสูงขึ้นจากท้องตลาด แต่ให้สารอาหารครบ อาจจะมาจากไก่ที่เพาะเลี้ยงอย่างมีคุณภาพ หรือน้ำมันที่ผสม Omega ก็กำลังเป็นที่นิยม พฤติกรรมเหล่านี้กำลังบอกอะไรเรา?
“คนยังจับจ่ายใช้สอยเหมือนเดิม เพียงแต่จะจ่ายกับสิ่งจำเป็น และคุ้มค่ามากขึ้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์มากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องราคาเท่านั้น และแม้ว่าสินค้า ผลิตภัณฑ์ และบริการเหล่านั้น จะจัดอยู่ในกลุ่มพรีเมียมก็ตาม หากพวกเขารู้ว่ามันคุ้มค่าก็ยังยอมจ่ายอยู่ดี”

เข้าใจพฤติกรรมอนาคต เรียนรู้เทรนด์การตลาดใหม่ในปี 2021
จากที่เราอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นข้างบนว่า สิ่งที่ภาคธุรกิจคิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงบางทีมันก็สวนทางกัน หมายความว่า เราต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้สถานการณ์ในปัจจุบัน พฤติกรรมผู้บริโภค และสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคตให้มากกว่านี้
คุณชินตา พูดว่า “สิ่งสำคัญอันดับแรกที่ธุรกิจต้องทำก่อน ก็คือ การปรับจูนให้เข้าใจผู้บริโภคของตัวเอง”
ในเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และการตกผลึกบางอย่างของเรายังไม่ถูกต้อง ดังนั้น วันนี้เราต้องหันมาตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่า ‘เข้าใจผู้บริโภคของตัวเองดีหรือยัง?’
COVID-19 ทำให้ความคิดผู้บริโภคเปลี่ยน, สถานที่อยู่อาศัยก็เปลี่ยน (เพราะคนตกงานและย้ายถิ่นฐานมากขึ้น) รวมไปถึง จุดประสงค์ในการซื้อของหรือใช้จ่ายในแต่ละครั้ง ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
สิ่งที่เราต้องหันมาตั้งคำถาม มีอะไรบ้าง
-
ลูกค้า/ผู้บริโภคของเรายังเป็นกลุ่มเดิมหรือไม่
-
ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ ‘เราเห็นโอกาสนั้นแล้วหรือยัง?’
-
ทำอย่างไรให้ลูกค้า(เก่าและใหม่) เข้าใจสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสาร
-
วิธีการนำเสนอสินค้า/บริการเรามีรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิมหรือไม่
-
(ถ้า) target consumer เปลี่ยนไป เราทำความเข้าใจฐานลูกค้าใหม่ของเราดีแล้วหรือยัง
-
การตั้งโปรโมชั่น/แคมเปญ ในยุคนี้ ถูกต้องและเหมาะสมกับพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคหรือไม่
-
ธุรกิจของเรามีนวัตกรรมที่เพียงพอหรือไม่
-
การตั้งราคา เหมาะสมกับความคุ้มค่า และดึงดูดให้ซื้อได้หรือไม่
ยังมีอีกหลายๆ เรื่องที่นักธุรกิจเข้าใจผิด หรือคิดไม่ถึงว่าจะมาเป็นปัจจัยให้ต้องคิดทบทวนมากขึ้น ก่อนที่จะวางแผนกลยุทธ์ให้กับธุรกิจ เพราะบางที Business model ตั้งแต่แรกที่เราวางกลุ่มเป้าหมาย หรือโลเคชั่นเอาไว้ มันก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
อย่างช่วงการระบาดที่ผ่านมา จากเดิมที่คนชอบซื้อของอุปโภค-บริโภค จากซูเปอร์มาร์เก็ต/ไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือซื้อทีละเยอะๆ ก็ปรับมาเป็นซื้อใช้แค่จำเป็นเท่านั้นพอ “คนคิดระยะสั้นแค่วันนี้ พรุ่งนี้ มากกว่าที่จะคิดเผื่อระยะยาว อีกอย่างคนเริ่มหันมาซื้อสินค้าจากร้านค้าเล็กๆ แถวบ้านแทน ไม่ต้องไปซื้อถึงในห้างฯ ตอนนี้มีกลุ่มคนแบบนี้เพิ่มขึ้น”
พอได้อ่านแบบนี้แล้ว ภาคธุรกิจคงต้องมาศึกษา target ของตัวเองใหม่แบบจริงจัง พร้อมรื้อกลยุทธ์ที่ใช่มาใช้ รับปีใหม่ 2021 กัน
ข้อมูลจาก SME Thailand&Startup