“ชีวิตนี้ไม่เคยดูคลิปเปิดตัวเครื่องดูดฝุ่นเลย ไม่ต้องพูดถึงคลิปยาว 10 นาที แต่นี่นั่งดูจนจบ” นี่คือคอมเมนท์หนึ่งในคลิปวิดีโอความยาว 8 นาที ที่ James Dyson ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท Dyson วัย 78 ปี เปิดตัว Dyson PencilVac Fluffycones เครื่องดูดฝุ่นที่ “บาง” ที่สุดในโลก ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา
การเปิดตัวครั้งนี้ ไม่เพียงแต่สร้างความฮือฮาด้วยนวัตกรรมสุดล้ำเท่านั้น แต่คลิปเปิดตัวโดย James Dyson เอง ก็กลายเป็นไวรัลที่เต็มไปด้วยเสียงชื่นชมในโลกออนไลน์ล้นหลาม จนเราต้องขอหยิบมาวิเคราะห์ว่าในการเปิดตัวที่ดู “ธรรมดา” นี้ อะไรคือ “ความไม่ธรรมดา” ที่ทำให้คนดูจบแล้วอยากเสียเงินทันที!
อะไรทำให้ชายวัย 78 ปี กับการนำเสนอเครื่องดูดฝุ่นเพียง 8 นาที ถึงสะกดผู้ชมได้?
ตัวตนและความจริงใจของ James Dyson เอง
“อายุ 78 แต่ยังเป็นเหมือนพ่อมด James Dyson คือราชา!” คอมเมนท์หนึ่งบอกเอาไว้ในขณะที่อีกเมนท์บอกว่า “เขาคือผู้ก่อตั้งคนสุดท้ายที่ยังคงสไตล์แบบ Steve Jobs เขาดูใส่ใจและมีส่วนร่วมกับการคิดค้นผลิตภัณฑ์จริงๆ”
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการที่ “ผู้ก่อตั้งหรือผู้บริหาร” มาพร้อมกับ Passion และความเข้าใจในผลิตภัณฑ์อย่างแท้จริงเป็นสิ่งที่ทรงพลังมากๆในการเปิดตัวสินค้าอะไรซักตัว
ตรงไปตรงมาไม่ต้องปรุงแต่งเยอะ
ความตรงไปตรงมาไม่ปรุงแต่งคือสิ่งที่ผู้ชมโหยหาในยุคที่เต็มไปด้วยโฆษณาและคอนเทนต์เต็มไปหมด
หนึ่งในคอมเมนท์ระบุว่า “รู้สึกดีจริงๆที่ได้เห็นการนำเสนอสินค้าแบบนี้ ไม่มีการแสดงออกแบบปลอมๆ หรือคำพูดสวยหรูเกินจริง แค่ลุงคนหนึ่งพูดถึงเครื่องดูดฝุ่นแท่งใหม่ของเขา”
สอดคล้องกับอีกคอมเมนต์ที่ชื่นชมความเรียบง่ายแต่ตรงจุด “ไม่มีการพูดจาเลื่อนลอยไร้สาระ ไม่มีสุนทรพจน์พร้อมหลักปรัชญาที่ดูปลอมๆ มีแต่ผลิตภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยประสิทธิภาพและนวัตกรรมล้วนๆ เจ๋งสุดๆ”
ที่โดนใจใครหลายคนคือการที่เป็น Product Presentation จริงๆ ไม่ใช่ Marketing Show ที่ผ่านการคิดเยอะ อย่างที่คอมเมนท์หนึ่งบอกไว้ว่า
“ดีใจที่ได้เห็นการเปิดตัวสินค้าจริงๆ ไม่ใช่แค่โชว์การตลาด แค่อธิบายว่ามันทำงานยังไง ดีขึ้นกว่าเดิมยังไง จากมุมมองเทคนิค แต่ไม่ใส่ศัพท์ยากๆ จนคนดูตามไม่ทัน สมบูรณ์แบบเลย”
สื่อสารที่ชัดเจน เข้าใจง่าย
งานเปิดตัวนี้มีการสื่อสารที่ชัดเจน เข้าใจง่าย ทำให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความรู้จริงของผู้พูด อย่างที่คอมเมนท์นึงระบุว่า “ดีกว่างานเปิดตัวของแบรนด์ยักษ์ใหญ่ร้อยเท่า แค่คนๆ หนึ่งที่รู้จักสินค้าตัวเอง และรู้ว่ามันแก้ปัญหาอะไรให้คนได้” แค่นั้นเลย
ที่สำคัญก็คือการนำเสนอครั้งนี้ทำให้เรารู้สึกได้ว่าปัญหาที่เราเคยเจอกับการใช้สินค้าได้รับการแก้ไขจริงๆ
“ผู้ชายคนนี้แก้ปัญหาที่ฉันเคยมีกับเครื่องดูดฝุ่นมือถือได้ตั้งมากมาย” คอมเมนท์หนึ่งระบุ
ดึงความสนใจคนดูได้จนจบ
ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกิด Engagement กับแบรนด์ได้จริงๆแม้แต่กับสินค้าที่หลายคนอาจมองว่าธรรมดา
พลังการดึงดูดนี้แรงถึงขั้นที่คอมเมนท์หนึ่งบอกว่า “ผมเป็นคนสมาธิสั้น (ADHD) แต่สามารถโฟกัสดูได้ 8 นาทีรวดแบบสบายๆ เยี่ยมมากครับ”
บางคนคอมเมนท์บอกเลยว่า “ผมตัดสินใจซื้อตอนที่เขาพูดว่า ‘I can go like that ตอนนาทีที่ 3:56 ซึ่งตอกย้ำพลังของการนำเสนอได้จริงๆ
การเปิดตัวเครื่องดูดฝุ่นรุ่นใหม่ครั้งนี้ของ James Dyson เป็นกรณีศึกษาที่ดีเพราะมันทำให้เห็นว่าในยุคที่ข้อมูลท่วมท้น ผู้บริโภคโหยหาความจริงใจที่ไม่ปรุงแต่ง ความเรียบง่าย และการแก้ปัญหาของผู้บริโภคที่ตรงจุดมากกว่า
การนำเสนอที่ไม่ต้องหวือหวา แต่เต็มไปด้วยความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ ความใส่ใจในผู้บริโภค และ Passion ของเจ้าของแบรนด์และผู้บริหาร สามารถให้ผลลัพธ์ที่ดี และอาจจะดียิ่งกว่าแคมเปญการตลาดที่ซับซ้อนซะอีก
ดังนั้นการพรีเซนต์เปิดตัวสินค้านักการตลาดรวมถึงแบรนด์ในยุคปัจจุบันนี้ก็ต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า
- เราสื่อสารด้วยความจริงใจและ Passion ของแบรนด์เราแล้วหรือยัง?
- ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นพระเอกในการนำเสนอนั้นๆหรือไม่?
- เราทำให้เรื่องยากๆเป็นเรื่องง่ายสำหรับลูกค้าได้แค่ไหน?
เพราะบางที “ความเรียบง่าย” และ “ความจริงใจ” อาจเป็นอีกหนึ่งอาวุธลับในกลยุทธ์การตลาดของเราก็ได้