ในช่วงวิกฤติ COVID-19 สิ่งที่เห็นได้ชัดคืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากมาตรการปิดประเทศส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป ยิ่งเมื่อการระบาดในประเทศเริ่มรุนแรงมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดก็ยิ่งมีความเข้มข้นมากขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวในประเทศก็หายไปด้วยเช่นกัน ขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังต้องมีค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง
หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ คือ ธุรกิจโรงแรม และในช่วงหน้าร้อนนี้ที่ถือเป็น High Season ของทะเลใต้ ในปีนี้กลายเป็นหายนะครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทะเลใต้ของไทย ซึ่งวิกฤติ COVID-19 ถือเป็นบทเรียนที่สำคัญให้กับผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมทั่วประเทศในการเตตรียมพร้อมรับมือวิกฤติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
โครงการช่วยผู้ประกอบการและพนักงาน
จากโครงการ “เถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจ” ที่ธนาคารกสิกรไทยจัดขึ้นมา โดย คุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย ด้วยการการลดดอกเบี้ยและเพิ่มเงินทุนให้กับธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจมีกำลังจ้างพนักงานได้ต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือพนักงานที่มีรายได้น้อยให้สามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์นี้ เป็นการพึ่งพาอาศัยในภาคเอกชน

สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นรูปแบบ “คนละครึ่ง” โดยเจ้าของธุรกิจจะช่วยเหลือพนักงานด้วยการจ่ายเงินเดือนครึ่งหนึ่ง ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยจะช่วยจ่ายให้อีกครึ่งหนึ่ง เพื่อรักษาพนักงานในระบบธุรกิจให้อยู่รอดไปด้วยกันเป็นการนำรายได้ของธนาคารกสิกรไทยมาช่วยไม่เกี่ยวกับการปล่อยกู้ ด้วยเงินตั้งต้นโครงการจากธนาคารกสิกรไทย 500 ล้านบาท ซึ่งเฉพาะในจังหวัดภูเก็ตมีการใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท โดยคาดว่าสามารถช่วยพนักงานราว 3,000 คน และเตรียมความช่วยเหลือไปยังจังหวัดอื่นๆ เพื่อช่วยพนักงาน คาดว่าทั้งโครงการจะสามารถช่วยเหลือได้อย่างน้อย 15,000 คน และช่วยให้อยู่รอดได้อีกอย่างน้อย 6 เดือน
มุมมองและแนวคิดฝ่าวิกฤติ ผ่านสายตาบัณฑูร
โดย คุณบัณฑูร ชี้ว่า การอัดฉีดเงินต่างๆ ต้องไปถึงมือคนที่ควรจะได้ ไม่ใช่หล่นหายระหว่างทาง ต้องมีระบบจัดการที่ชัดเจน โปร่งใส ประสานงานกันทุกฝ่ายให้ไปในทิศทางเดียวกัน และสื่อสารกันให้ดี เพื่อให้ท้ายที่สุด ความช่วยเหลือไปถึงมือคนที่เดือดร้อนที่สุด แม้ว่าธนาคารได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยมีทุนสะสมในระดับที่แข็งแกร่ง สามารถรับมือวิกฤตินี้ได้

ที่มา: ThaiPublica
สถานการณ์ COVID-19 ยังทำให้เรียนรู้ว่าไม่มีระบบใดๆ ที่แข็งแกร่งและเพียบพร้อม สิ่งที่สำคัญคือการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อปรับตัวและพัฒนาให้สามารถเดินต่อไปได้ ทำให้ค้นพบว่า 3 สิ่งในสถานการณ์นี้ที่ผู้ประกอบการควรทำ คือ การสู้กับโรค ดูแลป้องกันตัวเองให้แข็งแรงและปลอดภัย จากนั้นดูแลธุรกิจให้คงอยู่รอดได้ ช่วยเหลือพนักงานให้ผ่านพ้นวิกฤติไปด้วยกัน และมองไปในอนาคต หลังวิกฤติคลี่คลายธุรกิจควรจะปรับตัวอย่างไรและเตรียมความพร้อมรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
คุณบัณฑูร ยังชี้ว่า เถ้าแก่ก็คือผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจที่มีใจมีคุณธรรม เจ้าหนี้คือธนาคารกสิกรไทยในฐานะสถาบันการเงินและมีกำลังพอที่จะช่วย โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือการรักษาพนักงานให้อยู่รอด เพราะพนักงานคือคนที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดในสถานการณ์ COVID-19 และที่สำคัญพนักงานคือคนที่อยู่ร่วมด้วยช่วยกันมาทั้งสุขทุกข์ ทำให้ธุรกิจอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้
เอาใจเขาใส่ใจเรา มองส่วนรวมเป็นสำคัญ
ไม่เพียงแต่คุณบัณฑูรเท่านั้นที่เสนอแนวคิดการรับมือให้กับผู็ประกอบการ ยังมีผู้ประกอบการโรงแรมอีก 2 ท่านที่เรียกได้ว่าได้รับผลระทบเต็มๆ อย่าง คุณสมบัติ อติเศรษฐ์ ประธานกรรมการบริหารโรงแรมในเครือกะตะธานี และ คุณประมุขพิสิฐ อัจฉริยะฉาย ประธานกรรมการบริหาร โรงแรมในเครือกะตะกรุ๊ป ที่เป็น 2 ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว

(ซ้าย) คุณประมุขพิสิฐ อัจฉริยะฉาย ประธานกรรมการบริหาร โรงแรมในเครือกะตะกรุ๊ป
ที่มา: ThaiPublica
โดย คุณสมบัติ เล่าว่า ผู้ประกอบการต้องมีความคิด “เขาคือเรา เราคือเขา” พนักงานและผู้ประกอบการเป็นครอบครัวเดียวกัน สำหรับเครือกะตะธานีจะเน้นการป้องกันเป็นหลัก โดยเตรียมพนักงานให้พร้อมรับมือซึ่งคาดว่าวิกฤติครั้งนี้จะลากยาวไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน – 1 ปี และต้องมีแผนการป้องกันเมื่อเปิดให้บริการอีกครั้ง ทั้งพนักงานและลูกค้านักท่องเที่ยว ทำอย่างเพื่อไม่ให้ติดเชื้อ เช่น ไม่มีบริการบุฟเฟ่ต์ จำกัดจำนวนการใช้สระว่ายน้ำ มีมาตรการ Social Distancing ห่างกันอย่างน้อย 3 เมตร การทำความสะอาดที่เคร่งครัด
พนักงานต้องเรียนรู้ 3 เรื่องหลัก ทั้งเรื่องจริยธรรม ปัญญาและสปิริต ต้องเห็นแก่ส่วนรวม แยกแยะเรื่องส่วนตนและเรื่องส่วนรวมให้ชัดเจน ต้องมองประเทศชาติเป็นเรื่องสำคัญนอกจากองค์กร พนักงานควรเรียนรู้ 3 เรื่องหลักนี้เพื่อให้องค์กรเข้มแข็ง ถ้าองค์กรมีความเข้มแข็งและพร้อมสู้ก็สามารถฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน รูปแบบดังกล่าวผู้ประกอบการอื่นๆ สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละธุรกิจได้
พนักงานทรงคุณค่า ซื้อใจพนักงานคือสิ่งสำคัญ
ด้าน คุณประมุขพิสิฐ เห็นว่า พนักงานถือเป็นทรัพย์สินอันทรงคุณค่าของธุรกิจ ผู้ประกอบการต้องไม่ปล่อยให้ลูกน้องอยู่ข้างหลังไปไหนต้องไปด้วยกัน โดยเครือกะตะกรุ๊ปไม่เคยคิดเลิกจ้างพนักงาน เพราะในสถานการณ์ปกติพนักงานต่างก็ช่วยกันทำงานสร้างความมั่งคั่งให้ธุรกิจ เมื่อยามเจอวิกฤตก็ต้องฝ่าฟันไปด้วยกันเพราะเชื่อว่า ในยามที่พนักงานลำบาก ผู้ประกอบการไม่ทอดทิ้งช่วยประคับประคองให้อยู่รอดไปได้
เมื่อวันที่กลับมาเปิดอีกครั้ง พนักงานจะยิ่งมุ่งมั่นและทุ่มเทด้วยความกระตือรือร้น เพราะมั่นใจและรู้ว่าในช่วงวิกฤติผู้ประกอบการก็ยังไม่ทิ้ง ไม่ให้พนักงานเดือดร้อนเรียกว่า “ได้ใจ” พนักงานไปเต็มๆ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แม้ว่าความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจจะไม่เท่ากัน แต่หากสามารถรักษาพนักงานไว้ได้ก็เป็นสิ่งที่ควรจะต้องทำ
ทั้งหมดนี้คือแนวคิดของผู้ประกอบการในช่วงที่ต้องเผชิญกับวิกฤติ COVID-19 และสามารถนำแนวคิดเหล่านี้ไปปรับใช้กับธุรกิจอื่นๆ ได้ รวมถึงยังสามารถนำแนวคิดเหล่านี้ไปปรับใช้เพื่อรับมือกับสถานการณ์อื่นๆ ในอนาคต ซึ่งผู้ประกอบการและพนักงานเรียกได้ว่าเป็น “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” ต้องอาศัยความสามัคคีและความร่วมมือของทั้งผู้ประกอบการและพนักงาน วิกฤติต่างๆ ก็จะสามารถผ่านไปได้ด้วยดีแบบ Win Win ทุกฝ่าย
Source: ThaiPublica