การทำงานบนแท่นผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล นอกจากจะต้องมีความเชี่ยวชาญและทักษะการทำงานเฉพาะทาง รวมถึงความแม่นยำและความรอบคอบแล้ว ความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานและการดูแลสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างมากเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จึงได้มองหานวัตกรรมเทคโนโลยีที่จะมาช่วยให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด โดยล่าสุด ได้มีการประกาศผลสำเร็จในการทดสอบความเป็นไปได้ (Proof of Concept) ในการนำอากาศยานไร้คนขับหรือ โดรน เข้ามาใช้ในภารกิจการสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยในกระบวนการปฏิบัติงานด้านพลังงาน
การทดสอบที่แท่นไพลินเหนือบริเวณกลางอ่าวไทย ใช้เทคโนโลยีโดรนจาก บริษัท สไกลเลอร์ โซลูชั่นส์ จำกัด หรือ Skyller ผู้เชี่ยวชาญด้านโซลูชันการตรวจสอบสินทรัพย์ด้วยเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ผสานการออกแบบแผนการดำเนินงานของบริษัทฯ จากการทดสอบเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างดี และได้พิสูจน์ถึงความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางอ่าวไทย
การทดสอบครั้งนี้ถือเป็นการนำโดรนมาใช้ในการผลิตปิโตรเลียม ซึ่งเป็นการทำการบินแบบเกินระยะสายตา (Beyond Visual Line of Sight: BVLOS) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่ได้รับการอนุมัติและเห็นชอบอย่างเป็นทางการจาก สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.), คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำหรับการทดสอบดังกล่าว เป็นการใช้โดรนที่มีการติดกล้องสามารถเห็นภาพได้แบบเรียลไทม์และสามารถตรวจจับความผิดปกติต่างๆ จากแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่อยู่ห่างไกลออกไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
- สภาพการปฏิบัติงานหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่อาจจะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย
- การรั่วไหลของปิโตรเลียม
- สถานการณ์อื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงอันตราย
ทำให้สามารถวางแผนบริหารจัดการในกระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยต่อพนักงานมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคการขนส่งภายในพื้นที่การผลิตนอกชายฝั่งได้ในระยะยาวด้วย
ทั้งนี้ ชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด อธิบายว่า ตลอดระยะเวลาในการดำเนินงานในประเทศไทยมากว่า 60 ปี เชฟรอนไม่เคยหยุดยั้งในการพัฒนานวัตกรรมและการทำงานเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายในการจัดหาพลังงานให้กับประเทศ โดยเทคโนโลยีเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้เชฟรอนสามารถจัดหาพลังงานได้ในราคาที่เหมาะสม เชื่อถือได้ และสะอาดมากยิ่งขึ้น
โดยการทดสอบครั้งนี้ได้รับการคิดค้นและพัฒนาโดยทีมงานของเชฟรอนในประเทศไทย และได้รับความร่วมมือด้านเทคโนโลยีจาก Skyller ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทย การทดสอบที่ประสบความสำเร็จครั้งนี้จะนำไปสู่การทดสอบและพัฒนาขั้นต่อไป เพื่อนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้งานจริงเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ทั้งในด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมต่อไป
หลังจากนี้ เชฟรอนจะมีการนำผลการทดสอบที่ได้ไปพัฒนาโครงการ เพื่อจัดทำการทดสอบความเป็นไปได้ (Proof of Concept) ครั้งที่ 2 ภายในปี พ.ศ.2568