ในยุคนี้ที่ผู้บริโภคหันไปหา tablet มากขึ้นเรื่อยๆแบบกู่ไม่กลับ ผู้ผลิตโน๊ตบุ๊คและคอมพิวเตอร์จึงต้องหันไปหากลุ่มร้านค้าต่างๆมากขึ้น ซึ่งจุดขายสำคัญที่เคยถูกมองข้ามมาก็คือ “Kiosk Mode”
kiosk mode ก็คือภาวะที่หน้าจอคอมมีเมนูตายตัว ให้ผู้ใช้กดสอบถามข้อมูล หรือจองคิว หรือสั่งซื้อ ฯลฯ เท่านั้น ไม่สามารถเรียกใช้งานโปรแกรมต่างๆในเครื่องได้ และไม่สามารถเห็นเมนูคำสั่งของ Windows ได้เหมือนปกติ มีแต่เจ้าของร้านหรือพนักงานผู้ดูแลระบบเท่านั้นที่จะป้อนรหัสปลดล็อคออกไปภาวะปกติได้ ตัวอย่างเช่น จอที่หน้าร้านอาหาร จอที่หน้าโรงหนัง เป็นต้น
ตัวอย่างของเทรนด์นี้ ก็เช่นไมโครซอฟต์ เจ้าแห่งวงการพีซีและโน๊ตบุ๊คตลอดมา ล่าสุดก็เพิ่ม kiosk mode ลงใน Windows 8.1 ซึ่งเป็นรุ่นถัดไปจาก Windows 8 โดยเริ่มแจกจ่ายให้นักพัฒนาใช้ทดสอบแล้ว ซึ่งฟังก์ชั่น kiosk mode นี้เพื่อดึงดูดลูกค้าธุรกิจที่จะซื้อไปตั้งหน้าร้านหรือจุดบริการต่างๆ โดย mode นี้จะเปิดใช้ได้โปรแกรมเดียวที่ admin ตั้งไว้เท่านั้น
และนอกจากนั้นยังสามารถกำหนดว่าตั้งแต่เปิดเครื่องขึ้นมาก็ต้องล็อกอิน และหากล็อกอินด้วยชื่อผู้ใช้ที่กำหนดไว้ เช่นล็อกอินเป็นพนักงานหน้าร้าน ก็จะเข้า Kiosk Mode ทันที โดยไม่สามารถมองเห็นสิ่งอื่นๆของ Windows และไม่สามารถเห็นหรือเรียกโปรแกรมอื่นๆได้เลย
อีกรายคือ Google ซึ่งมีระบบปฏิบัติการ Chrome OS (ไม่ใช่ web browser ที่ชื่อเหมือนกัน) สำหรับโน๊ตบุ๊ค “Chromebook” ซึ่งในเวอร์ชั่นใหม่ ก็เพิ่มความสามารถแบบ kiosk mode เพื่อเปลี่ยน Chromebook เป็นคอมพิวเตอร์หน้าร้านได้เช่นกัน
ทางกูเกิลเรียกระบบนี้ของตัวเองว่า “Managed Public Sessions” ซึ่งแอดมินสามารถตั้งค่าหน้าแรก, ตั้งค่าโปรแกรมที่จะบังคับให้ใช้, ตั้งเวลาการล็อกอินและล็อกเอาท์ และอื่นๆได้อีกหลายอย่างเพื่อการนี้ จุดแตกต่างสำคัญก็คือ Chromebook ของกูเกิลนั้นสเปคต่ำและราคาถูกกว่าคอมฯและโน๊ตบุ๊คที่ใช้ระบบ Windows8 ของไมโครซอฟต์มากๆ นักวิเคราะห์หลายสำนักจึงมองว่ากูเกิลได้เปรียบกว่าในตลาดธุรกิจร้านค้านี้ เพราะกลุ่มนี้ไม่ได้ต้องการสมรรถนะเพื่อนำไปเล่นเกมส์ ดูหนัง หรือออกแบบกราฟฟิกแต่อย่างใด
ที่มา : The Verge , Google Enterprise Blog
ภาพ : fileforum.betanews.com , lockergnome.com