ในยุคที่ผู้บริโภคมีแต้มสะสมเต็มกระเป๋า แต่กลับใช้แต้มได้น้อยนิด ภาพของระบบ Loyalty ที่เคยเป็นเครื่องมือสร้างความภักดี เริ่มกลายเป็นความวุ่นวายจากแต้มที่กระจัดกระจายและใกล้หมดอายุ นั่นทำให้ Amaze Super App จึงไม่ใช่แค่แอปใหม่จากเครือ CP แต่คือก้าวสำคัญของการ “รวมศูนย์แต้มสะสม” เพื่อต่อยอดสู่การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่ทุกพอยท์มีมูลค่าใช้งานจริง กลยุทธ์นี้อาจเป็นทั้งโอกาสและแรงสั่นสะเทือนของตลาด Loyalty และ e-Commerce ในไทยอย่างมีนัยสำคัญ
Amaze Super App เปลี่ยนแต้มเป็นเงินสานฝันผู้บริโภค
เปิดตัวอย่างเป็นทางการช่วงปลายเดือนเมษายน 2568 กับแอปฯ ใหม่อย่าง Amaze Super App แอปพลิเคชันที่รวมแต้มสะสมจากหลากหลายแหล่งมาอยู่ในระบบเดียว ด้วยเป้าหมายให้ผู้ใช้สามารถใช้แต้มได้เหมือนใช้เงินสด “แบบไม่มีขั้นต่ำ” และสามารถใช้งานได้หลากหลาย ตั้งแต่ช้อปใน 7-Eleven, Lotus’s, Makro ไปจนถึงสินค้าแบรนด์แท้จาก Amaze Mall โดยเฉพาะจุดเด่นที่น่าจับตามองอย่าง
- รวมแต้มหลากหลายแหล่ง: ไม่ว่าจะเป็น ALL POINT, My Lotus’s, Makro PRO POINT, True Point หรือพอยท์จากบัตรเครดิตชั้นนำอย่าง Krungsri, First Choice, UOB, BBL, KBank, GSB ล้วนสามารถถูกรวมไว้เป็น “Amaze Point”
- ไม่มีขั้นต่ำในการใช้แต้ม: ผู้บริโภคสามารถจ่ายด้วยแต้มในทุกจำนวน โดยไม่มีการกำหนดขั้นต่ำ
- แคมเปญส่งเสริมการใช้แต้มแบบจุกๆ: ตัวอย่างแคมเปญเช่น แจกฟรี 2,000 พอยท์, โอนแต้มครั้งแรกรับเพิ่มสูงสุด 150,000 พอยท์, ช้อปลดสูงสุด 90% ทุกวันพุธ ฯลฯ
นี่คือการ “ลดแรงเสียดทาน” ของการใช้แต้มในโลกจริง โดยให้แต้มกลายเป็น “สกุลเงินที่ใช้งานได้จริง” มากกว่าการถูกจำกัดไว้กับแค่แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง

โดย คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ชี้ว่า “Amaze ไม่ใช่แค่แอปฯ ที่รวมแต้มสะสมให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นเท่านั้น แต่เป็นการวางรากฐานทางเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในระยะยาว เราต้องการให้แต้มสะสมกลายเป็นทรัพยากรที่สร้างมูลค่าได้จริง ใช้ได้จริง และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ด้วยความร่วมมือจากหลากหลายพันธมิตร ทั้งในเครือ CP และภายนอก เรากำลังสร้างระบบนิเวศที่ทุกคนได้ประโยชน์”
Amaze Super App จุดรวมศูนย์แต้มเชื่อม Big Data
การรวมแต้มจากหลากหลายแหล่งไม่ได้มีความหมายแค่ต่อผู้บริโภค แต่ในมุมธุรกิจ มันคือการรวม “ข้อมูล” จากทุกพฤติกรรมการจับจ่ายเข้าสู่มือของ Amaze ซึ่งจะช่วยให้สามารถเข้าใจถึงพฤติกรรมผู้บริโภคและสามารถเสิร์ฟสินค้าและบริการที่ตรงใจผู้บริโภคมากที่สุด สอดรับกับพฤติกรรมเหล่านั้น
จากข้อมูลการวิจัยของ Google Thailand Consumer Barometer 2024 พบว่า 90% ของผู้บริโภคคนไทยเคยใช้บริการหลายแบรนด์สลับกัน และ 52% ผู้บริโภคพร้อมเปลี่ยนแบรนด์ทันทีหากเจอข้อเสนอที่ตรงใจกว่า นั่นในสนาม Loyalty Program ต่างพยายามนำเสนอสิทธิประโยชน์มากมาย อย่างการสะสมแต้มเพื่อแลกรับรางวัล หรือโปร Get 1 Buy 1 แต่อาจไม่ได้ผลตามที่คาด เพราะปัจจุบัน Loyalty 2.0 คือการใช้ Data เพื่อมองลูกค้าเป็น “คน” ไม่ใช่ “ยอดขาย” นี่คือสิ่งที่ Amaze Super App กำลังทำ
สิ่งที่ CP Group ได้จาก Amaze อย่างแน่นอน ประกอบไปด้วย
- ข้อมูลพฤติกรรมแบบเรียลไทม์ของผู้บริโภคข้ามแบรนด์ ข้ามหมวดหมู่สินค้า
- อำนาจต่อรองกับแบรนด์ ที่ต้องการเข้าถึงฐานผู้ใช้งานกว่า 100 ล้านบัญชีในระบบของ CP
- ระบบนิเวศแบบครบวงจร ที่เชื่อมตั้งแต่ผู้ผลิต (CPF, CP ALL, CP AXTRA) ไปจนถึงลูกค้าปลายทาง
ในเชิงยุทธศาสตร์ Amaze จึงไม่ใช่แค่ Loyalty Platform แต่เป็นการสร้าง “Retail Data Infrastructure” ที่อาจเป็นเส้นทางสู่การทำ Retail Media Network และ Personalized Commerce อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต
“ประโยชน์ที่จะได้รับจาก Amaze Super App ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคที่สามารถใช้แต้มได้อย่างคุ้มค่า ร้านค้าที่มีโอกาสเติบโตจากฐานลูกค้าที่แม่นยำ หรือพันธมิตรธุรกิจที่ได้เข้าถึงข้อมูลและเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตในยุคดิจิทัล Amaze จึงเป็นมากกว่าธุรกิจ มันคือภารกิจของเราที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่อย่างมั่นคงและเท่าเทียม” คุณศุภชัย กล่าวเสริม
เศรษฐกิจดิจิทัลใหม่ภายใต้ร่มเงา CP
แม้ Amaze Super App จะเปิดตัวในนามบริษัท Ascend Commerce แต่ภาพที่ทุกคนเห็นและรับรู้ได้ชัดคือ ความร่วมมือจากทั้งเครือซีพี ไม่ว่าจะเป็น True Corporation ที่นำระบบ CRM ของลูกค้ากว่า 40 ล้านบัญชีมาเข้าสู่ระบบ Amaze Super App ขณะที่ CP AXTRA ทำให้พอยท์ของ Makro ใช้ได้สะดวกขึ้น ส่วน CP ALL พลิกโฉมจาก Daily Shopping ให้กลายเป็น Lifestyle Shopping
ด้าน ดร.สรินทิพย์ สถิตย์เสถียร กรรมการผู้จัดการ Amaze Super App บริษัท แอสเซนด์ คอมเมิร์ซ จำกัด เห็นว่า “เราใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาโดยทีมคนไทยทั้งหมด พร้อมผลักดันร้านค้าพันธมิตรเข้าสู่โลกดิจิทัลด้วยต้นทุนที่ต่ำลงและโอกาสในการเข้าถึงฐานลูกค้าในเครือซีพีที่มีอยู่กว่า 30 ล้านคน เพื่อให้ต้นทุนของการค้าขายออนไลน์ลดลงจริง ทั้งในฝั่งร้านค้า แพลตฟอร์มและผู้บริโภค เมื่อต้นทุนลดลงอย่างยั่งยืน ผู้บริโภคก็จะได้ซื้อสินค้าที่ถูกลง ทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันและเติบโตไปด้วยกันอย่างแท้จริง”
สำหรับผู้ที่ใช้แต้มซื้อสินค้า ยังสามารถได้รับ Amaze Point เพิ่มทุกครั้งที่ช้อป เพื่อสะสมและนำกลับมาใช้ได้อีกครั้งแบบต่อเนื่อง ยกระดับการช้อปให้กลายเป็นระบบสะสมแต้มครบวงจรที่ตอบโจทย์ทั้งการใช้จ่ายและการออมค่าใช้จ่ายในระยะยาว
ที่สำคัญยังมีการเปิด Amaze Mall อีกหนึ่งช่องทางในการสนับสนุนร้านค้า ด้วยแผนการตลาดและแคมเปญต่างๆ เช่น Amaze Mall Day ที่มอบส่วนลดพิเศษและ Pointback สูงสุดถึง 15% เพื่อช่วยขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมด้วยเครื่องมือบริหารจัดการที่ใช้งานง่าย และทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่คอยให้คำแนะนำตลอดการดำเนินธุรกิจ ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับเป้าหมายของ Amaze Super App ที่ต้องการขยายจำนวนร้านค้าให้ครอบคลุมเป็น 1,800 ร้านค้าภายในสิ้นปีนี้ เพื่อยกระดับประสบการณ์ช้อปปิ้งและสร้าง ecosystem ทางธุรกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน
Amaze Super App จึงเป็นการเปลี่ยน “สถานะของแต้ม” ให้กลายเป็นทรัพยากรทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ทั้งในเชิงพฤติกรรมผู้บริโภค การสร้างเครือข่ายแบรนด์ และการต่อยอดธุรกิจ e-Commerce สู่การเป็น Data Platform แบบครบวงจร แม้จะเพิ่งเริ่มต้น แต่หากสำเร็จ Amaze อาจกลายเป็นแบบจำลองธุรกิจที่ทำให้แบรนด์อื่นต้องรีบ “รวมแต้ม” หรือ “รวมข้อมูล” ให้ทัน ก่อนจะกลายเป็นแค่ร้านค้าที่รอคำสั่งซื้อจากแพลตฟอร์มใหญ่