ทฤษฎีผกผัน…เมื่อโลกยานยนต์สร้างเครื่องยนต์ขนาดเล็ก แต่แรงเทียบเท่าเครื่องขนาดใหญ่

  • 1.9K
  •  
  •  
  •  
  •  

เคยมั้ย…เวลาขับรถไปต่างจังหวัดแล้วเจอพวกรถแต่งซิ่งวิ่งแรงแซงทุกเลน (บางทีรถไม่แต่งก็แซงทุกเลนเหมือนกัน) แทรกปาดไปปาดมา จนแอบคิดในใจถ้าได้ขับ รถยนต์ระดับ Super Car รับรองจะเหยียบแซงทิ้งขาดแบบไม่เห็นฝุ่นเลย ชนิดที่พูดได้แค่ว่า “อะไรแวบๆ นะ !!!”

Honda_Tech_1

แต่พอมาลองคิดอีกที ถ้าเป็นรถสปอร์ตระดับนั้นไม่ต้องลองขับก็รู้แล้วว่า เหล่าบรรดาม้าที่ได้มาทั้งหลายคงซดน้ำมันกันเพลิดเพลิน เสมือนจัดปาร์ตี้ม้าดีๆ นี่เอง ซึ่งในความเป็นจริงรถยนต์ส่วนใหญ่เป็นรถใช้ในเมือง (City Car) ถ้าไม่ได้วิ่งบนถนนในกรุงเทพฯ ในวันหยุด รับรองได้เลยว่าไม่มีทางได้เหยียบทำความเร็ว 100 กม./ชม. เป็นเวลา 5 วินาทีแน่นอน

การใช้รถยนต์ที่มีเครื่องขนาดใหญ่วิ่งในเมืองจึงเป็นการสิ้นเปลืองน้ำมันโดยใช่เหตุ แถมรถที่มีเครื่องใหญ่เมื่อวิ่งทางไกลหลายผู้เชี่ยวชาญมักจะบอกว่าประหยัดกว่าเครื่องขนาดเล็ก ซึ่งในความเป็นจริงต้องอาศัยหลายปัจจัย รถที่มีเครื่องขนาดใหญ่ถึงจะประหยัดกว่ารถที่มีเครื่องขนาดเล็ก ทั้งสภาพการจราจรและทักษะของผู้ขับขี่ รวมไปถึงสภาพการดูแลรักษาเครื่องยนต์

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผสมผสานกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและแนวโน้มของราคาน้ำมันในอนาคต จึงทำให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายค่ายเริ่มคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ภายใต้ทฤษฎีผกผันพลิกกลับตาลปัตร (Upside Down) จากเดิมที่หลายคนคิดว่า รถจะแรงก็เพิ่มม้าเข้าไปเพื่อให้กำลังแรงม้าสูงขึ้น เครื่องยนต์ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น ยิ่งเครื่องใหญ่กระบอกสูบมาก แรงม้าก็สูงตาม ความเร็วแรงก็เพิ่มขึ้นตาม

แต่เพราะเทคโนโลยีในโลกยุคปัจจุบันเปลี่ยนไป การยึดติดกับแนวคิดทฤษฎีเดิมๆ อาจจะไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่ดีเสมอไป ผู้ผลิตรถยนต์หลายค่ายจึงเริ่มคิดในมุมกลับ ถ้าเครื่องยนต์มีขนาดเล็กลง แต่ให้กำลังแรงม้าเทียบเท่ารถยนต์ที่มีเครื่องขนาดใหญ่ นอกจากจะเพิ่มสมรรถนะให้เครื่องยนต์สามารถพุ่งทะยานได้เร็วมากขึ้น ยังช่วยในด้านการประหยัดน้ำมัน อันเป็นผลมาจากขนาดของเครื่องยนต์ที่มีขนาดเล็ก จึงกินน้ำมันน้อยลง และนี่ก็คือแนวคิดหลักของเทคโนโลยี Downsizing Engine

เครื่องเล็ก ซีซีน้อยแล้วจะแรงได้อย่างไร

สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยี “Downsizing Engine” อยู่ที่อุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มสมรรถนะอย่าง เทอร์โบ (Turbo)” (ชื่อเต็มของเทอร์โบเรียกว่า “เทอร์โบชาร์จเจอร์”) ซึ่งเทอร์โบจะเป็นอุปกรณ์ที่มีรูปทรงหอยโข่ง หน้าที่หลักของเทอร์โบคือการดูดอัดอากาศเข้าไปสู่เครื่องยนต์ในปริมาณที่มากกว่าปกติ เมื่อปริมาณอากาศมากขึ้นเครื่องยนต์ก็จะสั่งให้น้ำมันเพิ่มปริมาณตามสัดส่วนอากาศ ผ่านอุปกรณ์ที่หลายคนรู้จักในชื่อ ECU (Electronic Control Unit)

ECU จะช่วยคำนวนสัดส่วนองค์ประกอบอากาศกับน้ำมันเพื่อให้สามารถจุดระเบิดและเผาไหม้แบบสมบูรณ์ ภายใต้ข้อจำกัดของปริมาตรแต่ละกระบอกสูบ หรือง่ายๆ จ่ายน้ำมันมากแค่ไหนก็จะไม่เกินขนาดของเครื่องยนต์ เมื่อองค์ประกอบภายในห้องเครื่องสมบูรณ์ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจุดระเบิดให้ดียิ่งขึ้น เมื่อสามารถจุดระเบิดได้ดี แรงบิด (Torque) ก็จะให้กําลังที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้แรงม้าเพิ่มขึ้นตาม

อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า แม้เครื่องจะเล็กแต่แรงม้าเพิ่มขึ้น ประหยัดน้ำมันมากขึ้น ลดการปล่อยมลพิษมากขึ้น (แถมเครื่องเล็กยังเสียภาษีน้อยลงอีกด้วยนะ!!!) เรียกว่า จิ๋วแต่จี๊ดพุ่งปรี๊ดทุกเส้นทาง นั่นจึงทำให้เหล่าบรรดาค่ายรถยนต์จึงหันเหทิศทางมาสู่เทคโนโลยี Downsizing Engine เพิ่มมากขึ้น เรียกว่าเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ยังคงหลงใหลกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง

อย่าว่าแต่ตลาดโลกที่เริ่มเทรนด์นี้  ตลาดรถยนต์ในบ้านเราเองก็เริ่มนำ มาใช้กันมากขึ้น ซึ่งก็รวมถึงค่ายรถยอดนิยมอย่าง ฮอนด้า ที่ได้นำเอาเทคโนโลยี Downsizing Engine มาใช้แล้วในรถยนต์รุ่น CIVIC และ CR-V ที่กำลังจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน

Honda_Tech_2
*ภาพ All-new Honda Accord ที่จำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา

เร็วๆ นี้ ฮอนด้าก็ยังเตรียมเปิดตัว Honda Accord ใหม่ ที่มาพร้อมเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร Di VTEC TURBO ที่เคลมว่ามีกำลังเหนือกว่าเครื่องยนต์ 2.4 ลิตร ในโฉมปัจจุบัน และนี่จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องยืนยันว่าทฤษฎีผกผันของเครื่องยนต์ที่ “เล็กแต่แรง” นั้น กำลังจะกลายมาเป็นกระแสหลักของเครื่องยนต์ในโลกยุคนี้อย่างแน่นอน ได้ยินแบบนี้แล้ว สาวกฮอนด้าเตรียมรอทดสอบความแรง และความประหยัดกันได้เลย


  • 1.9K
  •  
  •  
  •  
  •