กทช.เตรียมเปิดชิงเค้ก 3G 2100 MHz ปีหน้า

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

แม้จะเลื่อนมาแล้วหลายครั้งเกี่ยวกับการเปิดให้ไลเซนต์ 3จีในระบบคลื่นความถี่ 2100 MHz แต่ล่าสุดประธานกทช.”ชูชาติ พรหมพระสิทธิ”ยืนยันชัดเจนผ่านBusiness Thaiว่าปี2552 จะคลอดออกมาได้แน่นอน  ขณะที่ 3จีฉบับอัพเกรดเอกชนเดินหน้านำเข้าอุปกรณ์เพื่อเปิดให้บริการได้ต้นปีหน้า 

“พูดถึง 3 จี ตอนนี้มี 2 เรื่อง  อย่างแรกที่ให้เอกชนอัพเกรดเทคโนโลยีจากเดิมไปสู่ระบบ3จีนั้น ขณะนี้กทช.ได้อนุญาตให้เอกชนทุกรายนำเข้าอุปกรณ์ต่างๆได้แล้ว  ส่วนเอกชนจะเปิดให้บริการได้เมื่อไหร่คงขึ้นอยู่กับความพร้อมแต่ละราย  สำหรับไลเซนต์3จีใหม่ในคลื่นความถี่ 2100MHz  นั้น ขณะนี้กทช.กำลังรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆรวมทั้งประชาชนทั่วไป เพื่อนำมาประกอบการกำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียด แต่เชื่อว่าไม่เกินปีหน้าจะสามารถประกาศให้ไลเซนต์อย่างเป็นทางการได้”

เป็นคำยืนยันของพล.เอกชูชาติ  พรหมพระสิทธิ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)ต่อคำถามถึงแนวโน้มที่ประเทศไทยจะมีโอกาสใช้บริการโทรศัพท์มือถือในระบบ3จี  

ทั้งนี้  นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด วิเคราะห์ก่อนหน้านี้ว่า กทช.อยู่ระหว่างการร่างหลักเกณฑ์การประมูล และใบอนุญาติ 3G บนคลื่นความถี่ 2100 MHz คาดว่าเดือนตุลาคมนี้น่าจะสรุปได้ และคาดว่าปี 2552 จะเริ่มเปิดประมูลได้  แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมติของรัฐบาล และกฏหมายของของกระทรวงไอซีทีด้วย

อย่างไรก็ตาม   การที่กทช.อนุมัติให้ ดีแทค เอไเอเอส และทรู  นำเข้าอุกรณ์ 3G เพื่อพัฒนาระบบ 3G นั้น   ฝ่ายวิจัยมองว่าการพัฒนาการให้บริการระบบ 3G จะช่วยเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการใหม่แก่ผู้ประกอบการมือถือประมาณ 1.5-2 เท่า จากจำนวนผู้ใช้บริการใหม่ในปัจจุบันที่เพิ่มสูงเฉลี่ยที่ระดับ 8 แสนรายขึ้นไป จากการให้บริการเสริม และเซอร์วิสด้านข้อมูลที่รวดเร็วมากขึ้น

มีรายงานว่า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอสยู่ระหว่างเตรียมนำเข้าอุปกรณ์ 3G ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาได้ในช่วง 2-3 เดือนจากนี้ โดยจะทยอยเข้ามาเป็นล็อตๆ และคาดว่าพร้อมให้บริการได้ในช่วงปลาย 2551 หรือต้นปี 2552

สำหรับการติดตั้งสถานีจำนวน 400 สถานี จะใช้งบลงทุนประมาณ 1,600 ล้านบาท และจะเริ่มติดตั้งสถานีในส่วนของต่างจังหวัดก่อน โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ เช่น ขอนแก่น ภูเก็ต และชลบุรี ซึ่งมีการเติบโตสูง เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยว และจึงค่อยดำเนินการติดตั้งสถานีในเขตกรุงเทพต่อไป

ขณะที่ฝั่งของความเคลื่อนไหวดีแทค ผู้บริหารแจ้งว่า หลังกทช. อนุมัติให้    ดีแทค อัพเกรด 1,200 สถานีฐาน เพื่อนำเข้าอุปกรณ์เอชเอสพีเอ มาพัฒนาระบบให้บริการ    3G ภายใต้คลื่นความถี่เดิมแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการคัดเลือกเวนเดอร์จาก 3 รายคือโนเกีย ซีเมนส์ อีริคสัน และหัวเหว่ย ก่อนยื่นเรื่องนำเข้าอุปกรณ์จาก กทช.  คาดว่าจะให้บริการได้ภายในสิ้นไตรมาสแรกของปี 2552 โดยเริ่มจาก โมบาย บรอดแบนด์  ซึ่งยังมีช่องว่างในตลาดอีกมาก

อย่างไรก็ตาม  ในมุมมองบุคคลที่อยู่ในวงการโทรคมนาคมอย่างนายพิสิษฐ์ วงศ์ตระกูลชัย  ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายผลิตภัณฑ์ไร้สาย บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัดเสนอแนะถึงผลสัมฤทธิ์หากประเทศไทยจะเข้าสู่เทคโลยี3จีอย่างแท้จริงว่า  ในปัจจุบันนี้  เราใช้เทคโนโลยี 2G ซึ่งบางคนก็บอกว่า 2.5, 2.7 หรือ 2.8G การจะก้าวไปสู่ 3G ที่ดูเหมือนจะอยู่แค่เอื้อม แต่ไปไม่ถึงสักทีนั้น 

หากถามว่าเราพร้อมแล้วหรือยัง ความพร้อมนี้ไม่สามารถมาจากหน่วยใดหน่วยหนึ่งในระบบ แต่ต้องมาจากทุกส่วนเกี่ยวเนื่องกันหมด ไม่ว่าจะเป็น Network Provider, Operator, Terminal/ Equipment Vendor, Content, Media ที่สำคัญคือ End users ว่ามีความต้องการใช้งานที่มากกว่าความสามารถของ 2G ในปัจจุบันนี้แล้วหรือยัง

ทั้งนี้   ตนเห็นว่า ปัจจัยที่จะผลักดันตลาดให้ 3G เกิดและประสบความสำเร็จ 1.ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ตลาดทั้งในด้านเทคโนโลยีและบริการ ให้ประชาชนรู้จักใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด  (Educate market) 2.พัฒนาระบบเครือข่ายให้มีความพร้อม สามารถรองรับการเชื่อมต่อได้ครอบคลุมและรวดเร็ว (Network Availability)3.มีการพัฒนาเนื้อหาข้อมูลทั้งสาระความรู้ ข่าวสาร และบันเทิงที่ดึงดูดความสนใจ (Content Provider) 4.การให้บริการจะต้องไม่ซับซ้อน  และค่าบริการต้องไม่สูงเกินไป จึงจะผลักดันตลาดได้5.รัฐบาลต้องผลักดัน โดยให้กฎระเบียบเปิดกว้าง เอื้อต่อการลงทุนและส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน (Government Support) 6. ความแพร่หลายและความหลากหลายของ Terminal หรือ อุปกรณ์สื่อสาร (Handset) เช่น มีทุกระดับราคา มีหลายรุ่นให้เลือก คนทั่วไปสามารถซื้อได้ ราคาย่อมเยา (Affordable, Accessible)

 

Source: Business Thai


  •  
  •  
  •  
  •  
  •