สมาร์ทโฟนได้กลายเป็นศูนย์กลางโลกดิจิตอลทั้งหมดในขณะนี้ ด้วยพฤติกรรมของคนที่นิยมใช้สมาร์ทโฟนในการติดต่อสื่อสาร รวมถึงการเก็บภาพ วิดีโอ เพลง ข้อมูลสำคัญต่างๆ รวมไว้ในเครื่องเดียว ทำให้แนวทางของผลิตภัณฑ์ในช่วงหลังๆ จะมีการผสมผสานรูปแบบการใช้งานของสมาร์ทโฟน เข้าไปรวมกับผลิตภัณฑ์อย่างโน้ตบุ๊ก กล้อง รวมถึงอุปกรณ์ภายในบ้านอย่างเครื่องปรับอากาศและทีวี จึงไม่แปลกที่ผู้ผลิตรายใหญ่หลายค่ายนำเสนอการเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ภายในบ้านเข้าไว้ด้วยกัน
เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเข้าถึงเทคโนโลยี
วิชัย พรพระตั้ง รองประธานธุรกิจโทรคมนาคม บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคทรอนิกส์ จำกัด กล่าวว่า การสร้างนวัตกรรมต่างๆเกิดขึ้นจากไลฟสไตล์ของผู้บริโภค ด้วยระบบการเสิร์ชที่ต่างจากเดิมเพราะโมบายล์ดีไวซ์เข้ามาแทนที่เดสก์ท็อป ประกอบกับดีไวซ์เริ่มมีฟีเจอร์ใหม่ๆที่พัฒนาขึ้น โดยเฉพาะดีไวซ์ระบบแอนดรอยด์ที่มีราคาให้เลือกตั้งแต่ 2,000 บาท จนถึงหลักหมื่น ผู้บริโภคทั่วไปจึงสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่าย รวมถึง 3G ทำให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในทุกช่วงอายุ ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้คอนเทนต์บนดีไวซ์มีความคึกคัก
“วันนี้ดีไวซ์ที่ใกล้ตัวผู้บริโภคมากที่สุดคือสมาร์ทโฟน และความที่เป็นดิจิตอลดีไวซ์ ทำให้ระบบสามารถสื่อสารกับสื่อดิจิตอลอื่นๆภายในบ้าน อาทิ เครื่องปรับอากาศและทีวีได้ด้วย” วิชัย ให้ความเห็น
โฮมซิงค์ อุปกรณ์เชื่อมต่ออัจฉริยะ
หากย้อนมองกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป็นยุคของจอภาพ CRT จากนั้นจึงพัฒนามาสู่ LCD และ Plasma จนมาถึงปัจจุบันที่แต่ละแบรนด์แข่งขันกันด้วยความอัจฉริยะในการเชื่อมต่อของทีวี แสดงให้เห็นว่านวัตกรรมทีวีปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
วิชัย กล่าวว่า “ซัมซุง โฮมซิงค์ (Samsung HomeSync) เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเปลี่ยนทีวีธรรมดาภายในบ้านไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหนหรือยี่ห้อไหน ให้กลายเป็นทีวีอัจฉริยะ โดยเชื่อมต่อผ่านพอร์ต HDMI จากนั้น หน้าจอทีวีจะกลายเป็นแพลตฟอร์มโฮมซิงค์ ซึ่งเป็นแอนดรอยด์เจลลี่บีน 4.2 เช่นเดียวกับสมาร์ทโฟน เพราะฉะนั้นผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นต่างๆ ผ่านกูเกิ้ลเพลย์ เพื่อเล่นเกม ชมภาพยนต์ ชมรายการทีวีออนไลน์ ทั้งฟรีทีวีและเคเบิ้ลกว่า 120 ช่อง รวมทั้งชมทีวีย้อนหลังได้อีก 72 ชั่วโมง จากโทรทัศน์ได้โดยตรง รวมถึงการเปิดเว็บเบราว์เซอร์ เล่นเฟซบุ๊ก หรือเก็บภาพ วิดีโอ เพลง ข้อมูลเอกสารต่างๆ เนื่องจากโฮมซิงค์สามารถเป็น Personal Cloud ที่มีความจุถึง 1 เทราไบท์
เชื่อมต่อได้จากดีไวซ์ใกล้ตัว
อุปกรณ์โฮมซิงค์ ช่วยให้คนสามารถใช้งานเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ สำรองข้อมูล หรือใช้เพื่อแชร์และเข้าถึงไฟล์มีเดียต่างๆ อาทิเช่น ผู้ใช้อยู่นอกบ้านหรือเดินทางไปต่างประเทศ ก็ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในโฮมซิงค์ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ วิดีโอ เอกสาร หรือเพลง ผ่าน WiFi หรือ 3G และโอนถ่ายข้อมูลจากโมบายล์กลับไปยังโฮมซิงค์โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยในเอกสารสำคัญ เนื่องจากเป็นระบบคลาวด์ส่วนตัวจึงปลอดภัยจากมิจฉาชีพและอาชญากรไซเบอร์ที่สามารถพบได้บนพับบลิคคลาวด์ นอกจากนั้น หากผู้ใช้ต้องการความจุที่เพิ่มมากขึ้นก็สามารถต่อพอร์ทเพิ่มได้สูงสุดอีก 5 เทราไบท์
“การเชื่อมต่อกับทีวีนั้นไม่ยาก อุปกรณ์นี้สามารถเชื่อมต่อได้กับทุกดีไวซ์ เพียงแค่มีพอร์ท HDMI เนื่องจากตัวโฮมซิงค์ใช้แพลต์ฟอร์มแอนดรอยด์ 4.2 หากเชื่อมต่อกับ ซัมซุง กาแล็คซี่ เอส4 ระบบจะเชื่อมต่อกันเองด้วยภาษา MMC ทำให้หน้าจอทีวีจะกลายเป็น Mirror 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนดีไวซ์อื่นที่ไม่ใช่ซัมซุง จะมีการพัฒนาต่อไป เพื่อให้รองรับการใช้งานอุปกรณ์ระบบแอนดรอยด์ทุกรุ่น แต่หากต้องการเชื่อมต่อผ่านคีย์บอร์ดหรือเมาส์ก็ทำได้โดยไม่ต้องผ่านสมาร์ทโฟน แสดงให้เห็นว่าอุปกรณ์โฮมซิงค์ทำได้โดยไม่มีข้อจำกัด ด้วย OS ที่มีอยู่ในตัวเอง และหลังจากนี้ยังอัพเดตจากแอนดรอยด์ 4.2 ไปได้อีก” วิชัย อธิบาย
ใช้งานง่ายภายในครอบครัว
สำหรับคนที่สนใจเรื่องคลาวด์ ประสิทธิภาพการใช้งานของคลาวด์ส่วนตัว สามารถเชื่อมต่อกับดีไวซ์ของสมาชิกในบ้านได้พร้อมกันถึง 8 ดีไวซ์ อีกทั้งตัวซอฟท์แวร์ยังรองรับกับโฟลเดอร์ส่วนตัว (Personal Folder) ที่จะทำให้ผู้ใช้สามารถเก็บไฟล์เอกสารความลับส่วนตัวต่างๆ แยกออกมาต่างหากจากสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวได้ สำหรับผู้บริโภคที่สนใจด้านเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ก็จะเสนอส่วนของการใช้งานบนทีวีด้วยระบบแอนดรอย์ เพื่อการดูหนัง ฟังเพลง ที่มีขอบข่ายกว้างขึ้นเช่นเดียวกับการใช้งานสมาร์ทโฟน
เนื่องจากโฮมซิงค์ยังอยู่ในช่วง Early Stage หรือช่วงเริ่มต้น ในส่วนของแอพพลิเคชั่นที่รันอยู่บนแพลตฟอร์มจึงอาจยังไม่มีจำนวนเท่ากับแอพพลิเคชั่นที่อยู่บนกูเกิ้ลเพลย์ที่มีมากกว่าหนึ่งล้านแอพพลิเคชั่น แต่เมื่อไรที่มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการต่อผู้บริโภค แอพพลิเคชั่นจะเปิดกว้างจากแอนดรอยด์แพลตฟอร์ม ทำให้เป็นโอกาศของนักพัฒนาจากทั่วโลกที่จะสร้างสรรค์แอพพลิเคชั่นให้กับผู้บริโภค เพื่อการใช้งานแอพพลิเคชั่นใน Play Store ผ่านอุปกรณ์โฮมซิงค์ได้อย่างหลากหลายมากขึ้น
“ซัมซุงไม่ได้ทำงานกับเทคโนโลยี แต่ทำงานร่วมกับลูกค้าที่ใช้งาน บริษัทจึงจำเป็นต้องมีผลิตภัณฑ์หลากหลายเพื่อรองรับลูกค้าให้ได้ทุกกลุ่ม ดังนั้น โฮมซิงค์ไม่ใช่อุปกรณ์ที่จะมาแทนที่สมาร์ททีวี แต่เป็นอีกหนึ่งดิจิตอลดีไวซ์ที่จะทำให้คนเห็นว่า วันนี้การใช้เทคโนโลยีของคนกำลังจะเปลี่ยนไป ผู้คนจะสามารถใช้เทคโนโลยีมาเติมเต็มความต้องการได้มากกว่าเดิม ไม่ได้เน้นการทำตลาดเพียงแค่ตอบโจทย์บางกลุ่มเท่านั้น” วิชัย กล่าวทิ้งท้าย
ล้อมกรอบ
ปัจจุบันยังมีแบรนด์ผู้ผลิตที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเชื่อมต่อดีไวซ์ต่างๆเข้าด้วยกัน เพื่อให้ผู้บริโภคได้เพลิดเพลินกับการส่งต่อข้อมูลบันเทิงต่างๆ และใช้งานดีไวซ์ที่มีอยู่ให้เต็มความสามารถ
Samsung
ซัมซุง นำเสนอโซลูชั่น Samsung HomeSync กล่องเชื่อมต่อผ่านโทรทัศน์ เพื่อเก็บข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์ คลาวด์ (Personal Cloud Server) โดยผู้ใช้สามารถสำรองไฟล์ รูปภาพ และคลิปวีดิโอต่างๆ จากอุปกรณ์พกพาไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและสามารถเรียกใช้งานไฟล์เหล่านี้ได้จากอุปกรณ์มือถือได้ตลอดทุกที่ ทุกเวลา อีกทั้งระบบเชื่อมต่อนี้ยังส่งผลให้โทรทัศน์รุ่นเก่าใช้งานได้เสมือนสมาร์ททีวี เพียงเชื่อมต่อกล่องโฮมซิงค์ผ่านพอร์ท HDMI เพื่อให้ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นต่างๆจากกูเกิ้ลสโตร์มาใช้งานได้เช่นเดียวกับสมาร์ททีวี
นอกจากนั้น ยังมีนวัตกรรมใหม่อย่างไซด์ซิงค์ (SideSync) ที่จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถสลับการทำงานระหว่างคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตพีซีมายังสมาร์ทโฟนของซัมซุงที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ซึ่งคุณสมบัตินี้ทำให้คอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตพีซีกับสมาร์ทโฟนเปรียบเสมือนอุปกรณ์เดียวกัน โดยผู้ใช้งานสามารถใช้แป้นพิมพ์ของคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตพีซีเพื่อพิมพ์ข้อความลงบนสมาร์ทโฟน ดูแผนที่บนหน้าจอขนาดใหญ่ขึ้น หรือชมรูปภาพและคลิปวีดิโอพร้อมๆ กันบนหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตพีซีกับสมาร์ทโฟน เพื่อความสะดวกในการตัดต่อมากขึ้น รวมถึงผู้ใช้งานสามารถสำรองข้อมูลของสมาร์ทโฟนไว้ในคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตพีซีตระกูลอทีฟ (คอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตพีซีตระกูลอทีฟสามารถใช้งานทั้งระบบปฏิบัติการวินโดวส์หรือแอพลิเคชันของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ได้ในเครื่องเดียวกัน) เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันไปของผู้บริโภค
LG
LG Cloud เป็นนวัตกรรมที่เพิ่งเปิดตัว เทคโนโลยีเชื่อมต่อผ่านคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และทีวี ช่วยให้ประหยัดเวลาในการแลกเปลี่ยนหรือเข้าถึงคอนเทนต์ระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ กับทีวี โดยสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ต่างๆ ได้โดยตรงจาก LG Smart TV Cinema 3D เพื่อเรียกดูคอนเทนต์ได้ตามต้องการ ต่างจากเดิมตรงที่ไม่ต้องดาวน์โหลดคอนเทนต์จากอุปกรณ์อื่นให้ยุ่งยาก เพราะการดาวน์โหลดคอนเทนต์ไว้ในบัญชีแอลจีคลาวด์ สามารถทำได้ผ่านทางเว็บไซต์ด้วยคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน อีกทั้งในอนาคต เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านของแอลจีจะสามารถเชื่อมต่อพร้อมแชร์คอนเทนต์เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคได้อีกด้วย
แอพพลิเคชั่นแอลจีคลาวด์ ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงคอนเทนต์ส่วนตัว อาทิ วิดีโอ ภาพถ่าย หรือเพลง ได้รวดเร็วจากการอัพโหลดคอนเทนต์เหล่านั้นไว้ในบัญชีส่วนตัวสูงสุด 5GB ซึ่งสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนี้ลงบน LG Smart TV Cinema 3D สมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์ หรือคอมพิวเตอร์ผ่าน Google Play และ LG Smart World Store รวมถึงสามารถใช้งาน “ฟีเจอร์ ไทม์ แมชชีน เวอร์ชั่น 2” เพื่อบันทึกรายการทีวีที่ชื่นชอบลงในหน่วยความจำภายในเครื่องโดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับฮาร์ดดิสก์นอกตัวเครื่อง และยังสามารถบันทึกรายการทีวีได้ในขณะรับชมรายการนั้นผ่านฮาร์ดไดร์ฟนอกตัวเครื่องด้วยฟังก์ชั่น Watch & Record หรือ Live Playback รวมถึงตั้งเวลาล่วงหน้าเพื่อบันทึกรายการได้ด้วย
Sony
โซนี่เป็นอีกหนึ่งผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยมีเทคโนโลยีวัน-ทัช เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ (One Touch Entertainment) ช่วยให้เชื่อมต่อการใช้งานผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ด้วยสัมผัสเดียวผ่านเทคโนโลยี NFC (Near Field Communication) ทำให้เกิดการเชื่อมต่อแบบไร้สายระหว่างอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งสู่อีกชิ้นเป็นเรื่องง่ายไม่ต้องมีการตั้งค่าซับซ้อน เพียงนำผลิตภัณฑ์ NFC มาแตะเข้าด้วยกันโดยไม่ต้องใช้สาย ไม่มีพาสเวิร์ด ไม่ต้องวางกับฐานต่อใด เพราะ NFC ถูกออกแบบให้ระยะการทำงานของการเชื่อมต่อไร้สายอยู่ที่ 4 เซ็นติเมตร (เพื่อการเชื่อมต่อในครั้งแรก) เช่น One-touch สามารถเปิดการใช้งาน Bluetooth เพื่อเชื่อมต่อโมบายล์เข้ากับลำโพง Bluetooth เมื่อนำโมบายล์เข้าไปใกล้ในระยะที่กำหนด ด้วยสาเหตุด้านความปลอดภัยจากการไม่ใช้พาสเวิร์ด
นอกจากนั้น ยังสามารถใช้กับสมาร์ทโฟนยี่ห้อใดก็ได้ที่รอบรับ NFC (ในกรณีที่ดีไวซ์เครื่องนั้นไม่ใช่โซนี่) โดยดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น “Sony NFC Easy Connect” ผ่าน Google Play อีกทั้งบริษัทยังวางแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่รองรับ NFC เพิ่มขึ้น ได้แก่ ลำโพลงเคลื่อนย้ายได้, หูฟังแบบไร้สาย, บราเวียทีวี, ระบบเครื่องเสียงโฮมเธียเตอร์, คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล VAIO และโทรศัพท์มือถือและแท็บแล็ต Xperia ในอนาคตอันใกล้
สนับสนุนโดย นิตยสาร Ecommerce ฉบับ กรกฏาคม 2556