วายแอนด์อาร์ เผยสำรวจไตรมาส 3 คนกรุงวิตกกังวลกับชีวิตเพิ่มขึ้น 90% ปรับพฤติกรรมลดกิจกรรมนอกบ้าน ลดซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย พร้อมซื้อสินค้าที่มีโปรโมชันล่อใจ ค่อนข้างมั่นใจว่าไตรมาส 4 ผู้บริโภคจะเครียดขึ้น และจะตะหนกกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบมากขึ้น
วายแอนด์อาร์ เผยผลสำรวจผู้บริโภคกรุงเทพฯ ในช่วงไตรมาส 3 จากการกลุ่มตัวอย่าง 300 คน อายุ 13-59 ปี
จากการสำรวจความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการตัดสินใจในการจับจ่ายซื้อสินค้า ท่ามกลางเศรษฐกิจของไทยที่ถดถอยและการปัญหาการเมืองที่กำลังเผชิญ พบว่า
- คนกรุงเทพฯ กว่า 55% มีความวิตกกังวลกับชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเงินซึ่งเพิ่มจาก 23% ในเดือนเมษายน เป็น 44.8% ในเดือนกรกฎาคม และเพิ่มเป็น 50.6% ในเดือนกันยายน
- ส่วนด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ความกังวลลดลงจาก 18% เป็น 35.5% และล่าสุด 13.4% เนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว และปัญหาการเมืองกลายเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ
- ส่วนความกังวลด้านงานจาก 13.7% เป็น 18.2% และลดลง 15.9% ตามลำดับ ทั้งนี้ พบว่า กลุ่มที่มีทัศนคติต่อการเมืองอย่างชัดเจน ทั้ง พันธมิตรฯ และกลุ่ม นปก.มีความกังวลต่อภาวะทางการเงินมากกว่ากลุ่มที่วางตัวเป็นกลางทางการเมือง
- มากกว่า 50% ยอมรับว่า สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันส่งผลกระทบการจับจ่ายใช้สอย
คนกรุงเทพฯ 90% เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
ผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันส่งผลให้ผู้บริโภค 90% เริ่มการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายของตน ส่วนอีก 10% ไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยผู้บริโภคที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ส่วนใหญ่เริ่มมีพฤติกรรมการประหยัดมากขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยที่จำเป็น ลดรับประทานอาหารเครื่องดื่มนอกบ้าน และลดการซื้อเสื้อผ้า ค่าโทรศัพท์ ท่องเที่ยว บันเทิง เครื่องสำอาง
พฤติกรรมการจับจ่ายซื้อของคนกรุงเทพฯ ในภาวะวิกฤต แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่ม
- Pormotion mania สัดส่วน 40% ซื้อสินค้าตามที่เห็นในโฆษณายอมจ่ายแพงกว่าเพื่อของแถมและส่วนลด กลุ่ม
- Cost Compromise สัดส่วน 26% ยอมซื้อสินค้าที่มีตำหนิเล็กน้อยเพื่อให้ได้ส่วนลดที่พอใจ และมักจะอดใจรอซื้อสินค้าที่อยากได้ตอนที่ลดราคา
- Brand imagedriven สัดส่วน 18% ยอมที่จะจ่ายแพงกว่าเพื่อสินค้าที่คุณภาพดีที่สุด
- Openly Available สัดส่วน 16% ยอมที่จะจ่ายแพงกว่าถ้าสามารถประหยัดเวลาเดินทาง
มัดใจด้วยโปรโมชันควบคู่คุณภาพ
ปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคกรุงเทพฯ ใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า คือ เรื่องของคุณภาพสินค้า แบรนด์ที่รู้จักและคุ้นเคย รวมทั้งมีภาพลักษณ์ที่เหมาะสม ผลการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค
- 85% ยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้น หากสินค้านั้นๆ มีคุณภาพดี
- 71% มักซื้อสินค้าเพิ่มอีกนิด หากจะทำให้ยอดซื้อได้ของแถมหรือส่วนลดเพิ่มเติม โดยการให้ส่วนลดหรือของแถมแบบทันทีสามารถดึงดูดใจมากที่สุด
- 63% ของผู้บริโภคจะยอมจ่ายแพงกว่าหากช่วยประหยัดเวลาเดินทางในการจับจ่าย
- 57% จะยอมจ่ายแพงเพื่อให้ได้สินค้าที่ยี่ห้อตนเองรู้จัก