โลกของการลงทุนมีอะไรมาให้เราเรียนรู้ใหม่ได้เรื่อยๆ และวันนี้การลงทุนที่เคยเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนไทยก็กำลังกลายเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้นแล้ว เพราะล่าสุด “รัฐบาลไทย” ประกาศเตรียมออก G-Token (Government Token) หรือที่เรียกกันว่า “โทเคนดิจิทัลของรัฐบาล” ข่าวนี้เป็นข่าวใหญ่ก็ว่าได้เพราะหลายคนมองว่านับเป็นก้าวสำคัญที่จะเปลี่ยนวิธีการลงทุนสำหรับคนไทย รวมถึงเป็นการวางรากฐานการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยก็ว่าได้
ในบทความนี้เราจะมาสรุปข้อมูลทั้งหมดของ G-Token ให้ทุกคนได้เข้าใจกันมากขึ้นว่ามันคืออะไร ต่างจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลแบบเดิมอย่างไร ความเสี่ยงมีไหม ผลตอบแทนเป็นอย่างไร จะลงทุนได้เมื่อไหร่ ถ้าอยากซื้อต้องทำอย่างไร ไปดูกัน
G-Token คืออะไร?
อธิบายง่ายๆว่า G-Token ก็เปรียบเสมือน “พันธบัตรรัฐบาลเวอร์ชันดิจิทัล” เป็นเครื่องมือใหม่ที่รัฐบาลจะใช้ระดมทุนโดยตรงจากประชาชน จากเดิมแทนที่จะต้องซื้อผ่านธนาคารแบบเดิมๆ การลงทุนใน G-Token จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้เราสามารถซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ หรือแอปพลิเคชันได้นั่นเอง
ลองนึก “พันธบัตรแบบเดิม” ว่าเป็น “ใบสัญญา” กระดาษที่บอกว่ารัฐบาลยืมเงินคุณไปเท่านี้ จะให้ดอกเบี้ยปีละเท่าไหร่ และจะคืนเงินต้นเมื่อไหร่ เวลาซื้อก็ต้องไปติดต่อธนาคารตัวแทน กรอกเอกสาร อาจจะต้องใช้สมุดบัญชีพันธบัตร
แต่ “G-Token” คือ “พันธบัตร” แบบเดียวกันแต่เปลี่ยนจากรูปแบบกระดาษหรือระบบเดิมๆ มาอยู่ใน “รูปแบบดิจิทัล” บนเทคโนโลยีที่เรียกว่า “บล็อกเชน” (Blockchain) ซึ่งเป็นเหมือนสมุดบัญชีขนาดใหญ่ที่ทุกคนในระบบสามารถตรวจสอบได้แต่แก้ไขไม่ได้ ทำให้มีความโปร่งใสและปลอดภัยสูง
สิ่งสำคัญที่ต้องรู้คือ G-Token ไม่ใช่คริปโตเคอร์เรนซี ที่ใช้เก็งกำไรกันอย่างเดียวและ ไม่ใช่เงินดิจิทัลที่เอาไปใช้จ่ายซื้อของได้ แต่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความมั่นคง เพราะรัฐบาลเป็นผู้ออกและค้ำประกัน และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลของ ก.ล.ต. ด้วย
G-Token ดีกว่า พันธบัตรแบบเดิมยังไง?
ข้อดีของ G-Token มีหลายข้อด้วยกันหลักๆก็คือ “ทำให้ทุกคนเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้น” เพราะซื้อง่ายขายคล่องและใช้เงินไม่มาก เพราะหลักการของรัฐบาลในการออก G-Token ก็คืออยากให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้ จากเดิมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือพันธบัตรบางประเภทอาจต้องใช้เงินเยอะ แต่ G-Token ตั้งเป้าให้ลงทุนได้ด้วยเงินเริ่มต้นเพียงหลักร้อยหรือหลักพันบาท บางแหล่งข้อมูลบอกว่าอาจจะเริ่มที่หน่วยละ 1 บาทเลยด้วยซ้ำ
อีกข้อคือผลตอบแทนดีกว่าเงินฝากเพราะ G-Token จะให้ผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ยต่อปี ซึ่งแน่นอนว่าจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป เปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรออมทรัพย์ให้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.65% ต่อปีก็พออ้างอิงได้
ใช้เทคโนโลยีทันสมัยมีความโปร่งใส เพราะการใช้ Block Chain ทำให้ทุกธุรกรรมสามารถตรวจสอบได้ลดโอกาสทุจริต และทำให้การซื้อขายรวดเร็วขึ้น ที่สำคัญก็คือเรื่อง “สภาพคล่อง” ที่จะดีกว่าพันธบัตรรัฐบาลแบบเดิม เพราะจะเปิดให้มีการซื้อขายในตลาดรอง ที่คาดว่าจะทำได้แบบเรียลไทม์ หรือใช้เวลาประมาณ 1 วันทำการ เร็วกว่าการซื้อขายพันธบัตรแบบเดิมที่อาจใช้เวลาเกิน 7 วันทำการ
ที่สำคัญก็คือ “ปลอดภัย มั่นคง” เหมือนการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ เรียกง่ายๆว่าเราเป็นเจ้าหนี้รัฐบาล และรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันโอกาสที่จะเสียเงินต้นจึงมีน้อยมากๆ
G-Token ก็มีความเสี่ยง
แน่นอนว่าการลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง แม้ G-Token จะมีความเสี่ยงต่ำเพราะรัฐบาลค้ำประกัน แต่ก็มีบางจุดที่ต้องพิจารณาเช่น “ความผันผวนในตลาดรอง” ถ้าเราอยากขาย G-Token ก่อนครบกำหนดในตลาดรอง ราคาอาจขึ้นหรือลงได้ตามกลไกตลาดและความต้องการซื้อขายในเวลานั้น
อีกเรื่องคือการซื้อขายจะทำผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลดังนั้นก็ต้องคุ้นเคยกับเทคโนโลยีพอสมควรถ้าใครไม่ถนัดใช้แอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์อาจต้องเรียนรู้วิธีการกันหน่อย
นอกจากนี้ยังมีความความเสี่ยงด้านแพลตฟอร์ม เพราะแม้รัฐบาลจะพยายามให้ระบบมีความปลอดภัยสูง แต่ก็มีความเสี่ยงที่ระบบหรือแพลตฟอร์มอาจมีปัญหาได้ และแน่นอนว่า G-Token เน้นความมั่นคง ผลตอบแทนจึงอาจไม่เท่ากับการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่านั่นเอง
G-Token ซื้อได้เมื่อไหร่ ซื้อยังไง?
เบื้องต้นการซื้อ G-Token ในตลาดแรกจะต้องซื้อผ่านผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (บริษัทหลักทรัพย์) ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ซึ่งก็ต้องรอการอัพเดทจากทางรัฐบาลอีกครั้ง
ส่วนวิธีการซื้อ ขั้นตอนคร่าวๆ ก็คล้ายกับการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วไปก็คือต้อง สมัครบัญชีกับแพลตฟอร์มที่ได้รับอนุญาต จากนั้นก็โอนเงินเข้าบัญชีและทำการซื้อ G-Token ตามจำนวนที่ต้องการ
การเปิดให้จองซื้อครั้งแรกคาดว่าจะเริ่มต้นได้ภายในปีงบประมาณ 2568 นี้ เร็วสุดอาจจะเป็นเดือนกรกฎาคม หรืออย่างช้าคือภายในเดือนกันยายน แต่มีแหล่งข่าวระบุว่าจะเปิดจำหน่ายอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2568
ในขณะที่รายละเอียดอัตราผลตอบแทนและช่องทางการซื้อที่ชัดเจนจะมีการประกาศให้ทราบอีกครั้งในเร็วๆนี้
G-Token ประเทศแรกในโลก?
ในเวลานี้บางแหล่งข่าวระบุว่าว่า ประเทศไทยอาจจะเป็นประเทศแรกในโลกที่ออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาลในลักษณะเดียวกับ G-Token ก็เป็นได้ แม้ว่าประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ หรือองค์กรระหว่างประเทศจะเคยทดลองออกพันธบัตรดิจิทัลบนบล็อกเชน เช่น โครงการ Bond-i ของธนาคารโลกเมื่อปี 2561 แต่ก็ยังไม่แพร่หลายมากนัก
Token เพื่อการลงทุนในไทยเคยมีแล้ว!
อย่างไรก็ตามก่อนที่รัฐบาลจะอนุมัติหลักการออก Government Token หรือ G-Token ประเทศไทยเคยมีนวัตกรรมการลงทุนในรูปแบบโทเคนดิจิทัลที่มีสินทรัพย์อ้างอิงอยู่แล้ว นั่นคือ โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนเรียลเอ็กซ์ (RealX) เปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา
RealX เป็นโทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงกับ สินทรัพย์ในโลกแห่งความจริง คือ ห้องชุดคอนโดมิเนียมในทำเลทองย่าน CBD ของบริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ โทเคนนี้ถูกออกแบบมาเพื่อ แก้ปัญหาของการลงทุนอสังหาริมทรัพย์แบบดั้งเดิมที่ต้องใช้เงินทุนมหาศาล และมีความยุ่งยากในการบริหารจัดการ เช่นการลงทุนซื้อห้องชุด การบริหารจัดการผู้เช่าต่างๆนานา โดย ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรูเหล่านี้ได้ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นเพียงหลักร้อยบาทหรือเทียบเท่าประมาณ “1 ตารางนิ้ว” ของพื้นที่ห้องชุด
โทเคน RealX ได้รับ การอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และมี บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM) ทำหน้าที่เป็น “ทรัสตี” ดูแลผลประโยชน์ให้กับนักลงทุน ผลตอบแทนที่ผู้ถือ RealX จะได้รับมาจากค่าเช่าและการทยอยขายสินทรัพย์ห้องชุดออกไปในช่วงระยะเวลาโครงการ 10 ปี โทเคน RealX ถูกจัดอยู่ในรูปแบบของ Investment Token ที่มีสินทรัพย์อ้างอิง แตกต่างจากสกุลเงินดิจิทัลทั่วไปที่ไม่มีสินทรัพย์มาอ้างอิง เป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์ Real World Asset Tokenization
อย่างไรก็ตาม RealX ต่างจาก G-Token ที่เป็นเครื่องมือ ระดมทุนรูปแบบใหม่ของกระทรวงการคลัง ที่ใช้เทคโนโลยีการเงินมาประยุกต์ ประชาชนสามารถลงทุนเริ่มต้นได้ด้วยเงินจำนวนน้อยและคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนที่ สูงกว่าการฝากเงินทั่วไปในธนาคารพาณิชย์ และที่สำคัญคือมีความมั่นคงและความเสี่ยงต่ำกว่า RealX นั่นเองเนื่องจากออก Token โดยรัฐบาลต่างจาก RealX ที่ออกโดยเอกชน
ทั้ง RealX และ G-Token ต่างก็เป็นตัวอย่างของ การนำเทคโนโลยีสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการลงทุน โดยมีสินทรัพย์ในโลกแห่งความจริงมาอ้างอิง และมีเป้าหมายร่วมกันในการ เพิ่มการเข้าถึงโอกาสการลงทุนให้กับประชาชนรายย่อย สามารถซื้อขายผ่านผู้ให้บริการในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลได้ การเกิดขึ้นของ RealX ก่อนหน้านี้ จึงแสดงให้เห็นว่าตลาดโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่มีสินทรัพย์อ้างอิงได้เริ่มพัฒนาขึ้นในประเทศไทยมาก่อนหน้านี้แล้วนั่นเอง
ผลกระทบกับธนาคารพาณิชย์ในบ้านเรา?
สิ่งนี้อาจส่งผลกระทบกับธนาคารพาณิชย์ในไทยด้วยเช่นกันเพราะ G-Token เสนอผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินทั่วไปในธนาคาร ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนเลือกที่จะนำเงินมาลงทุนใน G-Token แทนการฝากเงินในธนาคารพาณิชย์
หากอัตราดอกเบี้ยของ G-Token ดีกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ประชาชนอาจพากันแห่มาซื้อ G-Token ซึ่งจะส่งผลให้เงินถูกดึงออกจากระบบเงินฝากในธนาคาร ดังนั้น เพื่อรักษาระดับเงินฝากไว้หรือเพื่อแข่งขันกับ G-Token ธนาคารอาจถูกบีบให้ต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของตนให้สูงขึ้นได้
นอกจากนี้ G-Token ที่เป็นเครื่องมือที่รัฐบาลใช้ระดมทุนโดยตรงจากประชาชน โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยที่มีเงินลงทุนน้อย ทำให้สามารถเข้าถึงการลงทุนในหนี้ของรัฐได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านช่องทางการซื้อพันธบัตรรัฐบาลแบบเดิมที่มักซื้อผ่านธนาคาร จึงเป็นการลดบทบาทของธนาคารในฐานะผู้ช่วยอำนวยความสะดวกในการระดมทุนของรัฐบาลจากประชาชน มุมมองหนึ่งเสนอว่าสิ่งนี้อาจปูทางไปสู่การกู้ยืมโดยตรงผ่าน Digital Wallet โดยไม่ต้องผ่านแม้แต่ธนาคารของรัฐในอนาคตก็เป็นได้
ความเห็นของสังคมที่มีต่อ G-Token
ฝั่งที่สนับสนุน มองว่า G-Token เป็นเหมือนสนามทดลองที่จะเปิดประตูสู่โลกการเงินใหม่ๆ ในไทยได้รัฐบาลจะมีความยืดหยุ่นในการระดมทุนมากขึ้น และอนาคตเราอาจได้เห็นการออกแบบโทเคนเฉพาะสำหรับโครงการใหญ่ๆ เช่น โทเคนด้านสิ่งแวดล้อม หรือโครงสร้างพื้นฐานได้
ประโยชน์ที่สำคัญก็คือ G-Token จะกระตุ้นให้เอกชนเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ต่อเนื่อง ทำให้คนที่มีเงินน้อยเข้าถึงการออมและรับดอกเบี้ยจากรัฐบาลได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง และที่สำคัญสามารถแสดงให้เห็นถึงความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทยเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตามก็มีความเห็นฝั่งที่มองว่าต้องพิจารณาหรือตั้งข้อสังเกตกับ G-Token นี้เช่นกันโดยบอกว่าสิ่งนี้อาจไม่ได้เป็นนวัตกรรมทางการเงินที่ใหม่จริงๆ จะเป็นเพียงเครื่องมือที่ฝ่ายการเมืองต้องการใช้หาเงินโดยไม่ต้องถูกควบคุมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)หรือไม่
นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลเรื่องกฎหมายหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ หรือการนำ G-Token ไปใช้ค้ำประกันในอนาคต นักเศรษฐศาสตร์บางคนก็มองด้วยว่า G-Token ไม่ใช่สินทรัพย์ที่แท้จริง แต่เป็นเพียงสัญญาหนี้ที่ต้องใช้ภาษีในอนาคตมาจ่ายนั่นเอง
โดยสรุปแล้ว G-Token ถือเป็นก้าวสำคัญและเป็นเรื่องที่น่าจับตาในวงการการเงินและการลงทุนของไทย จริงๆไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายย่อยที่อยากเริ่มต้น หรือนักลงทุนมือโปรที่มองหาทางเลือกใหม่ๆ ที่มั่นคง G-Token ก็เป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่น่าศึกษาและทำความเข้าใจเอาไว้เช่นกัน