หากเปรียบเศรษฐกิจไทยเป็นร่างกาย คงต้องบอกว่ากำลังอยู่ในภาวะต้องรีบเข้าโรงพยาบาล และคนที่สัมผัสได้ถึงสัญญาณอันตรายนี้คงหนีไม่พ้น “ผู้ประกอบการค้าปลีก” ด่านหน้าที่ต้องรับมือกับกำลังซื้อของผู้คนโดยตรง ล่าสุด สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก (RSI) ประจำเดือนมิถุนายน ที่ดิ่งลงสู่จุดต่ำสุดในรอบ 42 เดือน สะท้อนความเปราะบางของกำลังซื้อ และความกังวลของผู้ประกอบการที่กำลังชะลอการลงทุน
ทุกปัญหาถาโถมใส่เศรษฐกิจไทย
คุณณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า “ครึ่งปีแรกที่ผ่านมาภาคค้าปลีกต้องเผชิญแรงกดดันรอบด้าน ทั้งความไม่แน่นอนทางการเมือง การบริโภคที่ชะลอตัว การลงทุนที่ลดลง และปัจจัยภายนอก อาทิ จำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นเต็มที่ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยลดลง

นโยบายภาษีของสหรัฐฯ ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าไทยจะสามารถเจรจาให้ลดลงต่ำกว่า 36% หรือใกล้เคียงกับประเทศในแถบเอเชียอย่าง เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดเล็กในธุรกิจที่ต้องเปิดเสรีได้หรือไม่ ซึ่งมีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยและการจ้างงานในระบบ
รวมถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และสถานการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชา ล้วนส่งผลต่อบรรยากาศการจับจ่ายและความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจโดยรวม”
ใช้ยาแรงอัดฉีดเม็ดเงินในประเทศ
จากข้อมูลสะท้อนภาพเรือที่กำลังเผชิญมรสุมหลายด้านพร้อมกัน ทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อ, การบริโภคในประเทศที่ซบเซา, การลงทุนที่ชะงักงัน, นักท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับมาเต็มร้อย โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างนักท่องเที่ยวจีนที่หดหายไป ซ้ำเติมด้วยปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ สมาคมฯ ได้เสนอทางออกที่เป็นเหมือน “ยาแรง” ถึง 2 ขนานด้วยกัน เพื่อฉุดเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวก่อนที่จะสายเกินไป
โดยทางออกที่เป็นเหมือนยาแรงขนานแรกคือการอัดฉีดเม็ดเงินในประเทศให้ตรงจุด เพื่อให้มีเม็ดเงินกลับเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศให้เร็วที่สุด โดยแบ่งเป็น 2 แนวทาง ทั้งการ ปลดล็อกงบกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยสมาคมฯ เรียกร้องให้ภาครัฐเร่งอัดฉีดเม็ดเงิน 1.15 แสนล้านบาท จากกรอบงบประมาณที่มีอยู่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน, การท่องเที่ยว และโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมทั้งเสนอให้จัดสรรงบที่เหลืออีกราว 4-5 หมื่นล้านบาท เพื่อเจาะจงไปที่การกระตุ้นกำลังซื้อของคนฐานราก และอุ้มชูผู้ประกอบการ SME ผ่านโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
หากดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมจะช่วยให้เม็ดเงินกระจายสู่ชุมชนและโครงสร้างพื้นฐานจะก่อให้เกิดการจ้างงานระยะสั้น และยังช่วยพยุงธุรกิจ SME ที่ครอบคลุมการจ้างงานกว่า 50%-70% ระงับวิกฤตการเลิกจ้างงานในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม ความเร็วและประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายของระบบราชการคือเรื่องท้าทายอย่างมาก ซึ่งสมาคมฯ เองก็ได้เน้นย้ำถึงการเร่งเบิกจ่ายงบปี 68 ให้เสร็จสิ้นภายในไตรมาส 3 เพื่อให้เงินลงสู่ระบบโดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ การฟื้นคืนชีพโครงการ “Easy e-Receipt เฟส 2” ในช่วงไฮซีซั่นปลายปี (กันยายน-ธันวาคม) ถือเป็นอาวุธลับที่เคยได้ผลมาแล้ว โดยครั้งนี้เสนอให้ขยายวงเงินเป็น 100,000 บาท และครอบคลุมสินค้า OTOP และสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมาตรการนี้จะปลุกกำลังซื้อของกลุ่มคนชั้นกลางถึงบนที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง คาดว่าจะสามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบได้มากกว่า 1 แสนล้านบาท แต่ก็ต้องระวังรูปแบบการดำเนินการ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นมาตรการที่เอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มเดิมๆ
ปั้นไทยสู่สวรรค์และจุกหมายของนักช้อป
มาตรการแรกจะเน้นไปที่การสร้างระบบเศรษฐกิจให้หมุนเวียนในประเทศ สำหรับมาตรการที่สองจะเป็นการดึงเงินจากนอกบ้านเข้ามาเสริมระบบเศรษฐกิจ โดยทางสมาคมฯ มองว่า การท่องเที่ยวยังคงเป็นแม่เหล็กสำคัญ หากแต่จะต้องมีการปรับกลยุทธ์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูงให้เดินทางเข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
เริ่มจากการที่ปรับรูปแบบโครงสร้างภาษี โดยเฉพาะการทดลองคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ให้นักท่องเที่ยวทันที ณ ร้านค้า (Instant Tax Refund) สำหรับยอดซื้อขั้นต่ำ 3,000 บาท และการลดภาษีนำเข้าสินค้าแฟชั่น น้ำหอม และเครื่องสำอาง ที่ปัจจุบันสูงถึง 20%-30%
การลดภาษีนำเข้าจะทำให้ราคาสินค้าแบรนด์เนมในไทยน่าดึงดูดใจมากขึ้น ลดแรงจูงใจที่คนไทยจะบินไปชอปปิงต่างประเทศ โดยเฉพาะคู่แข่งอย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง และมาเลเซีย ที่สำคัญยังเป็นการทำลาย “Grey Market” หรือร้านรับหิ้วสินค้าที่เติบโตขึ้นเพราะส่วนต่างของราคา ขณะที่ Instant Tax Refund จะช่วยเปลี่ยนประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวให้รู้สึกดีและอยากจับจ่ายมากขึ้นทันที ไม่ต้องเสียเวลาไปต่อคิวเพื่อขอคืนภาษีที่สนามบิน
รวมไปถึงการจัดตั้งเขตปลอดภาษี (Free Tax Zone) โดยเฉพาะเขตปลอดภาษีในจังหวัดท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต และการจัดมหกรรมลดราคาทั่วประเทศแบบ “Great Singapore Sale” ซึ่งจะเป็นการยกระดับเกมธุรกิจไปอีกขั้น โดยมั่นใจว่าเขตปลอดภาษีในภูเก็ตจะเป็นตัวเปลี่ยนเกม (Game Changer) ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ปักหมุดภูเก็ตเป็นจุดหมายปลายทางแห่งการช้อปปิ้งอย่างแท้จริง ส่วนมหกรรมลดราคาทั่วประเทศจะช่วยสร้างบรรยากาศการจับจ่ายให้คึกคักไปทั้งประเทศ ไม่กระจุกตัวแค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น

นอกจาก 2 แนวทางที่นำเสนอ ทั้งการทำให้เม็ดเงินในประเทศหมุนเวียนและการดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศ สมาคมฯ ยังสนับสนุนการทำงานของภาครัฐในการปราบปรามธุรกิจ “นอมินี” และสกัดกั้นสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SME ที่ต้องแข่งขันอย่างยากลำบาก
ข้อเสนอจากสมาคมผู้ค้าปลีกไทยครั้งนี้ จะเกิดผลได้จริงหากรัฐบาลรับลูกและผลักดันอย่างจริงจัง ซึ่งหากแนวทางดังกล่าวเกิดขึ้นได้เร็ว โดอาสที่จะได้เห็นภาพเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการจะกลับคืนมา
ทั้งนี้ขึ้นกับการตัดสินใจของภาครัฐ โดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้างภาษีนำเข้าและการทำ Instant Tax Refund ซึ่งต้องอาศัยการประสานงานระหว่างหลายหน่วยงานและอาจกระทบต่อผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ แต่หากทำสำเร็จ ผลตอบแทนที่ได้กลับคืนมาในรูปของเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวและการบริโภคอาจมีมูลค่ามหาศาล