หลังจาก OpenAI ปล่อยอัปเดตใหม่ของ ChatGPT-4o ที่สามารถสร้างภาพได้จากข้อความ หลายคนเริ่มใช้ความสามารถนี้ในการสร้างภาพในสไตล์ของ Studio Ghibli ค่ายอนิเมะชื่อดังของญี่ปุ่น ผลลัพธ์ดูน่าสนุกในแง่มุมโซเชียล แต่กลับกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในแวดวงศิลปะและครีเอทีฟทั่วโลก
เหตุผลสำคัญ คือ งานของ Ghibli เป็นผลงานที่ใช้เวลาสร้างสรรค์อย่างพิถีพิถัน ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง The Boy and The Heron ใช้เวลาสร้างถึง 7 ปี และผู้ก่อตั้งอย่าง ฮายาโอะ มิยาซากิ ก็เคยแสดงความไม่เห็นด้วยกับ AI มาแล้วในสารคดีปี 2016 (Never-Ending Man: Hayao Miyazaki) โดยกล่าวว่า “ผมรู้สึกขยะแขยง… นี่คือการดูหมิ่นชีวิตอย่างที่สุด”
จักรวาลของ Studio Ghibli ได้รับการดูแลอย่างระมัดระวังและดึงมาจากโลกธรรมชาติ การประชดประชันของเรื่องนี้ก็ถูกยกขึ้นเช่นกัน เนื่องจากสิ่งที่ AI ดึงมาใช้ ผิดไปจากรากเหง้าของการสร้างสรรค์ของ Studio Ghibi
โดยเฉพาะภาพนี้จากทางการสหรัฐฯ ซึ่งได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์หนักมาก
https://t.co/PVdINmsHXs pic.twitter.com/Bw5YUCI2xL
— The White House (@WhiteHouse) March 27, 2025
เมื่อความสร้างสรรค์กลายเป็นการลอกเลียน
Simon Manchipp ผู้เชี่ยวชาญด้านแบรนด์กล่าวว่า OpenAI กำลัง “เดินอยู่ในพื้นที่สุญญากาศทางจริยธรรม” เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่นวัตกรรม แต่คือ “การลอกเลียนในระดับมหาศาล” โดยเฉพาะเมื่อนำผลงานที่มีเอกลักษณ์สูงอย่าง Ghibli มาใช้เป็นแม่แบบ
เขาตั้งคำถามว่า “แบรนด์ใหญ่จะยอมเสี่ยงกับการใช้ภาพจาก AI ที่ไร้จิตวิญญาณไปอีกนานแค่ไหน?” และเชื่อว่าในอนาคตผู้บริโภคจะกลับมาให้คุณค่ากับงานที่มี “ความเป็นมนุษย์และเรื่องราวที่ตั้งใจจริง”
“นี่ไม่ใช่นวัตกรรม แต่เป็นการเลียนแบบในวงกว้าง ด้วยชื่อเสียงของ Studio Ghibli ที่สร้างขึ้นจากความเชี่ยวชาญทางศิลปะมานานหลายทศวรรษ”
แบรนด์เริ่มหันหลังให้ AI?
Jon Cockley ผู้ร่วมก่อตั้งเอเจนซี่ Handsome Frank เสริมว่า แบรนด์หรู เช่น แฟชั่น โรงแรม และร้านอาหาร เริ่มหลีกเลี่ยงการใช้ AI และหันมาใช้ศิลปินจริงมากขึ้น เพราะ “AI ดูแมส ดูราคาถูก และลดคุณค่าของงานศิลป์”
เขายังบอกอีกว่าแบรนด์ในปัจจุบันต้องการมากกว่าแค่ผลงาน พวกเขาต้องการเห็นเบื้องหลังของศิลปิน ต้องการ “ความจริงใจและกระบวนการสร้างที่แท้จริง” ซึ่ง AI ไม่สามารถให้ได้
ปัญหากฎหมายยังตามไม่ทัน
ถึงแม้จะมีความกังวลเพิ่มขึ้น แต่กฎหมายลิขสิทธิ์ในหลายประเทศยังตามไม่ทัน โดยเฉพาะในกรณีของการใช้สไตล์หรือภาพของศิลปินเพียงไม่กี่ชิ้นเพื่อนำไปฝึก AI ซึ่ง Jon Cockley มองว่านี่คือ “การละเมิดมากกว่านวัตกรรม” และศิลปินรู้สึก “ถูกคุกคาม” จากกระแสนี้
ในประเด็นของสไตล์ Ghibli ChatGPT Cockley สะท้อนให้เห็นว่า “สไตล์ไม่ใช่แค่วิธีการวาด พื้นผิว และจานสี แต่ยังรวมถึง เนื้อหา แนวคิดและมุมมอง มุม และการใช้แสงด้วย
เสียงสะท้อนจากวงการเทคโนโลยีเพื่อศิลปิน
Tonia Samsonova จากแพลตฟอร์ม Exactly.AI ซึ่งสนับสนุนการให้ศิลปินเป็นเจ้าของโมเดลของตนเอง กล่าวชัดว่า OpenAI กำลังสร้างปัญหาให้กับวงการ โดยกล่าวว่า “นี่ไม่ใช่นวัตกรรม แต่คือการขโมย” และเตือนว่า OpenAI กำลังเพิกเฉยต่อสิทธิของผู้สร้างดั้งเดิม
เธอย้ำว่า การสร้างสรรค์ที่มีจริยธรรมเป็นสิ่งจำเป็นในยุคนี้ และแบรนด์ที่เลือกจะร่วมงานกับศิลปินจริงจะได้รับความเคารพและไว้วางใจจากผู้บริโภคในระยะยาว
คำถามใหญ่ของยุค: งานศิลปะคือ “ลายเซ็น” หรือ “สไตล์”?
หนึ่งในประเด็นถกเถียงที่สำคัญคือ “สไตล์” ของศิลปินสามารถถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาได้หรือไม่? เพราะ AI ไม่ได้ก็อปปี้รูปใดรูปหนึ่งโดยตรง แต่นำ “สไตล์” มาประมวลเป็นภาพใหม่ในรูปแบบคล้ายต้นฉบับ ซึ่งในทางกฎหมายอาจยังไม่สามารถเอาผิดได้ชัดเจน แต่ในมุมของจริยธรรม ศิลปินจำนวนมากรู้สึกว่างานของตนถูกลดคุณค่าลงอย่างไม่เป็นธรรม
สิ่งนี้จึงนำไปสู่การเรียกร้องให้มี “มาตรฐานใหม่ในการใช้ AI อย่างมีจริยธรรม” และการสนับสนุนให้ผู้สร้างมีสิทธิควบคุมข้อมูลหรือผลงานที่ใช้ฝึกโมเดลต่าง ๆ ซึ่งหากไม่ดำเนินการใด ๆ ต่อไป อาจนำไปสู่ความเสื่อมศรัทธาของผู้บริโภคที่ต้องการสนับสนุนงานที่มีความตั้งใจและความเป็นมนุษย์จริง ๆ
Source:
https://www.thedrum.com/news/2025/04/03/openai-s-unethical-stance-studio-ghibli-could-lead-brands-reject-gen-ai
Credit ภาพ:
Facebook Studio Ghibli – https://www.facebook.com/GhibliUSA/photos_by