ผู้ประกอบการ Digital Content ค่ายเอเชีย 9 ประเทศ เล็งกระชับความร่วมมือระดับภูมิภาคหนุนโอกาสดันอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์เจาะตลาดโลก หลังเผชิญข้อจำกัดของขนาดตลาดในประเทศ ซิป้า เผยใช้เวทีประชุมที่ภูเก็ต ปูพรมจับคู่เจรจาธุรกิจดึงมูลค่าการลงทุนกว่าพันล้านบาท
ซิป้า ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ จัดการประชุมระดมความคิดเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ (ACE 2009) ระหว่างวันที่ 24-25 มิ.ย. นี้ เพื่อเป็นเวทีจับคู่ทางธุรกิจของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม Digital Content ของไทย และอีก 8 ประเทศในเอเชีย
ขณะเดียวกัน เวทีประชุมดังกล่าวยังพูดถึงแนวคิดการจัดตั้งความร่วมมือในรูปแบบของสมาคมด้านอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ระหว่างผู้ประกอบการในภูมิภาคเอเชีย เพื่อเพิ่มโอกาสเจาะตลาดใหม่ๆ สำหรับ Digital Content ของแต่ละประเทศ
ทั้งนี้ ในงานประชุมดังกล่าว ได้มีการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างตัวแทนบริษัทของประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมจำนวน 359 นัด คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท
นายวู เด ยัง ตัวแทนจากบริษัท LeCast ประเทศเกาหลี กล่าวว่า ความร่วมมือในกลุ่มผู้ผลิต Digital Content ของเอเชีย จะช่วยให้ผู้ประกอบการแต่ละประเทศพัฒนาศักยภาพออกสู่ตลาดโลกได้ และยังเป็นการหลุดจากข้อจำกัดของขนาดตลาด
เนื่องจากในเชิงเศรษฐกิจแล้ว ขนาดตลาดที่เหมาะสมสำหรับจุดคุ้มทุนในธุรกิจ Animation และ Game คือ จำนวนลูกค้า 200 ล้านคน ขณะที่ หลายประเทศมีประชากรไม่ถึง เช่นเกาหลี ที่ประสบปัญหาตลาดเต็มเพราะมีประชากรประมาณ 40 ล้านคนเท่านั้น ส่วนไทย ก็มีกว่า 60 ล้านคน
เขายังให้ความเห็นเกี่ยวกับโอกาสธุรกิจ Game และ Animation ในไทยว่า ผู้ประกอบการเกมมีศักยภาพในการผลิตเกมได้ดี แต่ยังขาดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทำให้ผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับบสากล โดยบริษัทมองถึงโอกาสเข้ามาสนับสนุนส่วนนี้ รวมถึงการนำ Game และ Animation จากฝีมือบริษัทไทยไปทดสอบตลาด เพื่อพัฒนาไปสู่ความร่วมมือ และสร้างมูลค่าทางธุรกิจร่วมกันได้
นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการจะเปิดศูนย์อบรมทางด้าน Game Online ในประเทศไทย เพื่อพัฒนาทักษะให้แก่ผู้ประกอบการเกมไทยด้วย โดยเห็นศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นฐานรับ outsource งาน และรับผลิตงานร่วม
ซิป้า กำลังมองบทบาทในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยนอกเหนือจากการจัดงานจับคู่ทางธุรกิจลักษณะนี้แล้ว ยังรวมถึงการสนับสนุนด้านเงินทุนหลักๆ 3 รูปแบบ
- การเข้าไปร่วมทุน โดยปีนี้มีเพดานวงเงินอยู่ที่ 30 ล้านบาท หรือประมาณ 10% ของบประมาณ 380 ล้านบาท ซึ่งเปิดกว้างสำหรับองค์กรทั้งรัฐและเอกชนของไทย ที่มีโครงการน่าสนใจด้านอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ หรือโครงการด้านทรัพย์สินทางปัญญา ครอบคลุม Digital Content ไปจนถึง Enterprise Software
- การเข้าไปสนับสนุนเป็นรายโครงการไป โดยต้องเจรจาผลประโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายจะได้รับ เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย โดยที่ผ่านมาโครงการลักษณะนี้ เช่น ภาพยนตร์ Animation เรื่องก้านกล้วยของกลุ่มกันตนา
- การให้ทุนสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะลงไปถึงระดับสถาบันการศึกษาด้วย แต่ปัจจุบันยังไม่มีการจำกัดวงเงินส่วนนี้ หากคาดว่าจะชัดเจนขึ้นในปีงบประมาณ 2553
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, โดย กิ่งกาญจน์ ตรียงค์