การตอบสนองความต้องการของคนยุคดิจิทัลให้ทำธุรกรรมทางการเงินให้สะดวกขึ้น กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายเหล่าสถาบันการเงินทั้งเล็กและใหญ่ มิฉะนั้นอาจกลายเป็นบริการที่ล้าสมัยที่ไม่มีใครใช้แน่นอน
แบงค์ต้องรู้จักปรับตัวกับโอกาสที่มากับ “ฟินเทค”
ซึ่งนายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า
“กรุงศรี ฟินโนเวต จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินให้กับกรุงศรี เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในยุคดิจิทัล โดยเป้าหมายในเบื้องต้นคือการเข้าไปมีส่วนร่วมใน Ecosystem ของฟินเทคทั้งในไทยและต่างประเทศ และในระยะยาวบริษัทต้องการร่วมผลักดันฟินเทค สตาร์ทอัพไทยให้สามารถก้าวไปสู่ระดับ “ฟินเทค ยูนิคอร์น” (Fintech Unicorn) หรือธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำไปสู่การต่อยอดพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ ของธนาคารต่อไปในอนาคต”
3 กลยุทธ์หลักของ “กรุงศรี ฟินโนเวต” รับมือฟินเทคและสตาร์ทอัพ
มาในปี 2560 กรุงศรีฯเปิดตัว “กรุงศรี ฟินโนเวต” และตัดสินใจแต่งตั้งนายแซม ตันสกุล เป็นกรรมการผู้จัดการ ลุย 3 กิจกรรมหลัก
1) พัฒนาทั้งในเชิงความรู้และการสนับสนุนเงินทุนให้กับสตาร์ทอัพ: สร้างนวัตกรรม (Accelerator & Academic Collaboration) ต่อยอดโครงการ Krungsri RISE และ Krungsri Uni Startup
2) พูดคุยและทำความรู้จักกับสตาร์ทอัพจากทั้งในและต่างประเทศ: ร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบุคคล สินเชื่อ SME รวมทั้งบัตรเครดิต
3) ลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน: โดยจะใช้งบลงทุนเริ่มต้นที่ 30 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงระยะเวลา 3 ปีแรก
เตรียมลงทุน 9 เทคโลโลยีทางการเงิน
และจับตาดูปีนี้ให้ดี เพราะกรุงศรีฯวางแนวทางพัฒนาและการลงทุนในด้านเทคโนโลยีไว้ 9 ด้าน เพื่อให้บริการทางการเงินมีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ว่าจะเป็น
1) Artificial Intelligence และ Machine Learning: พัฒนาระบบให้เกิดการเรียนรู้และจดจำ
2) Big Data และ Data Analytics: คิดและวิเคราะห์ข้อมูล สร้างโมเดลการนำเสนอสินค้าและบริการ
ที่เหมาะสม
3) Blockchain: ทำธุรกรรมได้เร็วและโปร่งใส
4) Smart Application Programming Interface: ให้ลูกค้าใช้บริการที่ดีและรวดเร็วผ่านช่องทางออนไลน์
5) Super Mobile App: รองรับการชำระเงินในรูปแบบต่าง ๆ
6) Biometric Authentication: นำเทคโนโลยีการใช้ลักษณะทางกายภาพมาใช้เข้าถึงข้อมูล เพิ่มความปลอดภัย
7) Digital Lending Platform: จับมือกันคิดค้น เฟ้นหารูปแบบการบริการ
8) Insurance Technology: พัฒนาให้ลูกค้าทำประกันภัยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
9) Robo-Advisor for Wealth Management: นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้คำปรึกษาด้านการเงิน
ในปี 2560 กรุงศรีฯกำลังศึกษาและร่วมลงทุนเริ่มต้นที่ 30 ล้านเหรียญสหรัฐในฟินเทคสตาร์ทอัพไทยที่มีศักยภาพ และลงทุนในกองทุนสตาร์ทอัพทั้งในไทยและต่างประเทศ
ซึ่งตอนนี้กรุงศรีฯได้เจรจาและเริ่มลงทุนกับสตาร์ทอัพบางรายแล้วด้วย