เมื่อไม่กี่วันก่อน Google ได้ ‘เผลอ’ ปล่อยภาพดีไซน์ใหม่ของระบบปฏิบัติการ Android ในชื่อคอนเซปต์ ‘Material 3 Expressive’ ที่เห็นความอ่อนเยาว์ สดใส และสนุกสนานมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในธีมสีชมพู ม่วง และปะการังทั่วทั้งอินเทอร์เฟซที่เปลี่ยนแปลงไป
ซึ่งจากภาพที่ทางเว็บไซต์ ‘9to5Google’ ได้บันทึกไว้ ทำให้เกิดการวิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนแปลงดีไซน์ครั้งใหญ่นี้ ด้าน ‘Wayback Machine’ ได้ให้ความคิดเห็นว่า “นี่เป็นการอัปเดตที่ผ่านการค้นคว้ามากที่สุดเท่าที่ Google เคยมีมา” ่สวนด้าน The Verge ได้สรุปใจความไว้ว่า “ดีไซน์ใหม่ของ Android ดู Gen Z แบบตะโกน”
แม้ Android นั่งเบอร์ 1 ของโลก แต่ iOS ยังแข็งแกร่งมากในตลาดสหรัฐฯ
ตามข้อมูลจาก StatCounter เผยให้เห็นว่า Android ครองสัดส่วนทั่วโลกขึ้นแท่นอันดับ 1 ที่ 72.23% ตามมาด้วย iOS ที่ 27.39% ซึ่งอัปเดตล่าสุดเมื่อเดือน เมษายน 2025 ที่ผ่านมา แต่เมื่อเจาะไปที่ตลาดสหรัฐฯ กลับพบว่า iOS ขึ้นนำมาอยู่ที่ 57.59% ตามด้วย Android 42.16% ในช่วงเวลาเดียวกัน ด้าน Piper Sandler Taking Stock With Teens® เองได้เผยผลสำรวจเช่นกันว่า 88% ของกลุ่มตัวอย่างมีไอโฟน และเตรียมอัปเกรดเป็น iPhone 17 ทันทีที่วางขาย
ด้วยตัวเลขที่กล่าวไป แม้ Android ครองเบอร์หนึ่งระดับโลก แต่กลับวางใจไม่ได้ เพราะตลาดสหรัฐฯ คือแหล่งรายได้จากโฆษณา-แอปพลิเคชันพรีเมียมที่มีมูลค่ามากกว่าตลาดเกิดใหม่หลายเท่า และเป็น ‘เรดาร์วัดเทรนด์’ ด้านวัฒนธรรมดิจิทัลของโลก ถ้าฝั่ง Android ปล่อยให้ฝั่งคู่แข่งเติบโตขึ้น และตนเองถดถอยลงเรื่อยๆ อีกไม่กี่ปีข้างหน้าปริมาณลูกค้ากลุ่มผู้ใหญ่ก็จะหายไปพร้อมกับเม็ดเงินบน Play Store
Android ถูกมองว่าเป็น ‘มือถือคนแก่’
นอกจากการตีตลาดสหรัฐฯ ดูเหมือนจะมีอีกเหตุผลที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือหาก Google ยังไม่ดำเนินการอะไรสักอย่าง มือถือ Android จะกลายเป็น ‘มือถือคนแก่’ ในอนาคต ซึ่งมีสัญญาณมาอยู่เนืองๆ สม่ำเสมอ อย่างเช่นตัวอย่างจากบทความใน The Wall Street Journal เมื่อปี 2023 ที่พบว่ามีเด็กนักเรียนถูกเพื่อนร่วมชั้นล้อเลียนว่า เพียงเพราะใช้โทรศัพท์ Android ที่ถูกมองว่าเป็นโทรศัพท์สำหรับผู้สูงอายุ
ทำความเข้าใจ Material Three Expressive ว่าที่ดีไซน์ Andriod ใหม่

แม้ว่าการเปลี่ยนดีไซน์ของ Android จะเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งนี้ทาง Google ได้ลงทุนวิจัยอย่างจริงจังด้วย 46 ผลการศึกษาวิจัย และมีผู้เข้าร่วมการทดสอบในจุดต่างๆ อีกกว่า 18,000 คน โดยโฟกัสไปที่ กลุ่มวัยรุ่น Gen Z ที่ชัดเจนว่ากลายเป็นกำลังซื้อหลักของตลาดสมาร์ตโฟนไปแล้ว
โดยการศึกษาวิจัยดังกล่าวประกอบด้วย
- การติดตามสายตา: วิเคราะห์ว่าผู้ใช้มุ่งความสนใจไปตรงไหนของหน้าจอ
- การสำรวจและกลุ่มเป้าหมาย: การวัดการตอบสนองทางอารมณ์ต่อการออกแบบที่แตกต่างกัน
- การทดลองด้านอารมณ์: การรวบรวมความรู้สึกและความชอบ
- การใช้งาน: ดูว่าผู้เข้าร่วมสามารถเข้าใจและใช้อินเทอร์เฟซได้รวดเร็วเพียงใด
สำหรับ Material Three Expressive คือการพัฒนาต่อยอดจาก Material You ซึ่งเป็นอินเทอร์เฟซที่ Google เปิดตัวพร้อมกับ Android 12 โดยเน้นที่ความสามารถในการปรับแต่งได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มความสามารถในการเปลี่ยนจานสีทั่วทั้งระบบตามวอลล์เปเปอร์ โดยใน Material Three จะยกระดับการปรับแต่งให้มากขึ้นไป ด้วยการผสมผสานแบบอักษรตัวหนา ไอคอนขนาดใหญ่ รวมกับสีสันที่สดใส
เป้าหมายสูงสุดของ Material Three Expressive คือการทำให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น และรู้สึกอยากใช้งานมากขึ้นด้วย โดยดึงความสนใจไปที่จุดสำคัญต่างๆ ในอินเทอร์เฟซที่ถูกออกแบบให้โดดเด่นมองเห็นง่าย รวมไปถึงการจัดกลุ่มองค์ประกอบ UI ประเภทเดียวกันไว้ด้วยกัน
ทั้งนี้ แม้ทิศทางใหม่จะดูชัดเจนว่าต้องการเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น แต่ทาง Google ได้ทำการทดสอบดีไซน์ใหม่นี้กับกลุ่มตัวอย่างอายุ 45 ปีขึ้นไปด้วย และได้ผลลัพธ์ว่ากลุ่มตัวอย่างสามารถใช้งานได้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับผู้ใช้ที่อายุน้อยกว่า โดยจากข้อมูลในโพสต์ที่มีการหลุดออกมาก่อนหน้า ทาง Google เผยว่า ผู้เข้าร่วมทดสอบสามารถมองเห็น UI สำคัญได้เร็วขึ้นถึง 4 เท่า (จากการทดสอบติดตามสายตา) และใช้เวลาในการกดปุ่มต่างๆ ลดลงเมื่อเทียบกับดีไซน์อื่นๆ หรือรุ่นเก่า ไม่ต้องคอยนั่งเพ่งสายตา
อนาคตของ Android หลังการเปลี่ยนแปลงดีไซน์
แม้อุปสรรคจะสูง แต่ Material Three Expressive ก็อาจไม่ใช่การลงทุนที่สูญเปล่าเสียทีเดียว หากการเปลี่ยนแปลงนี้สามารถโน้มน้าวให้วัยรุ่นเปิดใจทดลองใช้งาน และเห็นคุณค่าของระบบที่สามารถคัสตอมได้สูงกว่าของ iOS อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ภาพลักษณ์ของ Android กลับมาเป็นแบรนด์ที่ “น่าลอง” ในสายตาวัยรุ่นอีกครั้ง
อีกทั้งมีโอกาสสูงที่ Material Three Expressive จะถูกนำไปใช้ในอุปกรณ์อื่นๆ ของ Google เช่น WearOS, ChromeOS และ Android Auto เพื่อสร้างประสบการณ์ที่เป็นเอกภาพในระบบนิเวศของ Google และในอนาคตอันใกล้ อาจได้เห็นระบบ AI ที่สามารถสร้าง UI แบบเฉพาะบุคคลตามการใช้งานจริง ซึ่งจะเป็นจุดขายที่แข็งแกร่งขึ้นไปอีก
ด้านฝั่งผู้ผลิตเครื่อง (OEM) จะได้รับผลประโยชน์เช่นกัน เพราะค่าใช้จ่ายในการพัฒนาสกิน UI เองอยู่ที่ราว 15-20 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อการอัปเดตใหญ่หนึ่งครั้ง ตามข้อมูลของ IDC ในปี 2023 ซึ่งเป็นตัวเลขเฉลี่ยจากแบรนด์ Huawei, Xiaomi และ Samsung โดยการมี Design System ส่วนกลางจะช่วยลดต้นทุนได้มหาศาล แต่หากฝั่งแบรนด์ไม่ยอมรับ Material Three เต็มรูปแบบ และหันไปใช้สกิน UI ของตัวเองต่อไป ประสบการณ์ ‘Gen Z’ ที่ทาง Android วาดฝันไว้ จะสูญเสียพลังไป

อุปสรรคที่ ‘สีสวยแค่ไหน‘ ก็แก้ไม่ได้
แม้ Google จะลงทุนมหาศาลกับดีไซน์ที่สดใหม่ แต่ปัญหาใหญ่สุดที่ยังแก้ไม่ได้คือ iMessage และ FaceTime จาก Apple ซึ่งเป็นบริการที่ผูกขาดอยู่บนแพลตฟอร์มของตัวเองอย่างเหนียวแน่น สิ่งนี้ทำให้ผู้ใช้ Android ถูกแสดงผลข้อความเป็น “กรีนบับเบิล” ซึ่งสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นผู้ใช้ระดับรองลงมาในสังคมวัยรุ่นที่ส่วนใหญ่ใช้ iPhone
แม้ Google จะผลักดันระบบ RCS (Rich Communication Services) อย่างหนัก จนมีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 1 พันล้านคนแล้ว แต่ฟีเจอร์ที่ใช้งานได้จริงยังไม่เท่าเทียมกับ iMessage โดยเฉพาะในแง่ของกลุ่มแชต การส่งไฟล์มีเดียคุณภาพสูง และลูกเล่นสนุกๆ เช่น Animoji ซึ่งวัยรุ่นชื่นชอบ
นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่ดีไซน์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น ระบบนิเวศ Apple ที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่ผูกติดกับ AirPods และ Apple Watch ทำให้การเปลี่ยนแพลตฟอร์มของวัยรุ่นต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยผลสำรวจจาก Counterpoint Q1/24 ชี้ว่า 71% ของผู้ใช้ iPhone สหรัฐฯ มี AirPods หรือ Apple Watch อยู่แล้ว ทำให้การเปลี่ยนไปใช้ Android ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ทันที
Source: The Verge, Stat Counter, 9to5google