สถานการณ์การท่องเที่ยวไทยในปี 2568 ดูเหมือนจะเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ เมื่อล่าสุดมีรายงานว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีน ซึ่งเคยเป็นตลาดอันดับหนึ่งของเรานั้น ลดลงอย่างน่าตกใจถึง 47% ในเดือนเมษายน 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สร้างความกังวลอย่างมากต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและเศรษฐกิจโดยรวม
อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางความผันผวนนี้ดูเหมือนจะมีข่าวดีสำหรับประเทศไทยอยู่บ้างนั่นคือการเติบโตของตลาดนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลนั่นเอง
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า แม้ประเทศไทยจะไม่ใช่จุดหมายปลายทาง 5 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวอิสราเอล แต่ข้อมูลจชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง โดยในปี 2567 มีชาวอิสราเอลเดินทางมาท่องเที่ยวไทยถึง 2.8 แสนคน ซึ่งเติบโตกว่า 30% จากปี 2566 และคาดการณ์ว่าในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นอีก 25% ไปแตะที่ 350,000 คน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568 จำนวนนักท่องเที่ยวอิสราเอลที่เดินทางมาไทยเติบโตสูงถึง 125% หรือมีจำนวน 69,901 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเป็นประวัติการณ์ด้วย
ยิ่งกว่านั้น กำลังการใช้จ่ายและระยะเวลาในการพำนัก ของนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลยังอยู่ในระดับสูงด้วย โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 83,000 บาทต่อคนต่อทริป และมีระยะเวลาพักเฉลี่ยถึง 18.5 วัน ซึ่งยาวนานกว่านักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด นี่จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับธุรกิจไทยในการสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศก็ว่าได้
แม้ว่าจะมีประเด็นข่าวเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวอิสราเอลที่แม่ฮ่องสอนในช่วงที่ผ่านมา แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าประเด็นที่ว่านี้ ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเทรนด์การเติบโตของตลาดนักท่องเที่ยวอิสราเอลในภาพรวม อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ควรให้ความสำคัญกับการดูแลและติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์และการท่องเที่ยวในระยะยาว
โอกาสของธุรกิจไทยอยู่ตรงไหน?
เมื่อเห็นถึงศักยภาพของตลาดนักท่องเที่ยวอิสราเอลแล้ว สิ่งที่ผู้ประกอบการควรทำคือ การปรับตัวและมองหาโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ เช่น “ศึกษาพฤติกรรม” ทำความเข้าใจถึงความต้องการ วิธีการเดินทาง และความคาดหวังของนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอล เพื่อนำมาปรับปรุงสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์
นอกจากนี้ก็อาจจะต้องปรับปรุงการสื่อสาร พัฒนาช่องทางการสื่อสารและเนื้อหาประชาสัมพันธ์ที่เป็นภาษาที่พวกเขาสื่อสารได้ นำเสนอจุดเด่นของสินค้าและบริการที่น่าจะดึงดูดใจ
พยายามสร้างความร่วมมือกับบริษัทนำเที่ยว หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้าถึงนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอล เพื่อเพิ่มโอกาสในการโปรโมทธุรกิจ และที่สำคัญคือ “พัฒนาประสบการณ์” สร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่น่าประทับใจและแตกต่าง เพื่อสร้างความพึงพอใจและกระตุ้นให้เกิดการบอกต่อ เป็นต้น
ปรากฏการณ์นี้ทำให้เห็นว่า แม้ภาคการท่องเที่ยวไทยจะเผชิญความท้าทายจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงแต่ในวิกฤตยังมีโอกาสจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของนักท่องเที่ยวอิสราเอล ดังนั้นผู้ประกอบการในบ้านเราก็ควรรีบศึกษาพฤติกรรม ปรับปรุงสินค้าและบริการ สื่อสารอย่างตรงจุด และสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจ เพื่อคว้าโอกาสทองจากตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่นี้ให้ได้