บางครั้งการลงทุนเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายก็เหมือนกับการเสี่ยงทาย ที่คุณจะไม่รู้เลยว่า ข้อมูลที่ได้นั้นจะนำมาใช้จริงได้มากน้อยแค่ไหน ขณะนี้ก็มีหลายหน่วยงานที่พร้อมจะให้ข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภค ตามที่คุณต้องการ ซึ่งเหมาะกับแบรนด์ที่ไม่มีเวลา และมีงบประมาณมากพอ แต่ทว่า การซื้อข้อมูลที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยให้คุณต้องพิจารณาให้ดีเสียก่อนตัดสินใจ
ปัจจุบัน Data หรือข้อมูลเชิงลึก นั้นมีประโยชน์อย่างมากในการทำธุรกิจ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากที่สุด ทั้งนี้ การนำข้อมูลจำนวนมหาศาลมาสรุปประมวลผลเพื่อทำความเข้าใจ และนำเสนอในรูปแบบที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ บางองค์กรก็ไม่มีเวลา หรือไม่มีทีมงานที่พร้อมจะทำ จึงเป็นที่มาของการลงทุนซื้อนั่นเอง
นี่คือ 10 คำถาม ที่คุณต้องตอบให้ได้ก่อนตัดสินใจลงทุนซื้อข้อมูล
1. ข้อมูลสะท้อนพฤติกรรมการซื้อจริง หรือแค่ใกล้เคียง
ข้อมูลที่ดีนั้นควรจะสะท้อนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างแท้จริง ทั้งผลิตภัณฑ์และบริการ ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการซื้อ รวมถึงการคาดการณ์แนวโน้มที่จะนำไปวิเคราะห์ต่อในอนาคตได้ การตอบสนองต่อโฆษณา และกิจกรรมทางการตลาด นอกจากนี้ ข้อมูลด้านประชากรก็สำคัญเช่นกัน ทั้งอายุ เพศ หรือรายได้ ถ้าคุณต้องการเข้าถึงผู้บริโภคอย่างแท้จริง ข้อมูลเชิงลึกนั้นต้องมาจากคนหมู่มาก ไม่ใช่แค่คนกลุ่มเดียว หรือคนๆ เดียว
2. แหล่งที่มาของข้อมูล และสำรวจตั้งแต่เมื่อไร
บ่อยครั้งที่เรามักจะนำข้อมูลมากใช้ โดยไม่ทราบแห่งที่มา ซึ่งเป็นข้อมูลจริงหรือไม่ก็ไม่รู้เช่นกัน และเมื่อนำมาใช้แล้วก็ส่งผลเสียต่อธุรกิจ หรือถ้ามีแหล่งที่มาของข้อมูลแล้ว แต่ไม่ได้ระบุว่าสำรวจตั้งแต่เมื่อไร ข้อมูลไม่อัปเดท ล้าหลัง และนำมาใช้จริงไม่ได้ ก็จะเกิดความเสี่ยงในการทำงานเช่นกัน หากผู้ขายไม่เปิดเผยแหล่งที่มา ก็มีแนวโน้มว่า ข้อมูลเหล่านี้จะไม่เกิดประโยชน์กับคุณ
3. ข้อมูลต้องมีประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่แค่ปริมาณมากอย่างเดียว
เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ได้มานั้น สามารถเป็นตัวแทนของผู้บริโภคได้จริง อย่างแรกคุณต้องทราบเสียก่อนว่าคุณต้องการข้อมูลประเภทใด ธุรกิจของคุณเป็นแบบไหน ทั้งนี้ ข้อมูลเชิงลึกที่จะนำมาใช้นั้นต้องเชื่อมโยงกับสินค้า บริการ และผู้บริโภคได้
4. วิธีการอัปเดทข้อมูล
ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจใดๆ ก็ตาม ทุกอย่างย่อมมีการหมดอายุ เพราะตลาดนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงทัศนคติของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน สิ่งสำคัญคือ คุณต้องทราบว่าข้อมูลที่ต้องการนั้น มีแหล่งข้อมูล และกระบวนการปรับปรุงอย่างไร เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคมักจะไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลานั้นๆ
5. ควบคุมการเข้าถึงแหล่งข้อมูล
ข้อควรระวังของการซื้อข้อมูลเชิงลึกคือ บางทีข้อมูลเหล่านี้อาจหลุดรอดไปอยู่ในมือของผู้อื่นได้ โดยเฉพาะคู่แข่งคนสำคัญ ก่อนจะตัดสินใจซื้อ คุณต้องแน่ใจก่อนว่าคุณจะเป็นรายเดียวที่ได้ข้อมูลนี้
6. เป็นข้อมูลส่วนบุคคลหรือแบบครัวเรือน
นักการตลาดทุกคนย่อมมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน และข้อมูลบางประเภทก็ไม่ได้เหมาะสมกับทุกธุรกิจ บางคนต้องการข้อมูลที่เน้นรายละเอียดส่วนบุคคล ในขณะที่นักการตลาดต้องการเจาะกลุ่มผู้บริโภคสินค้าอุปโภคบริโภค ก็จะใช้ข้อมูลแบบครัวเรือน ซึ่งทั้ง 2 ประเภท นั้นก็มีความเหมาะสมแตกต่างกันไป คุณต้องทราบว่าข้อมูลประเภทไหนที่จะช่วยให้ธุรกิจของคุณสมบูรณ์แบบมากขึ้น
7. จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปต่อยอดได้อย่างไร
เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด คุณคงไม่อยากเสียเงินก้อนใหญ่เพื่อซื้อสินค้าที่ใช้ได้แค่ครั้งเดียว แล้วก็ต้องเก็บเข้ากรุไป การซื้อ Data หรือข้อมูลเชิงลึกเองก็เช่นกัน คุณต้องพิจารณาดูว่าเมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว จะนำไปต่อยอดธุรกิจได้อย่างไรบ้าง พยายามนำมาใช้ให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด
8. ระยะเวลาที่ใช้เก็บข้อมูล
เพื่อให้ข้อมูลมีประสิทธิภาพมากที่สุด คุณต้องทราบระยะเวลาที่ผู้จัดทำใช้สำรวจข้อมูล กี่วัน กี่เดือน หรือกี่ปี เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค
9. ข้อมูลจะนำไปใช้ได้อย่างไร
อย่างแรก คุณต้องมีความเข้าใจเสียก่อนว่า ข้อมูลเหล่านี้มีข้อจำกัดอะไรบ้าง สามารถเผยแพร่ได้หรือไม่ รวมถึงสถานที่ที่จะนำไปใช้ได้
10. มาตรฐานความน่าเชื่อถือ
อย่ากลัวที่ขอข้อมูล หรือใบรับรองต่างๆ เพราะเมื่อคุณนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ คุณก็ต้องการความเชื่อมั่นจากผู้จัดทำด้วย หรือเมื่อมีการอ้างอิงกรณีศึกษา ก็ต้องมีหลักฐานมายืนยัน
ข้อควรระวัง
ข้อมูลที่ดี ไม่ได้หมายความว่า จะนำมาใช้ได้ทุกธุรกิจ และอย่าใช้ข้อมูลที่ไม่เปิดเผยแหล่งที่มา หรือไม่บอกวิธีการสำรวจ ทางที่ดีก่อนตัดสินใจลงทุนก็ต้องศึกษาให้ดีเสียก่อน เพื่อให้การลงทุนคุ้มค่าที่สุด