การสร้างบรรยากาศในการทำงาน นอกจากจะช่วยให้เราปรับ mood & tone ในระหว่างวันให้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยกระตุ้นความแอคทีฟให้มากขึ้นกว่าเดิมได้ ขณะที่คนบางกลุ่มชอบที่จะปรับตำแหน่งโต๊ะทำงาน เนรมิตรให้เป็นสวนขนาดย่อมๆ หรือมุมบันเทิงเล็กๆ เพื่อสร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลาย และเป็นการเพิ่ม passion ในการทำงานได้ด้วย
แต่จะพูดว่าบรรยากาศในการทำงานอย่างเดียวก็คงไม่พอ เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยอื่นประกอบ ทั้งคนในทีมหรือเพื่อนร่วมงาน แต่จากการสำรวจโดย SHRM (Society for Human Resource Management) บริษัทในสหรัฐอเมริกา มีข้อมูลหนึ่งน่าสนใจมาก โดยพนักงานจากหลายแห่งทั่วโลกที่ทำการสำรวจ ชี้ไปที่ ‘ผู้นำ’ (leaders) ว่าเป็นปัจจัยหลัก ซึ่งให้เหตุผลว่า
“ผู้นำ เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด และมีอิทธิพลมากที่สุดสำหรับพนักงานว่าจะอยู่หรือลาออก เพราะเป็นส่วนหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับบรรยากาศในการทำงาน”
ทั้งนี้ ในการสำรวจได้ยกตัวอย่างอาชีพ ‘ผู้จัดการ’ ให้เป็นตัวแทนระดับผู้นำ ที่มักจะมีปัญหากับพนักงาน หรือคนในทีม (ซึ่งหมายถึงอาชีพอื่นในระดับเดียวกัน หรือมากกว่า) โดยในการสำรวจ 84% พูดว่า “ความเครียดมาจากหัวหน้างาน/ผู้นำ ไม่ใช่จากบริษัทหรืองานที่ทำ”
พูดได้ว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดในชั่วโมงการทำงานไม่ใช่บรรยากาศของออฟฟิศ หรือเพื่อนร่วมงาน แต่กลับเป็นผู้นำ หรือหัวหน้างานมากกว่า ซึ่งในปัจจุบันปัญหาภายในของหลายๆ บริษัทที่เกิดขึ้นบ่อยๆ หนึ่งในนั้นก็คือ ‘ภาวะของผู้นำที่มีต่อพนักงานคนอื่น’
ทั้งนี้ Tony Lee รองประธานบรรณาธิการของ SHRM ได้พูดว่า “ความท้าทายอย่างหนึ่งของบริษัทที่ ก็คือ ขาดแคลนพนักงานที่มีประสิทธิภาพ ยิ่งพนักงานที่เข้าใจการทำงานแบบ teamwork ยิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่ผู้นำมักจะขาดแคลนก็คือ’ความเข้าใจ’ ในพนักงานของตัวเอง”
ดังนั้น ในการสำรวจนี้ได้พูดถึง Top 5 skills ที่พวกเขาอยากเห็นจากผู้นำ หรือหัวหน้างาน ซึ่งมองว่าในยุคสมัยนี้วิธีการทำงานต้อง flexible ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาเพื่อหา the best solution ร่วมกัน โดยเราจะมาสรุปให้อ่านกันคร่าวๆ ว่า 5 สิ่งที่อยากจะเห็นผู้นำปรับปรุงมีอะไรบ้าง
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
พนักงานกว่า 41% ชี้ไปเรื่อง ‘การสื่อสาร’ ว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหามากที่สุดเช่นกัน เพราะการสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพจากผู้นำ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด งานไม่เป็นไปตามแผน พูดง่ายๆ ก็คือ การสั่งงานหรือขอความร่วมมือจะต้องมี ‘ความชัดเจนมากที่สุด’ รวมไปถึงเป้าหมายหรือ direction ที่ต้องอธิบายให้เข้าใจ เคลียร์ทุกประเด็นสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้อง
อย่างที่ Tim Ringo ผู้เขียน Solving the Productivity Puzzle ที่ได้พูดเอาไว้ว่า “ผู้นำจำเป็นต้องเป็นนักสื่อสารที่ดีด้วย ความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจกันเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งในปีนี้เราต่างก็ผ่านอะไรแย่ๆ จากการระบาดของไวรัสมาด้วยกัน ส่วนการ make clear กับทุกๆ การทำงานโดยธรรมชาติ เป็นทักษะที่ผู้นำควรพัฒนาทุกปี”
ความสามารถในการพัฒนาและฝึกฝนทีม
การทำงานร่วมกันต้องสามารถช่วยกันพัฒนาประสิทธิภาพของคนได้ด้วย ไม่ใช่แค่ประสิทธิภาพของงาน! การเติบโตขึ้นสู่การเป็นมืออาชีพ จำเป็นสำหรับการเติบโตของบริษัทด้วย โดย 38% ของพนักงานมองว่า ผู้นำต้องมีส่วนช่วยผลักดันประสิทธิภาพของพวกเขา หรือ support พวกเขาทางใดทางหนึ่ง
ทั้งนี้ มีความคิดเห็นจากพนักงานหลายคนที่มองว่า “หากผู้นำไม่ช่วยพัฒนาประสิทธิภาพ พวกเขาจะลาออก เพราะมันหมายความว่า แทบไม่มีโอกาสที่จะก้าวหน้าในหน้าที่การงานจากบริษัทที่ทำอยู่”
ขณะที่ Nicholas Whittall กรรมการผู้จัดการจาก Accenture’s Talent & Organization และ Human Potential group ได้พูดว่า “อย่างน้อยๆ พนักงานต้องรู้ว่า ทักษะใหม่ที่เปลี่ยนแปลงทุกๆ ปีนั้นมีอะไรบ้าง และบริษัทหรือผู้นำสามารถช่วยเหลือเพื่อให้ทุกคนมีทักษะนี้ได้อย่างไร ส่วนความฉลาดทางสังคมและอารมณ์ เป็น soft skill ที่ต้องมาจากตัวผู้นำก่อน จากนั้นก็ปูสภาพแวดล้อมเพื่อให้พนักงานคนอื่นได้ลองปรับเปลี่ยนตัวเอง จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร”
ผู้นำต้องบริหารเวลาเก่ง – มอบหมายงานในเวลาที่เหมาะสม
พนักงานราว 37% มองว่า ‘การบริหารเวลา’ เป็นปัญหาและเรื่องสำคัญในการทำงานร่วมกัน โดยผู้นำต้องจัดการเวลาและสั่งงานอย่างฉลาด หมายความว่า ส่งมอบงานให้พนักงานตามความถนัด และยังต้องคิดถึงเรื่องกำหนดการส่งงานด้วยว่า ช่วงที่ส่งมอบงานกับวันที่กำหนดส่ง เวลาเหมาะสมและเพียงพอหรือไม่
อย่างที่บริษัทเกี่ยวกับทรัพยากรบุคคลหลายแห่งที่พูดว่า “การมอบหมายงานเป็นทักษะสำคัญของผู้นำ นอกจากจะทำให้งานออกมามีคุณภาพในเวลาที่ตรงตามกำหนดแล้ว การประเมินเวลาเผื่อให้กับพนักงานที่ถูกมอบหมายงานก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะมันจะไม่ทำให้พนักงานเกิดความเครียดโดยไม่จำเป็น”
สร้างวัฒนธรรมแบบ Hybrid
การทำงานที่เกี่ยวข้องกับคนเยอะๆ จะยิ่งยากขึ้นไปอีก หากแต่ละคนมีความเชื่อ วัฒนธรรม และการจัดการที่ต่างกัน แต่วัฒนธรรมที่ทุกคนต้องยึดถือนั่นควรต้องเริ่มมาจาก ‘ผู้นำ’ ก่อน และต้องพิสูจน์ว่าแนวคิด หรือวัฒนธรรมแบบนี้มันดี มัน work
พนักงานราว 35% มองว่า ผู้นำต้องเก่งในการหาจุดตรงกลางที่เข้ากับทุกคนได้ หรือไม่ก็กล้าที่จะเสนอ ‘วัฒนธรรมบางอย่าง’ ที่ใช้แล้วมันได้ผลจริงๆ แต่อย่าลืมว่ามันต้องเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่มาจากความเห็นชอบของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่แค่ฝั่งผู้นำเท่านั้น ที่สำคัญวัฒนธรรมตรงนี้ต้องเห็นว่าทุกคนมีส่วนร่วมกับมันจริงๆ ไม่ใช่แค่คนใดคนหนึ่ง
Christine Trodella จาก Facebook Workplace แสดงความคิดเห็นว่า “มีผู้นำจำนวนไม่น้อยที่มักจะลืมว่า พนักงานแต่ละคนมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้นำเองก็ต้องมีวิธีการจัดการและสื่อสารในวิธีที่แตกต่าง ที่สำคัญต้องรู้จักใช้วิธีวัดผลลัพธ์ตามประสิทธิภาพงานของแต่ละบุคคล”
มีทักษะบริหารทีมให้มีประสิทธิภาพ – ต้องเชื่อใจ
พนักงานอีก 35% มองว่า ผู้นำต้องมีทักษะโดดเด่นเรื่องบริหารงานให้แต่ละบุคคลตามความถนัด การแบ่งเบาภาระให้กับทีม ขณะเดียวกันผู้นำต้องมองภาพให้ขาดว่า วิธีการทำงานแบบไหนที่ทำให้ทุกคนสามารถโชว์ความสามารถได้อย่างเต็มที่ เพราะปัญหาที่พนักงานส่วนใหญ่เจอ ก็คือ ผู้นำ ไม่เข้าใจความถนัดของพนักงานทุกคน และคาดหวังว่าทุกคนต้องเข้าใจและทำงานให้ได้เท่าเทียมกัน
Tony Lee พูดอีกว่า “นอกจากบริหารและแบ่งงานให้ถูกคนแล้ว ความมั่นใจและเชื่อใจพนักงานของตัวเองก็สำคัญมากเช่นกัน”
ยิ่งในยุคนี้ที่หลายๆ บริษัทยังใช้วิธี Remote Working ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและผู้นำจำเป็นต้องใช้ความเข้าใจและเชื่อใจยิ่งกว่าเดิม อย่างที่ ‘Johnny C. Taylor’ CEO ของ SHRM ได้พูดทิ้งท้ายในรีเสิร์ชนี้ว่า “ไม่มีความสัมพันธ์ใดในที่ทำงานที่จะดีที่สุด เท่ากับความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและทีมทุกคน เพราะความเข้าใจซึ่งกันและกัน นอกจากจะสร้างบรรยากาศสถานที่ทำงานให้น่าทำงาน ยังมีส่วนช่วยให้การเติบโตของบริษัทดีขึ้นด้วย เพราะทุกคนมุ่งไปที่เป้าหมายเดียวกัน”
โดยที่ผ่านมาเราจะเห็นว่า มีงานวิจัยไม่น้อยเลยที่ชี้มาว่า แถบประเทศที่มีความเครียดจากการทำงานมากที่สุดในโลก คือ ‘เอเชีย’ ซึ่งความเครียดเหล่านี้ถือว่าเป็นความเครียดที่ไม่จำเป็น ไม่ควรจะเกิดขึ้นในที่ทำงาน ดังนั้น เสียงสะท้อนจากพนักงานส่วนหนึ่งจากหลายๆ แห่งทั่วโลกนี้ น่าจะบอกอะไรเราได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะ sign ที่ส่งตรงไปถึงเหล่าผู้นำว่า ถึงเวลาแล้วนะที่ต้องปรับตัวเองเพื่อประสิทธิภาพงานในระยะยาว
ที่มา: fastcompany, shrm