หยุดพฤติกรรม Workaholism เรียนรู้วิธีประสบความสำเร็จได้ โดยไม่ต้องทำงานหนัก

  • 84
  •  
  •  
  •  
  •  

 

คงไม่มีใครหรอกที่อยากจะเป็น Workaholic หรือ คนบ้างาน เพราะเท่าที่นึกๆ ออกก็มีแต่ผลเสียกับเสียเท่านั้น ไหนจะสุขภาพ จิตใจ เพื่อน ครอบครัว ต่างก็กระทบไปต่อๆ กัน ซึ่งก็มีคำพูดเล่นๆ ในโลกโซเชียลที่มักจะพูดว่า Work Hard Play Harder (ทำงานให้หนัก แต่สนุกก็ต้องหนักกว่า) ซึ่งถ้าคิดตามหลักความเป็นจริงแล้วมันควรต้องเป็นแบบนั้น

รู้หรือไม่ว่า แม้แต่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) founder ของแพลตฟอร์มที่ทำให้คนทั้งโลกติดงอมแงมอย่าง Facebook เป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่ประสบความสำเร็จระดับโลก สิ่งที่เซอร์ไพรส์มากๆ ก็คือ มาร์ก ไม่เชื่อในเรื่องการทำงานหนักแล้วจะประสบความสำเร็จ

“ผมทำงานประมาณ 5-9 ชั่วโมงในแต่ละวัน ซึ่งก็เหมือนกับคนอื่น คิดเฉลี่ยก็ประมาณ 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ถ้าถามเกี่ยวกับภารกิจ(ธุรกิจ) ผมก็ยังโฟกัสทั้งชีวิต”

 

“เวลาที่เหลือในแต่ละวัน ส่วนใหญ่ผมหมดไปกับการอ่าน และการคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองทำไปวันนั้น รวมไปแบ่งเวลาเพื่อแพลนขงวันต่อไป”

ไม่ใช่แค่ มาร์ก ที่ไม่เชื่อในรื่องการทำงานหนัก แต่มหาเศรษฐีของโลกอันดับต้นๆ คนอื่น เช่น อีลอน มัสก์ (ที่เคยเป็นคนหนึ่งที่ทำงานหนักมาก่อน 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) แต่พวกเขาพยายามจัดการกับความคิดตัวเอง ฝึกพฤติกรรมที่แบ่งเวลาไปกับกิจกรรมอื่นด้วย ไม่ใช่การทุ่มเทเวลาไปที่งานอย่างเดียว

ทั้งนี้ ในหนังสือของ Melody Wilding เรื่อง Trust Yourself: Stop Overthinking and Channel Your Emotions for Success at Work เป็นเหมือนคล้ายๆ คัมภีร์ของผู้บริหารธุรกิจหลายคนในการจัดการกับความ Workaholism ของตัวเอง รวมไปถึง ปรับจูนความคิดใหม่เพื่อไม่ให้เป็นคนบ้างาน จนร่างกาย overload ซึ่งเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของนักธุรกิจ

 

เพิ่มการรับรู้ในตัวเอง (INCREASE SELF-AWARENESS)

สิ่งที่คนบ้างานหลายคนไม่รู้ก็คือ การรับรู้ หรือรู้ทันตัวเอง เช่น ตอนนี้อารมณ์เรากำลังเหนื่อยหน่าย เรากำลังหงุดหงิดมากๆ ซึ่ง emotional แบบนี้ไม่ควรทำงาน หรือเราต้องรู้ตัวเองว่างานที่ทำจะออกมาไม่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพทำงานไม่เต็ม 100 ดังนั้น การรับรู้ในตัวเองคือ เราต้องตัดอารมณ์เชิงลบที่เชื่อมกับเรื่องคุณภาพของงานออกไป

 

 

คุยกับคนที่ไว้ใจ (TALK TO SOMEONE YOU TRUST)

การได้พูดคุย ทำให้เราได้ระบายบ้างเรื่องงานที่มันหนักเกินไป ทำให้ mood อารมณ์ดีขึ้น ผู้เชี่ยวชาญหลายคนพูดว่า การพูดคุยกับคนที่เราไว้ใจ (แต่ไม่ใช่คนในครอบครัว) เป็นการบำบัดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับความเครียด ซึ่งพอเราสามารถปรับอารมณ์จนทำให้เกิดปัญญาได้ (คิดงานออก) จะป้องกันไม่ให้เราเป็นคนที่บ้างานได้ เพราะสาเหตุของคนบ้างานอย่างแรกๆ คือ คิดไอเดียงานไม่ออก มากกว่างานในมือล้นเกินไป

 

มองหากลุ่มที่ช่วยเหลือเฉพาะเรื่อง (LOOK FOR SELF-HELP GROUPS)

หนึ่งในพฤติกรรมของคนที่ประสบความสำเร็จ โดยที่ไม่จำเป็นต้องคลั่งงาน โฟกัสแค่งาน ก็คือ คนที่กล้าเปิดมุมคิดกับคนที่รับฟังปัญหาเฉพาะเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องความเครียดจากงาน (Workaholics Anonymous) อย่างหนึ่ง ซึ่งจะคล้ายๆ กับการบำบัดคนที่เสพติดสุรานั่นแหละ การเข้าสังคมและมีแต่กลุ่มคนที่มีเบื้องหลังชีวิตคล้ายๆ กัน จะเป็นการกระตุ้นให้กล้าเล่า กล้าพูด และกล้าเปลี่ยนตัวเองง่ายขึ้น

 

มองหาความหลงใหล (FIND A PASSION)

ก่อนจะตามหา passion เราต้องปรับความคิด ‘ห้ามรู้สึกผิด’ กับตัวเอง หลังจากที่แบ่งเวลามาทำสิ่งที่ตัวเองชอบ เพราะสิ่งที่อยากทำ กับสิ่งที่รักบางทีก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกันก็ได้ ดังนั้น ช่วงเวลาที่เราโฟกัสกับงานควรทำให้เต็มที่ไม่วอกแวก เพราะเวลาที่เราพักผ่อน เวลาที่จะออกค้นหา passion ก็ต้องเต็มที่ พับงานเอาไว้ในลิ้นชักไปก่อนเหมือนกัน

เหมือนที่ เจ้าพ่อ Facebook พูดไว้ว่า การจัดสรรเวลาไม่ใช่เรื่องยากแต่ก็ไม่ง่าย วิธีก็คือ เราต้องเริ่มแบ่งเวลามาหา passion ในเวลาสั้นๆ ก่อน และต้องลองทำหลายๆ ช่วงเวลา เช่น หลังเลิกงาน, ตอนกลางคืน หรือ เฉพาะช่วงวีคเอ็น เป็นต้น

 

 

หยุดเชื่อมต่อการทำงานผ่านโลกอินเทอร์เน็ต (TAKE TIME AWAY TO UNPLUG)

การพักผ่อนที่จะช่วยเรา fresh ตัวเองจริงๆ คือ ต้องพักแบบ 100% พูดง่ายๆ คือ เราต้องหยุดเชื่อมต่อตัวเองกับโลกการทำงาน ไม่ว่าจะทางมือถือ, แล็บท็อป, อุปกรณ์ทำงานต่างๆ ทั้งหมด ซึ่งสิ่งเหล่านี้คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ไลฟ์สไตล์การพักผ่อนเพื่อเติมไฟเติม passion เติมไอเดียให้ตัวเองควรจะเป็นแบบนี้

ปัญหาคือ วิธีการพักผ่อนแบบนี้กำลังค่อยๆ ถูกลืม ด้วยคำว่า Workation ซึ่งเป็นพฤติกรรมยอดฮิตของคนทำงานยุคนี้ หรือเป็นวิสัยทัศน์ขององค์กรใหญ่ๆ ด้วยซ้ำ

อันนี้เป็นแค่บางไอเดียจากหนังสือ และเป็นแนวทางปฎิบัติของเหล่า CEO ด้วย ซึ่งบางทีคำว่า Work-Life Balance ค่อนข้างสำคัญไม่ว่าจะอยู่ในยุคไหน เพราะอย่างน้อยการ success อย่างใดอย่างหนึ่ง เราจำเป็นต้องรู้จักบาล๊านซ์ชีวิตให้ถูกด้วย เหมือนประโยคหนึ่งที่ Jack Ma เคยพูดก่อนจะอำลาตำแหน่ง

“ชีวิตคนเรามีหลายด้าน ไม่ใช่แค่ด้านการทำงาน และครอบครัว แต่เรายังมีความฝัน มีความหลงใหลที่ถูกหลงลืมไประหว่างทาง ซึ่งคำว่าประสบความสำเร็จ บางทีเราไม่จำเป็นต้องโฟกัสแค่ธุรกิจ-การทำงานเท่านั้น แต่เราควรแบ่งเวลาไปทำอย่างอื่นด้วย ก่อนที่มันจะสายไป”

 

 

 

 

ที่มา: fastcompany, entrepreneur


  • 84
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม