“ถ้าคุณกำลังรู้สึกหดหู่ เศร้าหมอง ไม่มีความมั่นใจ อย่ามองไปที่กระจก ให้หยิบมือถือแล้วเข้า Facebook”
อ่านประโยคนี้จบหลายคนน่าจะเกิดความคิดบางอย่างขึ้น ทั้งสงสัย กังวล หรือ ต่อต้าน แต่สำหรับมุมมองของนักวิเคราะห์จากหลายๆ แห่ง หนึ่งในนั้นก็คือ ‘มหาวิทยาลัยคอร์เนล’ ในนครนิวยอร์ก มองปรากฏการณ์นี้แล้วรู้สึกเป็นห่วง
เหตุผลเป็นเพราะ ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่เพิ่มความน่านับถือ หรือความรู้สึกมั่นใจผ่าน Facebook ซึ่งผู้คนมากถึง 90% ที่มองว่า Facebook เป็นตัวช่วยสำหรับการฟื้น ‘Self-Esteem’ หรือ การรับรู้คุณค่าของตัวเอง ผ่านเจ้าปุ่ม ‘Liked’ หรืออีโมชั่นอื่นๆ ที่มีให้เลือก “ยิ่งเราได้ไลก์มากเท่าไหร่ คุณค่าของเราก็มากขึ้นตามเท่านั้น คนจึงหันมาสะสมไลก์ปริมาณเท่าตู้คอนเทนเนอร์กัน”
โดยแนวคิดที่อธิบายถึงผลลัพธ์ต่างๆ จากโซเชียลมีเดีย เล่าออกมาเป็นภาพให้เราเข้าใจง่ายขึ้น เป็นผลงานของ ‘Kenan Abdulghani’ Art Director จากอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ มีประสบการณ์กว่า 9 ปีในด้านการพัฒนาภาพและเรื่องราว โดยใช้ภาพในการสื่อสารเล่าเรื่องถึงการเคลื่อนไหวของแบรนด์นั้นๆ ได้ค่อนข้างน่าสนใจ
ทั้งนี้ แบรนด์ต่างๆ ของสื่อโซเชียลสะท้อนผ่าน personal idea ของเขาให้เราเข้าใจมุมมองบางอย่างที่อาจจะมองพลาดไป หรือละเลยความหมายจริงๆ ของมัน โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดียที่มีอิธิพลมากในปัจจุบัน
‘Facebook’ ในจินตนาการของคนที่กำลังเสพติด มองว่า จำนวนไลก์ปริมาณมหึมามีความหมาย มีค่ามากพอๆ กับเงินทองเพราะสามารถสร้างอัตลักษณ์ที่ดีและเป็นที่ยอมรับของเราได้ ลองนึกภาพตามว่า ในทุกๆ 100 ไลก์ที่เราได้ เหมือนเป็นการเพิ่มความมั่นใจในตัวเองขึ้นอีก 900 มก. ขณะที่ราวๆ 5% ของคนติดโซเชียลมีเดีย(หรืออาจมากกว่านั้น) เป็นเพราะโรค FoMO (Fear of Missing Out) โรคที่กลัวว่าจะพลาดอะไรบางอย่างไป
ที่สำคัญ ยังมีบางคนที่คิดว่า Facebook เป็นวิธีแก้ปัญหาแบบชั่วคราว ที่ช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้
ดังนั้น ความคิดเหล่านี้จากคนที่ใช้ Facebook ในปัจจุบัน จึงไม่เซอร์ไพรส์ที่เราจะเห็นปรากฏการณ์ ‘Phubbing’ (phone + snubbing) หรือพูดง่ายๆ คือ ‘สังคมก้มหน้า’ ที่เราได้ยินกันมานานนั่นแหละ
โดยผู้เชี่ยวชาญมองด้วยความเป็นห่วง เพราะพฤติกรรมและความเชื่อแบบนี้ อาจทำให้เด็กอายุน้อยๆ เติบโตขึ้นมาแบบ ‘ไร้เหตุผล’ และมันเป็นการทำลายระบบสังคมบางอย่างถ้าเรามีเด็กแบบนี้ในปริมาณมากๆ ในอนาคต ที่สำคัญมีส่วนทำให้ ‘โรคซึมเศร้า’ เพิ่มจำนวนขึ้นด้วย
‘Instagram’ น้ำเกลือที่บิดเบือนความจริง
ไม่ใช่แค่ Facebook ที่หลายๆ คนกังวลเกี่ยวกับการบิดเบือนสังคม และทำให้เสพติดเกินไป เพราะอีกหนึ่งโซเชียลมีเดียสุดฮิตอย่าง ‘Instagram’ ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่หลายๆ คนกำลังเป็นห่วง เพราะส่วนใหญ่คอนเทนต์ที่โพสต์มักจะเป็นการบิดเบี้ยวความจริง
เช่น แคปชั่นว่า ‘ฉันเพิ่งตื่น’ แต่ภาพที่โชว์คนอื่นเหมือนกับว่า ‘เราพร้อมปาร์ตี้’ มากกว่า มันอาจฟังดูไม่ซีเรียสขนาดนั้น แต่ในระยะยาวรู้หรือไม่ว่า พฤติกรรมแบบนี้มีแนวโน้มทำให้เราเป็นคนหดหู่กับอะไรง่ายๆ หรือไม่ก็วิตกกังวลมากขึ้น ซึ่งจากที่สำรวจมา 70% ของคนที่ใช้ Instagram รู้สึกกังวลง่ายขึ้น
ลองคิดภาพตาม สมมุติว่าเราบิดเบือนความจริงบ่อยๆ ไม่ได้ใช้ภาพตื่นนอน(ตามความจริง) แต่ใช้ภาพที่ผ่านการแต่งหน้าบางๆ มาแล้ว ผลลัพธ์ก็คือ เราจะกังวลว่าหน้าตาเราเวลาตื่นนอนจริงๆ จะไม่เหมือนในรูปภาพที่เราใช้ในสื่อโซเชียล ซึ่งนี่แหละคือ การบิดเบี้ยวความจริง ‘ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม’
เซรั่ม ‘Youtube’ (อาจ) เพิ่มลัทธิหัวรุนแรงขึ้น
Youtube ถือว่าเป็นหนึ่งในโซเชียลมีเดียที่มีความบันเทิงที่หลากหลายมาก ทั้งมีประโยชน์ คลายเครียด หรืออัพเดทกระแสเพลงต่างๆ แม้แต่ใช้เพื่อเสพคลิปวิดีโอที่มี ‘ความรุนแรง’ ก็ตาม
ด้วยความที่เป็นสื่อกลางที่ใครๆ ก็ใช้ได้ง่าย เข้าถึงง่าย สะดวกสบาย ทำให้วิดีโอที่สะท้อนความรุนแรงจากเหตุการณ์ต่างๆ สะสมให้ผู้ที่ใช้ Youtube บ่อยๆ มีแนวโน้มที่จะเข้าถึง ‘ลัทธิหัวรุนแรง’ ซึ่งคำว่า ‘ลัทธิ’ ในความหมายที่พูดไม่ได้หมายถึง กลุ่มหรือถึงขั้นก่อตั้งเป็นสมาคมอะไรแบบนั้น แต่มันคือ กลุ่มคนประเภทหนึ่งที่นิยมใช้ความรุนแรง (โดยที่ไม่รู้ตัว)
โดยงานวิจัยได้พูดถึง Youtube ว่าเป็นตัวแปรที่บ่มเพาะพฤติกรรมแบบนี้ 100% เปรียบเสมือนเซรั่มชนิดหนึ่งที่ยิ่งเสพ ยิ่งบ่มเพาะความรุนแรงในตัวเอง ลองคิดดู ถ้าวันหนึ่งเราเสพความรุนแรงมากขึ้นไม่ว่าจะรูปแบบไหน หรือแม้แต่ละครโทรทัศน์ก็ตาม จนเกินขีดจำกัดที่ควรเสพ เรา(อาจ) กลายเป็นอีกหนึ่งคนที่ชอบความรุนแรงไม่รู้ตัว
เพราะความรุนแรงมีหลายแบบแตกแขนงย่อยๆ อีกเยอะ แม้แต่ ‘คำพูดที่ใช้ถากถาง’ ก็ถือว่าเป็น ความรุนแรงประเภทหนึ่งเหมือนกัน
วิวัฒนาการของสังคมแบบนี้ นับวันยิ่งน่าเป็นห่วง หากเราไม่รู้จักคิดวิเคราะห์ พิจารณา หรือไตร่ตรองก่อนเชื่ออะไรก็ตามที่เห็น เราจะยิ่งเสพติดโบท็อกซ์ตัวช่วยพวกนี้ได้ง่าย
สุดท้ายสำหรับคนที่ชอบคอนเซ็ปต์การเล่าเรื่อง หรือให้ความหมายของแบรนด์ด้วยภาพ งานอาร์ตๆ แบบนี้ ลองเข้าไปดูที่ลิงก์นี้ ผลงานเพิ่มเติมของ Kenan Abdulghani
ทั้งนี้ ทุกสิ่งล้วนมีสองด้านเสมอ รวมถึง Social Media ก็เช่นกัน ด้านดีๆก็มีมากมาย สำหรับการเรียนรู้ และสร้างความบันเทิง หากเรารู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ และรู้ถึงโทษของมัน ก็จะใช้งานได้อย่างไม่ต้องกังวล และไอเดียการนำเสนอนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของไอเดียส่วนตัวของ Kena Abdulghani ไม่ได้อิงกับแบรนด์ หรือเหตุการณ์ใดๆ
ที่มา: behance, webmd, borntobeworthless