ไอเดียคนไทยถูกพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า…ไม่แพ้ชาติใดในโลก! และไม่ใช่แค่ 1 หรือ 2 ครั้ง แต่เรามักได้ยินได้เห็นข่าวคราวความสามารถของคนไทยปรากฏอยู่บนเวทีนานาชาติอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอความคิด นวัตกรรม หรือแม้แต่การประดิษฐ์อุปกรณ์เพื่อมอบประโยชน์เติมเต็มการใช้ชีวิต
ท่ามกลางไอเดียเจ๋งๆ ที่เกิดขึ้นมากมายในยุค Startup หรือสมัย Digital Transformation ตามแต่ใครจะเรียกนี้ ต้องถามว่าในขณะที่มีแต่เวทีสนับสนุนความคิดจนจำชื่อโครงการประกวดได้ไม่หมด แล้วมีหน่วยงานใดรับเป็นเจ้าภาพ “พื้นที่” ต่อยอดและเปิดโอกาสให้ความคิดเหล่านั้นได้มีพื้นที่แจ้งเกิดอย่างถาวร หรือรองรับความเจริญทางเทคโนโลยีด้วยการผสานไลฟ์สไตล์ชีวิตแบบไทยๆ เข้าด้วยกันบ้าง?
เหมือน Pain Point นี้จะกลายเป็นไอเดียให้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ต่อยอดสู่การพัฒนาพื้นที่ย่านสยามสแควร์และปทุมวันให้มีประสิทธิภาพพร้อมตอบสนองนโยบายด้านนวัตกรรม สู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านโครงการ SID (Siam Innovation District) เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม สอดรับกับการสร้าง CU Innovation Hub ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม
“ทั้ง SID และ CU Innovation Hub เป็นแนวคิดที่มหาวิทยาลัยฯ ต้องการขับเคลื่อนภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 พร้อมส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ รวมถึงสตาร์ทอัพ เพื่อสานต่อวิสัยทัศน์ของจุฬาลงกรณ์สู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติในระดับโลก ผ่านการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อคนไทยเพื่อสังคม” ศาสตราจารย์ บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายแนวคิดโครงการดังกล่าว
ตั้งเป้า…ชุมชนอุดมปัญญา
สิ่งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องการจากทั้ง 2 โครงการข้างต้น ไม่ใช่แค่เรื่องสร้างการรับรู้ว่าทางมหาวิทยาลัยฯ กำลังดำเนินการอะไรและทำเพื่อวัตถุประสงค์ใด แต่ยังรวมถึงการสร้างคุณค่าแก่สังคมซึ่งเริ่มตั้งแต่พื้ทำเลละแวกมหาวิทยาลัยและพื้นที่ใกล้เคียง ภายใต้การสนับสนุนเทคโนโลยีให้พัฒนาควบคู่ไปกับการสร้างสังคมคุณภาพอย่างยั่งยืน การใช้ชีวิต การเรียนรู้ และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ทั้งผู้พัฒนาและชุมชน
เชื่อมโยงระบบนิเวศน์ทางนวัตกรรม
นอกจากสนับสนุนการนำเสนอไอเดียด้านเทคโนโลยีแล้ว CU Innovation Hub ยังช่วยสร้างระบบนิเวศน์ทางนวัตกรรมที่เชื่อมโยงความเชี่ยวชาญ งานวิจัย ความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิเคราะห์ และการสร้างผู้ประกอบการ จากการเฟ้นหาและส่งเสริมนักสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศไทยในอนาคต
โดยหลักของ CU Innovation Hub จะเน้นให้ความสำคัญกับรายละเอียด 4 ด้าน คือ Aging Society สังคมผู้สูงอายุ , Digital Economy & Robotics เศรษฐกิจแบบดิจิทัลและระบบหุ่นยนต์ , Sustainable Development การพัฒนาอย่างยั่งยืน และ Inclusive Community & Smart City ชุมชนที่มีส่วนร่วมและเมืองอัจฉริยะ
ไม่ปิดกั้นโอกาส หวังพัฒนาสังคมอย่างเป็นรูปธรรม
อย่างที่เกริ่นข้างต้นว่าขณะนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทั้งในสถาบันการศึกษาและสังคม ทำให้มีโครงการ SID เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมนอกรั้วมหาวิทยาลัยไปพร้อมกัน ภายใต้การสนับสนุนและพัฒนาพื้นที่ย่านสยามสแควร์และปทุมวัน จากแหล่งช้อปปิ้งสู่เมืองนวัตกรรมต้นแบบแห่งการพัฒนา พร้อมพันธกิจ 4 ประการ ได้แก่ การเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรม (Industry Liason) , ตลาดนัดนวัตกรรม (Marketplace) , ชุมชนนวัตกรรมแห่งอนาคต (Futurium) และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Talent Building) ถือเป็นโครงการผลักดันนวัตกรรมรุ่นใหม่ให้มีพื้นที่ในการจัดแสดงผลงาน ทั้งยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความร่วมมือทางธุรกิจ ตลอดจนโครงการต้นแบบในการนำนวัตกรรมไปต่อยอดใช้งาน เพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยอีกด้วย.