ทำความรู้จัก NFT Art ศิลปะบนโลกออนไลน์ โอกาสใหม่ของศิลปินยุคดิจิทัล

  • 150
  •  
  •  
  •  
  •  

เป็นกระแสที่พูดถึงไม่น้อยเลยในช่วงที่มีการเติบโตของ Cryptocurrency สำหรับ NFT Art  ซึ่งมีหลายคนก็มองว่า เป็นโอกาสของงานศิลปะที่มาพบกับโลกดิจิทัล ในขณะที่บางคนก็มองว่า อาจจะเป็นเพียงแค่การปั่นราคาของสิ่งของเท่านั้น ดังนั้น เราจะลองมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ NFT Art กันว่าคืออะไร ส่วนจะปั่นกระแสจริงหรือไม่ขอให้ผู้อ่านเป็นผู้ตัดสินใจเอง

 

สำหรับ NFT Art หรือเรียกอีกอย่างว่า Non-Fungible Token (NFT) เป็นชื่อเรียกของเหรียญ (Token) Cryptocurrency ประเภทหนึ่งที่ใช้แทนความเป็นเจ้าของหรือสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ต่างๆ โดยสินทรัพย์ดังกล่าวนั้นจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นงาน ศิลปะดิจิทัล ภาพ Meme เพลง ดนตรี หรือแม้แต่โพสต์บน Twitter ก็ตามที

 

ทั้งนี้ NFT กลายเป็นคำที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง และได้รับความสนใจจากเหล่านักลงทุนรุ่นใหม่ เมื่อ Jack Dorsey ผู้ก่อตั้ง Twitter ซึ่งเขาประกาศขายทวีตแรกของตนเองในรูปแบบ NFT โดยสามารถปิดราคาที่ 2.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 90 ล้านบาท

 

สำหรับ NFT ถูกใช้ผูกโยงกับข้อมูลดิจิทัล (jpg, png, gif, mp3, mp4 ฯลฯ) เพื่อยืนยันการมีอยู่หนึ่งเดียวของไฟล์ข้อมูลนั้น โดยอาศัยรหัสเฉพาะตัวของ NFT เพื่อผูกโยงไฟล์ดิจิทัลผ่านระบบ blockchain

 

ในมุมนี้ NFT คล้ายกับการเป็นใบรับรองความจริงแท้ของไฟล์ข้อมูลในโลกดิจิทัล แต่ถ้าหากเรามองว่าความหมายของความจริงแท้ และการมีอยู่หนึ่งเดียวผสานเป็นเนื้อเดียวกับสิ่งของกายภาพตั้งแต่ต้น NFT ควรจะถูกมองว่าทำหน้าที่ที่มากไปกว่านั้น เพราะหากไม่มีตราสัญลักษณ์นี้ความจริงแท้ และมีหนึ่งเดียวอาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยในโลกดิจิทัล โลกที่การแก้ไข และการทำซ้ำข้อมูลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ

 

ในขณะที่ NFT art เป็นงานศิลปะในรูปแบบไฟล์ดิจิทัลที่ถูกผูกโยงกับ NFT ลักษณะเฉพาะของ NFT art คือรายละเอียดการซื้อขายงานศิลปะประเภทนี้ (เช่น ผู้ซื้อ ผู้ขาย ราคา) จะถูกบันทึกลงไปในระบบ blockchain ลักษณะพิเศษของระบบกระจายอำนาจในการประมวลข้อมูลนี้ทำให้ข้อมูลการซื้อขายไม่สามารถถูกแก้ไขหรือถูกลบออกจากระบบได้ การซื้อขายงานศิลปะในรูปแบบใหม่นี้เกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งผลงานศิลปะไม่สามารถถูกจับต้องได้ (intangible) การซื้อขาย และสะสมเกิดขึ้นผ่าน application หรือ web browser บนหน้าจอดิจิทัลเท่านั้น

 

ในเรื่องการถูกผลิตซ้ำนั้น งานศิลปะดิจิทัล ก็เช่นเดียวกับไฟล์ดิจิทัลอื่นๆ ก็คือสามารถทำซ้ำได้จากการ copy-paste, save as, screenshot ซึ่งจุดนี้เองทำให้เกิดการคัดลอกผลงาน และอ้างความเป็นเจ้าของได้ง่ายกว่า ผลงานศิลปะแบบปกติ ทำให้ส่วนใหญ่จะเข้าระบบ Blockchain เพราะถ้า NFT เก็บอยู่ในดาต้าเซ็นเตอร์แบบเดิมๆ ก็จะทำให้ไฟล์ผลงานมีโอกาสสูญหายหรือเปลี่ยนแปลงได้

 

ดังนั้น การเข้าสู่ระบบ Blockchain ของ NFT ทำให้การซื้อขายเป็นสิ่งที่คนทั้งระบบเห็นได้ และรู้ได้ว่าใครเป็นคนสร้างใครเป็นเจ้าของ และเกิดการซื้อขายขึ้นตอนไหน และของจริงคือชิ้นไหน ดังนัน งานศิลปะที่เชื่อมต่อกับ NFT จึงถูกเรียกว่า NFT Art หรืออีกในอีกชื่อหนึ่งว่า Crypto Art นั่นเอง โดยที่ NFT Art สามารถแบ่งสิทธิ์ในตัวผลงานได้หลายแบบ ตั้งแต่เป็นเจ้าของ 100% หรือมีสิทธิ์แค่นำออกโชว์ เช่นเดียวกับการซื้อขายงานศิลปะจริงๆ

 

สำหรับผลงาน NFT Art ที่ดังๆ มีหลายชิ้นที่น่าสนใจ ซึ่งเราขอหยิบตัวอย่างขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อความเข้าใจ ดังนี้

“Disaster Girl” ภาพมีมอันโด่งดังบนโลกออนไลน์ ถูกนำมาขายในรูปแบบ NFT มูลค่าราว 15 ล้านบาท

ผลงาน NFT ART “Everydays: The First 5000 Days” โดย Beeple สามารถขายได้ 3 ล้านดอลลาร์ (ติดตามผลงานได้ที่ Facebook Beeple https://www.facebook.com/beeple) โดยประมูลผ่าน Christie’s

หรือแม้แต่แบรนด์อย่าง Pringles ก็โดดร่วมวงเช่นกัน (อ่านข่าวเพิ่มเติม Pringles โชว์รสใหม่ “CryptoCrisp” ขายเวอร์ชวล-พิเศษเฉพาะชาวโทเคน)

 

View this post on Instagram

 

A post shared by Pringles (@pringles)

 

นอกจากผลงานอันโด่งดังด้านบนแล้ว ก็ยังมีอีกหลายผลงานที่เดียวที่สร้างเนื้อสร้างตัวให้ศิลปินจากที่ไม่มีอะไรเลย กลายเป็นเศรษฐีในเวลารวดเร็ว

 

ขณะที่ NFT Art ประเทศไทย ก็มีพัฒนาการที่น่าสนใจมากขึ้นทีเดียว และศิลปินทั้งที่มีชื่อเสียงและกำลังดังก็เริ่มมองเป็นช่องทางใหม่ในการมีตัวตนบนดิจิทัล แล้วยังเป็นช่องทางในการเพิ่มรายได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย

 

ตอนนี้เท่าที่สำรวจศิลปินไทยเข้าสู่วงการ NFT Art อาทิ คุณวิธิต อุตสาหจิต หรือ บก.วิติ๊ด จากการ์ตูนขายหัวเราะ ซึ่งมีผลงานที่เป็นตำนานมากมายและขายได้เป็นเงินจำนวนหลายล้านบาททีเดียว

 

นอกจากนี้ ก็ยังมีศิลปินคนดังอีกหลายคนทีเดียว อาทิ YOUNGOHM, MAMAFAKA, Art of Hongtae, น้าเน็ก, ชาติฉกาจ ไวกวี, แต้ว ณฐพร, Phannapast, และ 4EVE เป็นต้น

 

เรียกได้ว่าตลาด NFT เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากในยุคดิจิทัล และเป็นการมาพบเจอกันระหว่างสองศาสตร์ ได้แก่ ความเป็นดิจิทัล และความเป็นศิลปะ


  • 150
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!