โอกาสจาก 5G + AI มูลค่า 4.7 ล้านล้านบาท ที่ไทยต้องรีบคว้า สรุปงานวิจัยล่าสุดจาก ม.ดัง สิงคโปร์ 

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

โอกาสทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลจาก 5G และ AI กำลังรออยู่ตรงหน้า เพราะมันคือเทคโนโลยีที่จะเป็น “โครงสร้างพื้นฐาน” ที่จะมาช่วยพลิกธุรกิจและยิ่งกว่านั้นยังสามารถฟื้นเศรษฐกิจของประเทศได้ ดังนั้นประเทศไทยรวมไปถึงภูมิภาคอาเซียนจะต้องเร่งหาทางใช้เทคโนโลยี 5G และ AI ให้ได้ประโยชน์กับเศรษฐกิจให้สูงที่สุด

ล่าสุดงานวิจัยเรื่อง “Leveraging 5G to Accelerate AI-Driven Transformation in ASEAN” จาก Lee Kuan Yew School of Public Policy (LKYSPP) สิงคโปร์ เปิดตัวเลขที่น่าสนใจนั่นก็คือเทคโนโลยีนี้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิกภายในปี 2030 มากกว่า 130,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4.7 ล้านล้านบาท จาก 5G เพียงอย่างเดียว

คำถามสำคัญคือโอกาสนี้ใหญ่แค่ไหน? และไทยต้องทำอะไรบ้างเพื่อคว้าโอกาสในสมรภูมิดิจิทัลนี้? Marketing Oops! สรุปมาให้อ่านกันแบบเข้าใจง่ายๆในบทความนี้

5G คือ “รากฐาน” ปลดล็อกพลัง AI

หลายคนอาจคิดว่า 5G แค่ทำให้ดูวิดีโอเร็วขึ้น หรือโหลดไฟล์ ส่งรูปให้กันเร็วขึ้น แต่ความจริงแล้ว 5G เป็นมากกว่านั้นอธิบายง่ายๆ ก็เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเทคโนโลยี AI ให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ลองนึกภาพตามว่า 5G และ AI จะทำให้ “โรงงานอัจฉริยะ” ที่เครื่องจักรคุยและสั่งงานกันเอง ได้ ทำให้เกิด “เกษตรแม่นยำ” ที่ใช้โดรนและเซ็นเซอร์ส่งข้อมูลเรียลไทม์ให้ AI วิเคราะห์เพื่อเพิ่มผลผลิต เกิด “การแพทย์ทางไกล” ที่หมอสามารถผ่าตัดคนไข้ข้ามจังหวัดผ่านหุ่นยนต์ ไปจนถึง “การศึกษา” ที่นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าเรียนในห้องเรียนเสมือนจริง (VR/AR) ได้

ในรายงานฉบับนี้ยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นจริงแล้วที่ “ท่าเรือ Tuas” ของสิงคโปร์ ที่กลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์อัตโนมัติเต็มรูปแบบ ขับเคลื่อนด้วย AI และ 5G ทั้งหมด ที่เจ๋งก็คือท่าเรือนี้ “ไม่มีพนักงานทำงานที่หน้าท่าเรือเลยแม้แต่คนเดียว” แต่สามารถจัดการตู้คอนเทนเนอร์ได้กว่า 10 ล้านตู้ในเวลาไม่ถึง 3 ปี นี่คือภาพอนาคตที่จับต้องได้ และเป็นโมเดลที่อาเซียนรวมถึงประเทศไทยควรต้องเรียนรู้และทำตาม

ภาพรวม 5G ในอาเซียน: ใครนำ ใครตาม?

แม้โอกาสจะมหาศาล แต่ความพร้อมของแต่ละประเทศยังต่างกันอยู่ เมื่อเทียบกับประเทศมหาอำนาจในเอเชีย จะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น โดยข้อมูลอัตราการเข้าถึง 5G ในปี 2024 มีดังนี้

  • จีน: 55.1%
  • สิงคโปร์: 48.3%
  • มาเลเซีย: 40.2%
  • ไทย: 27.0%
  • อินเดีย: 22.4%
  • ฟิลิปปินส์: 15.5%
  • เวียดนาม: 10.2%
  • กัมพูชา: 2.5%

ตัวเลขนี้บอกเราว่า แม้ไทยจะเป็นผู้นำในกลุ่มอาเซียน แต่เมื่อเทียบกับจีน เรายังมีช่องว่างให้เติบโตอีกมาก และในมุมระดับภูมิภาคอาเซียนก็ยังมีความเหลื่อมล้ำกันมากถ้าทั้งภูมิภาคไม่เร่งเครื่อง อาจถูกทิ้งห่างจากเวทีโลกได้

10 ความท้าทายเร่งด่วนที่อาเซียนและไทยต้องแก้

รายงานชี้ให้เห็น 10 อุปสรรคสำคัญที่ต้องรีบแก้ไขอยู่ด้วยนั่นก็คือ

  1. ขาดผู้นำที่ชัดเจน: ยังไม่มีเจ้าภาพหลักที่ประสานงานเรื่องนี้ในระดับประเทศ
  2. มอง 5G เป็นแค่เรื่องโทรคมนาคม: ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันคือตัวเร่งพลังให้ AI
  3. โครงสร้างพื้นฐานยังไม่ครอบคลุม: โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทและนิคมอุตสาหกรรม
  4. SMEs เข้าไม่ถึง: เครือข่าย 5G ส่วนตัว (Private 5G) ที่จำเป็นสำหรับ Industry 4.0 ยังมีน้อย
  5. ขาดแคลนทักษะ: คนยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่อง 5G และ AI
  6. ปัญหาราคาคลื่นความถี่: นโยบายยังไม่เอื้อต่อการลงทุนและนวัตกรรมเท่าที่ควร
  7. ต่างคนต่างทำ: ขาดความร่วมมือในระดับภูมิภาค ทำให้ขยายสเกลได้ยาก
  8. ความปลอดภัยไซเบอร์: ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลและต้องสร้างความเชื่อมั่น
  9. เอกชนพร้อมลงทุน: แต่ยังรอนโยบายที่ชัดเจนจากภาครัฐ
  10. เวลาเหลือน้อย: ถ้าไม่ลงมือทำวันนี้ อนาคตอาจต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติและพลาดโอกาสสำคัญไป

5 สิ่งที่ไทยและอาเซียน “ต้องทำ” ทันที!

เพื่อปลดล็อกศักยภาพมหาศาลนี้ รายงานฉบับนี้ก็เสนอ 5 กลยุทธ์สำคัญที่ต้องเร่งลงมือทำด้วยนั่นก็คือ

  1. สร้าง “ยุทธศาสตร์ชาติ 5G-AI” (2025-2030) สำหรับไทยต้องมีแผนงานที่ชัดเจนว่าจะส่งเสริมการใช้ 5G และ AI ในภาคธุรกิจ (Enterprise) อย่างไร โดยเฉพาะในภาคการผลิต, เกษตร, และสุขภาพ เพื่อสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้าง ไม่ใช่แค่ผู้บริโภคทั่วไป
  2. ตั้ง “หน่วยงานเฉพาะกิจ” ดูแลเรื่อง 5G-AI โดยตรงควรมีหน่วยงานกลางทำหน้าที่วางแผน, จัดการคลื่นความถี่, และเร่งให้เกิดการใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการทำให้ SMEs เข้าถึง “Private 5G” ได้ง่ายขึ้น
  3. มี “นโยบายคลื่นความถี่” ที่มองการณ์ไกลมากกว่านี้ : เราทำได้ดีในการจัดสรรคลื่นความถี่ไปแล้ว แต่ต้องรักษาโมเมนตัม และนำรายได้จากการประมูลกลับมาลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรม 5G-AI ต่อไป
  4. ส่งเสริม “ความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน” (PPP) จำเป็นต้องต้องดึงทั้งภาครัฐ, ผู้ให้บริการเครือข่าย (AIS, True, NT), บริษัทเทคโนโลยี, และมหาวิทยาลัย มาร่วมกันสร้าง Ecosystem ที่แข็งแกร่ง ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ไปจนถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์
  5. ใช้ “KPIs ที่ชัดเจน” เพื่อวัดผลต้องมีตัวชี้วัดที่จับต้องได้เพื่อติดตามความคืบหน้าว่าประเทศเราพร้อมสำหรับยุค 5G-AI แค่ไหนแล้ว เพื่อให้สามารถปรับกลยุทธ์ได้ทันท่วงที

อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย 5G และ AI ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแต่การจะทำให้เป้าหมายเหล่านี้นี้เป็นจริงได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยการลงมือทำอย่างจริงจังทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค จำเป็นต้องมีการวางแผนเชิงกลยุทธ์อย่างรอบคอบ มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริง

รายงานฉบับสมบูรณ์ความยาว 148 หน้า และบทสรุปสำหรับผู้บริหาร สามารถดาวน์โหลดได้ที่  ลิงค์นี้ ซึ่งผลการวิจัยนี้ไม่เพียงแต่เป็นแนวทางเชิงกลยุทธ์สำหรับผู้กำหนดนโยบายเท่านั้น แต่เป็นอีกหนึ่งเสียงเรียกร้องให้สถาบันต่างๆ ในภูมิภาคทำอะไรซักอย่างเพื่อคว้าโอกาสจาก 5G + AI เพื่ออนาคตของคนไทยและสมาชิกอาเซียน 700 ล้านคนต่อไป


  •  
  •  
  •  
  •  
  •