From Lab to Life เมื่อ IBM ใช้ AI ออกแบบโลกใบใหม่ของธุรกิจ 

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

การเข้ามาของ AI เริ่มกลายเป็น “Norm” หรือบรรทัดฐานในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลก เช่นเดียวกับภาคธุรกิจที่เริ่มนำ AI มาใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ สินค้า และบริการมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นคือ เมื่อทีมวิจัยและพัฒนาของไอบีเอ็มได้ศึกษางานวิจัยจากห้องแล็บ และนำมาประยุกต์ใช้เพื่อพลิกโฉมกระบวนการธุรกิจจาก ‘โลกวิทยาศาสตร์’ ไปสู่ธุรกิจระดับโลก จากเรื่องราวของของ

คุณเตโอโดโร ไลโน (Teodoro Laino) ผู้จัดการอาวุโส RSM, IBM Labs สวิตเซอร์แลนด์ บนเวที Global Stage ใน Session “From Lab to Life: Learn from IBM Lab” ในงาน Asset Wise presents Marketing Oops! Summit 2025 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา

ก่อนเข้าสู่การวิจัยและปฏิบัติในห้องแล็บของไอบีเอ็ม คุณเตโอโดโรได้เกริ่นแนะนำตัวเองและทีมวิจัยว่าได้ศึกษาในด้านนี้มานานกว่า 10 ปี พร้อมเห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกคอมพิวเตอร์พื้นฐานไปสู่แพลตฟอร์มโมเดล AI

วิวัฒนาการของ AI และแนวทางการใช้งานในปัจจุบัน

จากวิวัฒนาการของรูปแบบแบบจำลอง AI แบบดั้งเดิม ไปสู่การฝึกอบรม การสร้างแบบจำลองพื้นฐาน มาจนถึง AI Agent การนำข้อมูลขนาดใหญ่ออกไปสู่ภายนอก เพื่อนำไปใช้ทำงาน (Task) และสร้างรูปแบบและเครื่องมือในรูปแบบขั้นตอนการทำงาน (Workflow) จนถึงรูปแบบบทสนทนาที่เฉลียวฉลาดมาจนถึงในตอนนี้ AI มีหลากหลายโมเดล และให้บริการอยู่บนคลาวด์หลากหลาย ซึ่งมี 3 แนวทางหลัก คือ

  • การสร้างโมเดล (AI) ของตัวเอง
  • การทำงานร่วมกับบุคคลที่สาม (Third-Party)
  • การเปิดใช้ร่วมกับโมเดล (AI) อื่นๆ

รวมถึงการใช้โมเดล (AI) อื่นๆ จาก Third-Party ในหลากหลายรุ่นบนเครือข่ายคลาวด์ เพื่อใช้งาน AI ในแบบธุรกิจของตัวเอง ไปจนถึงการใช้ AI มาขับเคลื่อนนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Driven Luxury) ในปัจจุบัน

บทบาทของ IBM Labs ในการวิจัยและพัฒนา AI สำหรับวัสดุศาสตร์

ตัดภาพมายังการทำงานในแล็บของ IBM คุณเตโอโดโรและทีมทำการวิจัยเกี่ยวกับวัสดุศาสตร์ในโปรเจกต์ ‘IBM Foundation Models for Materials (FM4M)’  ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ AI/ML โดยเฉพาะเพื่อเร่งการออกแบบและวิจัยวัสดุใหม่ โดยใช้โครงสร้างโมเลกุลหรือสารตั้งต้นเป็นอินพุต (Input)

เพื่อให้ได้ผลทดลองจากการใช้โมเดล AI ในการทำนายคุณสมบัติของวัสดุด้านต่างๆ เพื่อคัดกรองความเหมาะสมและคุณสมบัติของวัสดุที่นำมาใช้งาน ไปจนถึงใช้เปรียบเทียบกับข้อมูลจากการทดลอง หรือตรวจสอบโครงสร้างที่ได้ว่ามีแนวโน้มถูกต้อง คุณเตโอโดโรยังเล่าถึงการทำงานของแพลตฟอร์ม AI ที่ถูกนำมาใช้คาดการณ์ปฏิกิริยาเคมีที่ IBM พัฒนาขึ้นในโครงการที่เกี่ยวข้องกับ AI-driven chemical synthesis (การสังเคราะห์ทางเคมีโดยใช้ AI) อีกด้วย

AI กับการพลิกโฉมอุตสาหกรรมความงามสู่ความยั่งยืน

จากหลักการทำงานของ AI ในห้องวิจัยไอบีเอ็มตลอดช่วงที่ผ่านมา ยังนำไปสู่ Use Case ที่เกิดขึ้นจริงระหว่างโลกวิทยาการและความงามในตลาดผลิตภัณฑ์และความงามเป็นครั้งแรกของโลกด้วย

จากความร่วมมือระหว่าง IBM Research และ ลอรีอัล (L’Oréal) แบรนด์ความงามระดับโลก ในโปรเจกต์ “AI for Green Chemistry in Beauty” โดยไอบีเอ็มได้นำแพลตฟอร์มและกระบวนการทาง AI และ Foundation Models เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ความงามลอรีอัลตลอดกระบวนการได้อย่างยั่งยืน ตั้งแต่สูตรเครื่องสำอาง (Cosmetic Formulations) ไปจนถึงการเสาะหา/คัดเลือกวัตถุดิบ จากโครงการ IBM Foundation Models for Materials (FM4M) เพื่อขับเคลื่อน Green Chemistry ในอุตสาหกรรมความงาม

หากแกะสินค้าสำหรับผู้บริโภคออกมาดู ยังสามารถอธิบายได้ในทางวิทยาศาสตร์ทั้งแหล่งที่มาของสูตร CGP ที่เป็นธรรมชาติ และยังสามารถตรวจสอบรายชื่อส่วนผสมที่มีปริมาณและลักษณะทางกายภาพ/ทางเคมี ไปจนถึงการตรวจรับรองประสิทธิภาพตามมาตรฐานอีกด้วย

คุณเตโอโดโรทิ้งท้ายใน Session นี้ถึงบริบทใหม่ในอุตสาหกรรมความงามเมื่อมาพบกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะการใช้ Foundation Model embeddings ของ AI มาสร้างเป็น “ภาษากลาง” ของข้อมูลผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยให้แบรนด์สามารถเปรียบเทียบและถ่ายโอนข้อมูลข้ามสูตร พื้นที่ หรือกลุ่มผู้ใช้ได้อย่างชาญฉลาด โดยไม่ต้องเริ่มวิจัยใหม่ทุกครั้ง

และทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสามารถอันชาญฉลาดจากงานวิจัยในห้องแล็บของ IBM ที่นำมาสู่ผลลัพธ์จริงในโลกธุรกิจ ที่ยังต่อยอดจากชุดข้อมูลขนาดใหญ่ที่ AI กุมเอาไว้อยู่ในมือ (คลาวด์) อีกด้วย


  •  
  •  
  •  
  •  
  •