เงินติดล้อร่วมเป็น Business Case เปิดโอกาสให้นักศึกษาโชว์ศักยภาพ วางแผนธุรกิจสินเชื่อผ่านมุมมองคนรุ่นใหม่

  • 9.8K
  •  
  •  
  •  
  •  

รูปแบบการทำ CSR นั้นมีมากมาย หลายองค์กรเน้นการทำธุรกิจพร้อมกับการสร้างสังคมแบบยั่งยืน ซึ่งสิ่งที่จะทำให้สังคมยั่งยืนได้ส่วนหนึ่งก็คือ “การส่งเสริมด้านการศึกษา” ให้แก่เยาวชน บางองค์กรใช้วิธีการสร้างโรงเรียนให้กับเด็กในถิ่นทุรกันดาร บางองค์กรมอบอุปกรณ์การเรียน มอบเครื่องคอมพิวเตอร์ และบางองค์กรก็ให้ทุนการศึกษา มีรูปแบบสนับสนุนเด็กและเยาวชนให้เป็นอนาคตที่ดีของชาติมากมาย แต่มีองค์กรหนึ่งสร้างงาน CSR ในรูปแบบให้การศึกษาได้น่าสนใจ

เป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่จาก บริษัทสินเชื่ออย่าง “เงินติดล้อ” ที่หลังการ Rebranding ครั้งใหญ่แล้ว ทำให้ภาพลักษณ์ดูทันสมัยและดูน่าเชื่อถือมากขึ้น แต่ยังคงความเป็นกันเองและเข้าถึงง่ายเช่นเดิม ทำให้ “เงินติดล้อ” เป็นบริษัทไมโครไฟแนนซ์ที่มาแรงและน่าจับตามองอย่างมาก (คลิกอ่านข่าวเพิ่มเติมกับการ Rebranding เงินติดล้อ)

01

ล่าสุด “เงินติดล้อ” ได้เข้าร่วมโครงการ The Challenger 2016 by TUBC ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หลักสูตรนานาชาติ ระดับปริญญาตรี ซึ่งความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่การเข้าร่วมเป็นสปอนเซอร์สนับสนุนโครงการ ทว่าอยู่ที่การได้เป็นโจทย์ทางธุรกิจในการแข่งขัน ซึ่งแน่นอนว่าส่วนหนึ่งคือการสร้างงาน CSR เพื่อการศึกษา แต่อีกส่วนหนึ่งคือกลยุทธ์สำคัญของการ Rebranding ครั้งใหญ่ ซึ่ง Marketing Oops! มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล หรือ คุณหนุ่ม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด ซึ่งเผยความเป็นมาและประโยชน์ที่ได้รับจากการร่วมโครงการดังกล่าว

จุดเริ่มต้นของการเข้าร่วมเป็น Business Case ในการแข่งขัน

102

คุณหนุ่ม เล่าว่า เขาเป็นศิษย์เก่าของคณะพาณิชย์ มธ. และเคยได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขัน ในโครงการ TUBC มาก่อน มาถึงตรงนี้เขาจึงมองว่าเป็นโอกาสอันดีที่ได้เปิดตัวกับคนรุ่นใหม่หลังจากที่ได้ทำการ Rebranding แล้ว เพื่อที่จะได้เล่าเรื่องราวของแบรนด์เราให้ฟังในอีกรูปแบบหนึ่งมากกว่าเพียงแค่การทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ เราเลยคิดว่าการได้มาเป็น Case Study ก็น่าจะเป็นอีกแนวทางที่ดีในการเล่าเรื่องราวของเรา

“นอกจากนี้ การเป็นสปอนเซอร์กิจกรรมของมหาวิทยาลัยมันก็สอดคล้องกับค่านิยมของบริษัท เพราะเราเห็นความสำคัญของคำว่า Sustainability มันไม่มีอะไรยั่งยืนไปกว่าการศึกษา ดังนั้น จึงคิดว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่เราได้เป็นสปอนเซอร์การแข่งขันครั้งนี้ กับสถาบันที่มีชื่อเสียงมากๆ คือ Thammasat Business School และสามารถแชร์เรื่องราวของเราให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น”

มองนอกกรอบผ่านมุมมองเฟรชๆ ของนักศึกษา

103

สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าการได้มาเป็นสปอนเซอร์คือ ทำให้ได้เห็นมุมมองอะไรใหม่ๆ ซึ่งคุณหนุ่มมองว่าบริษัทได้มองเห็นอะไรในภาพกว้างมากขึ้น

“มันดีมากเลยครับ อย่างผมก็อยู่ที่นี่มากว่า 10 ปีแล้ว ดังนั้น ความยากคือเราจะก้าวถอยออกมาอย่างไรเพื่อที่จะมองภาพกว้าง ให้เห็นภาพใหญ่ของมันได้ เพราะส่วนใหญ่เราจะเห็นแต่ปัญหารายวัน คือจะเห็นแต่มุมมองที่แคบลงไปเรื่อยๆ เพราะจะเจอแต่ day to day แต่พอเป็นน้องๆ นักศึกษาที่เขา fresh มาก ซึ่งน่าจะนำความคิดใหม่ๆเหล่านั้น มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับธุรกิจของเราได้ ทำให้เราได้อะไรค่อนข้างเยอะ”

เกณฑ์ในการคัดเลือกทีมที่ชนะ

คุณหนุ่ม ระบุว่าก็จะมีกรรมการในแต่ละห้อง ที่เป็นตัวแทนจากเงินติดล้อ และจากธุรกิจอื่นๆ คอยให้คะแนนตาม Evaluation form แต่ส่วนใหญ่ก็จะดูที่กลยุทธ์และความเป็นไปได้ของแผนที่เสนอมา คือจะต้องมีความบาลานซ์ระหว่าง Innovation Creativity และความเป็นไปได้ โดยต้องนึกถึงธุรกิจหลักของเราด้วย และที่สำคัญคือจะต้องสามารถนำไปพัฒนาต่อได้ และจากโครงการนี้ ยังทำให้มองเห็นถึงศักยภาพของคนรุ่นใหม่ ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าจะกลายเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไปอย่างแน่นอน

“อันหนึ่งคือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล เทคโนโลยีกำลังจะมา ซึ่งจะมาเปลี่ยนแปลงธุรกิจของเรายังไงได้บ้าง และอีกสิ่งหนึ่งคือเรื่อง AEC มีทีมหนึ่งแนะนำให้ไปเมียนมาร์ ก็เป็นจุดที่น่าสนใจมาก ผมว่ามันคือการ going forward ในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน”

เหตุผลในการเลือกเงินติดล้อเป็น Case Study

เราได้ฟังเหตุลที่ “เงินติดล้อ” ตัดสินใจเข้ามาสนับสนุนโครงการการแข่งขันไปแล้ว ลองมาฟังอีกหนึ่งมุมมองว่าทำไมถึงได้เลือกบริษัทผู้ให้บริการไมโครไฟแนนซ์แห่งนี้กันบ้าง ว่าเพราะอะไรถึงต้องเป็น “เงินติดล้อ”

104

อาจารย์ ศุภวัตร ลิขิตธนวงศ์ อาจารย์ที่ปรึกษาการแข่งขัน The Challenger กล่าวว่า ตนเห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และกลุ่มผู้แข่งขันซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาเองก็ยังไม่ค่อยรู้จักธุรกิจประเภทนี้มากนัก จึงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจอย่างมาก แม้ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน ตนยังเห็นว่า “เงินติดล้อ” มีความพิเศษกว่าบริษัทอื่นๆ ตรงที่เป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลสูงมากอีกด้วย

“ในขณะบริษัทอื่นๆ ยังคงเน้นเรื่องผลกำไรของบริษัทเป็นเป้าหมายสำคัญ แต่ของเงินติดล้อเค้ามีมุมมองการสนับสนุนให้คนไทยลดหนี้นอกระบบได้ มี Social Agenda แฝงอยู่ พฤติกรรมทางธุรกิจของเค้าต่างกับที่อื่น เพราะเขาต้องการช่วยให้สังคมดีขึ้นด้วย เช่น การให้ความรู้กับชุมชนเรื่องการออม การวางแผนด้านการเงิน ซึ่งเราไม่เห็นบริษัทอื่นออกมาทำเช่นนี้ มันมีความซับซ้อนของธุรกิจที่ นศ.ส่วนใหญ่ยังไม่เคยเห็น”

4 ทีมผู้ชนะกล่าวชื่นชม “เงินติดล้อ” บริษัทที่เปิดกว้างทางความคิด

ทั้งนี้ ในการแข่งขัน The Challenger 2016 by TUBC มีทีมนักศึกษาร่วมลงแข่งทั้งหมด 162 ทีม จากหลายสถาบัน และสามารถคัดเลือกผู้ชนะได้ทั้งหมด 4 ทีมด้วยกันเพื่อส่งไปลงแข่งเวทีระดับโลกขึ้นไปอีกกับการแข่งในรายการ Thammasat Undergraduate Business Challenge หรือ TUBC ซึ่งเป็นการแข่งขันแก้ไขปัญหาทางธุรกิจระดับนานาชาติ มีผู้เข้าร่วมแข่งขันจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทางด้านธุรกิจทั่วโลกมากมาย ผลปรากฏว่าได้ทีมผู้ชนะ 4 ทีมด้วยกัน ดังนี้ The Protagonist, Ten Consulting, Veritas และ Specter Consulting ซึ่งได้ส่งตัวแทนมากล่าวถึงโครงการนี้ว่า

Specter Consulting – เป็นโจทย์ที่แตกต่างจากครั้งก่อนๆ ปีนี้เป็นอุตสาหกรรมที่ยากและท้าทายมาก แต่พอทำแล้วก็สนุกเพราะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะ “เงินติดล้อ” ซึ่งเรามองว่าเป็นบริษัทที่เปิดกว้างมากๆ เพราะยากมากที่เราจะเห็นว่ามีบริษัทที่กล้าที่จะมาบอกต่อสาธารณะว่าตัวเองมีปัญหาอะไร และเจอปัญหาอะไรอยู่ ที่สำคัญคือ เป็นบริษัทที่เปิดรับทางความคิดมากๆ เพราะกล้าที่จะรับฟังความเห็นจากนักศึกษาอย่างพวกเรา ก็คิดว่าเป็นบริษัทที่เปิดกว้าง กล้ายอมรับไอเดียใหม่ๆ อย่างมาก

Veritas – ตอนแรกที่อ่านเคสก็คิดว่าเป็นอะไรที่ยากมาก เพราะเป็นบริษัทที่ไม่เคยทำมาก่อน เป็น Finance Company ซึ่งเราไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจนี้ แต่เราก็ได้พยายามสร้างแผนทางธุรกิจโดยเน้นไปด้านมาร์เก็ตติ้งมากกว่าทางเทคนิคก็ทำให้การทำงานสนุกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม โดยรวมตนคิดว่า “เงินติดล้อ” เป็นบริษัทที่งบฯ การเงินดีมาก และมีผลประกอบการดีมาตลอด เราก็รู้สึกปลื้มที่ได้มีโอกาสได้นำเสนอไอเดียใหม่ๆ ให้กับบริษัทที่เก่งแบบนี้

Ten Consulting –ในส่วนของ “เงินติดล้อ” ภาพที่เรามองบริษัทนี้ครั้งแรกอาจจะติดลบ แต่พอได้ศึกษาไปเรื่อยๆ เราพบว่า แม้จะเป็นบริษัทที่ต้องการทำกำไร แต่แนวคิดของเขาจริงๆ คือต้องการให้คุณภาพชีวิตของลูกค้าดีขึ้น เลยมีความรู้สึกว่า เขายังพยายามที่จะช่วยเหลือคนด้วย ซึ่งเป็นบริษัทไม่กี่บริษัทที่ทำลักษณะนี้

The Protagonist – ยากมากในความรู้สึก ต้องรีเสิร์ชเยอะมาก แต่ก็ได้ประสบการณ์เยอะมากเช่นกัน กับการทำเคสให้ “เงินติดล้อ” ทำให้เราเปลี่ยนความคิดและได้มุมมองใหม่กับบริษัทสินเชื่อ ซึ่ง “เงินติดล้อ” มีค่านิยมในการทำงานที่ไม่เหมือนใคร และเข้าใจในอุตสาหกรรมประเภทนี้มากขึ้น

105

ให้คำแนะนำในการดำเนินธุรกิจอะไรแก่รุ่นน้อง

หลังจากฟังเสียงน้องๆ กันไปแล้ว รุ่นพี่อย่างคุณหนุ่มก็มีคำแนะนำที่น่าสนใจอยากจะฝากเอาไว้ว่า เราเห็นเทรนด์ของเด็กจบใหม่หลายคนอยากจะเป็น Start Up อยากจะร่วมงานกับกลุ่ม Start Up รุ่นใหม่ ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีว่า แท้จริงแล้วภาพของ Start Up มิได้สวยหรูอย่างที่คิด ตรงจุดนี้ คุณหนุ่มในฐานะรุ่นพี่ทั้งในวงการธุรกิจและรุ่นพี่ในสถาบัน มีคำแนะนำอยากจะฝากกับน้องๆ ว่า

“หลายคนมองว่า ภาพของ Start Up มันดูเท่นะ ใครๆ ก็อยากเป็นสตีฟ จ็อบส์ เป็นมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก แต่จริงแล้วๆ จะมีสักกี่คนที่ประสบความสำเร็จได้แบบนั้น ซึ่งมันต้องเหมือนกับถูกล็อตเตอร์รี่ แต่ในวงการธุรกิจแบบ Traditional ของประเทศเรา ผมยังเห็นว่าก็ยังไปได้อีกไกลมาก เราเห็นโอกาสในธุรกิจที่มีอยู่ แค่ทำให้มันดีขึ้น มันมีโอกาสในธุรกิจแบบดั้งเดิมที่ยังไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปตั้งต้นเป็น Start Up ก็สามารถสร้างสรรค์ธุรกิจดีๆ ได้เช่นกัน และอีกสิ่งหนึ่งที่บางคนอาจจะลืมนึกไปคือ จริงๆ แล้วคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจนั้นจะทำงานหนักมากกว่าคนทั่วไป จะต้องตื่นแต่เช้าก่อนใครและนอนดึกกว่าใครด้วยซ้ำ ดังนั้น ภาพที่คิดว่าเป็นเจ้าของธุรกิจเองจะสบายกว่า อาจจะต้องคิดทบทวนใหม่ก็ได้”

นอกจากนี้ สิ่งที่จะให้คำแนะนำแก่คนรุ่นใหม่ที่คุณหนุ่มเน้นย้ำมากก็คือ เรื่องของการคืนกำไรสู่สังคม “ในหลายครั้ง คนจะโฟกัสแค่อาชีพของตัวเอง แต่การคืนกำไรสู่สังคมเป็นเรื่องที่จำเป็น ไม่ใช่แค่ Maximize Profit แต่ผมจะย้ำเสมอเรื่อง Optimize Profit”

“เงินติดล้อ” ยืนหยัดจุดยืนของการคืนกำไรสู่สังคมอย่างยั่งยืน

ท้ายที่สุด สิ่งที่คุณหนุ่มยังคงย้ำเสมอคือความเชื่อของ “เงินติดล้อ” ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการสร้างความยั่งยืน โดยระบุว่า สำหรับโครงการ CSR อื่นๆ ในอนาคต เราก็คงพยายามที่จะหาโครงการที่มั่นคงและต่อยอดไปได้ เราไม่ต้องการทำ CSR แบบครั้งเดียวจบ ดังนั้น โครงการเพื่อการศึกษาจึงเป็นโครงการที่เราตั้งใจสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

106

“เมื่อเราบอกว่า Rebranding คือการสร้างแบรนด์ คือการเล่าเรื่องราวของเรา คงไม่มีทางไหนที่ดีกว่าการได้มาเป็น Case Study ให้กับโจทย์การแข่งขันทางธุรกิจอีกแล้ว ซึ่งจากจุดนี้มันอาจทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Brand Love ก็ได้ ถ้าเขาเห็นด้วยกับค่านิยมองค์กรของเรา ก็จะเป็นสิ่งที่จะช่วยเราได้ในระยะยาว เป็น Long Term Investment ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราคาดหวังในกลยุทธ์การ Rebranding เช่นกัน”

เราอาจจะมองรูปแบบของ CSR เพียงแค่ให้ทุนการศึกษาหรือสนับสนุนโครงการต่างๆ ของสถาบัน แต่สำหรับ “เงินติดล้อ” มีมุมมองที่ลึกซึ้งกว่านั้น ส่วนหนึ่งคือการสร้างสังคมที่ยั่งยืน แต่อีกส่วนหนึ่งคือการลงทุนในระยะยาว ที่เงินติดล้อต้องการส่งสารไปยังคนรุ่นใหม่ว่า ธุรกิจสินเชื่อมีความน่าสนใจทั้งในแง่ Industrial และการสร้างสรรค์องค์กรที่มีธรรมาภิบาล เป็นการประชาสัมพันธ์แบบที่แทบจะไม่ต้องลงทุนให้ซ้ำซ้อน นับเป็นความแยบคายที่ “เงินติดล้อ” มองเห็นในจุดนี้ นับเป็นอีกกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดจากเงินติดล้อ ที่น่าสนใจและให้เราได้ศึกษาเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา.

 


  • 9.8K
  •  
  •  
  •  
  •