เทคนิครับมืออาการ “Burn Out จากงาน” โดยผู้บริหารระดับโลก

  • 2.1K
  •  
  •  
  •  
  •  

ปัจจุบัน ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “เบื่องาน” ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกว่าเป็นโรคภัยไข้เจ็บอย่างหนึ่ง นอกจากบรรดามนุษย์ออฟฟิศที่ต้องเผชิญกับภาวะนี้แล้ว คนที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะนี้ได้ง่ายคือ ผู้ประกอบการ นี่เอง เพราะการทำธุรกิจต้องแบกรับงานมากกว่าคนอื่นในออฟฟิศ และต้นตอของอาการ Burnout ก็คือความเครียด โดยเฉพาะความเครียดสะสมในระยะเวลานาน ๆ อย่างไรก็ตาม สุดยอดผู้ประกอบการหลายคนผ่านวิกฤตินี้มาได้ และพวกเขามีเทคนิคและรับมือกันอย่างไร ต่อไปนี้คือคำตอบให้ผู้ประกอบการอื่น ๆ ลองนำไปปรับใช้กัน

Richard Branson หมั่นออกกำลังกาย ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและท่องเที่ยว

Branson แม่ทัพใหญ่แห่ง Virgin Group เล่าว่า เมื่อกว่า 50 ปีก่อน เขาต้องตื่นแต่เช้า มานั่งคร่ำเครียดเพื่อวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ ระดมทุน ตั้งเป้าธุรกิจ และขับเคลื่อนธุรกิจในแต่ละวันให้ถึงเป้า กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เขาต้องเผชิญกับสภาวะเครียดชนิดวันต่อวัน

“ตั้งแต่วันเปิดตัวธุรกิจแรกของผมเมื่อกว่า 50 ปีก่อน มีเรื่องให้ผมได้เครียดจนนับไม่ถ้วน ความเครียดและการทำธุรกิจย่อมมาด้วยกันเสมอ แต่มันก็ไม่ได้แย่ไปซะทีเดียว ความกดดันมาก ๆ ทำให้เราต้องตื่นตัวตลอดเวลาแน่นอน แต่ถ้ามากเกินไปก็ทำให้เสียสุขภาพจิตและสุขภาพกาย” Branson กล่าว

Branson นับเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่เรียกได้ว่าเก่งในเรื่องการจัดการความเครียด เมื่อถึงเวลาที่ลิมิตของตัวเองบอกว่า เครียดเกินไป เขาก็จะนำตัวเองเข้าสู่รูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงานแบบ work-life balance และดูแลสุขภาพตัวเองเป็นอย่างดี นั่นแปลว่า แต่ละวัน แทนที่เขาจะลุกขึ้นมาทำงานเลย เขากลับไปออกกำลังกายตอนเช้าก่อน และเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และเลือกที่จะเดินทางท่องเที่ยวบ้าง

Branson บอกว่า “ผมรู้สึกดีเสมอเมื่อได้ดูแลร่างกายตัวเองจากการควบคุมมื้ออาหารและออกกำลังกายเมื่ออายุมากขึ้น การทำอะไรแล้วสนุกและมีความสุขด้วยนั้น เป็นหัวใจสำคัญ คนเราจะประสบความสำเร็จได้หากทำอะไรที่ตัวเองทำแล้วรู้สึกสนุกและมีความสุข”

Jenny Griffiths เลือกเล่นดนครีคลายเครียด และ “เซย์ โน” เพื่อเลี่ยงเรื่องเครียด ๆ

Griffiths เป็นทั้งซีอีโอและผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพด้านแฟชั่นเพื่อการค้นหาสินค้าที่คิดว่าผู้ซื้ออยากจะซื้อ และประหยัดเวลาในการช้อปปิ้งชื่อ Snap ColourPop การเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพทำให้เธอต้องเครียดตลอดเวลา เพราะทุกอย่างต้องเร็ว

การหลีกเลี่ยงเรื่องเครียดเป็นสิ่งที่ Griffiths ต้องทำ และการเลี่ยงเรื่องเครียดโดยหันไปให้ความสนใจกับดนตรีมากขึ้นเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยชีวิตเธอไม่ให้จมอยู่กับความเครียด Griffiths เลือกเล่นเปียโนและเซลโล่เพื่อให้รู้สึกคลายเครียด และบางครั้งก็เล่นตีกลอง เพื่อช่วยให้สมองของเธอเปลี่ยนไปรับสัมผัสกับบริบทอื่นบ้าง

“ฉันเลี่ยงเรื่องเครียดได้อีกหลายวิธี โดยเฉพาะการที่ฉันเป็นคนที่ไม่ชอบสุงสิงกับใคร หรือไม่ชอบเข้าสังคมมากนัก ซึ่งฉันก็ยอมรับบุคลลิกภาพของตัวเองข้อนี้ได้ นั่นแปลว่า การได้เห็นผู้คนน้อยลงจะเป็นอีกวิธีที่ดีที่สุดสำหรับฉัน การได้มีโอกาสอยู่ตามลำพัง ทำอะไรคนเดียวบ้าง ถือว่าเป็นการชาร์จไฟในตัวเองได้ดีทีเดียว” Griffiths กล่าว

การรู้จักปฏิเสธบ้างเพราะความจำเป็น เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ Griffiths ใช้เพื่อไม่ให้ตัวเองเครียดจนต้องเผชิญภาวะ Burnout

Griffiths บอกว่า “ถ้ามีอะไรที่ทำแล้วไม่สนุก หรือไม่ใช่เรื่องที่ตัวเองชอบเป็นการส่วนตัว หรือไม่ได้มีประโยชน์กับธุรกิจของฉันเลย ฉันจะปฏิเสธสิ่งเหล่านั้น ฉันยังมีเวลาอีกเยอะในอนาคตที่จะกลับมาทำอะไรที่ไร้สาระบ้าง”

Chris Kelly เลือกทำงานตามร้านกาแฟและ Co-working Space

Kelly เปิดตัวธุรกิจโค้ชชิ่งเพื่ออาชีพของตัวเองภายใต้ชื่อ With Chris Kelly มาได้เกือบปีแล้ว และยอมรับว่า ยิ่งช่วงเริ่มเปิดตัวธุรกิจใหม่ ๆ ตัวเขายิ่งต้องรับมือกับความกดดันล้นหลาม

“ยิ่งตอนที่ธุรกิจอยู่ในช่วงออกตัวใหม่ ๆ ยิ่งต้องทำงาน ชนิดที่เรียกว่า ทำงานกันยันสว่าง และสุดสัปดาห์ก็ไม่ได้ไปไหนเพราะต้องทำเป้าให้ได้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม” Kelly กล่าว

Kelly เป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการที่รู้ตัวเองว่า บรรยากาศทำงานแบบไหนทำให้เขาทำงานได้ Productive มากขึ้น

Kelly บอกว่า “การทำงานจากที่บ้าน ทุกวัน ทุกชั่วโมง ทำให้เบื่อได้เหมือนกัน ดังนั้น ผมจึงลองไปทำงานในร้านกาแฟดูบ้าง ทำงานในส่วนต้อนรับลูกค้าในร้านสปา หรือจาก Co-working Space ที่ไหนก็ได้ ทุกคนจะมีวิธีชาร์จพลังงานให้ตัวเองจากสถานที่ต่าง ๆ และความต้องการของแต่ละคนในแต่ละวันนั้นก็ไม่เหมือนกัน”

Kelly ยังบอกอีกว่า การได้เครือข่ายที่ช่วยเกื้อหนุนกัน ที่เข้าอกเข้าใจกัน และไม่ตัดสินกันในทางลบง่าย ๆ ก็ยิ่งช่วยได้เยอะ การมีโครงสร้างการจัดการบริษัทที่ยั่งยืนและแข็งแรงจะช่วยลดความเสี่ยงในการเข้าสู่ภาวะ Burnout ได้อีกด้วย

David Fort เชื่อในโครงสร้างการบริหารจัดการธุรกิจที่ดี

Fort กรรมการผู้จัดการบริษัท ผู้ให้บริการด้านบัญชีชื่อ Haines Watts บอกว่า หลายบริษัทมีผู้บริหารหลักอยู่เพียงคนเดียว นั่นคือเจ้าของบริษัท และเป็นผู้ที่แบกรับภาระทางธุรกิจทั้งหมด และทำให้เกิดความเครียด และนำไปสู่ ภาวะ Burnout ได้ง่ายในที่สุด

ผู้ประกอบการและผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพควรวางแผนโครงสร้างการจัดการที่ดี เพื่อให้มั่นใจว่า แข็งแรงพอที่จะเปิดตัวธุรกิจและไปต่อ โครงสร้างการบริหารงานที่ชัดเจนและแข็งแรงจะช่วยให้ธุรกิจมีพลวัต และดึงดูดทาเลนท์เก่ง ๆ มาร่วมทีมได้อีกด้วย

Angelica Malin เชื่อใน Work-life Harmony

Malin ผู้ก่อตั้งนิตยสาร About Time Magazine และ About Time Academy เชื่อว่า การเน้นการผสานอย่างกลมกลืนของชีวิตการทำงานและชีวิตประจำวัน (Work-life Harmony) น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด

“เรามักนำเอาความเครียดและความกดดันมาสู่ตัวเราเพียงเพื่อจะให้เกิดความสมดุลของการจัดลำดับความสำคัญในการแข่งขัน และหากคุณอยากจะทำงานได้นานขึ้น และทำงานได้หนักขึ้นเพราะเป็นธุรกิจของตัวเองแล้ว จำเป็นที่จะต้องยืดหยุ่นบ้างในเรื่องของวิธีและเวลาในการทำงาน” Malin กล่าว

ทุกสัปดาห์ Malin จะใช้เวลาหนึ่งวันในการทำงานตามสถานที่ เวลาและวิธีการทำงานที่ตัวเองอยากจะทำ เช่น ลองเปลี่ยนมานั่งทำงานบนโซฟาแทนการนั่งโต๊ะในออฟฟิศ เป็นต้น

“สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องรู้จักสงสารและเมตตาตัวเองให้มากขึ้น” Malin กล่าว

Malin ยังบอกอีกว่า ผู้ประกอบการจะต้องรู้เท่าทันสัญญาณต่าง ๆ ในร่างกายตัวเอง เช่น เกิดความเครียด ความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ Burnout รู้สึกเหนื่อยเรื้อรัง ฝันร้ายบ่อย ๆ หรือรูปแบบการนอนเสียไป เมื่อจับสัญญาณเหล่านี้ได้ก่อน ก็แก้ไขปัญหาได้ก่อน

Dexter Moscow เชื่อในการจินตนาการและการทำสมาธิ

Moscow เป็นโค้ชและวิทยากรด้านธุรกิจ คำแนะนำของเขาคือการจินตนาการหรือการสร้างภาพขึ้นในหัวที่มีแต่เรื่องดี ๆ และการทำสมาธิจะช่วยคลายเครียดได้เยอะขึ้น

“ก่อนนอน ให้ลองโหลดแอพฯ Headspace หรือแอพฯ คล้ายกันนี้มาช่วยผ่อนคลายหรือช่วยทำให้สมองโล่งขึ้น ตอนเช้า ก่อนตื่นนอน แม้ตาจะยังหลับอยู่ ให้หายใจเข้าออกยาว ๆ 3 หน และจินตนาการภาพไปว่า วันนี้จะทำอะไร มีอะไรให้ท้าทายบ้าง และจะต้องเจอใครบ้าง และให้สร้างภาพในหัวของตัวเองที่มีแต่เรื่องดี ๆ”

Moscow บอกว่า นี่เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่จะช่วยเตรียมจิตของเราให้พร้อม และช่วยให้เราได้เตรียมตัวว่าจะพูดอะไร หรือทำอะไรบ้างในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า เทคนิคนี้ใช้กันเยอะในหมู่นักกีฬา และมีหลักฐานหลายชิ้นระบุว่า เทคนิคนี้ใช้ไดและเห็นผลจริง ๆ

“ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น สิ่งเดียวที่เราควบคุมได้คือ ทัศนคติของเรา และวิธีที่เราจะปฏิบัติต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น” Moscow กล่าวทิ้งท้าย

 

เขียนโดย Alison Coleman
Source: Forbes.com


  • 2.1K
  •  
  •  
  •  
  •