ปัจจุบันบล็อกเกอร์กลายเป็นช่องทางใหม่สำหรับการตลาดและโฆษณาไปเสียแล้ว
บางบล็อกก็มียอดผู้ติดตามสูงมากจนเทียบบารมีสื่อกระแสหลักได้อย่างไม่อายใครแต่กลับมีค่าใช้จ่ายในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ไม่สูงมาก อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นสื่อใหม่ทำให้พรมแดนระหว่างการจ่ายเงินหรือไม่จ่ายเงินเพื่อสร้างสรรค์คอนเทนต์ของบล็อกเกอร์นั้นออกจะคลุมเครือทำให้มาร์เกตเตอร์และพีอาร์หลายคนเกิดความสับสน
การศึกษาใหม่ของ Yomego ที่ทำกับบล็อกเกอร์กว่า 250 คนจาก 86 หมวดจะช่วยไขให้คุณรู้ว่าบล็อกเกอร์ แบรนด์ และเอเจนซี่มีความสัมพันธ์กันอย่างไร คร่าวๆ คือ 46% ชอบที่จะติดต่อกับแบรนด์ 47% เฉยๆ และ 7% ไม่ชอบ
ให้เงินพวกเขาเลยดีไหม?
คำถามแรกเลยคือบล็อกเกอร์รับโฆษณาหรือไม่?
แน่นอน และจำนวนของบล็อกเกอร์ที่รับโฆษณานั้นก็ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม คุณต้องตระหนักว่าไม่ใช่บล็อกเกอร์ทุกคนที่รับเงินค่าโฆษณาแต่พวกเขามีโมเดลการสร้างรายได้ที่ต่างกัน เช่น อาจลงโฆษณาจาก Google หรือใช้เพจเป็นฐานเพื่อสร้างชื่อเสียงให้ตนเอง
ส่วนหนึ่งที่รับโฆษณานั้นก็อาจมีรูปแบบชัดเจนที่คุณจะต้องแสดงให้ชัดเจนว่าคุณเป็นผู้สปอนเซอร์และไม่สามารถเนียนมาเป็นส่วนหนึ่งในคอนเทนต์ของพวกเขา บล็อกเกอร์บางคนอาจมีกฏการรับและค่าใช้จ่ายในการสร้างสรรค์คอนเทนต์อย่างเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตาม หากคุณไม่แน่ใจกฏของบล็อกเกอร์แต่ล่ะคนก็ให้ถามเขาไปตรงๆ เพื่อรู้กฏของพวกเขาแล้วปฏิบัติตามจะดีกว่า
เส้นแบ่งระหว่างจ่ายกับไม่จ่าย
ในมาตรฐานของตัวคุณเองแล้วเส้นแบ่งระหว่างการจ่ายเงินให้กับคอนเทนต์และไม่จ่ายควรเป็นอย่างไร? เป็นอย่างนี้หรือเปล่า?
-จ่ายเงินให้แก่บล็อกเกอร์หากคอนเทนต์เหล่านั้นเน้นที่ผลิตภัณฑ์หรือบริการอย่างชัดเจน เป็นการโฆษณาให้แบรนด์อย่างโจ่งแจ้ง และคุณยังสามารถควบคุมคอนเทนต์หลักได้อีกด้วย ในสถานการณ์เช่นนี้บล็อกก็ควรจะเขียนปิดท้ายด้วยว่าบทความนี้เป็นข้อความโฆษณา
-การจ่ายเงินจะไม่เกิดขึ้นหากหัวข้อที่ทำอยู่ในความสนใจและบล็อกเกอร์เป็นผู้เรียกร้องอยากทำคอนเทนต์นั้นมาเอง หากแต่คุณก็ควรอำนวยความสะดวกและจัดหาสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่พวกเขาเพื่อสร้างความประทับใจ อย่างไรก็ตาม จุดนี้คุณต้องเข้าใจว่าคุณไม่สามารถควบคุมคอนเทนต์ของพวกเขาได้และต้องซื่อสัตย์กับผลลัพธ์ที่พวกเขาเขียน
แล้วจะเอาใจบล็อกเกอร์อย่างไรดี
Yamego อธิบายว่ามีหลายสิ่งที่พีอาร์หรือมาร์เกตเตอร์ทำให้บล็อกเกอร์รู้สึกดีขึ้นได้ จะเป็นเรื่องไหนนั้นลองไปดูกันดีกว่า
-พยายามทำความรู้จักและตีสนิทบล็อกเกอร์ มากกว่า 65% ของบล็อกเกอร์ระบุว่าพวกเขาต้องติดต่อกับแบรนด์หรือเอเจนซี่มากกว่า 10 ครั้งในรอบสัปดาห์ดังนั้นการสร้างความสัมพันธ์ที่สนิทมากขึ้นจะช่วยให้คุณโดดเด่น
-หาวิธีติดต่อพวกเขาอย่างเป็นส่วนตัวมากขึ้น มากกว่าครึ่งของบล็อกเกอร์จะยอมให้คุณติดต่อทางอีเมล์เท่านั้น ดังนั้นเมื่อพยายามตีสนิทแล้วพยายามของเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่ออย่างเป็นส่วนตัวมากขึ้นดีกว่า
-เคลียร์ว่าคุณต้องการอะไรจากพวกเขา บล็อกเกอร์จะรู้สึกดีหากรู้ตั้งแต่ต้นว่าคุณต้องการอะไรจากพวกเขาจะได้เลือกที่จะปฏิเสธหรือตอบรับได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้คุณยังต้องพิจารณาแบรนด์ของตัวเองด้วยว่ามีอะไรที่เหมาะสมหรือตรงข้ามกับบล็อกเกอร์คนนั้น