Innovative Idea: “เปรี้ยว” สะท้อนความเสื่อมของสังคมออนไลน์?

  • 4.6K
  •  
  •  
  •  
  •  

เปรี้ยว2

ช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวใหญ่ที่ก่อให้เกิดดราม่าฟุ้งกระจายไปทั่วโลกออนไลน์คงหนีไม่พ้นเรื่อง “เปรี้ยว” ผู้ต้องหาคดีฆ่าหั่นศพ “แอ๋ม” โดยสาวผู้นี้ต้องสงสัยว่าฆ่าหั่นศพสาววัย 22 ปีร่วมกับเพื่อนสาวอีก 3 คนและเพื่อนชายอีกหนึ่งคนจากปัญหาความบาดหมางและอาจเลยเถิดไปถึงเรื่องยาเสพติด

อันที่จริง พูดให้ถูกต้องบอกว่าสำนักข่าวทั้งออนไลน์และออฟไลน์ในประเทศยกให้ข่าว “เปรี้ยว” กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศผ่านการนำเสนอข่าวซ้ำไปซ้ำมา เจาะลึกทุกประเด็นตั้งแต่กระเป๋าที่ใช้ แป้งที่ทา ส่วนหนึ่งก็ด้วยคดีฆ่าหั่นศพเป็นที่สนใจของชาวบ้านอยู่แล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งคือตัว “เปรี้ยว” มีลักษณะเด่นหลายๆ อย่างที่สื่อชอบลงข่าวตั้งแต่ ชอบดูหนังชัคกี้ หน้าตาสะสวย พูดจาขวานผ่าซาก ฯลฯ จนสำนักข่าวยกฉายา “สวยสังหาร” ให้ไปนอนกอด

การทำงานแบบนี้ทำให้ชาวโซเชียลฯ ตั้งคำถามกับสื่อมวลชนว่ากำลังปั้น “เปรี้ยว” ให้กลายเป็นเน็ตไอดอลหน้าใหม่หรือยังไงกัน ถึงได้นำเสนอลึกไปถึงว่าใช้กระเป๋าอะไร ใช้แป้งยี่ห้อไหน

เข้าทำนอง “ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียตังค์”

เลยเถิดไปถึงการต่อว่าสื่อมวลชนปัจจุบันว่าไร้จรรยาบรรณ ไม่ห่วงเยาวชน ไม่ห่วงอนาคตของชาติว่าจะเลียนแบบพฤติกรรม ข่าวดีมีเยอะแยะไม่ไปทำ ทำไมมาจับจ้องแต่ฆาตกร (ผู้ต้องสงสัย) ซึ่งก็ต้องบอกว่ามีมูลให้พูดเหมือนกันเพราะกระแส “FC เปรี้ยว” ซึ่งเป็นชาวออนไลน์เชียร์เปรี้ยวก็โหมแรงไม่แพ้กัน และอ่านลงในหลายความเห็นก็ต้องถึงกับอึ้งกับความคิด

เปรี้ยว

ข่าวนี้ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนวงการดิจิตอลว่า เอ๊ะ! เดี๋ยวนี้เน็ตไอดอลจะเป็นใครก็ได้เหรอ ขอแค่เด่นแค่ดังแค่หน้าตาดี เป็นฆาตกรฆ่าหั่นศพก็ได้เหรอ เลยเถิดถึงบางคนวิเคราะห์ว่ากรณี “เปรี้ยว” เป็นการสะท้อนว่าคนไทยไม่รู้จักผิดชอบชั่วดีแล้วหรือในยุคนี้

อันที่จริงปรากฏการณ์คลั่งไคล้เซเลบนี่ไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในสังคมไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลกถึงขนาดมีการศึกษากันเป็นล่ำเป็นสันและขนานนามโรคนี้ว่า Celebrity Worship Syndrome (CWS)

อะไรคือ Celebrity WorshipSyndrome

CWS หรือปรากฏการณ์ที่คนทั่วไปนับถือหรือคลั่งไคล้ไอดอลเป็นบ้าเป็นหลัง ส่วนใหญ่เกิดปัญหาจากการเข้าไปยุ่มย่ามกับเรื่องส่วนตัวของผู้มีชื่อเสียงมากเกินไป งานวิจัยยังระบุเพิ่มว่าส่วนใหญ่คนจากวงการทีวี ภาพยนตร์ และเพลงป็อบมักตกเป็นเป้าความสนใจของคนกลุ่มนี้มากความหลงใหลเซเลบเหล่านี้เกิดได้ในสามระดับดังต่อไปนี้

หนึ่ง เรื่องการเข้าสังคมและการสร้างความบันเทิง – เป็นความรู้สึกหลงใหลในความสามารถและเสน่ห์ของคนดังที่สามารถสร้างความสนุกสนาน สร้างแง่คิดและทำให้ตัวเองกลายเป็นจุดสนใจของสาธารณชน มีคนพูดถึงมากมาย

สอง เรื่องส่วนตัว – ความสนใจเลยเถิดไปถึงเรื่องส่วนตัวในมุ้งในครัวของเซเลบที่ตัวเองสนใจ อาการเกิดขึ้นเมื่อเซเลบเหล่านั้นมีลักษณะเป็นกันเองและน่าคบหาทำให้ผู้คนรู้สึกผูกพันธ์ใกล้ชิดจนเกิดความเป็นห่วงและเกิดความรู้สึกต้องการครอบครอง

สาม อาการล้ำเส้น – แฟนคลับเริ่มห้ามพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของตัวเองไม่อยู่และเริ่มทำบางอย่างที่ทำให้เซเลบรู้สึกอึดอัด เช่น ตามสอดแนม ติดตามทุกฝีเก้า หรืออาจถึงขั้นทำร้ายร่างกายเซเลบเพื่อเรียกร้องความสนใจ

CWS เกิดกับคนส่วนน้อยของสังคม

อีริค ฮอลแลนเดอร์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากคณะเภสัชศาสตร์ในเมืองนิวยอร์กทำการทดลองกับผู้เข้าร่วมกว่า 3 พันคนพบว่าอันที่จริงแล้วกว่า 75% ของผู้เข้าร่วมการทดลองระบุว่าตนไม่ได้สนใจชีวิตของดาราและเรื่องราวของพวกเขาเป็นพิเศษเลย มีเพียง 14% เท่านั้นที่ระบุว่าตัวเองจะขวนขวายไปหาเรื่องราวของดารามาอ่าน ผลสรุปคนส่วนใหญ่อาจมีดาราในดวงใจแต่พวกเขาก็ไม่ได้ไปติดตามเซเลบเหล่านั้นเท่าไหร่เลย

ฟรานเซสโก้ กิลล์-ไวท์ นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียให้คำอธิบายเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์เอาไว้น่าสนใจว่าการหาไอดอลของตัวเองเป็นเรื่องที่มนุษย์ทำมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ในอดีต คนที่เป็นไอดอลคือคนล่าสัตว์เก่งหรือผู้มีอำนาจทางการปกครอง แต่ปัจจุบันเราไม่ได้ล่าสัตว์กันแล้ว คนที่เป็นเซเลบก็จะมีคุณสมบัติที่ล้อไปตามยุคสมัย เช่น ยุคนี้คนหน้าตาดีมีพลังในการขายสินค้า ขายครีม เป็นพรีเซนเตอร์ สังคมก็จะรับรู้และนับถือคนเหล่านี้ไปโดยไม่รู้ตัว

“การคลั่งไคล้เซเลบไม่ได้เกี่ยวกับความดีหรือไม่ดีของตัวเซเลบ แต่มันอยู่ที่เซเลบคนนั้นมีพลังที่ผลักดันให้ตัวเองประสบความสำเร็จมากแค่ไหนและนั้นจะกลายเป็นคุณสมบัติที่คุณอยากลอกเลียนไปโดยไม่รู้ตัว” นักวิจัยกล่าว

แล้วผลของ CWS ล่ะ?

นักวิจัยเชื่อว่าความคลั่งไคล้เซเลบไม่ได้หมายความว่าต้องอยากเป็นเหมือนเซเลบเสมอไป บางครั้งเราติดตามเซเลบเพื่อดูว่าสุดท้ายแล้วพวกเขาจะมีชะตากรรมอย่างไรจากการกระทำของตัวเอง พูดง่ายๆ ว่าเป็นการดูตัวอย่างว่าทำแบบนี้แล้วจะได้ผลแบบไหน (เหมือนการอ่านหนังสือกรณีศึกษาทั้งหลายนั้นแหละ)

ในกรณีของ “เปรี้ยว” ต้องยอมรับว่าชาวออนไลน์บางส่วนรู้สึกอาจชื่นชมเธอจริงๆ ด้วยเหตุผลส่วนตัวบางอย่างซึ่งก็แล้วแต่บุคคล แต่ความรู้สึกที่มากกว่านั้นน่าจะคือความต้องการติดตามว่าสุดท้ายชะตากรรมของผู้ต้องสงสัยฆ่าหั่นศพซึ่งมีลักษณะแตกต่างไปจาก “แบบฉบับ” ฆาตกร (เช่น ผู้ชาย หน้าโหด ตัวดำ เหมือนเป็นโรคจิตเภท) และที่ผ่านมาสถานะของเธอก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้รับการต้อนรับขับสู้จากสังคมเหมือนเซเลบ มีเพจของตัวเอง มีภาพถ่ายเซลฟี่คู่ตำรวจ ฯลฯ

อีกส่วนหนึ่ง การที่ “เปรี้ยว” โด่งดังขึ้นมาได้ก็เพราะหลายคนยกให้เธอเป็นตัวแทน “ความบ้าคลั่ง” ของตัวเองซึ่งไม่สามารถปลดปล่อยออกมาได้ด้วยแรงกดทับจากสารพัดระบบในสังคม ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา ศาสนา ฯลฯ เมื่อมีใครคนหนึ่งลุกออกไปทำอะไรแบบโนสนโนแคร์สุดโต่งเช่น “เปรี้ยว” ก็ไม่แปลกที่จะมีคนบางกลุ่มยกให้เธอเป็นตัวแทนตัวเอง

…การเกิดขึ้นของ FC เปรี้ยวจึงไม่ได้สะท้อนว่าสังคมตกต่ำซะทีเดียว แต่มันสะท้อนว่ามีคนไม่พอใจกับสังคมเรามากแค่ไหนแน่ๆ

Source

cbsnews.com

onlinelibrary.wiley.com


  • 4.6K
  •  
  •  
  •  
  •  
อุ้งทีนหมี
เตาะแตะในโรงเรียนชายล้วนแถวยศเส ก่อนเติบโตต่อในมหาวิทยาลัยริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ที่สุดจับพลัดจับผลูเข้าทำงานในนแวดวงสื่อสารมวลชนมาแล้วกว่า 4 ปี โต้ลมโต้ฝนทั้งในวงการข่าวต่างประเทศ เยาวชน ธุรกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ แต่สุดท้ายกลับลำมาหลงรักวงการมาร์เก็ตติ้งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปขี่จิงโจ้เรียนปริญญาโทมา เลยตัดสินใจหันหางเสือออกสู่การผจญภัยครั้งใหม่อีกสักตั้ง