ต้นกำเนิด ‘อาหารบนเครื่อง’ จากวัฒนธรรม inflight meals ในช่วง World War I สู่บิซิเนส ‘Farm-to-plane’

  • 270
  •  
  •  
  •  
  •  

Credit : MoreGallery 1/Shutterstock

 

มีใครคิดถึงเสียงสั่นกระดิ่งของรถเข็น หรือคำพูดหวานๆ จากพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินกันบ้าง ที่มักจะถามเราตลอดว่า tea or coffee? หรือรับเมนูไหนดีคะ? แต่ในชั่วโมงท้าทายจากพิษ COVID-19 แบบนี้ ก็อดนึกถึงโมเมนต์ที่นั่งอยู่บนเครื่องบินโดยสารไม่ได้

จะว่าไปแล้วเมนูอาหาร หรือเครื่องดื่มบนเครื่องบินโดยสาร ก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์เด็ดที่สายการบินใช้มัดใจลูกค้า สร้างความ royal จากลูกค้าได้มากเหมือนกัน นอกเหนือจากเรื่องราคาที่เปิดสงครามระหว่างสายการบินหั่นราคาหั่นแล้วหั่นอีก

ขณะที่บางสายการบินไม่ได้เน้นที่ความอร่อยของรสชาติอาหารเท่านั้น แต่ยังใช้ไอเดียเรียกลูกค้าด้วยเมนูหลากหลายจำนวนมาก อย่างเช่น Vietjet ของเวียดนามที่มีเมนูอาหารเสิร์ฟกว่าหลาย 10 เมนู หรือจะเป็นเมนูเครื่องดื่มยอดฮิตอย่าง ‘ชานมไข่มุกลอยฟ้า’ จากสายการบินแอร์เอเชีย ซึ่งครัว AIRASIA SANTAN ได้เปิดบริการเดลิเวอรี่ส่งตรงถึงมือลูกค้าไป เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

สงสัยกันมั้ยว่า ไอเดียเสิร์ฟอาหารพร้อมเครื่องดื่มพวกนี้ เกิดขึ้นมายังไง แล้วมีตำนานเล่ากันว่าอย่างไรบ้าง ในวันนี้เราอยากพาทุกคนไปย้อนรอยอดีตกันหน่อย เพราะเชื่อว่าทุกคนต้องเคยจิ้มออเดอร์เลือกอาหาร หรือรับเครื่องดื่มบนเครื่องบินมาอยู่แล้ว ดังนั้น มาแกะรอยประวัติศาสตร์ของ ‘inflight meals’ กันเลย

 

Credit : Lufthansa Photo Archive/www.businessinsider.com

มื้อแรกบนเครื่องบินถูกเสิร์ฟขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

นับย้อนไปกว่า 100 ปีที่สายการบิน Handley Page Transport ซึ่งเป็นสายการบินแรกที่สร้าง ‘วัฒนธรรมอาหารบนเครื่องบิน’ ไว้ด้วยการทดลองจำหน่ายอาหารบนเที่ยวบิน ‘ลอนดอน-ปารีส’ ในปี 1919 โดยเสิร์ฟแซนด์วิชกับผลไม้ให้ผู้โดยสารบนห้องโดยสาร ในราคา 3 ชิลลิ่ง (9.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 298 บาท) ซึ่งแน่นอนว่าในช่วงเวลานั้นราคานี้สูงลิ่วเอาการเลย

นับจากนั้นเริ่มเห็นหลายๆ สายการบินให้ความสนใจกับวัฒนธรรมนี้ และต้องการเพิ่มเซอร์วิสการเสิร์ฟอาหารบนเครื่องบินด้วย อย่าง United Airlines ที่เริ่มนำโมเดลนี้มาใช้ในปี 1936 และเป็นสายการบินแรกที่ปรับโฉมเครื่องบินเชิงพาณิชย์ ด้วยการแบ่งพื้นที่สำหรับ ‘ครัวบนเครื่อง’ (kitchen onboard)

ดังนั้น inflight meals จึงเริ่มพัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เมนูง่ายๆ อย่างแซนด์วิช หรือผลไม้สด แต่สำหรับสายการบินยูไนเต็ด ผู้โดยสารสามารถเลือกระหว่าง ‘ไก่ทอด หรือ ไข่คน’ ได้แล้ว

 

Credit : MUSEU TAP ARCHIVES – DRA. ADELINA AZERES/www.travelandleisure.com

 

ในขณะที่ Pan American World Airways หรือหลายคนรู้จักในชื่อ ‘Pan Am’ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำด้านบริการอาหารบนเครื่องบินแบบ luxury ที่สุดในยุคนั้น โดยในปี 1939 เป็นครั้งแรกที่เริ่มเสิร์ฟ ‘ค็อกเทลผลไม้’ ตามด้วยผลไม้จากเมืองร้อน (ของหายากในยุคนั้น), ครีมซุปมะเขือเทศ, ไก่ย่างกับซอสไวน์, ถั่ว และ มันฝรั่งเดลโมนิโก ซึ่งน่าจะเป็นเมนูคอร์สที่หรูที่สุดในบรรดาสายการบินในอดีตเลย

และในช่วงที่เศรษฐกิจโลกรุ่งเรือง ราวๆ ทศวรรษ 1960 มีหรือที่อาหารบนเครื่องบินจะไม่พัฒนาตาม ซึ่งในช่วงเวลานี้น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่อาหารสำหรับเสิร์ฟผู้โดยสารเริ่มมี ‘เนื้อวัว’ เข้ามาด้วย (เนื้อสัตว์ราคาแพงในยุคนั้น)

 

 

ความคาดหวังผู้โดยสารเปลี่ยนจากความเร็วสู่ บริการดีที่สุด

โลกที่หมุนตามกาลเวลาส่งผลให้ความคาดหวังและความต้องการของลูกค้าสายการบินเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากจุดเริ่มต้นที่ทำให้เครื่องบินเชิงพาณิชย์ได้รับความนิยมก็เพราะว่า ‘ความรวดเร็ว’ ผู้คนต้องการเดินทางไปมาหาสู่กันเพียงกระพริบตา อะไรที่ช่วยย่นระยะทางทางเลือกนั้นก็จะเป็น the first choice เสมอๆ

Enda Kavanagh ผู้จัดการผลิตภัณฑ์สำหรับประสบการณ์ลูกค้าในเที่ยวบิน ของสายการบิน Aer Lingus, ไอร์แลนด์ ซึ่งก่อตั้งมาแล้วกว่า 80 ปี บอกว่า “ย้อนกลับไปสมัยก่อนที่ความเร็วเป็นตัวแปรเดียวที่ผู้โดยสารสนใจ ส่วนบริการเรื่องอาหาร-เครื่องดื่มบนเครื่องจะเป็นตัวแปรที่ 2 สำหรับเหล่าเศรษฐี แต่ในปัจจุบันแม้แต่สายการบินโลว์คอสต์เอง ก็มีบริการแบบ full-service ไม่ต่างกัน ทั้งเครื่องดื่ม ขนม และอาหาร”

“ไม่มีสายการบินไหนที่ไม่เพิ่มเซอร์วิสเรื่องอาหารบนเครื่องบิน ยิ่งถ้าบริการนี้ FREE สายการบินจะยิ่งได้ Top in Mind จากผู้โดยสาร”

 

 

วิวัฒนาการอาหารบนเครื่องสู่ โมเดล ‘Farm-to-Plane’

ถ้าพูดถึงในยุคก่อนๆ เรื่องความหลากหลายและรสชาติอาหารที่เสิร์ฟบนเครื่องบิน คงสำคัญพอๆ กับราคาตั๋วเครื่องบิน และเรื่องบริการด้านอื่นจากสายการบิน แต่สำหรับยุคที่ความ healthy มาแรงมากเบียดกระแสอื่นจนขึ้นมาเป็น Top 3 trending ดังนั้น บิซิเนสโมเดลที่น่าสนใจมากในเวลานี้ ต้องยกให้โมเดลนำร่องของ ‘สายการบิน สิงคโปร์แอร์ไลนส์’ กับอาหารในคอนเซปต์ ‘Farm-to-Plane’ ผักสดใหม่ที่ส่งตรงจากฟาร์ม

 

 

โดยสายการบินร่วมมือกับ AeroFarms บริษัทที่ทำฟาร์มแนวตั้งในเมืองนวร์ก รัฐนิวเจอร์ซีย์ เมื่อปี 2019 ซึ่งผู้โดยสารที่บินรูทบิน Newark, New Jersey – Singapore จะได้ทดลองกินผักสลัดแบบสดๆ เป็นรูทบินแรก

 

Credit : AeroFarms/www.intelligence.wundermanthompson.com

 

James Boyd หัวหน้าฝ่ายสื่อสารของ Singapore Airline ได้พูดว่า “เป้าหมายของโมเดลใหม่นี้ สายการบินจะไม่ได้เน้นที่รสชาติอาหารอย่างเดียว แต่มันต้องสดใหม่ แต่ดีต่อสุขภาพของผู้โดยสารด้วย” ซึ่งฟาร์มดังกล่าวอยู่ใกล้สนามบินนวร์กเพียง 5 ไมล์เท่านั้น ดังนั้นผักสดทั้งหมดจากฟาร์มแห่งนี้จะส่งตรงถึงไปที่เครื่องบินภายใน 24 ชั่วโมงหลังการเก็บเกี่ยว

 

Credit : AeroFarms /www.intelligence.wundermanthompson.com

 

จะว่าไปโมเดลนี้เคยเกิดขึ้นใน ‘ดูไบ’ ตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งมีโมเดลธุรกิจคล้ายๆ กัน คือ บริษัท Emirate Flight Catering (EKFC) ผู้ให้บริการด้านอาหารบนเครื่องบิน ได้ร่วมมือพัฒนากับ Crop One สตาร์ทอัพในซิลิคอนวัลเวย์ จัดทำฟาร์มแนวตั้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก หมายความว่าผักสดจากฟาร์มแห่งนี้จะส่งตรงไปถึงสายการบินกว่า 100 สายการบินที่บินออกจากสนามบินนานาชาติดูไบ

โดยมีกำหนดการว่าจะเริ่มจัดส่งได้ภายในปี 2020 แต่โชคร้ายที่โลกการบินถูกแช่แข็งจากการระบาดของ COVID-19 ไปเสียก่อน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น Mak Swee Wah รองประธานบริหารฝ่ายการพาณิชย์ของ Singapore Airline ก็ยืนยันว่า “กระแสสุขภาพจะยังอยู่กับเราอีกนาน และลูกค้าจะให้ความสำคัญกับการกินอาหาร มองเรื่องวัตถุดิบสำคัญมากขึ้น ดังนั้น ในอนาคตโมเดลนี้จะยังไม่หายไปไหน”

ตอนนี้ก็เหลือแค่วัคซีนที่จะมาช่วยยับยั้งไวรัส COVID-19 ให้ได้สักที เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่โหยหาการท่องเที่ยวแบบประสบการณ์จริง แต่คิดถึงที่นั่งบนห้องโดยสาร และกินอาหารพร้อมวิวมวลเมฆ

 

 

 

 

ที่มา : washingtonpost, intelligence.wundermanthompson, businessinsider, wikipedia


  • 270
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม