ศึกษา cases ต่างประเทศกับกระแส ‘Electric Road’ ประเทศไหนพัฒนาไกล และน่าจับตามอง

  • 5
  •  
  •  
  •  
  •  

 

นับตั้งแต่ที่โลกเรารู้จักกับคำว่า ‘5G’ เทคโนโลยีอัจฉริยะที่เปลี่ยนจากความธรรมดาๆ เสกให้กลายเป็น Super magic ได้ โดยหลายๆ คนอาจจะนึกถึงสิ่งของมากมายที่มากฟังก์ชั่นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์, โดรน, รถยนต์ไร้คนขับ หรือ ลำโพงอัจฉริยะที่เราสามารถสั่งซื้อสินค้า หรือเสิร์ชถามคำถามอะไรก็ตามแค่ใช้เสียง ไม่ต้องพิมพ์ให้เสียเวลา

ในขณะที่ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นกระแสมานานกว่า 5-6 ปีแล้ว แต่ในปัจจุบันยังมีหลายๆ ประเทศที่ยังอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อม หรือวางเป้าหมายการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) แบบ 100% ให้ได้ในอนาคต

แต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่บางคนอาจจะมองข้ามไป เพราะมัวแต่โฟกัสไปที่ ‘สถานีชาร์จรถไฟฟ้า’ ในขณะที่หลายๆ ประเทศกลับล้ำหน้าไปไกลมาก โดยมุ่งพัฒนา ‘ถนนชาร์จไฟ’ (Electric Road) หรือที่เรียกกันว่า e-Road ดังนั้น ในวันนี้เราอยากจะพาทุกคนไปศึกษาโมเดลนี้ว่าแนวคิดและการพัฒนาโครงการดังกล่าวมันสุดว๊าวขนาดไหน

 

 

 

เกาหลีใต้เป็นชาติแรกที่ผุดไอเดีย e-Road for bus

ย้อนไปเมื่อ 7 ปีก่อน ใครจะรู้ว่าประเทศแรกที่ปิ๊งไอเดียถนนชาร์จไฟขึ้นมาเป็นแห่งแรกก็คือ ดินแดนโสมขาว – เกาหลีใต้ แต่เป็นโครงการติดตั้งถนนไฟฟ้าสาธารณะที่รองรับเฉพาะ ‘รสบัสโดยสาร’ เท่านั้น ซึ่งเปิดให้ใช้บริการในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2013 (หลังจากทดลองบริการรับ-ส่งในปี 2009) ดังนั้น เกาหลีก็น่าจะเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่โชว์ไอเดียนี้ขึ้นมา

โครงการดังกล่าวพัฒนาโดย สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งเกาหลีกล่าว (KAIST) โดยออกแบบเทคโนโลยีนี้ให้ถนนสามารถชาร์จรถบัสไฟฟ้าได้ ระยะทาง 12 กม. ซึ่งบริการนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Online Electric Vehicles’ (OLEV)

ทั้งนี้ วิธีการทำงานของระบบชาร์จไฟด้วยถนนในเกาหลี เข้าใจง่ายๆ เลยก็คือ กระแสไฟฟ้าที่ฝังใต้ถนนจะส่งสัญญาณแม่เหล็กขึ้นมา กลายเป็นพลังงานแบบไร้สาย (Wireless) ให้กับรถเมล์โดยสาร โดยระบบนี้จะโอนถ่ายกระแสไฟฟ้าความจุ 20 kHz และ 100 กิโลวัตต์ (136 แรงม้า) ขณะที่พลังงานแบบไร้สายนี้จะช่วยให้รถสามารถวิ่งได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องหยุดตามสถานีเลย

ขณะเดียวกัน ในช่วงเดียวกันนั้นมีนักวิจัยจากเมือง Torino ของอิตาลี และเมือง Utrecht ในเนเธอร์แลนด์ แสดงความสนใจในเทคโนโลยีนี้ของเกาหลีใต้ด้วย แต่ได้ปรับเปลี่ยนนำไปใช้เพียงแค่การให้บริการชาร์จตามป้ายรถเมล์ในระหว่างที่จอดรอผู้โดยสารนั่นเอง

 

www.theguardian.com

 

สวีเดน ประเทศที่ 2 ใช้เทคโนโลยี e-Road สำหรับถนนไฮเวย์

ในปี 2018 มีถนนไฮเวย์เส้นทางหนึ่งระยะทาง 2 กม. นอกเมืองสตอกโฮล์มของสวีเดน ได้ถูกเปลี่ยนโฉมให้เป็นถนนไฮเวย์ที่ชาร์จไฟได้สำหรับ ‘รถยนต์ไฟฟ้า – รถบรรทุกไฟฟ้า’ โดยรัฐบาลสวีเดนได้เคลมไว้ว่าเป็น ‘แห่งแรกของโลก’ เพราะเป็นการเปิดตัวเชิงพาณิชย์สำหรับรถยนต์เฉพาะบุคคลได้ด้วย

ทั้งนี้ มีจุดหนึ่งของระบบชาร์จไฟในสวีเดนที่แตกต่างจากเกาหลีใต้ ก็คือ พลังงานไฟฟ้าจะถูกถ่ายทอดได้โดยตรงกว่า โดยถนนจะมีลักษณะเหมือนกับ ‘รางรถไฟ’ ที่ผู้ขับขี่รถสามารถขับครอบตรงกลางได้ง่ายๆ ซึ่งจะรับกระแสไฟฟ้าได้เร็วกว่าเพราะไม่ได้ฝังกระแสไฟฟ้าไว้ใต้ถนน ขณะที่ไฟฟ้าจะเข้าสู่รถผ่านก้านเคลื่อนไหวที่ติดไว้ใต้ท้องรถ

 

www.theguardian.com

 

ความน่าสนใจอีกอย่างของเทคโนโลยีสวีเดน ก็คือ รางรถไฟกระแสไฟฟ้าที่อยู่กลางถนนนี้จะมีระยะทุก 50 เมตรต่อกัน และกระแสไฟฟ้าจะปล่อยออกมาต่อเมื่อมียานพาหนะวิ่งผ่านถนนเท่านั้น ซึ่งจะช่วยให้ค่าบริการได้ง่ายโดยคำนวนอัตโนมัติตามจริง

 

 

ด้านผู้บริหารระดับสูงของโครงการ e-Road นี้ ‘Hans Säll’ จากบริษัท eRoadArlanda พูดว่า ทั่วประเทศมีถนนไฮเวย์อีกหลายเส้นทาง รวมๆ แล้วกว่า 20,000 กม. (เส้นทางถนนทั้งหมดราว 5 แสนกม.) ดังนั้น ในอนาคตดีมานด์การใช้รถไฟฟ้าจะสูงขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อตอบสนองเป้าหมายของรัฐบาล ที่ต้องการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคการขนส่ง 70% ภายในปี 2030 แน่นอนว่าเราจะเห็น e-Road ขยายเส้นทางเพิ่มขึ้นอีกหลายพัน กม.

สำหรับต้นทุนในการลงทุนการสร้างถนนชาร์จไฟลักษณะแบบนี้ อยู่ที่ราวๆ 1 ล้านยูโรต่อ 1 กม. (ราว 37 ล้านบาท) ซึ่งถูกกว่าการสร้างรถรางในตัวเมืองถึง 50 เท่า ที่สำคัญบริษัทย้ำด้วยว่า “การปล่อยกระแสไฟฟ้าจะไม่เป็นอันตรายต่อคน หรือแม้แต่สมรรถภาพของรถที่วิ่งผ่านอย่างแน่นอน”

 

www.israel21c.org

 

อิสราเอลดินแดนแห่งสตาร์ทัพ ทดสอบระบบ ‘wireless e-Road’

ประเทศในแถบทะเลทรายซึ่งได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่ผลิตสตาร์ทอัพมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก อีกทั้งยังเป็นสตาร์ทอัพที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีนวัตกรรมการพัฒนาเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ระบบ e-Road ที่กำลังทดสอบโดยบริษัท Electreon จากเมืองชายทะเลเทล-อาวีฟ ซึ่งใช้หลักการง่ายๆ เหมือนกับการชาร์จพลังงานแบบไร้สาย (คล้ายๆ ระบบของเกาหลีใต้)

 

www.israel21c.org

โดยในปี 2019 บริษัทดังกล่าวกำลังทดสอบระบบ e-Road ไร้สาย นำร่องเส้นทางถนนสำหรับรถบัสโดยสารไฟฟ้าก่อน ขณะเดียวกัน โครงการนำร่องยังได้รับความสนใจจากบริษัทในสวีเดนด้วย ซึ่งคาดว่าในอนาคตน่าจะมีเทคโนโลยีนี้จากอิสราเอลไปโลดแล่นในสวีเดนด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ บริษัท Electreon ได้เปิดเผยว่า การชาร์จไฟฟ้าจะมีอยู่ 3 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ 1. ตัวส่งพลังงาน – ที่เป็นขดลวดทองแดงแบบพิเศษ โดยจะฝังเอาไว้ใต้ถนน 2. ตัวรับพลังงาน – ที่จะติดตั้งกับตัวยานพาหนะช่วงล่างเพื่อรับพลังงานที่ถูกส่งมา โดยจะไปจ่ายให้กับมอเตอร์เหมือนกับแบตเตอรี่ และ 3. เครื่องอินเวอร์เตอร์ – ที่จะติดตั้งอยู่ข้างถนน เพื่อคอยควบคุมการส่ง-รับพลังงานไฟฟ้า สำหรับยานพาหนะไร้คนขับที่จะมาแน่ๆ ในอนาคต

 

 

จีน สิงคโปร์กำลังสนใจระบบ e-Road

‘จีน’ ฐานะที่เป็นประเทศที่ใช้รถไฟฟ้าเกือบจะ 100% ภายในประเทศ ไม่ว่าจะรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า หรือ รถยนต์ส่วนบุคคลก็ตาม ซึ่งช่วงกลางปี 2018 นำร่องในปักกิ่งได้เริ่มทดสอบระบบ e-Road เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับประชาชน ขณะที่สถานีชาร์จไฟก็ยังเพิ่มปริมาณด้วยควบคู่กันไป โดยจีนได้เริ่มทดสอบไปที่ ‘ถนนไฮเวย์’ สำหรับการชาร์จไฟก่อน ซึ่งคาดว่าภายในปี 2025 ถนนไฮเวย์เกินครึ่งหนึ่งในประเทศน่าจะสามารถเปิดให้บริการ e-Road ได้แล้ว

ขณะที่ ‘สิงคโปร์’ อีกหนึ่งประเทศไฮเทคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ก็ได้แสดงความสนใจในระบบโครงข่าย e-Road ด้วยเช่นกัน แม้ว่ายังไม่ได้ระบุถึงโมเดลในประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นพิเศษ แต่ ‘Lam Wee Shann’ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายนวัตกรรมและเทคโนโลยีการขนส่งของ Land Transport Authority (LTA) บอกว่า “รัฐบาลต้องการลดก๊าซคาร์บอนลงครึ่งหนึ่ง จากจุดสูงสุดในปัจจุบันภายในปี 2030 ดังนั้น e-Road เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจมาก แต่ปัจจุบันมีผู้ใช้รถไฟฟ้า (EV) แค่ 0.14% เท่านั้น”

“เราพยายามกระตุ้นประชาชนให้หันมาใช้รถ EV มากขึ้น และตั้งเป้าสร้างจุดชาร์จไฟ 28,000 แห่งทั่วเกาะ พร้อมจุดจอดรถให้บริการ” Shann กล่าว

 

 

หรือแม้แต่ใน ‘ญี่ปุ่น’ เอง ที่จริงแล้วมีนักวิจัยที่แสดงความสนใจในเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2011 เพียงแต่ยังไม่มีการนำมาใช้อย่างเป็นทางการบนเส้นทางถนนในญี่ปุ่น

ทั้งนี้ หากมองในภาพรวมแล้วเราจะเห็นว่าทั่วโลกค่อนข้างมีความเคลื่อนไหวที่มากพอควรกับกระแส e-Road นี้ แม้แต่หลายๆ ประเทศเอเชียใกล้บ้านเราเอง โดยนักวิเคราะห์จาก Business Spectator Researchers มหาวิทยาลัย Utah State ยังชี้ว่า ไม่นานเกินรอเราจะเห็นรถ EV มีบทบาทมากกว่านี้อีก และแทนสถานีชาร์จ และไอเดียของถนนชาร์จไฟก็จะเห็นได้อย่าง worldwide หากย้อนกลับมาที่บ้านเรา ไทยเองก็ผลักดันอุตสาหกรรมรถ EV อยู่ไม่น้อยในช่างหลายปีมานี้ ดังนั้น นอกจากแท่นชาร์จไฟเป็นจุดๆ ตามถนนหนทาง ไอเดีย e-Road ก็คูลเหมือนกันนะ

 

 

 

 

 

ที่มา : wikipedia, theguardian, israel21c, bbc, govinsider, china-certification, phys


  • 5
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม
CLOSE
CLOSE