สรุป Half Year Trends Business And Economy : วิกฤติร้านอาหาร และยุคเศรษฐกิจโลก ‘กลายพันธ์ุ’ โดย LMWN และ Bitkup #CTC2025

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

 

งาน #CTC2025 เริ่มวันแรกแล้ว (4 กรกฎาคม 2568) หนึ่งในเซสชั่ที่ได้รับความสนใจมาก ได้แก่ Half Year Trends: Business And Economy จาก คุณยอด ชินสุภัคกุล CEO, LINE MAN Wongnai และ คุณท็อป – จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา Group CEO Bitkub ซึ่งเราขอสรุปประเด็นที่น่าสนใจไว้ ดังนี้

 

สรุปสถานการณ์และแนวทางการพัฒนาธุรกิจร้านอาหารไทย โดย “ยอด” CEO, LINE MAN Wongnai

 

คุณยอด ชินสุภัคกุล CEO, LINE MAN Wongnai สรุปสถานการณ์และแนวทางการพัฒนาธุรกิจร้านอาหารไทย ว่า อุตสาหกรรมร้านอาหารไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายอย่างยิ่ง โดยมีข้อมูลที่น่าตกใจจากหลายแหล่ง

  • ร้านอาหารระดับ Fine Dining: ยอดขายลดลง 60-70% โดยเฉลี่ย
  • ร้านอาหารทั่วไป: ยอดขายลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง จากเดิม 20,000 บาทต่อวัน
  • ข้อมูลจาก POS ของ LINE MAN Wongnai: ร้านอาหารเดิม (Same Store Sales) ลดลง 14% ในปี 2025 เทียบกับปีก่อน (ปกติลดลงเพียง 3%)

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ

  • ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้น 25%
  • ค่าแรงงานเพิ่มขึ้น 5%
  • จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง – นักท่องเที่ยวลดลง 1.8% โดยรวม นักท่องเที่ยวชาวจีนลดลงมากที่สุด ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและใช้จ่ายในร้านอาหารเป็นจำนวนมาก

 

แนวโน้มการเปิดร้านใหม่

จำนวนร้านอาหารเปิดใหม่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง:

  • ปี 2023: เปิดใหม่ประมาณ 100,000 ร้าน
  • ปี 2024: เปิดใหม่ประมาณ 60,000 ร้าน
  • ปี 2025: เปิดใหม่ประมาณ 44,000 ร้าน

หมายเหตุ: ร้านอาหารใหม่ยังคงมีอัตราการปิดตัวภายใน 1 ปีประมาณ 50%

 

แนวทางการแก้ปัญหาและการพัฒนา

 

  1. การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ – การเพิ่มยอดขายและลดต้นทุน
  • ระบบ POS ที่ทันสมัย
  • Digital Ordering System
  • ระบบชำระเงินดิจิทัล
  • การสั่งอาหารผ่าน QR Code

ประโยชน์ที่ได้รับ:  ลดข้อผิดพลาดในการรับออเดอร์ ประหยัดเวลาและค่าแรงงาน และ เพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า

 

  1. การรองรับช่องทางการชำระเงินที่หลากหลาย

สถิติการชำระเงินในประเทศไทย

  • ปี 2023: การชำระเงินไม่ใช่เงินสด 36%
  • ปี 2025: การชำระเงินไม่ใช่เงินสด 50%

ข้อได้เปรียบ ลูกค้าที่ใช้การชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสดมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงกว่าประมาณ 22% , เงินสดมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

  1. การปรับรูปแบบธุรกิจเพื่อการขยายตัว

แนวโน้มตลาด พบการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ ดังนี้

  • Quick Service Restaurant (QSR): มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
  • Full Service Restaurant: มีแนวโน้มลดลง
  • แบรนด์ขนาดใหญ่: เข้ามาขยายสาขาอย่างรวดเร็ว เช่น ชาผลไม้จีน, ไอศกรีม, กาแฟ, สุกี้ตี๋น้อย

ถึงกระนั้นก็อาจจะมีความจำเป็นในการขยายตัว ซึ่งร้านเดี่ยว (Stand alone) มีความยากลำบากในการแข่งขัน การสร้างระบบที่รองรับการขยายสาขา และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับการขยายตัว

 

  1. การจัดการข้อมูลและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ปัญหาปัจจุบัน ร้านอาหารในประเทศไทยที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพียง 4% ร้านส่วนใหญ่ (96%) ยังคงเป็นบุคคลธรรมดา โดยพบข้อเสียว่า ส่วนใหญ่ ไม่มีบัญชีที่เป็นระบบ ยากต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และไม่สามารถทำงานกับ Fintech ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แนวทางแก้ไข

  • ร้านใหญ่: ต้องการทางลัดเข้าสู่ตลาดทุน (IPO, M&A)
  • ร้านเล็ก: ต้องการการพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนจาก Fintech

 

  1. การสนับสนุนจากภาครัฐ

แบ่งความช่วยเหลือตามขนาดของร้านค้า ดังนี้

  • สำหรับร้านขนาดใหญ่ – สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเชิงนโยบาย เช่น ช่วยด้านการขยายสาขาไปต่างประเทศ หรือหาทางลัดเข้าสู่ตลาดทุน
  • สำหรับร้านขนาดกลาง – โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น “คนละครึ่ง” แต่เฉพาะร้านอาหาร โครงการ “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” เวอร์ชันร้านอาหาร เป็นต้น
  • สำหรับร้านขนาดเล็ก – สนับสนุนค่าใช้จ่ายและอุปกรณ์จำเป็นให้กับร้านในระบบภาษี เช่น โครงการของ depa ผลักดัน SMEs ในการใช้เทคโนโลยี ช่วยลดต้นทุนด้วยเงินสนับสนุน และคูปองดิจิทัล

แนวทางสู่ความอยู่รอดและการเติบโต

 

  • ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ – ลงทุนในระบบ POS, Digital Ordering และระบบชำระเงินที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มยอดขาย
  • ปรับรูปแบบธุรกิจเพื่อการขยายตัว – หลีกเลี่ยงการทำธุรกิจแบบ Stand alone เพียงอย่างเดียว
  • จัดทำข้อมูลให้เป็นระบบ – เพื่อสะดวกต่อการเติบโตและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
  • ขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ – ใช้ประโยชน์จากนโยบายและโครงการต่างๆ ที่มีอยู่

สรุปเทรนด์อนาคตของธุรกิจโลก: “การกลายพันธุ์” โดยคุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา (ท็อป Bitkub)

 

ฝากฝั่ง คุณท็อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา Group CEO Bitkub ได้สรุปภาพรวมเทรนด์อนาคตของธุรกิจโลกที่กำลังจะ “กลายพันธุ์” โดยมีประเด็นสำคัญ 2 ประเด็นหลักดังนี้

#1 โลกกำลังจะกลายพันธุ์สู่ “Three Something World” หรือ “Three New World”

 

คุณท็อปได้กล่าวว่าโลกที่เราคุ้นเคยมาตลอดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมานั้นคือ “Post-World Order” ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นพี่ใหญ่ที่คอยจัดระเบียบโลก และแนวคิด “Globalization” ที่ส่งเสริมการค้าเสรีผ่านองค์กรต่างๆ อย่าง WTO และ UN รวมถึงจีนที่เป็นฐานการผลิตหลักของโลกในรูปแบบ Centralized Supply Chain

อย่างไรก็ตาม คุณท็อปเชื่อว่าสถานการณ์เหล่านี้กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ “Three New World” ที่ตรงกันข้ามกับ Post-World Order และ Globalization โดยสิ้นเชิง ดังนี้:

  • Re-regionalization (การรวมกลุ่มตามภูมิภาค): โลกจะขับเคลื่อนด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคมากขึ้น เช่น กลุ่มประเทศอาเซียน (AEC) ที่จะมีประชากรกว่า 600 ล้านคน และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก นอกจากนี้ยังรวมถึงกลุ่ม Middle East และกลุ่ม Emergence Zone อื่นๆ
  • Multi-lateral System (ระบบพหุภาคี): จากเดิมที่มีสหรัฐฯ เป็นพี่ใหญ่เพียงรายเดียว โลกจะเข้าสู่ยุคที่มหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ แข่งขันกัน ซึ่งทำให้ประเทศเล็ก-กลางต้องรวมกลุ่มกันเป็นภูมิภาคเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและสร้างข้อตกลงทางการค้าเสรี รวมถึงภาษีศุลกากร
  • Fragmented Supply Chain (ห่วงโซ่อุปทานแบบกระจายตัว): จากเดิมที่เป็น Economies of Scale และ Centralized Supply Chain จะเปลี่ยนเป็นการกระจายตัวของฐานการผลิตไปทั่วโลก (Reshoring) โดยคำนึงถึงปัจจัยรักชาติและภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น แทนที่จะเน้นเพียงต้นทุนที่ถูกที่สุด นอกจากนี้ กฎการแข่งขันก็จะเปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่ “ถูกที่สุด” แต่ต้อง “เขียวที่สุด” “อยู่ถูกโลเคชั่น” และมี “Readiness” หรือความพร้อมของแต่ละประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง
  • Decentralized Trust (ความเชื่อมั่นที่กระจายตัว): ความเชื่อมั่นในสถาบันกลางอย่าง IMF หรือ World Bank จะลดลง รัฐบาลจะเชื่อใจกันเองน้อยลง และประชาชนจะเชื่อใจรัฐบาลน้อยลงเช่นกัน ทำให้แต่ละประเทศต้องกระจายความเสี่ยงด้วยการเพิ่มจำนวนคู่ค้า เช่น ประเทศไทยที่เริ่มขยายคู่ค้าไปยังกลุ่ม Middle East และแอฟริกา
  • China’s Transformation (การเปลี่ยนแปลงของจีน): จีนจะเปลี่ยนจากการเป็นฐานการผลิต (Manufacturing) ที่เน้นปริมาณไปสู่ “Tech Economy” ที่เน้นคุณภาพ (Quality) แบบ Craftsmanship เหมือนญี่ปุ่นในอดีต ในขณะที่ประเทศอย่างอินเดียและแอฟริกาจะกลายเป็นฐานแรงงานและตลาดผู้บริโภคที่สำคัญ เนื่องจากปัญหาประชากรสูงอายุ (Aging Society) ทั่วโลก

คุณท็อปเน้นย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะทำให้เกิด “Disruptive World” ที่ทุกสิ่งจะตรงกันข้ามกับสิ่งที่เรารู้จักมา

 

#2  AI: The Game Changer และความได้เปรียบของจีน

 

คุณท็อปได้เน้นย้ำถึงกระแส AI ที่กำลังมาแรงอย่างมาก และกล่าวถึงการประชุมที่ Summer Davos ที่ผ่านมาว่า เดิมทีสหรัฐฯ ถูกมองว่ามีภาษีเหนือกว่าจีนในด้าน AI เนื่องจากเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและมีตลาดทุนขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ได้เริ่มพลิกผัน คุณท็อปชี้ให้เห็นถึงความได้เปรียบของจีน 3 ประการสำคัญที่เรียกว่า “AI Plus” ซึ่งจะทำให้จีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้าน AI:

  • DeepMind: Open Source (ระบบเปิด): จีนจะใช้โมเดล DeepMind ในรูปแบบ Open Source ที่สามารถกระจายไปสู่ทุกอุตสาหกรรมได้
  • Huawei: Community Power (พลังชุมชน): หัวเว่ย ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐ จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกระจายพลังคอมพิวเตอร์และโซลูชั่น AI ไปยังทุกอุตสาหกรรม
  • Data, Data, Data (ข้อมูล): จีนมีปริมาณข้อมูลที่มากที่สุดในโลก และรัฐบาลสามารถสั่งให้เปิดเผยข้อมูลเหล่านี้เพื่อแบ่งปันในทุกอุตสาหกรรมได้ ทำให้เกิด “Share Open Data”

นอกจากนี้ จีนยังมีพลังงานไฟฟ้าที่ถูกกว่าสหรัฐฯ หลายเท่าตัว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อน AI ที่ใช้พลังงานมหาศาล

คุณท็อปกล่าวว่า AI Plus จะทำให้จีน “บังคับ” ให้ทุกอุตสาหกรรมใช้ AI เป็นระบบปฏิบัติการ และจะส่งผลให้จีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด สิ่งที่น่ากลัวคืออำนาจของรัฐบาลจีนที่สามารถสั่งการได้ตามต้องการ

 

โดยสรุปแล้ว คุณท็อปมองว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการ “กลายพันธุ์” ที่ทุกสิ่งจะกลับตาลปัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ การกระจายตัวของห่วงโซ่อุปทาน และการเข้ามาของ AI ที่จะเปลี่ยนโฉมธุรกิจและอุตสาหกรรมทั่วโลก

 

ทั้งหมดนี้คือการฉายภาพของเทรนด์ของธุรกิจสำคัญ ทั้งในพาร์ทของธุรกิจขนาดย่อมโดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารที่วันนี้กำลังเผชิญวิกฤตใหญ่ และพาร์ทของธุรกิจโลกที่กำลังเผชิญกับความท้าทายเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยี และการแข่งขันต่อสู้กันในระดับโลก ซึ่งล้วนแต่กระทบกับไทยอย่างไม่ต้องสงสัย ผู้ประกอบการไทยจะต้องเข้าใจและปรับตัวให้ทันอย่างรวดเร็ว.


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!