‘แบรนด์ไทย’ ใช้งบสื่อดิจิทัลต่ำสุด 2%

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

“โอกิลวี่วัน” เผยธุรกิจไทยใช้งบการตลาดดิจิทัลต่ำสุด ยอดเฉลี่ยเพียง 2% ชี้อุปสรรคคุณภาพเน็ตไม่แรง “3 จี” ล่มตัดโอกาสอีกทาง ขณะที่ค่าเฉลี่ยโลกอยู่ 15-20% ชี้เรื่องท้าทายของการทำธุรกิจสมัยใหม่ เพราะผู้บริโภคไปชุมนุมกันอยู่ในโซเชียล มีเดีย แต่ธุรกิจไม่ตามไป ยังคงเลือกทำการตลาดผ่านช่องทางเก่า

นายบาร์นีย์ โลห์นิส ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ดิจิทัล โอกิลวี่วัน เวิลด์วายด์ เอเชียแปซิฟิก เปิดเผยว่า ธุรกิจและแบรนด์สินค้าในไทย ใช้งบในการทำการตลาดผ่านช่องทางดิจิทัล (Digimarketing) ซึ่งรวมทั้งนิว มีเดีย และโซเชียล มีเดีย ต่ำที่สุดในภูมิภาคเพียง คือ มียอดเพียง 2% จากงบการตลาดทั้งหมด ในขณะที่ค่าเฉลี่ยภูมิภาคอยู่ที่ 10-15% ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 15-20%

อุปสรรคของธุรกิจไทยในการทำการตลาดผ่านช่องทางดิจิทัล มี 2 ประการ เริ่มจากโครงสร้างพื้นฐานและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงยังไม่แพร่หลาย คุณภาพของการส่งผ่านข้อมูลยังไม่เสถียร ที่สำคัญ ความล่าช้าของเทคโนโลยี 3 จี เป็นตัวฉุดให้ความเชื่อมั่นโดยรวมหดตัวลง อีกประการแบรนด์ไทยยังคงมีความกลัวสื่อใหม่ ในเรื่องความสามารถในการควบคุมกระแสข่าวของแบรนด์ ถ้าเป็นการพูดถึงและแชร์ข่าวสารทางดีก็เป็นเรื่องเยี่ยม แต่ถ้าเป็นแง่ลบแก่แบรนด์ ข่าวสารก็ไปไกลและแรงพอๆ กัน ความคิดในการทำตลาดแบบอนุรักษนิยม จึงเป็นแนวทางที่ปลอดภัยในช่วงลองผิดลองถูกแบบนี้

“แม้ไม่มีโซเชียล มีเดีย ข่าวลบและข้อร้องเรียนจากลูกค้าก็เกิดขึ้นอยู่แล้วเป็นปกติ ที่ผ่านมา หลายแบรนด์ทำได้ดีเมื่อเกิดข่าวลบ เมื่อแบรนด์แสดงความจริงใจและเข้ามาดูแลอย่างใส่ใจ ลูกค้าก็พร้อมจะให้อภัย และอยู่พูดคุยกันในชุมชนอย่างแน่นแฟ้นขึ้น” นายโลห์นิสกล่าว

ตอนนี้ยุคการปฏิวัติดิจิทัลหยุดแล้ว สื่อต่างๆ มีความชัดเจน หลังจากนี้ จะเริ่มเข้าสู่ยุคที่นักการตลาดและนักพัฒนาคอนเทนท์ จะสร้างกิจกรรมการตลาดและแคมเปญดิจิทัล ที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้ การตลาดดิจิทัลไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนแล้ว แต่เป็นการสร้างสื่อใหม่ที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค แล้วกระตุ้นให้ผู้บริโภคเป็นคนพูดแทนแบรนด์ ผ่านชุมชนออนไลน์ที่สังกัดอยู่

นายโลห์นิส ได้ยกตัวอย่าง การตลาดดิจิทัลที่ไม่ต้องใช้อินเทอร์เน็ต และใช้งบลงทุนที่ต่ำ แต่สร้างมูลค่าทางการตลาดที่สูงมาก เช่น เบอร์เกอร์คิง สาขาหนึ่งในเม็กซิโก ออกแคมเปญถ่ายรูปลูกค้าแบบไม่รู้ตัว ระหว่างยืนต่อคิว สั่งสินค้าหน้าเคาน์เตอร์ แล้วพิมพ์ด่วนลงไปบนกระดาษห่อแฮมเบอร์เกอร์ สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับลูกค้าอย่างมาก เมื่อแกะออกมา แล้วทุกคนก็นำสมาร์ทโฟนออกมาถ่ายรูปภาพแชร์ไปบนโซเชียล มีเดีย ทั้งทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ค

กรณีนี้ เป็นการทำการตลาดดิจิทัล ที่แบรนด์ไม่ได้พึ่งพาอินเทอร์เน็ต และเครื่องมือไอทีแต่อย่างใด แต่ลูกค้ายินดีที่จะกระจายข่าวสารและสร้างการรับรู้ในแบรนด์ให้ โดยไม่ต้องร้องขอ เป็นความประทับใจที่เกิดจากประสบการณ์ร่วมกับแบรนด์

ผู้บริหารโอกิลวี่วัน ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า นักการตลาดที่จะมุ่งเน้นการตลาดเชิงประสบการณ์ผ่านงานดิจิทัล ไม่ควรพัฒนาแผนการตลาดเพื่อการเพิ่มจำนวนผู้ใช้ออนไลน์เท่านั้น แต่ควรหันมาเรียนรู้ และทำความเข้าใจจากข้อมูลเชิงลึกของการสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคด้วย สุดท้ายแล้วเมื่อลูกค้าทำการซื้อสินค้าจากการชี้นำของสื่อดิจิทัล ก็จะกลายมาเป็นผู้มีอิทธิพลในการซื้อให้กับเพื่อนๆ ในโซเชียล มีเดีย ที่ติดต่อถึงกันอยู่ตลอดเวลา


  •  
  •  
  •  
  •  
  •